Skip to main content
sharethis

21 ต.ค.2557  เพจร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูล ถาวร เผยแพร่รูปเขื่อนปากมูลในวันที่ปิดเขื่อน โดยระบุว่า “ปากมูน เงียบเหงาหลังเขื่อนปากมูลปิดประตูระบายน้ำ คนหาปลาเริ่มละทิ้งลำน้ำ เรือหาปลาถูกเก็บขึ้นฝั่ง ต่อจากนี้ไปงานใหม่คือ การไปรับจ้างต่างถิ่น รอปีหน้าเขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำอีกครั้ง ค่อยกลับมาหาปลาใหม่”

ทั้งนี้ เขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนในจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากลำน้ำมูลและน้ำโขงไปทางตะวันตกประมาณ 5.5 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก โดยมีค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2537

ปัญหาเขื่อนปากมูลอาจเป็นที่คุ้นหูผู้คนมายาวนาน แต่อาจมีคนไม่มากนักที่ะทราบและยังจำได้ว่าว่าเหตุใดผ่านมาหลายรัฐบาลเรื่องราวจึงยังไม่ไปถึงไหนเสียที ในการเปิด-ปิดเขื่อนแห่งนี้ เพราะในขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องให้เปิด กฟผ.เจ้าของโครงการก็ต้องการจะปิด

ล่าสุด ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น หลังจาก กฟผ.ตัดสินใจปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนเมื่อ 13 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยอ้างว่าจะต้องเก็บกักน้ำไว้ในในฤดูแล้ง และแทบจะทันทีเช่นกัน ที่กลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล ประมาณ 30 คน นำโดยนางสมปอง เวียงจันทร์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อคัดค้านการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานดังกล่าว

“ตอนนี้ทุกอย่างกลับไปสู่สุญญากาศอีกครั้ง” กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวถึงสภาวะที่ชาวบ้านต้องเริ่มต้นเคลื่อนไหวเรียกร้องกันใหม่แบบแทบจะเริ่มนับศูนย์

ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เท้าความให้ฟังว่า ข้อขัดแย้งเรื่องนี้มีมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีมติครม.สรุปให้เปิดเขื่อนในช่วงฤดูปลาวางไข่ได้ 4 เดือน หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘เปิด 4 ปิด 8’ โดยอาจเริ่มต้นเปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน จากนั้นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อถึงยุคของรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ เนื่องจากปีนั้นระดับน้ำขึ้นสูง รัฐบาลเกรงน้ำจะท่วมเมืองอุบลราชธานี จึงมีมติครม.เปลี่ยนแปลงมติครม.เดิม โดยกำหนดการเปิดเขื่อนเมื่อระดับน้ำเพิ่มสูง ชาวบ้านยังคงไม่พอใจและมีการเรียกร้องต่อรองเรื่อยมา ต่อมาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงได้มีมติครม.ใหม่ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 ให้ยกเลิกมติครม.ที่มีอยู่ทั้งหมด และยังให้ยกเลิกคณะกรรมการที่เคยมี แล้วตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่ทันได้มีการตั้งกรรมการชุดใหม่จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร

เขากล่าวต่อว่า นั่นเป็นประเด็นที่ทำให้การปิดเปิดเขื่อนเป็นไปตามวิจารณญาณของคู่ขัดแย้งคือ กฟผ. ซึ่งโดยสรุปแล้ว ในปีนี้เพิ่งเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนได้เพียง 2 เดือนเศษ ไม่ถึง 4 เดือนตามมติครม.เดิมด้วยซ้ำ ในขณะที่ชาวบ้านตีความว่าเมื่อเป็นภาวะสุญญากาศเช่นนี้ก็ควรต้องกลับไปยึดมติครม.เดิม คือ เปิด4 ปิด8

อันที่จริงในยุครัฐประหารครั้งล่าสุด ชาวบ้านก็เดินทางมาเรียกร้องกับคณะรัฐประหารในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลให้สั่งให้ กฟผ.ดำเนินการเปิดเขื่อนด้วยเช่นกัน ซึ่งในที่สุดก็ยินยอมเปิดเขื่อนในวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ต่อจากนี้ไป พวกเขายังคงต้องหารือถึงแนวทางการเรียกร้องต่อไป

“ตอนนี้ก็ประชุมกันอยู่ แต่ค่อนข้างเคลื่อนไหวยาก เพราะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว คาดว่าประมาณเดือนมกราคม ชาวบ้านอาจจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องได้อีกครั้ง” กฤษกรกล่าว

ขอบคุณภาพจากเพจร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูล ถาวร






 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net