นักข่าวตะวันออกกลางเผยความโหดเหี้ยมรัฐบาลอิรัก-กลุ่มติดอาวุธฝ่ายตรงข้าม 'ไอซิส'

แม้จะรู้กันว่ากลุ่มติดอาวุธ 'ไอซิส' (ISIS) มีความโหดเหี้ยมอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายรัฐบาลอิรักและกลุ่มติดอาวุธที่หนุนหลังโดยรัฐบาลก็มีความโหดเหี้ยมไม่แพ้กัน โดยมีเหยื่อเป็นพลเรือนต่างนิกายศาสนา ที่ทั้งถูกจับกุม ทรมาน และสังหารตามอำเภอใจ

20 ต.ค. 2557 เทรซี เชลตัน นักข่าวอาวุโสของสำนักข่าวโกลบอลโพสต์ ผู้รายงานข่าวประเด็นซีเรียและตะวันออกกลางเขียนบทความเกี่ยวกับกรณีกลุ่มกบฏไอซิส (ISIS) โดยระบุว่าไม่เพียงกลุ่มไอซิสเท่านั้นที่มีความโหดร้ายแต่กองทัพรัฐบาลอิรักที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เองก็กระทำโหดร้ายต่อพลเรือนซึ่งเป็นคนต่างนิกายเช่นกัน

เชลตันเปิดเผยในบทความว่ากองทัพอิรักและกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์สั่งลงโทษผู้ต้องขังจำนวนมากโดยไม่มีการดำเนินคดี มีการจับกุมชาวบ้านและคนต่างนิกายตามอำเภอใจ มีการแขวนคอผู้คนตามเสาไฟฟ้าเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในชุมชน รวมถึงไล่ยิงพลเรือนที่พวกเขาจับตัวมาได้

"ในขณะที่ประชาคมโลกเน้นจับตาภัยจากกลุ่มก่อการร้ายไอซิส แต่กองทัพรัฐบาลอิรักซึ่งได้รับการฝึกฝนจากสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์เองก็กระทำการโหดเหี้ยมต่อพลเรือนชาวซุนนีในระดับเดียวกับ 'ผู้ก่อการร้าย' ฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน" เชลตันระบุในบทความ

ดอนนาเทลลา โรเวรา ผู้ให้คำปรึกษาอาวุโสด้านการตอบโต้วิกฤตการณ์จากองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า มีการกระทำโหดเหี้ยมจากทั้ง 2 ฝ่ายคือกลุ่มกบฏไอซิสและกองกำลังนิกายชีอะฮ์ที่หนุนหลังโดยรัฐบาลอิรัก ซึ่งกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ได้ก่ออาชญากรรมดังกล่าวอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม

บทความในโกลบอลโพสต์ระบุว่าการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายไอซิสเช่นการสังหารชาวซาซิดี ชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ และตัวประกันชาวตะวันตก มีการนำเสนอผ่านสื่ออย่างกว้างขวาง แต่พลเรือนนิกายซุนนีเองก็ได้รับเคราะห์ไปด้วย พวกเขามักจะถูกแปะป้ายว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" หรือ "ผู้สนับสนุนกลุ่มไอซิส" โดยทางการอิรักและโดยคนทั่วไปที่ตัดสินจากเชื้อชาติและนิกายเท่านั้น ชาวนิกายชีอะฮ์มักจะถูกกองกำลังรัฐบาลจับกุมหรือสังหารตามอำเภอใจ

โรเวรากล่าวว่า ขณะที่กลุ่มชาวเคิร์ดและชนกลุ่มน้อยอยู่อย่างค่อนข้างปลอดภัยในเขตของชาวเคิร์ด และชาวนิกายชีอะฮ์ก็อยู่อย่างปลอดภัยภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลอิรัก แต่ชาวนิกายซุนนีมีชีวิตยากลำบาก ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวโดยเฉพาะผู้ชายและพ่อแม่ที่มีลูกชาย

จากรายงานของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลชื่อ "การลอยนวลสมบูรณ์แบบ : การปกครองโดยกลุ่มติดอาวุธในอิรัก" ระบุถึงกรณีที่กองกำลังนิกายชีอะฮ์ลักพาตัวพลเรือนชาวซุนนีเพื่อเรียกค่าไถ่และมีกรณีที่ยังสังหารผู้ถูกลักพาตัวแม้จะมีการจ่ายค่าไถ่แล้ว ซึ่งแอมเนสตี้ระบุว่ามีกรณีการเรียกค่าไถ่ 170 กรณีนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีทนายความผู้พิทักษ์สิทธิ์ของชาวซุนนีบอกว่าบางครั้งร่างเหยื่อที่ถูกสังหารโดยกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์จะถูกนำมาแขวนตามเสาไฟฟ้าเพื่อข่มขู่ผู้คนที่รู้เห็นเป็นใจกับกลุ่มไอซิส

โกลบอลโพสต์ยังได้ระบุถึงกรณีการเผาหรือวางระเบิดรวมถึงไล่สังหารคนในศาสนสถาน เช่นกรณีสังหารหมู่ในมัสยิดที่หมู่บ้านบานีวาอิสเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 73 ราย พวกเขาถูกยิงในขณะที่มีการละหมาดวันศุกร์

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่ามีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการอิรักและกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทำการสังหารนักโทษนิกายซุนนี 255 กรณี ในรายงานระบุว่าการสังหารเกิดขึ้นในเมืองและหมู่บ้าน 6 แห่งของประเทศอิรักในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ในช่วงเดียวกับที่ประชาชนพากันหนีการรุกรานของกลุ่มไอซิส

โจ สตอร์ก รองผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าการไล่ยิงนักโทษเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติอย่างร้ายแรง ในขณะที่ทั่วโลกกล่าวประณามการกระทำโหดเหี้ยมของไอซิสซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรประณามจริงแต่ก็อย่าเมินเฉยต่อการสังหารคนต่างนิกายโดยรัฐบาลอิรักและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอิรัก

โกลบอลโพสต์ระบุว่ากลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ยังได้คุกคามนักกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลือต่อชาวนิกายซุนนีที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมรวมถึงถูกทรมานด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม สื่อท้องถิ่นอิรักรายงานว่ามีทนายความอย่างน้อย 7 คนถูกสังหารในเมืองบาคูบาในปีนี้ โดยผู้เป็นพ่อของเหยื่อที่ถูกสังหารรายหนึ่งเล่าว่าคืนหลังจากที่ลูกเขาถูกสังหาร บ้านของเขาก็ถูกรื้อและทำลายในขณะเดียวกับที่พวกเขาพากันหลบหนีพร้อมครอบครัวไปยังเขตที่อยู่ของชาวเคิร์ด

แต่จะหวังให้ผู้คนหลบหนีไปพึ่งพื้นที่ของชาวเคิร์ดอย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โรเวราบอกว่าชาวอาหรับถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ของชาวเคิร์ดแล้ว และชาวอาหรับผู้ที่ลี้ภัยไปอยู่ในพื้นที่ชาวเคิร์ดก็ถูกปฏิบัติด้วยความไม่ไว้ใจ

โรเวราให้สัมภาษณ์ต่อโกลบอลโพสต์ว่ารัฐบาลอิรักไม่เพียงแค่ยอมให้กลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ก่อเหตุโดยไม่มีการลงโทษเท่านั้นแต่ยังสนับสนุนหรือร่วมปฏิบัติการโหดเหี้ยมในบางครั้งอีกด้วย

เรื่องนี้ทำให้ชวนตั้งคำถามถึงการที่รัฐบาลสหรัฐฯ และแนวร่วมจากนานาชาติที่ให้การสนับสนุนอิรักในการต่อสู้กับกลุ่มไอซิส ทั้งที่รัฐบาลอิรักไม่สามารถแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธได้ ในแผนยุทธศาสตร์ 4 จุด ที่เสนอโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา ก็ยอมรับว่ามีกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อชาวนิกายซุนนีแต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์

โรเวรากล่าวว่าการช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพอิรักนั้นจะต้องมีการตรวจสอบเข้มงวดมาก เพราะรัฐบาลนานาชาติจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการกระทำของกองทัพและกลุ่มติดอาวุธในอิรักที่ใช้อาวุธของพวกเขาทั้งในตอนนี้และในระยะยาว

 

เรียบเรียงจาก

Think the Islamic State is bad? Check out the 'good guys', Globalpost, 17-10-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/iraq/141016/think-the-islamic-state-bad-check-out-the-good-guys

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท