Skip to main content
sharethis

ห้องเรียนวิทยาลัยประชาชน เปิดมุมมองสันติภาพชายแดนภาคใต้/ปาตานีของคน track 3 'ไทยพุทธ จีน มุสลิม' คำถามต่อการแบ่ง Track ความไม่เข้าใจ และความกลัวของคนใน Track 3 มาสร้างอนาคตร่วมกันได้ไหม?

เมื่อเวลา 13.30 น.วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2557 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) วิทยาลัยประชาชนจัดเสวนาเรื่อง “ความพยายามในกระบวนการสร้างสันติภาพของ track 3 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี” โดยมีนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR นายปิติพงษ์ บูรพาขจรพงษ์ นักธุรกิจจีนในจังหวัดปัตตานี และนายรักษ์ชาติ สุวรรณ์ จากเครือข่ายชาวไทยพุทธสนับสนุนกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

การเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่าน ของศูนย์การจัดการความขัดแย้งศึกษา วิทยาลัยประชาชน โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษารัฐศาสตร์และผู้สนใจเข้าร่วมฟังได้ ส่วนคำว่า track 3 ในที่นี้หมายถึงประชาชนหรือองค์กรระดับรากหญ้า โดย track 1 หมายถึงชนชั้นนำ, ผู้นำหรือคู่ขัดแย้งนำ ส่วน track 2 หมายถึง ระดับองค์กรประชาสังคม นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว เป็นต้น

คำถามต่อการแบ่ง Track และความไม่เข้าใจสันติภาพ
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR กล่าวว่า ก่อนที่จะถามว่า Track 3 มีความรู้ความเข้าใจต่อกระบวนการสร้างสันติภาพมากน้อยแค่ไหน ควรจะถามก่อนว่าการแบ่งกลุ่มคนออกเป็น Track ต่างๆ นั้น ได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน และนักวิชาการที่อธิบายกระบวนการสร้างสันติภาพมีความเข้าใจคนในพื้นที่ปาตานีมากน้อยแค่ไหน และนอกจากอธิบายวจนะภาษาแล้ว นักวิชาการสามารถอธิบายอวจนะภาษาได้มากน้อยแค่ไหน ตัวอย่าง เช่น การพ่นสีตามป้าย ตามถนนต่างๆ เป็นต้น

นายรักษ์ชาติ สุวรรณ์ จากเครือข่ายชาวไทยพุทธสนับสนุนกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า คนไทยพุทธในพื้นที่มีความรู้เรื่องการสร้างสันติภาพน้อยมาก เมื่อมีงานเสวนาคนไทยพุทธก็จะไม่กล้าถาม ไม่กล้าพูด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีจำนวนน้อย และที่สำคัญไม่เข้าใจภาษามลายู ซึ่งเวทีเสวนาไหนที่พูดแต่ภาษามลายูก็จะไม่เข้าร่วม หรือถ้าเข้าร่วมก็จะออกมาก่อน เพราะฟังไม่เข้าใจ

นายรักษ์ชาติ กล่าวเสริมว่า จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะต่อชาวไทยพุทธ ยิ่งเมื่อพวกเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การมีป้ายบอกสถานที่ต่างๆ เป็นภาษามลายูตัวเขียนยาวี พวกเขาก็จะคิดไปเองต่างๆ นานาว่าเกิดอะไรขึ้น หากพวกเขาไม่เข้าใจกระบวนการสร้างสันติภาพ

นายปิติพงษ์ บูรพาขจรพงษ์ นักธุรกิจจีนในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า คนไทยจีนในพื้นที่มีความรู้เรื่องการสร้างสันติภาพน้อยมาก หรือบางครั้งไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะมีกลุ่มขบวนการต่อสู้ต่างๆ คิดว่าคงเป็นปัญหายาเสพติด เรื่องการเมืองท้องถิ่น หรือปัญหาอื่นๆ มากกว่า และส่วนใหญ่ก็จะไม่พูดกันถึงปัญหาความไม่สงบ แต่คนไทยเชื้อสายจีนก็ยังมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับพี่น้องมลายูมุสลิมหรือคนไทยพุทธ คือคนจีนชอบค้าขาย

“ถ้าจะมาซื้อของได้เลยเราขายแน่นอน แต่ถ้ามาถามความเห็นเรื่องปัญหาความไม่สงบ เราจะรีบตอบไปทันทีว่า ไม่รู้ ไม่มีความเห็น รู้เพียงแค่ว่า อยากกลับไปเป็นแบบอดีต” นายปิติพงษ์ กล่าว

