ร้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวระงับสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีหวั่นแม่น้ำโขงถูกปิดกั้นหมดก่อนผลวินิจฉัย

ที่มาภาพ : คนชายข่าว คนชายขอบ

16 ต.ค. 2557 เมื่อวานนี้ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ตัวแทนนักกฎหมายภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน พร้อมด้วยประชาชนลุ่มน้ำโขง ประมาณ 10 คน เดินทางมาเข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอกำหนดมาตรการหรือวิธีการ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาคดีการฟ้องร้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ เปิดเผยว่า หลังจากการฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กฟผ.ต่อกรณีเขื่อนไซยะบุรีไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้วนั้น แม้ว่าศาลยังไม่ได้พิพากษากรณี กฟผ.ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก็ตาม แต่วันนี้ตัวแทนชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้าง เขื่อนไซยะบุรี เห็นว่าจำเป็นต้องขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่ง กฟผ.ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีนี้และเป็นคู่สัญญารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ สปป.ลาว จำกัด ได้ระงับกระบวนการต่างๆ ตามโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เพื่อจะทำให้กระบวนการในการสร้างเขื่อนฯชะลอลง

นางสาวส.รัตนมณี กล่าวว่าปัจจุบันการสร้างเขื่อนมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว จนชาวบ้านกังวลว่า กระบวนการพิจารณาของศาลอาจจะไม่ทัน เพราะกว่าศาลจะตัดสินเขื่อนอาจสร้างเสร็จไปแล้วถึงร้อยละ 70 และตามแผนจะปิดกั้นแม่น้ำโขงในช่วงต้นปี 2558 อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง จึงจำเป็นที่จะต้องขอให้ศาลสั่งให้กฟผ.ระงับการดำเนินการตามโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้า รวมถึงการสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากหลายขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องทำก่อนที่จะดำเนินโครงการ กฟผ.ยังไม่ทำ

นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวต่อว่า อย่างกรณีการทำตามระเบียบเรื่องการปรึกษา ตลอดจนข้อตกลงที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC ) กรณีจะก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่นั้น เห็นได้ชัดว่า กฟผ.หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่เคยดำเนินการ โดยการมายื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้เป็นการขอการคุ้มครองที่ผล ข้ามแดน เพราะโครงการเขื่อนที่มี่ผลกระทบต่อเขตแดน ประชาชน สิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่รอบแม่น้ำโขง ดังนั้นประเทศสมาชิกต้องมีส่วนร่วม กฟผ.ของไทยจะเดินหน้าดำเนินการทำสัญญาใดๆ โดยลำพังไม่ได้

“การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านความเห็นสมาชิก ก็ถือเป็นเรื่องระหว่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายพลังงานและกฟผ. ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้ประเทศสมาชิกรับรู้ นับแต่ศาลรับฟ้องคดีจนปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลเวียดนาม กัมพูชาก็ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงขอให้พิจารณาชะลอโครงการก่อ สร้างเขื่อนไซยะบุรี ออกไปอีก 10 ปี เพื่อทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุม ชัดเจนก่อน”นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว

เมื่อถามว่าขั้นตอนหลังจากนี้จะดำเนินการอย่างไร นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวว่า การยื่นขอคำคุ้มครองชั่วคราวครั้งนี้ ต้องรอศาลส่งหนังสือเชิญให้คู่กรณี คือ กฟผ.รับทราบและเข้าชี้แจงก่อนต่อศาลเสียก่อน จากนั้นศาลก็จะพิจารณาต่อไปว่ายอมรับคำขอคุ้มครองหรือไม่ และมีคำสั่งอย่างไรบ้าง แต่ไม่สามารถระบุเวลาได้แน่ชัด โดยส่วนภาคประชาชนเองยังเชื่อมั่นว่า ศาลจะเป็นที่พึ่งเรื่องนี้ได้ เพราะโครงการเขื่อนนั้นมีผลกระทบวงกว้าง ที่น่ากังวลไม่ต่างกับสัญญาซื้อขายไฟ คือ โครงนี้มีธนาคารไทยหลายแห่งเป็นแหล่งที่ปล่อยกู้ผู้ซื้อไฟฟ้า ชาวบ้านก็หวังว่าหากศาลมีคำสั่งให้กฟผ.ระงับการดำเนินการไว้ก่อนก็จะทำให้ บริษัทที่ก่อสร้าง และธนาคารเกิดความไม่มั่นใจที่จะก่อสร้างและปล่อยกู้ต่อไปได้

ด้านนางสาวอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัด กล่าวว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่ดำเนินการไปบางส่วนนั้น เมื่อปีที่ผ่านมามีผลกระทบกับประชาชนในประเทศไทยหลายพื้นที่ เพราะทำให้ระดับน้ำแปรปรวน ขึ้นลงไม่ปกติ ชาวบ้านในพื้นที่อาจประสบปัญหาน้ำท่วม แล้งและส่งผลต่อเกษตรกรรมได้ เพราะการสร้างขื่อนก็ต้องการมีปิดทางน้ำไหลบ้าง เป็นบางครั้ง ดังนั้นหากรับงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ อาจจะช่วยระงับกระบวนการก่อสร้างเขื่อนได้เช่นกัน

 

ที่มา : คนชายข่าว คนชายขอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท