Skip to main content
sharethis


 

ตารางไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์อยู่ด้านล่าง

การตีความพระราชดำรัส ปฐมบทตุลาการภิวัตน์

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินมาในช่วงหลังนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการรื้อ-รวบใหญ่นอกระบบอย่างรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบทศวรรษแล้ว ยังมี ‘ตุลาการ’ ที่มีบทบาทตามระบบที่สำคัญยิ่งในการสร้างจุดเปลี่ยนต่างๆ ทั้งยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

‘ตุลาการภิวัตน์’ (judicial activism) แม้จะเป็นศัพท์ที่มีอยู่ก่อนในแวดวงนิติศาสตร์ แต่นักสังคมวิทยาชื่อดังอย่าง ธีรยุทธ บุญมี เป็นคนแรกๆ ที่หยิบยกขึ้นมาใช้เรียกบทบาทการตัดสินคดีทางการเมืองสำคัญๆ ขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะ ‘พระเอก’อย่างศาลรัฐธรรมนูญ

หากจะย้อนถึงที่มาที่ไปของแรงบัลดาลใจสำหรับการนี้ หลายคนดูจะหวนกลับไปสู่พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ ก่อนรับหน้าที่ ในวันที่ 25 เมษายน2549 เพราะนอกจากจะมีพระราชดำรัสอย่างชัดเจนเรื่องมาตรา 7 หรือนายกฯ พระราชทานว่าไม่อาจเป็นไปได้แล้ว ยังทรงกระตุ้นถึงบทบาทของตุลาการอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่2 เมษายน 2549

การเลือกตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทักษิณประกาศยุบสภา (24 ก.พ.49) และพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งเนื่องจากเห็นว่าเป็นการฟอกตัวทักษิณและเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

“ในเวลานี้ อาจจะไม่ควรจะพูด แต่อย่างเมื่อเช้านี้เองได้ยินเขาพูดเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและโดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนน ได้แต้มไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์แล้วก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียวซึ่งมีความสำคัญ. เพราะว่าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาคนเดียวในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์.ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า.แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกันเพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้. แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ที่ท่านได้ปฏิญาณเมื่อตะกี้นี้ ก็เป็นหมัน. ถึงบอกว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้” ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัส

หลังจากนั้นมีการประชุมประมุขตุลาการ 3 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ถึง 3 ครั้งในการหาทางออกให้ประเทศดังปรากฏเป็นข่าวทั่วไป แม้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ แต่จากนั้นมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองให้วินิจฉัยการเลือกตั้ง 2 เมษา เหตุหลักๆ เพราะ “หันคูหาออก” ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ สุดท้ายทั้งสองศาลตัดสินให้ การเลือกตั้ง 2 เมษาเป็นโมฆะ

จุดตัน เมื่อที่ประชุมศาลฏีกาไม่เสนอชื่อ 2 กกต.ที่ตำแหน่งว่างลง

แน่นอน กกต.ผู้รับผิดชอบการจัดเลือกตั้งถูกโจมตีอย่างหนัก และตำแหน่ง กกต. ก็พลันว่างลง 2 ที่เนื่องจากจรัล บูรณพันธุ์ศรี เสียชีวิต และพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ลาออก ที่น่าสนใจคือ เว็บไซต์นิติราษฎร์ ซึ่งปัจจุบันถูกไอซีทีบล็อคการเข้าถึง ได้เผยแพร่จดหมายที่ประชุมศาลฏีกาแจ้งต่อประธานวุฒิสภาว่าที่ประชุมศาลฎีกามีมติไม่ส่งชื่อ กกต. ใหม่ 2 ราย เพราะ กกต.ที่เหลือ3 คน“มิได้อยู่ในฐานะที่สมควรจะได้รับความไว้วางใจที่จะให้ทำหน้าที่ต่อไปที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการของบุคคลทั้งสามนี้ได้” และต่อมากกต.ชุดนี้ที่เหลือ 3 คน นำโดย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ก็ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก 4 ปีไม่รอลงอาญา จากการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการสู้คดีมาเรื่อยจนถึงชั้นศาลฎีกาที่พิพากษายกฟ้องในที่สุดเมื่อปี 2556 นี้เอง

วันเลือกตั้งถูกกำหนดใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่ก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน

นั่นเป็นปฐมบทของตุลาการภิวัตน์

ตุลาการรัฐธรรมนูญกับดาบแรก ยุบพรรคไทยรักไทย

หลัง 19 กันยา คณะรัฐประหารได้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้ง “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” มาทำหน้าที่แทน ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวมีผลงานลงดาบสำคัญคือ การยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคเล็กอีก 3 พรรค คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทยพร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้านเลขที่ 111’ ทั้งนี้มีเหตุสืบเนื่องมาจากสุเทพ เทือกสุบรรณ แห่งพรรคประชาธิปัต์ร้องเรียนกกต.ว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20% ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ขณะที่พรรคไทยรักไทยร้องกลับว่าประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กมาใส่ร้าย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิด

จากนั้นมีร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติเฉียดฉิว ร้อยละ 57.81 เห็นชอบร้อยละ 42.19 ไม่เห็นชอบ เรียกได้ว่าผ่านมาด้วยวาทกรรม “รับก่อนค่อยแก้” โดยแท้ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็กลับคืนมาตามมาตรา 300 ของรัฐธรรมนูญใหม่และต่อมามีการแต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการในวันที่28 พ.ค.2551  รายชื่อของทั้ง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นที่จดจำเนื่องจากมีบทบาทในการตัดสินคดีทางการเมืองหลายคดีสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

  1. นายนุรักษ์ มาประณีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ(รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
  2. นายจรัญ ภักดีธนากุล (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)
  3. นายเฉลิมพล เอกอุรุ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์)
  4. นายชัช ชลวร (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญระหว่าง 28 พ.ค. 2551 - 26 ต.ค. 2554)
  5. นายบุญส่ง กุลบุปผา (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)
  6. นายสุพจน์ ไข่มุกด์ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์)
  7. นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด)
  8. นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)
  9. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด)

ปลดนายกฯ 2คนรวด พร้อมยุบพรรคพลังประชาชน (อีกรอบ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ (รวมถึงศาลปกครองและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ตัดสินคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับอำนาจฝ่ายบริหาร รวมถึงนโยบายรัฐหลายเรื่อง ที่สำคัญได้แก่ การปลดนายกฯ 2 คน คือ สมัคร สุนทรเวช จากกรณีรับเป็นพิธีกรกิตติมาศักดิ์รายการชิมไปบ่นไปและยกโขยงหกโมงเช้า ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอ้างอิงพจนานุกรมเพื่อตีความว่านายสมัครเป็นลูกจ้างบริษัทเจ้าของรายการอันขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จึงต้องสิ้นสภาพนายกฯ อีกคนหนึ่งคือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในครั้งนี้เป็นการยุบพรรคพลังประชาชน (และรวมถึงพรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรคชาติไทย) จากกรณีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งการปลดสมชายนี้อยู่ในช่วงที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินสุวรรณภูมิมาแล้วหลายวัน

ปชป.รอดยุบพรรค ปมเงินบริจาค 258 ล้าน

ในยุคต่อมาสมัยรัฐบาลอภิทธิ์  บทบาทศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างเงียบ มีคดีที่สำคัญอยู่กรณีหนึ่ง นั่นคือคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน เนื่องจากกระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายคำวินิจฉัยดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นให้กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอย่างมากเนื่องจากออกมาภายหลังการสลายการชุมนุมปี 2553   ไม่นาน ตอกย้ำความเชื่อเรื่อง ‘สองมาตรฐาน’ ในกลุ่มคนเสื้อแดงรวมถึงนักวิชาการ ปัญญาชนจำนวนไม่น้อย

รัฐบาลอภิสิทธิ์แก้รัฐธรรมนูญ 2 มาตรา

ก่อนอภิสิทธิ์จะยุบสภา ต้องกล่าวไว้ด้วยว่า ภายใต้แรงกดดันให้แก้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนำโดย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ขึ้นอีกครั้งหลังข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ชุด ดิเรก ถึงฝั่ง ที่ตั้งโดยรัฐสภาถูกพับไป ข้อเสนอของคณะกรรมการชุดสมบัตินำเสนอการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ข้อ คือ

1.มาตรา 237 ให้ยกเลิกการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเฉพาะตัวผู้สมัครที่กระทำความผิด

