อนุสรณ์ ธรรมใจ: พัฒนาการเศรษฐกิจ-สังคมไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย และ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ บรรยายเรื่อง พัฒนาการเศรษฐกิจ สังคมไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519  ในโอกาสครบรอบ 38 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ 41 ปี ครบรอบ 14 ตุลาคม 2516 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วานนี้ (5 ต.ค.2557) รายละเอียดมีดังนี้

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 อันนำมาสู่การรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นผลจากเหตุปัจจัยหลายประการทั้งภายในภายนอกประเทศ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ระบอบเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน แต่พลังอนุรักษนิยมจารีตนิยมขวาจัดสุดขั้วได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยถอยหลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลสะเทือนของทั้งสองเหตุการณ์ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้นและต้องฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศมากขึ้น สังคมไทยเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 41 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ 38 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ความรุนแรงทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม 2535 หรือ พฤษภาคม 2553 การรัฐประหารและความพยายามก่อการยึดอำนาจด้วยกำลังยังคงเกิดขึ้นหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในระยะเวลาต่อมา

และเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงขึ้นมาในอนาคตอีก คสช. และ รัฐบาลประยุทธ์ ต้องทำตามสัญญาที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนภายในหนึ่งปี และ คืนระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งภายในเวลาที่ได้สัญญาเอาไว้ นอกจากนี้ สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลต้องช่วยกันดูแลให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยและสามารถสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้น มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้กับทุกคนในประเทศ อำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย รวมทั้งเป็นกติกาที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้

สายธารพัฒนาการ “ทุนศักดินาสยาม” สู่ “ทุนไทยโลกาภิวัตน์” ใช้เวลานับกว่าร้อยปีและเส้นทางสายนี้ไม่มีทางไหลย้อนกลับ แม้นการเมืองจะย้อนยุคกลับไปเป็นระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่าไม่อาจดำรงอยู่ได้นานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เนื่องเพราะระบอบกึ่งเผด็จการเป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ในระยะยาวแล้วระบบทุนนิยมเสรีจะเป็นของแปลกปลอมสำหรับระบอบเผด็จการ แม้นทั้งสองสิ่งนี้อาจยังดำรงอยู่ได้ร่วมกันระยะหนึ่ง เสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ระบบทุนนิยมจึงไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม การอุบัติขึ้นของทุนนิยมโลกาภิวัตน์และการแพร่ขยายของลัทธิประชาธิปไตยทั่วโลก เป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างมาก

การบรรยายนี้จะมุ่งไปที่การศึกษาและสำรวจพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคมดังกล่าว โดยในการบรรยายจะไม่กล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองในรายละเอียดแต่สามารถสรุปได้ว่า พัฒนาการทางการเมืองได้พัฒนาจากระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมใหม่ๆ) สู่ ระบอบเผด็จการครึ่งใบ สู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ สู่ ประชาธิปไตยเต็มใบ ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาให้เข้มแข็ง เมื่อเผชิญเข้ากับการทุจริตคอร์รัปชันในระบบการเมืองและระบบราชการ และการบ่อนทำลายของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยหรือฝ่ายอภิชนาธิปไตย ทำให้เราคงอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองต่อไป และสิ่งนี้ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความอ่อนแอทางการเมืองและสภาพล้มลุกคลุกคลานของระบอบประชาธิปไตยไทยทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ด้อยกว่าประเทศที่เคยล้าหลังกว่าไทย เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2519 – 2557 ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรี 14 คณะ (ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน) ผ่านการรัฐประหาร 3 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญร่างใหม่ (ไม่นับฉบับแก้ไขหรือฉบับชั่วคราว) 3 ฉบับ (2521, 2540 และ 2550) และกำลังจะมีฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2558 เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญในปี พ.ศ. 2540 ในระยะเวลา 38 ปี ครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ฉบับ ตั้งแต่ ฉบับที่ 7 – 11 ช่วงเวลาดังกล่าว สามารถแบ่งยุคทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย ออกเป็น 6 ยุคสำคัญ คือ ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ (2535-2538) ยุคเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (2539 – 2543) ยุคทักษิโณมิกส์ (2544 – 2549) ยุค คมช. หลังรัฐประหาร 19 กันยายน (19 ก.ย. 2549-2550) ยุคหลัง คมช. และวิกฤติการเมืองขัดแย้งเหลืองแดง (2551-2557) ยุค คสช. ( พ.ค. 2557-ปัจจุบัน)

พัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยในช่วงกลางทศวรรษที่ 2530 จนถึงปัจจุบันจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสำเร็จจากการกระจุกตัวของการพัฒนาเมือง (Urbanization) การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการ (การเงินและการขนส่ง) ในกรุงเทพมหานครและเขตเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาฯ แต่ล้มเหลวในการกระจายความเจริญสู่เมืองหลัก (Primal Cities) ต่างๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลในระดับประเทศเกิดขึ้นแต่เฉพาะในเขตเมืองใหญ่ แม้ว่าคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทยจะดีขึ้น แต่ความสามารถและโอกาสทางธุรกิจกลับกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ จึงเท่ากับว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนทางอุตสาหกรรมที่ต้องการเพียงแรงงานมีฝีมือราคาถูก (Labor-intensive Economy) แต่ล้มเหลวในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้น (Technology-intensive Economy) ซึ่งในอนาคตของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ความท้าทายสำคัญของประเทศไทยคือ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ระบบฐานความรู้บนพื้นฐานของความยั่งยืนและความพอเพียง (Sustainable & Sufficiency Knowledge-based Economy/Society)

การวิเคราะห์ในการบรรยายครั้งนี้จะเลือกช่วงเวลาที่กองทัพได้กลับไปเป็นทหารอาชีพและลดบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 และ สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกองทัพไทยได้ยุติลงโดยมีนโยบาย 66/23 เป็นปัจจัยสำคัญ การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยระหว่างปี 2535 – 2557 ได้มุ่งการศึกษาไปที่มิติและสาขาสำคัญ 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษาและกำลังคน ด้านการค้าและการลงทุน ด้านโครงสร้างประชากรและสาธารณสุข และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขณะที่การวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมาในบริบทเชิงสาขา ได้ดำเนินการวัดความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศใน 4 มิติ ประกอบด้วย มิติทรัพยากรมนุษย์ มิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และชุมชนและการอาศัยร่วมกัน ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ในระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา มิติทรัพยากรมนุษย์มีความก้าวหน้าพอสมควร คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น มีการศึกษามากขึ้น แต่คุณภาพการจัดการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษากลับแย่ลงและมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาฟองสบู่ของสถานการศึกษาโดยเฉพาะในระบบอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยห้องแถวได้ผุดขึ้นมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการปริญญาบัตรและวุฒิการศึกษา มีการขายปริญญาหรือมีการจัดการศึกษาอย่างไม่มีคุณภาพ มิติเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าดี เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แต่ได้กลับมาประสบปัญหาอีกครั้งหนึ่งหลังการวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2556 และการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่การเติบโตชะลอตัวลงอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ดีพอสมควร จำนวนคนยากจนลดลงแต่ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มขึ้น มีปัญหาความไม่เท่าเทียมของรายได้ มิติสิ่งแวดล้อมมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเพียงเล็กน้อย มิติชุมชนและการอาศัยร่วมกันมีความก้าวหน้าในบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่มีพัฒนาการที่ขาดความต่อเนื่องหรือถดถอยอย่างชัดเจน ได้แก่ ความไร้เสถียรภาพของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2535-2550 ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างค่อนข้างมาก โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมากถึง 10 รัฐบาล และ มีการปฏิวัติรัฐประหาร 2 ครั้ง อายุเฉลี่ยในแต่ละรัฐบาลมีอายุสั้นเพียง 1.5 ปี เท่านั้น ตาราง แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของคณะรัฐบาล ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าคณะรัฐบาลชุดที่ 47 – 49 (สีเขียว) ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการเมืองภายใต้กรอบของการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 คณะรัฐมนตรีชุดที่ 50 และ 53 (สีน้ำเงิน) เป็นคณะรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ โดยรวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 6 ปี ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลชุดดังกล่าว ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินภายหลังวิกฤติทางการเมืองยุคแรก และวิกฤติทางเศรษฐกิจในยุคที่สอง คณะรัฐมนตรีชุดที่ 51 (พรรคชาติไทย) และ 52 (พรรคความหวังใหม่) (สีส้ม) ได้บริหารราชการแผ่นดินในระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างกลางปี 2538 จนถึงปลายปี 2540 คณะรัฐมนตรีชุดที่ 54 และ 55 (สีแดง) เป็นคณะรัฐมนตรีที่บริหารงานต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยอยู่ในฐานะฝ่ายบริหารเป็นเวลา 6 ปี ภายใต้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยการนำของ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐบาลชุดดังกล่าวได้ถูกยึดอำนาจ โดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดที่ 56 ขึ้น เพื่อบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2549 จนถึงปลายเดือน มกราคม 2551