ความกลัวของคนในTrack 3
นายรักษ์ชาติ กล่าวว่า คนพุทธต้องอยู่อย่างหวาดกลัวมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นคนพุทธอยู่ร่วมกับคนมลายูมุสลิมและคนไทยจีนได้อย่างปกติ ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยพุทธหวาดกลัวคือ เมื่อดูสถิติความสูญเสียต่อชาวพุทธแล้วพบว่าสูญเสียเยอะมาก

ขณะที่นายปิติพงษ์ กล่าวว่า คนไทยจีนมีความหวาดกลัวมากกว่าคนไทยพุทธมากถึง 10 เท่า “เพราะเราไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร เราคาดเดาอะไรไม่ได้เลย”

นายตูแวดานียา สะท้อนว่า หากคนไทยพุทธมีความหวาดกลัว และคนไทยจีนก็หวาดกลัวมากกว่าคนไทยพุทธถึง 10 เท่า เอาเข้าจริงคนมลายูมุสลิมก็ย่อมต้องมีความหวาดกลัวมากกว่าด้วย เพราะเป็นคู่ต่อสู้โดยตรงของฝ่ายความมั่นคงที่ถูกส่งมาปราบกลุ่มขบวนการต่างๆ

นายตูแวดานียา กล่าวต่อว่า เพราะขบวนการเหล่านั้นกับชาวมลายูมุสลิมแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ เนื่องจากอัตลักษณ์ การแต่งกาย รวมไปถึงประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ เหมือนกันหมด ซึ่งการต่อสู้ในปัจจุบันต่างจากในอดีตที่ขบวนการอยู่ในป่า แต่ปัจจุบัน เชื่อว่า ขบวนการกับชาวบ้านคือคนคนเดียวกัน

มาสร้างอนาคตร่วมกันได้หรือไม่?
ขณะที่ผู้เข้าร่วมเสวนาคนหนึ่งตั้งคำถามว่า ทำไมต่างฝ่ายต่างอยากกลับไปเป็นแบบอดีต ทำไมคนมลายูมุสลิมถึงอยากกลับไปล้าหลัง ทำไมคนไทยพุทธไม่คิดว่าบ้างหรือว่า ท่านกำลังเป็นเครื่องมือให้คนจากส่วนกลางซึ่งอยู่ไกลมาก ทำไมเราถึงไม่สร้างอนาคตร่วมกัน?

จากคำถามนี้ นายตูแวดานียา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงอดีต หมายถึงเรากำลังพูดถึงสิทธิความเป็นเจ้าของคนในพื้นที่ แต่หากจะกำหนดอนาคตร่วมกัน มีทางเลือกอยู่ 3 ทางด้วยกันคือ 1.ผ่านการเจรจาและมีข้อตกลงร่วมกัน 2. ผ่านรัฐสภาหรือมติจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 3.ผ่านการทำประชามติของคนในพื้นที่

ส่วนนายปิติพงษ์ กล่าวว่า คนมลายูมุสลิมในพื้นมีมากกว่า 80% แล้วคนไทยจีนที่มีแค่เพียง 5% แล้วจะเอาอะไรไปแข่งกับคนมลายูมุสลิม แล้วหากมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา คนไทยจีนจะกลายเป็นชนชั้นสองหรือไม่? คนมลายูมุสลิมจะได้รับสิทธิของภูมิบุตราเหมือนในมาเลเซียหรือไม่? แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว คุณภาพชีวิตของคนไทยจีนดีขึ้น พวกเราก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้

นายรักษ์ชาติ สะท้อนว่า ที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องหรือแถลงการณ์ต่างๆ ออกมา แต่ยังไม่เห็นการเรียกร้องให้คนต่างชาติพันธุ์ให้ได้เห็นเลย อันนี้คือความจริงที่ประสบพบเจอ แล้วอนาคตเราจะอยู่กันอย่างไร วันนี้เราพูดอีกอย่าง พรุ่งนี้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเราก็อาจจะพูดอีกอย่าง มันยังไม่มีอะไรที่เบ็ดเสร็จเพราะเรายังไม่เข้าใจกัน และมีอะไรจะรับประกันได้ว่า ถ้ามีสูตรที่เบ็ดเสร็จทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้ และจะไม่มีกลุ่มใหม่ขึ้นมาต่อต้านหากมีความเปลี่ยนแปลงแล้วอยู่ร่วมกันไม่ได้

ในขณะที่ นายฮาซัน ยามาดีบุ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตราบใดที่คน 3 กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นคนมลายูมุสลิม คนไทยพุทธ และคนไทยจีน ถ้าไม่มานั่งคุยทำความเข้าใจกับคำว่าสันติภาพที่พูดกันอยู่บ่อยๆ หรือแม้แต่กับคำว่าสันติสุขเอง สันติภาพหรือสันติสุขก็คงจะห่างไกล เพราะถึงอย่างไรคน 3 กลุ่มนี้จะต้องอยู่บนพื้นแผ่นดินเดียวกันนี้ตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net