2.มาตรา 93-98 ประเด็นที่มาของ ส.ส. ให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

3.มาตรา 111-121 ประเด็นที่มาของ ส.ว. ให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

4.มาตรา 190 ให้คงหลักการเดิมแต่เพิ่มเติมประเภทของหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

5.มาตรา 265 ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นตำแหน่งเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ และ

6. มาตรา 266 ให้ ส.ส. ส.ว.สามารถช่วยแก้ปัญหาประชาชนผ่านส่วนราชการได้

รัฐบาลอภิสิทธิ์เลือกเพียง มาตรา 190   และ มาตรา 93-98 ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

‘คำแนะนำ’แก้ทั้งฉบับไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ “ควร” ประชามติ

หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎา พรรคเพื่อไทยฆ่าไม่ตาย ฟื้นคืนชีพเป็นหนที่ 3 ชนะการเลือกตั้ง มียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในยุคนี้บทบาทศาลรัฐธรรมนูญเด่นชัดขึ้นอีกครั้ง ทั้งคำวินิจฉัยที่ทำให้นโยบายของฝ่ายบริหารมีอันตกไป เช่น โครงการจัดการน้ำ โครงการ 2 ล้านล้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ที่สำคัญคือ การแก้รัฐธรรมนูญ

หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปดังที่ได้หาเสียงไว้ ต่อมาครม.ยิ่งลักษณ์ก็ได้มีมติแก้รัฐธรรมนูญ โดยแก้เพียงมาตราเดียวคือ มาตรา 291 เพื่อเป็นการปลดล็อคให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ โดยยิ่งลักษณ์ระบุว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้จะมาจากประชาชนล้วน ทันทีทันใดก็มีผู้ร้อง 5 ราย คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่  เรื่องนี้สร้างข้อวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันมากว่าคนทั่วไปไม่สามารถร้องโดยตรงต่อศาลได้ แต่ต้องผ่านการกลั่นกรองของอัยการสูงสุด ตามมาตรา 68 และในคำร้องก็ยังระบุให้มีการลงโทษยุบพรรคการเมืองด้วย หลายคนจึงลุ้นว่าพรรคนี้อาจถูกยุบเป็นหนที่สาม แต่ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยออกมา การแก้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ไม่ยุบพรรคตัดสิทธิ และเรื่องนี้ศาลมีอำนาจรับเรื่องโดยตรงได้เพราะตีความตาม ‘เจตนารมณ์’ มาตรา 68 พร้อมกันนี้ยังสร้างบรรทัดฐานใหม่คือ ‘คำแนะนำ’ ว่ารัฐบาลควรทำประชามติก่อนหากจะแก้ทั้งฉบับ หรืออาจแก้ไขเป็นรายมาตราได้

เกิดข้อถกเถียงมากมายว่าควรดำเนินการในลักษณะไหนดี ส่วนมากแล้วเชียร์ให้ทำประชามติ รัฐบาลตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องนึ้ขึ้นมา และสุดท้ายก็ตัดสินใจที่จะแก้รายมาตรา เพราะหากทำประชามติก็เสี่ยงที่จะไม่สำเร็จและเสียงบประมาณสูง และเสี่ยงไม่สำเร็จ เพราะตามมาตรา 9 ของกฎหมายประชามติ กำหนดให้ต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิมากว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและต้องได้รับการเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ นั่นคือต้องมีคนมาใช้สิทธิมากกว่า 23 ล้านคน และต้องได้รับคะแนนเห็นชอบมากกว่า 11.5 ล้านเสียง จึงถือว่าผ่าน

แก้รายมาตรา ก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของรัฐบาลแบ่งเป็น 3 ร่างใน 3 เรื่องใหญ่คือ การแก้ไขที่มาส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การแก้ไขมาตรา 190 ให้หนังสือสัญญาระหว่างประเทศด้านการค้าไม่ต้องผ่านรัฐสภา แต่ให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดในสัญญาและมีมาตรการเยียวยา สุดท้ายคือแก้ม.237ว่าด้วยเรื่องยุบพรรค แต่สามารถผลักดันผ่านวาระ 3 ในสภาได้เพียงสองเรื่องแรก และสองเรื่องนั้นก็มีอันคว่ำไปภายใน 2 เดือนหลังร่างผ่านวาระ3 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดําเนินการ พิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกรณีแก้ไขที่มาส.ว. เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมีเนื้อความที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรธน.50 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งแต่คำร้องให้ยุบพรรคนั้นยังไม่เข้าเงื่อนไขจึงให้ยกคําร้อง

แน่นอน มันได้สร้างการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์อีกระลอกใหญ่

พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชนวนที่จุดติด พลิกเกม

เรื่องสำคัญที่ต้องกล่าวถึงอีกเรื่องในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นอกเหนือจากการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีประเด็นของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

หลังการสลายการชุมนมคนเสื้อแดงปี2553 มีคนเสื้อแดงถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553(ศปช.) ระบุว่ามีผู้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีราว 1,700 คดี ส่วนมาเป็นข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ต้องขังในช่วงแรกก็มีเกือบร้อยคน จำนวนไม่น้อยได้รับโทษจำคุกครึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม คนถึงปี 2556 ที่มีการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ผู้ต้องขังด้วยคดีทางการเมืองยังมีอยู่ถึง 40 กว่าราย

สุดา รังกุพันธุ์ หัวหอกที่ดูแลนักโทษการเมืองเหล่านั้นได้จัดชุมนุมในนาม กลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม และประกาศสนับสนุนร่างของนายวรชัย เหมะ เพื่อความเป็นไปได้และรวดเร็วที่สุดในการช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเรือนจำ

อันที่จริงพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นมีการพูดถึงกันระยะหนึ่งแล้ว โดยมีทั้งหมด 4 เวอร์ชั่น (ดาวน์โหลดไฟล์ที่เว็บไอลอว์) ข้อถกเถียงหลักๆ คือ ฉบับที่เสนอโดยวรชัยนั้นนิรโทษกรรมทั้งสองฝ่ายโดยไม่รวมแกนนำ จากนั้นในวาระวาร 2 และ 3 ร่างดังกล่าวถูกเพิ่มเติมเนื้อหาให้นิรโทษกรรมทั้งสองฝ่ายโดยตีความครอบคลุมไปถึงทหาร ผู้สั่งการ และทักษิณ ชินวัตร หรือฉบับที่เรียกกันติดปากว่า “ฉบับเหมาเข่งสุดซอย” ทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในขณะนั้นถูกโจมตีอย่างหนัก

คนเสื้อแดงหรือแนวร่วมบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ไม่พอใจกับแนวโน้มที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการและทหารด้วย จึงเสนอร่างของตนเองขึ้นมา แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าวาระประชุมสภา ขณะที่กลุ่มต้านนิรโทษกรรมกระแสหลักนั้นเกรงว่าจะมีการนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ชินวัตร ส่วนอีกร่างที่สำคัญคือร่างของนิติราษฎร์ ร่างนี้ไมได้ถูกนำเสนอเข้าสภาเช่นกัน และพ.ร.บ.นี้ได้สร้างความแตกแยกที่รุนแรงยิ่งแม้ในหมู่คนเสื้อแดงและแนวร่วมเอง

1. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... เสนอโดย นายวรชัย เหมะสมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และส.ส.จากพรรคเพื่อไทย รวม 40 คน

2. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... เสนอโดย นายนิยม วรปัญญสมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และส.ส.จากพรรคเพื่อไทย รวม 23 คน

3. ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง เสนอโดย คณะนิติราษฎร์

4. ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำานาจรัฐโดยคณะปฏิรปปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ พ.ศ. ... เสนอโดย กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เมษา – พฤษภา 53

ท้ายที่สุด สภาโหวตวาระ 3 ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 1 พ.ย.56 พร้อมๆ กับการชุมนุมต่อต้านที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งกลายเป็นกลุ่ม กปปส.ในที่สุด การต่อต้านในครั้งนี้นำไปสู่การยุบสภาของยิ่งลักษณ์ โดยกำหนดจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2ก.พ. อย่างไรก็ตาม นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศบอยคอต ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศชาติได้ และพร้อมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่ม กปปส.

การชุมนุมยังคงเป็นไปอย่างดุเดือดยาวนาน และน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ระยะสั้นที่ทุกคนยังจดจำได้ดีถึงความรุนแรงครั้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม กับประชาชนทั่วไปการชัตดาวน์กรุงเทพฯ การขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าและการขัดขวางการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ของกลุ่มกปปส.  การต่อสู้เพื่อการเลือกตั้งของกลุ่มจุดเทียน การถือกำหนดขึ้นของกลุ่มนักวิชาการ ‘สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย’ หรือ สปป. ฯลฯ

เช่นเดียวกันกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาค่อนข้างถี่ในการยับยั้งนโยบายต่างๆ ในช่วงท้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ในเดือนถัดมาหลังการเลือกตั้งโดยระบุเหตุผลเนื่องจาก 28 เขตที่ถูก กปปส.ขัดขวางจนไม่สามารรับสมัครผู้ลงสมัครได้นั้นทำให้การจัดเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วประเทศไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2

การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่มีหลายแนวคิด กกต.ผู้โดดเด่นอย่างสมชัย ศรีสุทธิยากร เห็นว่าน่าจะจัดในเดือนกรกฎาคมหรือถัดไปอีก 5 เดือน ขณะที่มติ53พรรคระบุว่าควรจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน

ในระหว่างฝุ่นตลบและเสี่ยงต่อภาวะสุญญากาศ กลุ่มนปช.ก็เริ่มแสดงกำลังเพื่อต้านรัฐประหาร ต้านการร้องขอนายกฯ ม.7 และกดดันให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด โดยนปช.เริ่มชุมนุมต่อเนื่องที่ถนนอักษะ ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.57 กระทั่งถูกสลายการชุมนุมในวันยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร

และดาบสุดท้ายที่ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีอีก 9 คนที่เกี่ยวข้องการกับโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรีโดยมิชอบ พ้นสภาพจากตำแหน่งรักษาการ  แม้หลายส่วนจากวิจารณ์ว่าอยู่ในตำแหน่งรักษาการอยู่แล้ว ไม่สามารถพ้นสภาพได้อีก อย่างไรก็ตาม เมื่อคำวินิจฉัยออกมา นักวิชาการบางส่วนยังยืนยันว่าไม่มีสภาวะที่เรียกว่าสุญญากาศ เนื่องจากปลัดกระทรวงต่างๆ สามารถรักษาการต่อไปได้

แต่แล้วการถกเถียงทั้งหมดก็สิ้นสุดลงในวันที่ 22 พ.ค.2557

กระบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” นั้นดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และอยู่กับเทคนิคกฎหมาย บางคราดูสลับซับซ้อน หากทว่า ก็ถูกจับตาและวิพากษ์จากประชาชนคนเดินดินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกฎหมายมหาชน เคยเขียนไว้ในบทนำหนังสือบทนำ​จาก​หนังสือใน​พระปรมาภิ​ไธย​ ​ประชาธิปไตย​ ​และ​ตุลาการ ของเขาว่า

“ปรากฏการณ์​ ตุลาการภิวัตน์ใน​ประ​เทศไทยตลอดสามปีที่ผ่านมา​​ไม่​ใช่​การตัดสินคดี​ความ​อย่างก้าวหน้า​ (Judicial activism) และ​ไม่​ใช่​การตี​ความ​กฎหมายอย่างสร้างสรรค์​ (Constructive interpretation) เพราะ​​การตัดสินคดี​ความ​อย่างก้าวหน้าคือการที่​ผู้​พิพากษาพยายาม​ใช้​และ​ตี​ความ​กฎหมายอย่างสร้างสรรค์​​เพื่อวินิจฉัยคดี​ให้​เกิดผลไป​ใน​ทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิ​และ​เสรีภาพของประชาชนออกไปมากขึ้น​​การตัดสินคดี​ความ​อย่างก้าวหน้า​จึง​ไม่​ใช่​การตัดสินคดี​ความ​เพื่อปราบปรามศัตรูทางการเมืองขั้วตรงข้าม​ ​ไม่​ใช่​การตัดสินคดี​ความ​เพื่อ​ “ปลด”นักการเมือง​ ​ไม่​ใช่​การตัดสินคดี​ความ​เพื่อตามยุบพรรคการเมือง​​ไม่​ใช่​การตัดสินคดี​ความ​ที่​แทรกแซง​เข้า​ไป​ใน​เรื่อง​ความ​สัมพันธ์ระหว่างประ​เทศอัน​เป็น​อํานาจของรัฐบาล​โดย​แท้”

