Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา 'สมชาย ไพบูลย์' แกนนำ นปช. ปราศรัยปลุกระดมให้เกิดความฮึกเหิมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ระบุเป็นโทษสถานเบาและเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว

21 ต.ค.2557 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย ไพบูลย์ อายุ 45 ปี อดีต ส.ข.เขตบางบอน พรรคไทยรักไทย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

โจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2553 สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. 2553 ภายหลังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยกับพวกซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุม ที่เวทีผ่านฟ้าลีลาศ และเวทีราชประสงค์ โดยจำเลยกับพวกทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วยังขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่เลิกการชุมนุม และยังใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดไม่ทราบชนิด ขนาด มีด ดาบ ท่อนไม้ ท่อนเหล็ก หนังสติ๊กหลายชิ้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เป็นอาวุธ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหาร ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงตลาดยอด, แขวงวัดโสมนัส, แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร, แขวงและเขตดุสิต, แขวงลุมพินี แขวงและเขตปทุมวัน กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2555 ว่า จำเลยกระทำการโดยเจตนาขัดคำสั่งและขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้เลิกชุมนุม เพื่อปลุกระดมสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมให้เกิดความฮึกเหิมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อให้การชุมนุมยังคงอยู่ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำกองบัญชาการนครบาล 6 สน.นางเลิ้ง สน.บุคคโล สน.สมเด็จเจ้าพระยา สน.ลุมพินี และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กว่า 10 ปาก ซึ่งเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน ผู้บันทึกการปราศรัยลงแผ่นวีซีดี และผู้ถอดเทปการปราศรัย เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงสอดคล้องต่อเนื่องกันว่า จำเลยซึ่งร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.บริเวณเวทีผ่านฟ้าลีลาศ ขณะที่รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จำเลยได้ขึ้นปราศรัยเวทีดังกล่าวหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. - 13 เม.ย. 2553 ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลและระหว่างที่รัฐบาลใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ก็ได้มีการปราศรัยให้ผู้ชุมนุมบางส่วนที่อยู่แยกสะพานมัฆวานรังสรรค์ และแยก จปร.ให้มาร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งที่บริเวณแยกคอกวัวเพื่อตรึงกำลังรักษาพื้นที่การชุมนุมหากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาขอคืนพื้นที่ และหากมีการนำรถถังเข้ามาก็ให้ยึดรถถังไว้ และต่อมาเมื่อคณะกรรมการคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้รับคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาและอาวุธยุทธภัณฑ์ และความผิดที่เกี่ยวกับความรุนแรงในการชุมนุมไว้ และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับจำเลย นอกจากนี้ยังปรากฏภาพและข่าวทางหนังสือพิมพ์จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างการชุมนุม ซึ่งทางนำสืบไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ได้เบิกความตามที่รู้เห็นจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ปั้นแต่งพยานหลักฐานเพื่อกลั่นแกล้งให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา

ขณะที่จำเลยได้นำสืบเพียงว่าการปราศรัยเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และความเห็นทางวิชาการ ไม่ใช่การยั่วยุ แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบเป็นเรื่องไม่ถูกต้องหรือห่างไกลจากความจริง และที่แกนนำ นปช.บางคนมาเป็นพยานจำเลยเบิกความก็ปรากฏว่าบางคนไม่ได้อยู่ในช่วงที่เกิดเหตุ แต่รับรู้เหตุการณ์จากการเผยแพร่ข่าวสาร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามมาตรา 116 (2) (3), 215 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม, 216 และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 8 เม.ย. 2553 ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ให้ลงโทษสถานเบานั้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยนั้นบทลงโทษหนักสุด คือ มาตรา 116 ฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปีนั้นถือว่าเป็นโทษสถานเบาและเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว จึงพิพากษายืนโทษตามที่ศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษจำเลย

ก่อนถูกควบคุมตัวนายสมชายกล่าวว่า หากจะต้องรับโทษจำคุก 1 ปี ก่อนหน้านี้ตนเคยถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมมาแล้ว 8 เดือน 14 วัน ดังนั้น หากสุดท้ายจะต้องรับโทษคงมีการนัดเวลาคุมขังต่อจากช่วงเวลาดังกล่าวอีก 3 เดือนเศษจึงจะครบ 1 ปี

ด้านทนายความเตรียมเงินสด 1 แสนบาท เพื่อยื่นประกันตัวและฎีกาสู้คดีต่อไป

เรียบเรียงจาก ผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net