ตารางการเปลี่ยนแปลงของคณะรัฐมนตรีไทย (พ.ศ. 2535 – 2550)

คณะที่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง วันแถลงนโยบาย
ชื่อ-สกุล คนที่/สมัยที่
ยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (พลเอก สุนทร คงสมพงษ์) - 23 กุมภาพันธ์ 2534 1 มีนาคม 2534 ยึดอำนาจ
คณะที่ 47 นายอานันท์ ปันยารชุน 18/1 2 มีนาคม 2534 7 เมษายน 2535 4 เมษายน 2534
คณะที่ 48 พลเอก สุจินดา คราประยูร 19 7 เมษายน 2535 10 มิถุนายน 2535 6 พฤษภาคม 2535
คณะที่ 49 นายอานันท์ ปันยารชุน 18/2 10 มิถุนายน 2535 23 กันยายน 2535 22 มิถุนายน 2535
คณะที่ 50 นายชวน หลีกภัย 20/1 23 กันยายน 2535 13 กรกฎาคม 2538 21 ตุลาคม 2535
คณะที่ 51 นายบรรหาร ศิลปอาชา 21 13 กรกฎาคม 2538 25 พฤศจิกายน 2539 26 กรกฎาคม 2538
คณะที่ 52 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ 22 25 พฤศจิกายน 2539 9 พฤศจิกายน 2540 11 ธันวาคม 2539
คณะที่ 53 นายชวน หลีกภัย 20/2 9 พฤศจิกายน 2540 17 กุมภาพันธ์ 2544 20 พฤศจิกายน 2540
คณะที่ 54 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร 23/1 17 กุมภาพันธ์ 2544 11 มีนาคม 2548 26 กุมภาพันธ์ 2544
คณะที่ 55 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร 23/2 11 มีนาคม 2548 19 กันยายน 2549 23 มีนาคม 2548
ยึดอำนาจ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน) - 19 กันยายน 2549 1 ตุลาคม 2549 -
คณะที่ 56 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ 24 1 ตุลาคม 2549 - 3 พฤศจิกายน 2549

ที่มา: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

 

1. ยุคหลัง รสช. (พ.ศ. 2535 – 2538) เป็นยุคหลังการปฏิวัติโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ในทางการเมือง ยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรวดเร็วและเกิดสภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ โดยในปี 2535 ประเทศไทย มีรัฐบาล 3 ชุด (ชุดที่ 47 – 49) โดยพรรคประชาธิปัตย์โดยการนำของ นายชวน หลีกภัย ได้รับช่วงการบริหารราชการแผ่นดินต่อจากคณะรัฐบาลชุดที่ 49 ของนายอานันท์ ปันยารชุน ต่ออีก 3 ปี ในระหว่างยุคการเมืองสีเขียวดังกล่าว พบว่า ปัจจัยสำคัญภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคือการเปลี่ยนแปลงตลาดและสกุลเงินของสหภาพยุโรป ที่เป็นปัจจัยสำคัญทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยจะเห็นได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) และ ได้มีการเริ่มกิจกรรมวิเทศธนกิจ (BIBF) ในปี 2536 ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปิดเสรีทางการเงินในประเทศไทยในเวลาต่อมา

2. ยุคต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2539 – 2543) เป็นช่วงรอยต่อของการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 และ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) ซึ่งในช่วงเวลานี้ วิกฤตการณ์ระลอกใหม่ได้ย้ายจากภาคการเมืองไปสู่ภาคเศรษฐกิจ โดยปี 2540 ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดปีหนึ่งในระยะเวลา 15 ปี ภายใต้แกนเวลาที่กำหนด กล่าวคือ เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระดับโลกและในระดับประเทศต่างเกิดขึ้นในปีดังกล่าว เช่น ความสำเร็จในการโคลนนิ่ง (Cloning) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือ แกะดอลลี่ ในประเทศสหราชอาณาจักร การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การเกิดโรคติดต่อทางอากาศ (ไข้หวัดนก) เป็นครั้งแรก และที่สำคัญที่สุด การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเดือนสิงหาคม 2540 อันเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษกิจการเมืองระลอกใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย โดยการล่มสลายของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้แพร่กระจายไปยังภาคบริการ การเงินและเงินทุน จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่ทำให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาแก้ไขปัญหาแทน โดยในปลายปี 2543 คณะรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภา อันเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แม้ว่าอัตราการไหลเวียนของเงินทุนจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม

3. ยุคทักษิโณมิกส์ (พ.ศ. 2544 – 2549) การประสบชัยชนะของพรรคไทยรักไทย โดยการนำของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ การเมือง และ สังคมไทยขนานใหญ่ และได้นำพาประเทศไปสู่ความท้าทายในการปรับตัวต่อกระแสโลกและกระแสต่างๆ ภายในประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สภาพทางเศรษฐกิจของไทยโดยรวมมีความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านภูมิภาคภิวัตน์ (Regionalization) และการกระจายอำนาจ (Decentralization) บนพื้นฐานความหลากหลายและอัตลักษณ์ถิ่น กลายเป็นปัจจัยเร่งสำคัญในเชิงบวกและในเชิงลบไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างทางวัฒนธรรม กระบวนทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ และเกิดความชัดเจนในขั้วความคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยสอดรับกับเหตุการณ์ก่อการร้ายในระดับโลก คือ เหตุการณ์ 9/11 ในเดือนกันยายน ปี 2544 ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงต้นปี 2547 และ พิบัติภัยสึนามิในจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันในปลายเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ความขัดแย้งทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เศรษฐกิจ ทำให้เกิดการรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดฉากการเมืองรัฐบาลพรรคเดียวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

4. ยุค คมช. (พ.ศ. 2550 – 2554) หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในวันที่ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่ทางแยกแห่งการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนทางการเมืองอีกครั้ง ปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่และจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นภารกิจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไปในการเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว

ขณะที่การวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาในบริบทเชิงสาขา ได้ดำเนินการวัดความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศใน 4 มิติ ประกอบด้วย มิติทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และชุมชนและการอาศัยร่วมกัน ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา มิติทรัพยากรมนุษย์มีความก้าวหน้าพอสมควร คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น มีการศึกษามากขึ้น และมีการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ คือ ภาวะโรคเรื้อรัง และสุขภาพจิตที่แย่ลงกำลังบั่นทอนสุขภาวะของคนไทยในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน แม้คนไทยจะมีการศึกษาดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถยกระดับการศึกษาของแรงงานไทยให้ดีขึ้นได้มากนัก โดยปีการศึกษาเฉลี่ยของแรงงานไทยอยู่ที่ 8.6 ปี หรือต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งข้นของไทยในอนาคต นอกจากนี้ ผู้มีการศึกษาดีส่วนหนึ่งกลับว่างงานในอัตราที่สูงกว่าผู้มีการศึกษาน้อย ซึ่งเกิดจากการผลิตกำลังแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

มิติเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าดี เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความมั่งคั่งของประเทศเพิ่มขึ้น แต่มีปัญหาที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข คือ ความไม่เท่าเทียมของรายได้ ที่เสมือนว่าจะไม่มีความก้าวหน้าเลยในระยะ 15-20 ปีที่ผ่านมา

มิติสิ่งแวดล้อมมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นเป็นนัยแสดงให้เห็นว่า ระบบนิเวศทางบกปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีข้อสงสัยถึงระบบนิเวศชายฝั่งทะเล เนื่องจากคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งมีแนวโน้มที่แย่ลง ทางด้านทรัพยากรน้ำ คุณภาพแหล่งน้ำผิวดินปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางแหล่งน้ำที่คุณภาพน้ำยังเสื่อมโทรม อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำท่าจีนตอนกลาง แม่น้ำน่าน ทะเลสาบสงขลา กว๊านพะเยา ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยการควบคุมน้ำทิ้งจากครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด คุณภาพอากาศโดยรวมดีขึ้นบ้าง เนื่องจากการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลดน้อยลง ขณะที่ยังมีการตรวจพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเกินมาตรฐานอยู่เป็นครั้งคราว จำเป็นต้องเร่งแก้ไขต่อไป เพื่อให้คนในเขตเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับทรัพยากรดินถือได้ว่าเป็นมิติที่มีความก้าวหน้าน้อยมาก แนวทางในการแก้ไขปัญหาควรทำอย่างบูรณาการทั้งระบบ

มิติชุมชนและการอาศัยร่วมกันมีความก้าวหน้าในบางส่วนเท่านั้น เช่น ความเสมอภาคทางสังคมและการตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ขณะที่บางส่วนมีพัฒนาการที่ไม่คืบหน้ามากนัก เช่น ความเข้มแข็งของชุมชนและธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีพัฒนาการที่ขาดความต่อเนื่องหรือถดถอยอย่างชัดเจน ได้แก่ ความไร้เสถียรภาพของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมอันนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประเทศไทยจึงควรมุ่งแก้ไขปัญหาในประเด็นเหล่านี้เป็นลำดับแรก

ทั้งนี้ การตรวจสอบความก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้พบว่า ระบบและข้อมูลสถิติของไทยมีจุดอ่อนหลายประการ อาทิ การขาดองค์กรที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลสถิติอย่างแท้จริง ความล่าช้าของข้อมูล การขาดการจัดเก็บข้อมูลในลักษณะอนุกรมเวลา ซึ่งจำเป็นมากต่อการวิเคราะห์ความก้าวหน้าในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลในบางสาขาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของกระแสการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“การจัดการความรู้” เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญสูงสุดของการเพิ่มผลิตภาพใน 15 ปีข้างหน้า จึงถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ประเด็นอุบัติใหม่” ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ทั้งในด้านการศึกษาและกำลังคน การค้าและการลงทุน สาธารณสุขและโครงสร้างประชากร และ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม

ทั้งนี้ จากการศึกษากระแสหลักสังคมไทยในอีก 20 ปี ข้างหน้า ของโครงการปฎิรูปประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ ในปี 2549 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างคละวัยจำนวน 66 คน แสดงให้เห็นว่า สังคมและเศรษฐกิจไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมฐานความรู้ที่เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตในเชิงกายภาพเป็นหลัก ความสามารถในการเลือกรับข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจและเทคโนโลยี จะมีส่วนสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจและสังคมต่อคนไทย ในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีสุขภาพ แต่ระดับความเร็วและจังหวะการก้าวย่างของเศรษฐกิจและสังคมไทยไม่ได้ช้าลง และกลับเร็วมากขึ้น จากผลกระทบในเชิงบวกของเทคโนโลยีสารสนเทศในเชิงประสิทธิภาพ และผลกระทบในเชิงลบของเทคโนโลยีข้างต้นในการเร่งจังหวะการดำเนินชีวิต

สืบเนื่องจากประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนสู่การใช้องค์ความรู้มากขึ้น ระบบข้อมูลสถิติที่มีประสิทธิภาพ ย่อมเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดแนวโน้มดังกล่าว จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับลักษณะความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ใช้ข้อมูลสถิติแต่ละกลุ่มมากขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งจากการประชุมกลุ่มเฉพาะและการสัมภาษณ์ โดยได้ดำเนินการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลและความคิดเห็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอในรายงานวิจัยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงและประเด็นอุบัติใหม่ต่างๆ ในแต่ละสาขาที่ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวและจัดทำระบบสถิติรองรับการพัฒนาในอนาคตต่อไป ผลสรุปของสาระสำคัญทั้งหมด มีดังนี้

สาขากำลังคนและการศึกษา

ประเด็นสำคัญ 2 ด้านที่มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบการศึกษาและกำลังคน คือ ประเด็นอุบัติใหม่ด้านวิถีชีวิตและประเด็นอุบัติใหม่ด้านพลวัตของโลกธุรกิจ ในมิติของวิถีชีวิตไทย ปัจเจกนิยม (Individualism) ได้กลายมาเป็นกระแสหลัก (Megatrend) ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนไทยในเขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆ ผ่านโลกาภิวัตน์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ทุกรูปแบบ จนเกิดปรากฏการณ์มาตรฐานการใช้ชีวิตโลก (Global Living Standard) ขึ้น

ภาวะดังกล่าวได้ก่อให้เกิดมาตรฐานสินค้าและการค้าใหม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกำหนดความต้องการใช้แรงงานในรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับความต้องการใช้ชุดองค์ความรู้ใหม่ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมข้อมูลเหล่านี้อย่างระมัดระวัง และนำมาประมวลผลเพื่อบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและกำลังคนเพื่อรองรับพลวัตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

สาขาการพาณิชย์และการลงทุน

เศรษฐกิจโลกและไทยอยู่ในท่ามกลางการขับเคลื่อนสู่ภาวะไร้พรมแดนในทุกมิติ กระแสโลกาภิวัตน์กดดันให้ไทยต้องวางตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Positioning) ของตนเองให้ชัดเจน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บทบาทของเศรษฐกิจสารสนเทศ (Information Economy) เพิ่มขึ้นตามลำดับ เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ทำให้ความสำคัญของอรูปทุน (Intangible Capital) ทวีความสำคัญมากขึ้น การจัดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสารสนเทศและความรู้จากทั่วโลก รวมถึงเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และการบริหารทุนทางการเงิน ได้แก่ นโยบายทางกฎหมายและเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและเติบโตของวิสาหกิจอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises, SMEs) ในประเทศ

สำหรับแนวโน้มในระยะ 15 ปีข้างหน้า ของการบูรณาการของตลาดทุน (Capital Market Integration) นั้น จะมีการควบรวมกิจการภายในประเทศและการควบรวมและเชื่อมโยงกับตลาดระหว่างประเทศมากขึ้น โดยหากการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ (De-Mutualization) เกิดขึ้น จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้น การจัดสรรเงินทุน (Allocation) การดำเนินงานที่โปร่งใส (Governance) ปลอดการแทรกแซงของการเมือง และการสร้างความเป็นกรรมสิทธิ์ในตลาดทุน (Ownership)

สาขาโครงสร้างประชากรและสาธารณสุข

ระบบสาธารณสุขในอนาคตของประเทศไทยจะมีลักษณะเด่นหลายประการที่แตกต่างไปจากระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุม 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ (1) กรอบความคิดทางด้านการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีการผลักดันให้เกิดแนวทางของการแพทย์เชิงป้องกัน (Preventive medicine) มากขึ้นกว่าการแพทย์เชิงรักษาเยียวยา (Corrective Medicine) นอกจากนี้ ยังจะมีพัฒนาการไปสู่การแพทย์ส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่เข้ากับการแพทย์แบบทางเลือก (Alternative Medicine) แบบต่างๆ มากยิ่งขึ้น ประเด็นที่ (2) โครงสร้างการบริหารจัดการ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ระบบสาธารณสุขแนวใหม่จะมีระดับความซับซ้อนมากขึ้น มีรูปแบบใหม่ๆ ปรากฏมากขึ้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระจายอำนาจการบริหารบุคลากร และทรัพยากร ออกไปสู่ท้องถิ่นอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่การสร้างเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐที่ให้มีการจัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาขึ้น พร้อมกับเร่งรัดให้มีการสร้างปัญญาในสังคม สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน และสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันสร้างนวัตกรรม

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นเครือข่ายของสถาบันรัฐและเอกชนในการพัฒนากิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และการเผยแพร่เทคโนโลยี

พลวัตทางสภาพแวดล้อมและสถาปัตยกรรมสังคมและเศรษฐกิจโลก

พัฒนาการของสถาปัตยกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจโลก (Global social and economic architecture) สามารถพิจารณาได้จากสาระสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และกระบวนทัศน์ของการเปลี่ยนแปลง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 21

กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการประเทศไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เกิดจากอิทธิพลของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information and Communication Technology, ICT) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) และการปรับประยุกต์ใช้กับกิจกรรมในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจและสังคม จากการวิเคราะห์ของคณะผู้วิจัย พบว่า มีกระแส 6 กระแสสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย (ดูภาพประกอบ) คือ

กระแสที่ 1: โลกที่ไม่หลับไหล (24/7)

กระแสที่ 2: โลกาภิวัตน์ของประสบการณ์ร่วม

กระแสที่ 3: กฎเกณฑ์ มาตรฐาน และกฎหมายอุบัติใหม่

กระแสที่ 4: ประเด็นความมั่นคงแบบใหม่

กระแสที่ 5: ระบบนวัตกรรมและธุรกิจใหม่

กระแสที่ 6: ปัจเจกนิยม

กระแสหลัก (Megatrends) ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต

กระบวนทัศน์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

กระแสโลกจากหัวข้อ 5.1.1 ยังหาไม่เห็น เป็นปัจจัยเร่งต่อการอุบัติขึ้นของแนวความคิดและพัฒนาการทางเศรษฐกิจร่วมแนวใหม่ จำนวน 6 ลักษณะ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ตามวิธีการพัฒนา (ดูภาพประกอบที่ 5.3) ยังหาไม่เห็น มีแต่ 5.2ดังนี้