นี่คือเส้นทางเพียงคร่าวๆ ของบทบาทตุลาการที่เกี่ยวพันกับจุดเปลี่ยนทางการเมือง นับว่าพวกเขาเป็นผู้เล่นสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยและน่าจะถึงเวลาพิจารณาว่า จนถึงวันนี้บทบาทเหล่านั้นช่วยให้ “ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้” ดังพระราชดำรัสที่เหล่าตุลาการยึดถือหรือไม่ หรือแม้กระทั่งรูปแบบของประชาธิปไตยก็ไม่หลงเหลือแล้ว มิพักต้องพูดถึงเนื้อหา

รวมเหตุการณ์สำคัญ คำวินิจฉัยสำคัญ 2549-2557

25 เม.ย.49

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัส 25 เมษายน 2549

 

28 เม.ย.49

หัวหน้า 3 ศาลประชุมหาทางออกให้ประเทศ

การนัดประชุมใหญ่ของประมุข 3 ศาล “ยุติธรรม-ปกครอง-รัฐธรรมนูญ”สนองพระราชดำรัสหาทางออกแก้วิกฤตชาติ 28 เม.ย.นี้เปิดช่องให้ประชาชนใช้สิทธิทางศาลเต็มที่ แย้มอาจเสนอกกต.ล้มกระดานเลือกตั้งใหม่หมด”

โปรยข่าวของเว็บผู้จัดการออนไลน์

ผู้ตรวจการของรัฐสภาเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้ง 2 เมษาชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

8 พ.ค.49

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 9/2549

เลือกตั้ง 2 เมษาเป็นโมฆะ

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งเรื่องให้พิจารณา วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ และสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

(ยื่นคำร้องผู้ตรวจการฯ โดยบรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานพีเน็ต)

16 พ.ค.49

ศาลปกครองกลาง

คำพิพากษาที่ 607-608/2549

เลือกตั้ง 2 เมษาเป็นโมฆะ

กรณี กกต.จัดคูหาเลือกตั้งหันคูหาออก ทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยลับทั้งทางข้อเท็จจริงและในความรู้สึกของผู้มาใช้สิทธิ ไม่ชอบด้วยมาตรา 104 วรรคสามของรธน.

(ยื่นคำร้องโดยโพธิพงศ์ บรรลือวงศ์ น.พ.ประมวล วีรุตมเสน และพวก 10 คน)

31 พ.ค.49

ธีรยุทธ บุญมี พูดเรื่อง ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ก่อนจะนำเสนองานวิจัยเรื่องตุลาการภิวัฒน์ใน 2 เดือนถัดมา

1 มิ.ย.49

ที่ประชุมศาลฎาทำจม.ถึงประธานวุฒิสภา ไม่ขอเสนอชื่อ 2 กกต.เนื่องจาก กกต.ที่เหลือทำหน้าที่บกพร่อง

(ที่มา:   “ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา"บอยคอต"กกต.โดยอ้างพระราชดำรัสวันที่ ๒๕เม.ย.๒๕๔๙” จากเว็บไซต์นิติราษฎร์ (ถูกบล็อคโดยไอซีที-เข้า(ไม่)ถึงเมื่อ 6 ต.ค.57)

20 ก.ค.49

ในหลวงลงพระปรมาภิไธยในพ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป วันที่ 15 ต.ค.49

25 ก.ค.49

ศาลอาญา

พิพากษาจำคุก 4   ปี

จำคุก 3  กกต.คือพล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกกต.และพวกกรณีร่วมกันจัดการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตรอบใหม่เมื่อวันที่ 23 และ 29 เม.ย. 2549 โดยไม่มีอำนาจ และออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กต.เขต ให้เปิดรับผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนสมัครใหม่

ผู้ฟ้องถาวร เสนเนียม ส.ส.ประชาธิปัตย์

(ต่อมาศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น และศาลฎีกายกฟ้องในที่สุด)

19 ก.ย.49

รัฐประหาร นำโดย พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน
ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ตั้ง ‘คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นแทน

30 พ.ค.50

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 3-5/2550

ยุบพรรคไทยรักไทยกับพรรคเล็กรวม4 พรรค

(พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย) รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี

24 ส.ค.50

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ศาลรัฐธรรมนูญถูกจัดตั้งอีกครั้ง

23 ธ.ค.50

เลือกตั้งทั่วไป  พรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้ง มี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

25   พ.ค.51

พันธมิตรเริ่มต้นชุมนุม  (193 วัน) เนื่องจากเกรงว่ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

27 มิ.ย.51

ศาลปกครองกลาง

คำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 984/2551

สั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและครม.ยุติการดำเนินการตามมติครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งหนุนกัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

(ผู้ร้อง สุริยะใส กตะศิลา และพวกรวม 13 คน)

30 มิ.ย.51

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 5/2551

รับรอง คตส.มีอำนาจตรวจสอบและฟ้องคดี กรณีหวยบนดิน  โดยคำวินิจฉัยอ้างเจตนารมณ์ในคำปรารภในพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คปก.

8 ก.ค.51

ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คำสั่งที่ 5019/2551

เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยงยุทธ ติยะไพรัช กรณี กกต.ร้องเรียนว่าแจกเงินเพื่อจูงใจให้กลุ่มกำนันอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นหัวคะแนน เพื่อช่วยให้ผู้สมัครพรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้ง

8 ก.ค.51

ศาลปกครองสูงสุด

คำสั่งที่ 547/2551

ยืนยันคำสั่งศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราว กรณีเพิกถอนร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

8 ก.ค.51

ศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

วินิจฉัยชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัด รธน.มาตรา 190 ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

9 ก.ย.51

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 12-13/2551

ให้สมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งนายกฯ จากกรณีจัดรายการชิมไปบ่นไป

(ผู้ร้องเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และคณะส.ว. รวม 29 คน)

17 ก.ย.51

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

24 พ.ย.51

พันธมิตรฯ ยึดสนามบิน(ยุติหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน1 วัน คือ 3 ธ.ค.51)

2 ธ.ค.51

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 18-20/2551

ยุบพรรคพลังประชาชน, มัชฌิมาธิปไตย,ชาติไทย พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5   ปีจากกรณียงยุทธ ติยะไพรัช ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ

9 ธ.ค.51

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

30 ธ.ค.52

ศาลปกครองกลาง

คดีหมายเลขดำที่ 984 / 2551 , 1001 / 2551 และ 1024 / 2551

มีคำสั่งเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร (สมัยนพดล ปัทมะ)

26 ก.พ.53

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553

ยึดทรัพย์ทักษิณ4.6 หมื่นล้าน

12 มี.ค.53

นปช.ชุมนุมเรียกร้องอภิสิทธิ์ลาออกจากนายกฯ

เม.ย.-พ.ค.

สลายการชุมนุม นปช. มีผู้เสียชีวิต 91 ราย (ศปช. 94 ราย /   คอป. 92 ราย)

2 พ.ย.53

ครม.อภิสิทธิ์มีมติ แก้รธน. 2 ประเด็น คือ ม.190 การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่ต้องผ่านสภา และยกเลิก ม.93-98 แบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว(จากที่คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เสนอแก้ 6 ประเด็น)

8 พ.ย.53

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 7/2553

ความเป็นรัฐมนตรีของกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ไม่สิ้นสุด  กรณีทำจดหมายแนะนายกฯ เร่งคดีทักษิณ

(เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กับส.ว.รวม 19 คน ผู้ร้อง)

 

29 พ.ย.53

 

ศาลรัฐธรรมนูญ

 

คำวินิจฉัย 15/2553

ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258  ล้านจากบ.ทีพีไอโพลีน เนื่องจากกระบวนการยืนคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(นายทะเบียนพรรคการเมือง ผู้ร้อง)

 

9 ธ.ค.53

 

ศาลรัฐธรรมนูญ

 

คำวินิจฉัย 16/2553

ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบ.ทีพีไอโพลน เนื่องจากข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ

(อัยการสูงสุด ผู้ร้อง)

11 ก.พ.54

สภาโหวตผ่านวาระ 3  การแก้ไขรธน.มาตรา 190  และ 93-98

10 พ.ค.54

อภิสิทธิ์ยุบสภา

3 ก.ค.54

เลือกตั้งทั่วไป พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ

13 ก.พ.55

ครม.เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะแก้ไขมาตราเดียวคือ มาตรา 291 เพื่อปลดล็อคจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

22 ก.พ.55

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 5-7/2555

พ.ร.ก.ให้คลังกู้เพื่อวางระบบจัดการน้ำ และ พ.ร.ก.ให้คลังกู้เพื่อช่วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

13 ก.ค.55

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 18-22/2555

การแก้รธน.มาตรา 291 ไม่ขัดรธน.มาตรา 68 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่การจะแก้รธน.ทั้งฉบับ “ควร” ทำประชามติ

(ผู้ร้อง 5 ราย ผู้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะ)

29  ม.ค.56

กลุ่ม 29 มกราปลดปล่อยนักโทษการเมือง ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อช่วยนักโทษการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำและนอกเรือนจำอีกหลายสิบคน

7 มี.ค.56

วรชัย เหมะ ส.ส.เพื่อไทยนำทีมส.ส.รวม 42 คนยื่นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภา

4 เม.ย.56

รัฐบาลตัดสินใจไม่ทำประชามติ แต่แก้ไขรายมาตรา โดยนำเสนอ 3 ร่างเข้าสภา ประเด็นที่มาส.ว. , ม.190 หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ, และม.237 ว่าด้วยการยุบพรรค

7 ส.ค.56

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกของสภา มีม็อบต้านหน้าสภานำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ

28 ก.ย.56

สภาโหวตผ่านวาระ3 แก้รธน.ประเด็นที่มาส.ว.

31  ต.ค.56

ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใกล้พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนขยายตัวเป็น กปปส.

1 พ.ย.56

สภาโหวตผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

4 พ.ย.46

สภาโหวตผ่านวาระ3 แก้รธน.ประเด็นมาตรา 190

20 พ.ย.56

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 15-18/2556

การดําเนินการ พิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรธน.กรณีแก้ไขที่มาส.ว. เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรธน.   และ รธน.มีเนื้อความ ที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรธน.50 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรธน.50    ส่วนที่ผู้ร้องที่  1  ขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง  เห็นว่า ยังไม่เข้าเงื่อนไขจึงให้ยกคําร้อง

29 พ.ย.56

เปิดตัว กปปส.อย่างเป็นทางการ

9 ธ.ค.56

ยิ่งลักษณ์ยุบสภา เป็นรัฐบาลรักษาการ

21 ธ.ค.56

พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยอภิสิทธิ์ ประกาศบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

8 ม.ค.57

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 1/2557

วินิจฉัยว่าการพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรธน. มาตรา 190 เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการตามรธน.และการที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของรธน.มาตรา 190 เป็นการกระทําที่ ไม่ชอบด้วยรธน.ผิด  มาตรา  68  วรรคหนึ่ง

24 ม.ค.57

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 2/2557

วินิจฉัยว่าสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ตามที่ กกต.เสนอ ครม. และอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต.และครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

7  มี.ค.57

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ เลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

12 มี.ค.57

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 3-4/2557

วินิจฉัยว่าการตราร่างพ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน (2ล้านล้าน) ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรธน. และมีข้อความสาระสำคัญที่ขัดหรือแย้งกับรธน. ทำให้ร่างนี้เป็นอันตกไป

21 มี.ค.57

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 5/2557

พ.ร.ฎ. ยุบสภาผู้แทน 2556 เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรธน.

7 มี.ค.57

ศาลปกครองสูงสุด

พิพากษา

ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิลเปลี่ยนศรี เนื่องจากยิ่งลักษณ์ใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

7 พ.ค.57

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย 9/2557

ความเป็นนายกฯ รักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวิตร สิ้นสุดลง กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งให้การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นไปโดยมิชอบ

(ผู้ร้อง ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.)

22 พ.ค.57

คสช. ทำรัฐประหารยึดอำนาจ

22 พ.ค.-   ปัจจุบัน

 

                     -



หมายเหตุ ประชาไทขออภัยในความผิดพลาด มีการแก้ไขเนื้อหาบางจุด (25 เม.ย.2559)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net