1. วิธีการเชิงส่วน (Function-oriented approach) ประกอบไปด้วย

ก. เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy, KBE) ที่ให้ความสำคัญต่อนโยบายพัฒนาความรู้ผ่านการสร้างความสามารถทางการวิจัยและพัฒนาของชาติ

ข. เศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation economy) ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความสามารถทางนวัตกรรมในรายสาขา (Sector) และ

ค. เศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ (Creative economy) ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในระดับเมือง (City)

2. วิธีการเชิงกระบวนการ (Process-oriented approach) ประกอบไปด้วย

ก. เศรษฐกิจไล่กวด (Catching-up economy) ที่เน้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจตามประเทศคู่  ค้าและคู่แข่งที่ประสบความสำเร็จมากกว่า ในอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกัน

ข. เศรษฐกิจไร้น้ำหนัก (Weightless economy) ที่เน้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ต้องพึ่งพิงการผลิตสินค้าที่จับต้องได้ (Tangible products) แต่ให้ความสำคัญต่อสินค้าและบริการที่จับต้องไม่ได้ (Intangible products and services) และ

ค. เศรษฐกิจใหม่ (New economy) ที่เน้นกระบวนการยกระดับและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินธุรกิจในสาขาทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ หรือ การสร้างสาขาทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้น

เราจัดงานเสวนาทางวิชาการวันนี้นอกจากเพื่อแสวงหาความรู้และสติปัญญาเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า เพื่อสันติธรรม เพื่อประชาธิปไตยแล้ว เราต้องการรำลึกถึงประชาชนผู้เสียสละชีวิต เลือดเนื้อ โอกาสและความสุขสบายในชีวิตเพื่อประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ก้าวหน้าขึ้นดีขึ้น อดีตเหล่านี้เราต้องเรียนรู้ เราต้องรำลึกถึงวีรชนประชาธิปไตยผู้กล้าหาญเหล่านี้ ถ้าคนรุ่นหลังไม่สนใจและไม่เข้าใจประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเป็นธรรมและความถูกต้องดีงาม ไม่สนใจจิตวิญญาณของการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีกว่า ไม่มีความตื่นตัวต่อปัญหาวิกฤติของประเทศ ไม่ช่วยกันคิดเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ก็จะไม่มีอนาคตที่สดใสนัก ทั้งที่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งมีคุณภาพ ระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า แข่งขันได้ และเป็นธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้วยความคารวะต่อผู้เสียสละและเหล่าวีรชนประชาธิปไตย 

อนุสรณ์ ธรรมใจ                            
6 ตุลาคม 2557                           
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์              

 

บรรณานุกรม

  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7-10
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตารางข้อมูลความยากจนและการกระจายรายได้ กุมภาพันธ์ 2550
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานสถานการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย กรกฎาคม 2550 
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายได้ประชาชาติของประเทศไทย 2535-2549.
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สต็อคทุนของประเทศไทย 2535-2549.
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สถานการณ์การกระจายรายได้ของไทย ปี 2547.
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลสำมะโนประชากร และ ฐานข้อมูลสถิติต่างๆ
  • อนุสรณ์ ธรรมใจและคณะ “วงจรสถิติ ในรอบ 15 ปีกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย” สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2550
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ พัฒนาการ “ทุนศักดินาสยาม” จากสนธิสัญญาเบาว์ริง สู่ “ทุนไทยโลกาภิวัตน์” ภายใต้ประชาคมอาเซียน (๑) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 12 กันยายน 2557
  • http://www.bot.or.th
  • http://www.nesdb.go.th
  • http://www.nso.go.th
  • http://www.tdri.or.th
  • International Monetary Fund (2003). Data Quality Assessment Framework (DQAF) for Government Finance Statistics, July 2003.
  • Kofmann, D., et.al.; Governance Matters VI: Aggregate and Individual Governance Indicators 1996-2006, World Bank Policy Research Working Paper 4280, July, 2007.
  • Vangvivatna, P.; “Economics of Crime: an Econometric Investigation of Crimes in Thailand”, Master Thesis, Thammasart University, 1984.
  • The World Bank (2007). World Development Indicators. April 2007.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท