10 ปี อาชญากรรมรัฐ ความรับผิดไปถึงไหน?

เดือนตุลาคม เป็นเดือนที่มีวาระครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอย่างน้อย 4 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลาคม 2547 และเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

2 เหตุการณ์แรกลงท้ายด้วยการนิรโทษกรรมผู้ใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ใหญ่อีกเหตุการณ์คือ พฤษภาเลือด 2535

กรณีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อ เมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็เช่นกัน มีความพยายามนิรโทษกรรมโดยการนำของรัฐบาลของฝ่ายผู้ถูกสลายการชุมนุมเป็นผู้ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม แม้จะถูกคัดค้านจนต้องหยุดชะงักไป และเป็นชนวนนำมาซึ่งการรัฐประหารเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่กระบวนการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตในช่วง เมษา-พฤษภา 53 ยังดำเนินต่อไป

มีอย่างน้อย 18 ศพที่ศาลได้มีคำสั่งแล้วว่าวิถีกระสุนที่ปลิดชีพพวกเขาถูกยิงมาจากฝั่งทหาร แม้จะยังไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำได้ก็ตาม แต่แล้วเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอาญากลับมีคำสั่งยกฟ้องคดีที่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้บังคับบัญชาการสูงสุดในการสั่งสลายการชุมนุม ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ปี 2553

ศาลระบุเหตุผลของการยกฟ้องว่า มูลเหตุแห่งคดีเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่

ด้วยเหตุนี้การณ์จึงกลายสภาพจากความผิดต่อชีวิตซึ่งมีอัตราโทษที่หนักกว่า มาเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของการนิรโทษกรรมแบบใหม่ก็ว่าได้

ที่ผ่านมา มีแนวคิดในการป้องกันอาชญากรรมหนึ่งที่น่ารับฟัง นั่นคือ การทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม แต่เมื่อรัฐในฐานะผู้ผูกขาดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อประชาชนเสียเองกลับมีช่องทางในการนิรโทษหรือไม่ต้องรับผิดอย่างที่เห็นกันตลอดมา นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งก็ได้ว่าทำไมเรายังมีอาชญากรรมโดยรัฐอย่างต่อเนื่อง แม้จนพ.ศ.นี้

ประชาไทรวบรวมทัศนะต่อกระบวนการเอาผิดกับ ‘รัฐ’ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรมต่อประชาชน และปรากฏการณ์สำคัญที่รัฐตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรม โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวของกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 10 ปี เพื่อพิจารณาถึงพัฒนาการดังกล่าว โดยเฉพาะเหตุการณ์กรณีตากใบ-กรือเซะ กรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ต.ค.51 กรณีสลายการชุมนุมเสื้อแดง เม.ย.-พ.ค.53 หรือกรณีล่าสุดที่เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นต้น

0000

ผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยไม่ต้องรับผิด คือ วัฒนธรรมการเมืองของไทย

“คนจำนวนมากในสังคมไทย รวมทั้งคนที่มีอำนาจในระบบราชการ ทั้งในฝ่ายบริหาร กฎหมาย และตุลาการมักมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่เพื่อสร้างความสงบให้กับสังคม พวกเขาอาจจะพลาด อาจจะหนักมือไปบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ควรให้อภัย ไม่ควรถูกลงโทษ แล้วรัฐก็ชดใช้ความยุติธรรมให้ในรูปของเงินก็น่าจะเพียงพอแล้ว พวกเขาให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐ และสิทธิในการใช้อำนาจของรัฐมากกว่า “สิทธิในชีวิตของประชาชน” คำๆ นี้มีความหมายน้อยมากในสังคมนี้” - รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

รศ.ดร.พวงทองภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) กล่าวถึงพัฒนาการกระบวนการรับผิดของรัฐจากการใช้ความรุนแรงในการก่ออาชญากรรมกับประชาชน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เช่น กรณีตากใบ หรือ เม.ย.-พ.ค.53 รวมถึงวิเคราะห์หลังศาลมีคำสั่งโอนคดี ‘เจตนาเล็งเห็นผล’ ของอภิสิทธิ์และสุเทพ ไปให้ ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง จากความผิดต่อชีวิตไปเป็นความผิดต่อหน้าที่ ดังนี้

10 พัฒนาการของการรับผิดของรัฐจากการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

การรับผิดของรัฐจากการใช้ความรุนแรงก่ออาชญากรรมกับประชาชนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีพัฒนาการในทางบวกน้อยมาก แม้ว่าในหลายกรณีที่ได้มีการพิสูจน์ในชั้นศาลว่าการเสียชีวิตของประชาชนเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ เช่น กรณีในสามจังหวัดภาคใต้ ก็ยังไม่เคยมีการนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษเลยสักราย รัฐยอมรับผิดด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้เท่านั้น ยอมให้ได้แค่นี้ เอาเงินไปแล้วจบ เช่นเดียวกับกรณีการสลายการชุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ครอบครัวของคนที่เสียชีวิตก็ได้แค่เงินชดเชย แต่เจ้าหน้าที่รัฐทั้งระดับผู้บังคับบัญชาและผู้ลงมือปฏิบัติการใช้ความรุนแรงไม่เคยออกมายอมรับผิด หรือกล่าวคำขอโทษเลย ซึ่งอันนี้ก็เป็นมาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภา 2535 ไม่เคยมีการขอโทษ หรือลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนี่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองของไทยที่ผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงกับประชาชนแล้วไม่ต้องรับผิด แล้วประชาชนจำนวนมากก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาด้วย  ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ดิฉันมองว่ามีสาเหตุจากหลายประการด้วยกัน

ประการแรก ทุกครั้งที่มีความรุนแรงต่อประชาชน ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง ยังคงครองอำนาจทางการเมืองต่อไป จึงยากที่จะเอาผิดกับคนเหล่านั้นได้  เช่น กรณี 6 ตุลา และเมษา-พฤษภา 2553  แม้ว่าในปีต่อมาพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว แต่กลุ่มการเมืองและมวลชนที่สนับสนุนประชาธิปัตย์ยังเข้มแข็งอย่างยิ่ง หรือแม้แต่ในกรณี 14 ตุลา จอมพลถนอม กิตติขจร ก็กลายมาเป็นหมากที่ฝ่ายขวานำกลับมาใช้ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งหลังจากนั้นครอบครัวของจอมพลถนอม-ประภาสก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาอยู่เมืองไทยได้ตามปกติ

ประการที่สอง ในกรณีพฤษภา 53 และเมษา-พฤษภา 53 แม้รัฐบาลที่ปราบปรามประชาชนจะลงจากอำนาจแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีความพยายามจะเอาผิด ดิฉันเชื่อว่าด้านหนึ่งเป็นเพราะระบบอุปถัมภ์ในกองทัพที่ไม่ต้องการให้มีการเอาผิดคนของตนเอง อีกด้านหนึ่ง ดิฉันมองว่าพวกเขากลัวว่ากระบวนการเอาผิดทางอาญา อาจลุกลามไปสู่การรื้อถอนหรือปฏิรูปกองทัพเลยก็ได้ เพราะกระบวนการรับผิดทางอาญาจะต้องกระทำอย่างเปิดเผยในชั้นศาล ต้องไต่สวนลงไปในรายละเอียดว่าใครเป็นคนวางแผน หน่วยไหนบ้างที่เกี่ยวข้อง ใครสั่งให้ยิงหรือยิงเอง ได้มีการอธิบายก่อนระดมกำลังทหารออกมาปราบปรามประชาชนหรือไม่ ทำไมไม่ใช้กระสุนยาง อธิบายว่าเขาคนเสื้อแดงเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นพวกล้มเจ้าหรือเปล่า ฯลฯ พอคุณเริ่มเปิดเผยรายละเอียดมากเท่าไร โอกาสที่จะเจอปัญหา ช่องโหว่ ความผิดพลาดก็มากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น พวกเขาจึงปล่อยให้กระบวนการเอาผิดทางอาญาเกิดขึ้นไม่ได้  ประการสำคัญ กลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมยังต้องการรักษากองทัพไว้เพื่อเป็นอำนาจต่อรองของพวกเขาต่อไป เขาจึงไม่ต้องการกองทัพที่อ่อนแอทางการเมือง ฉะนั้น แม้หลังปี 2535 ภาพพจน์ของกองทัพจะถดถอยอย่างมาก แต่ก็ไม่เคยมีความพยายามให้มีการปฏิรูปกองทัพ

ประการที่สาม คนจำนวนมากในสังคมไทย รวมทั้งคนที่มีอำนาจในระบบราชการ ทั้งในฝ่ายบริหาร กฎหมาย และตุลาการมักมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่เพื่อสร้างความสงบให้กับสังคม พวกเขาอาจจะพลาด อาจจะหนักมือไปบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ควรให้อภัย ไม่ควรถูกลงโทษ แล้วรัฐก็ชดใช้ความยุติธรรมให้ในรูปของเงินก็น่าจะเพียงพอแล้ว พวกเขาให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐ และสิทธิในการใช้อำนาจของรัฐมากกว่า “สิทธิในชีวิตของประชาชน” คำๆ นี้มีความหมายน้อยมากในสังคมนี้ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นคนจน เป็นคนบางสีที่ถูกดูถูกว่าชีวิตวนเวียนอยู่กับความโง่ จน เจ็บ รวมทั้งการเป็นคนต่างสีกันด้วย

รัฐมีอำนาจทั้งทางกฎหมายและอาวุธ แต่การใช้อำนาจต้องมีขอบเขต ต้องไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน ไม่เช่นนั้นอำนาจรัฐก็ไม่ต่างจากอันธพาลที่น่ากลัวที่สุด คนจำนวนมากมองไม่เห็นว่าการไม่ลงโทษผู้กระทำผิด เท่ากับอนุญาตให้เกิดการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำแล้ว  แล้วสักวันหนึ่งมันอาจจะย้อนกลับมาหาตัวคุณหรือคนที่คุณรักได้ 

สิ่งที่เราเห็นคือการเอาผิดกับผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐในสังคมนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทุกครั้งที่มีความรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำ แต่พวกเขากลับถูกลงโทษก่อนเสมอ เช่น กรณี 6 ตุลา ที่ผู้นำนักศึกษาถูกคุมขังอยู่กว่าสองปี หรือ ปี 53 ที่ผู้ชุมนุมพันกว่าคนถูกจับกุมคุมขัง จำนวนมากถูกตัดสินให้ผิดเพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุม

ผลกระทบของการโอนคดีไปให้ ป.ป.ช. ศาลฎีกาฯนักการเมือง

ตอนนี้คนที่มีความสุขที่สุดจากกรณีนี้คือ คุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ และผู้นำทหารที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนสลายการชุมนุม เป็นการทำให้คดีอาญากลายเป็นแค่เรื่องทางวินัย แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะไม่มีการแจ้งข้อหากับผู้นำทหารเลยก็ตาม ดิฉันก็คาดหวังว่าหากคดีเข้าสู่การพิจารณาในศาลชั้นต้น ประชาชนก็จะได้รับรู้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมมากขึ้น และแน่นอนว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของฝ่ายทหารด้วย แต่เมื่อเรื่องถูกโอนไปที่ ป.ป.ช. รายละเอียดเหล่านี้จะไม่ถูกเปิดเผยออกมา ดิฉันก็หวังคำสั่งนี้จะถูกเปลี่ยนในชั้นศาลอุทธรณ์

พูดมาถึงตรงนี้ ก็ต้องไม่ลืมประณามคุณทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเช่นกันที่เห็นแก่ตัวอย่างถึงที่สุดที่ผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ก็ชัดเจนว่าพวกเขาไม่ไยดีกับการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชาชนที่เสียชีวิต ทั้งๆ ที่พวกเขาหากินทางการเมืองกับประชาชนเสื้อแดงมาโดยตลอด และที่เหตุการณ์มาถึงวันนี้ได้ก็เป็นผลจากการกระทำของคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยด้วย และจนบัดนี้เราก็ยังไม่ได้ยินคำขอโทษจากพวกเขาเลยแม้แต่น้อย

ดิฉันคิดว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยก็เห็นแล้วว่า ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความยุติธรรมของสังคมนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง

0000

ขณะที่คดีตากใบ หรือการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหรือคดีไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 78  คน  เมื่อวันที่ 29 พ.ค.52 ศาลจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง  78  คน  เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งพนักงานอัยการ โดยพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นเห็นพ้องกับอัยการในการสั่งไม่ฟ้อง คดีจึงถือเป็นอันยุติ

หลังจากนั้นทางญาติผู้ตายเห็นว่าคำสั่งศาลขาดความสมบูรณ์ จึงยื่นอุทธรณ์และฎีกาคำสั่ง จนกระทั่ง 1 ส.ค.56 ศาลฎีกาพิพากษายืน ไม่รับคำร้องญาติผู้เสียชีวิต ที่ขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่

การรับผิดของรัฐทางแพ่งและอาญากรณีตากใบ

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความอาสาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำงานด้านนี้มากว่า 13 ปี เจ้าของรางวัลกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประจำปี 2555 กล่าวถึง 10 ปีความคืบหน้าของกระบวนการรับผิดของรัฐจากการใช้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีตากใบ ว่า

เหตุที่ญาติผู้เสียชีวิตกรณีตากใบอุทธรณ์คำสั่งการไต่สวนการเสียชีวิตของศาลชั้นต้น เนื่องจากญาติมีความเห็นร่วมกันว่าการตายของสามีหรือลูกหรือญาติเขานั้น มันมีเหตุมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่คำสั่งของศาลในการไต่สวนการตาย มีคำสั่งเพียงว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะขาดอากาศหายใจ ดังนั้นผู้ร้องซึ่งเป็นญาติของผู้ตายจึงเห็นว่ามันขาดความสมบูรณ์ไปหรือไม่กับคำสั่งศาลดังกล่าวว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้คนตายขาดอากาศหายใจ และบุคคลที่ทำให้ตายนั้นคือใคร เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ญาติเห็นว่าคำสั่งศาลไม่มีความสมบูรณ์ ทั้งที่ควรสั่งให้ชัดว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ผู้ตายเสียชีวิตนั้นมาจากอะไร

ในส่วนของการช่วยเหลือชาวบ้านที่เป็นผู้เสียหายเกี่ยวกับคดีนี้ สภาทนายความได้ตั้งคณะทำงานและมีทนายความในพื้นที่ 3 จังหวัด รวมทั้งส่วนกลาง ได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อหน่วยงานขงรัฐที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คือ กระทรวงกลาโหม กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกค่าเสียหายให้กับญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งคดีที่ฟ้องกับศาลจังหวัดปัตตานีหรือนราธิวาส ฝ่ายกระทรวงกลาโหม กองทัพบก ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับญาติผู้เสียชีวิตและรับเงินไปเรียบร้อยแล้ว โดยการทำสัญญาประนีประนอมจ่ายค่าไร้อุปการะ ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้กับลูกและภรรยาของผู้เสียชีวิต ดังนั้นมันมีกระบวนการเยียวยาในระดับหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม คือการที่ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาค่าเสียหายจากการกระทำของรัฐ

ในทางแพ่งนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดความเสียหายกับประชาชน หน่วยงานของรัฐก็จะต้องรับผิดตามกฏหมายคือความรับผิดทางละเมิด ซึ่งได้ทำสัญญาประนีประนอมจ่ายค่าเสียหายแล้ว และหลังจากนั้นเมื่อมีแนวนโยบายในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ สะบ้าย้อย เป็นต้น ก็ได้มีการพิจารณาให้มีการจ่ายเงินให้กับญาติผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 

จริงๆ แล้ว เรื่องที่ปรากฏต่อสาธารณะนั้นมีภาพของเหตุการณ์ทั้งภาพจากทีวีและหนังสือพิมพ์ เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะแล้ว เพียงแต่คำสั่งของศาลยังไม่มีความสมบูรณ์ในเรื่องของพฤติการณ์และเหตุที่ตาย หากศาลได้นำข้อมูลที่ได้จากสื่อและคำให้การของพยานในคดี ที่ว่าทำไมคนถึงตาย เพราะมีการบรรทุกคน มัดมือ นอนคว่ำหน้า ถอดเสื้อ แล้วนอนทับกันทำให้คนที่อยู่ข้างล่างหายใจไม่ออกจึงเสียชีวิต นี่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากสื่อแล้ว

โดยสรุปกระบวนการในการรับผิดนั้นมี 2 ลักษณะ หนึ่ง ทางแพ่ง นั้นได้กล่าวไว้แล้ว คือมีการเยียวยา แต่ สอง ความผิดในทางอาญา ที่หมายถึงคนที่กระทำความผิดทางอาญาจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามกระบวนการนั้น เมื่อสำนวนไต่สวนการตายเสร็จสิ้น จะถูกส่งไปที่พนักงานสอบสวนในท้องที่เพื่อทำสำนวนส่งให้อัยการออกความเห็นว่าสมควรจะฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดทางอาญาหรือไม่ หรือหากเป็นเจ้าหน้าที่ที่เป็นฝ่ายทหารกระทำผิดก็อาจมีการส่งสำนวนไปยังอัยการศาลทหาร ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนที่ทำสำนวนทำในลักษณะใด

ระยะหลังๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดีนั้น ผู้แทนชาวบ้านที่เสียหายเงียบๆ ไป เพราะเขาอาจจะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ เมื่อฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐในคดีอาญา ดังนั้นเขาเคยพยายามผลักดันให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเนโจทก์ฟ้องคดีแทน แต่กรรมการสิทธิฯ ก็พิจารณาอยู่พอสมควร แต่ไม่เห็นยืนหยัดที่จะฟ้องคดีแทน เพราะ รธน. 50 นั้นให้อำนาจกรรมการสิทธิฯ ในการฟ้องแทนได้ แต่ภายหลังอาจมีปัญหาเนื่องจาก รธน.50 ถูกฉีกไปแล้วด้วย

0000

‘อังคณา’ ชี้ควรรื้อคดี ‘ตากใบ’ ข้องใจทำไมอัยการไม่ส่งฟ้อง

อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวกับ อิศรา ในวาระครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ตากใบ ด้วยว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนเห็นตรงกันว่ารากเหง้าเกิดจากความไม่เป็นธรรม ไม่มีความยุติธรรม หรือการเลือกปฏิบัติ หลายกรณีถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เราไม่อาจไปรื้อฟื้นคดีเพื่อให้ความยุติธรรมกับเหยื่อได้ จึงเกิดคำถามว่าเราจะดูแลคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร

ข้องใจทำไมอัยการไม่ส่งฟ้อง

จากคดีตากใบ มีชาวบ้านออกมาบอกว่า ระหว่างขนคนไปค่ายอิงคยุทธฯ เจ้าหน้าที่ให้นอนทับกันจนหายใจไม่ออก ทั้งที่มีการเสียงร้อง แต่เจ้าหน้าที่ที่คุมอยู่บนรถกลับใช้อาวุธตีเพื่อไม่ให้ร้อง อีกทั้งศาลยังได้อ่านคำสั่งไต่สวนการตาย ระบุว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คนตายจากการขาดอากาศหายใจ ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ได้ระบุว่าใครทำให้ตาย

จากนั้นพนักงานสอบสวนก็ได้ทำสำนวนเพื่อส่งอัยการและส่งฟ้องศาลดำเนินคดีต่อไป โดยสำนวนระบุถึงเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ควบคุมตัวผู้ที่ถูกจับกุมและเสียชีวิตบนรถ เป็นผู้ต้องหา และส่งให้อัยการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ แต่ปรากฏว่าอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ตรงนี้เราก็ตั้้งข้อสงสัยมาโดยตลอดว่า เพราะอะไรอัยการถึงบอกว่าไม่มีพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่เรามีประจักษ์พยานเป็นพันคน และคนที่อยู่บนรถแต่ละคันนั้นย่อมเป็นพยานได้อย่างดีว่าคนที่ตาย เขาตายอย่างไร หากพบว่าคนหายใจไม่ออก ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนท่านอน อาจจับให้นั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ แก้ไขได้ แต่จากความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ทำให้คดีนี้จบลง โดยอัยการให้เหตุผลว่าเห็นควรงดสอบสวน เพราะไม่ปรากฎพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกับผู้กระทำ

พออัยการสั่งไม่ฟ้อง ตัวผู้เสียหายก็ไม่กล้าฟ้องเอง เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย จนกระทั่งถึงสมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ก็มีความคิดที่จะเยียวยาด้วยเงินกับกรณีนี้ โดยตั้งสมมติฐานว่าการชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ (เพราะเสียชีวิตระหว่างถูกคุมตัวโดยเจ้าพนักงาน) หลังจากได้เงินเยียวยา ญาติได้มาร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้ฟ้องร้องแทน แต่การฟ้องร้องก็ต้องมีพยาน หรือมีคนที่เห็นเหตุการณ์มาเป็นพยาน จุดนี้กลายเป็นปัญหา เพราะทุกคนก็กลัว อีกทั้้งเมื่อได้เงินเยียวยามาแล้วก็ไม่อยากมีเรื่อง

ชี้ควรรื้อคดี

ทุกวันนี้มีแรงกดดันจากต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ที่ยังคงยืนยันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ถึงความไม่เป็นธรรมในกรณีตากใบ และยังคงทวงถามตลอด และเวทีสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศทุกเวทีก็เห็นว่ากรณีตากใบ คือการทรมานในการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่

ดิฉันมองว่าคดีตากใบนี้ อัยการต้องรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และนำคดีขึ้นสู่ศาล รวมทั้งให้ผู้เสียหายทั้งหมดสามารถเข้ามาเป็นส่วนร่วม หรือเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ เพื่อที่จะบอกว่าสุดท้ายมีใครต้องรับผิดชอบบ้างจากการปฏิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากคดีจบแล้วอาจจะมีการรอลงอาญาหรืออะไรก็แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดการพิจารณาในศาลจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการเปิดเผยความจริง ญาติผู้เสียชีวิตแต่ละคนจะรู้เลยว่าพ่อหรือสามีของตนเสียชีวิตอย่างไร จึงอยากเรียกร้องอัยการให้นำคดีมาทบทวน

ส่วนที่อัยการบอกว่าไม่มีพยานหลักฐานนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้ยังมีผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์และมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นพร้อมเป็นพยานในศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนก็ยังมีชีวิตอยู่เช่นกัน เช่น คุณศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมการปกครอง หรือ คุณประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย

คดีตากใบ ไม่อยากให้รัฐบาลมองเป็นเรื่องบุคคล เพราะจริงๆ เป็นเรื่องความยุติธรรมของชุมชนและสังคม การให้ความสำคัญกับเรื่องตากใบ จะสามารถที่จะคลี่คลายปมความรู้สึกไม่เป็นธรรมของคนในพื้นที่ได้

Timeline เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเอาผิดรัฐกรณีสลายการชุมนุมในรอบ 10 ปี

อัยการถอนฟ้อง คืนอิสรภาพ 92 จำเลยตากใบ

9 พ.ย.49 อัยการสูงสุดได้ถอนฟ้องจำเลยผู้ต้องหาคคีตากใบ ทั้ง 58 คน คือจำเลยที่1-6,8-34 และ 46-58 และฝ่ายจำเลยก็ยินยอมให้ถอนฟ้องโดยไม่ขัดข้อง ทั้งนี้ อัยการสูงสุดพิจารณาเห็นว่า คดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินคดีต่อไปรังแต่จะก่อให้เกิดความร้าวฉานหวาดระแวงและเกลียดชัง ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับจำเลยรวมทั้งญาติพี่น้องของจำเลย

(ผู้จัดการออนไลน์, 9 พ.ย.49)

ศาลสั่งการตายที่ตากใบเพราะขาดอากาศหายใจ อัยการสั่งไม่ฟ้อง

29 พ.ค.52 ศาลจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพหรือคดีไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 78  คน  โดยศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง  78  คน  เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งพนักงานอัยการ โดยพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นเห็นพ้องกับอัยการในการสั่งไม่ฟ้อง คดีจึงถือเป็นอันยุติ

(ประชาไท, 7 มิ.ย.55, มติชนออนไลน์, 25 ต.ค.53)

คดีตากใบ : ศาลอาญาสั่งไม่รับคำร้องขอคัดค้านคำสั่งไต่สวนการตาย

29 มิ.ย. 52 ศาลอาญาสั่งไม่รับคำร้องขอคัดค้านคำสั่งไต่สวนการตายกรณีตากใบ ที่ร้องโดยนางสาวมัสตะ เจะอูมา ญาติผู้ตายที่ 58 กับพวกรวม 34 คน โดยนางแยน๊ะ สะแลแม ผู้รับมอบอำนาจ

(ประชาไท, 30 ก.ค.52)

คดีตากใบ : ญาติส่งทนายยื่นอุทธรณ์ “เพิกถอน” คำสั่งศาลจังหวัดสงขลา

28 ก.ค. 52 ทนายความตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอาญากรุงเทพ กรณีที่ศาลอาญากรุงเทพมีคำสั่งไม่รับคำร้องของญาติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2552 ที่ร้องต่อศาลอาญาเรื่องคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาในกรณีการออกคำสั่งคดีไต่สวนการตายกรณีตากใบไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ค.52 ว่าศาลจังหวัดสงขลาอาจทำคำสั่งไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักการไต่สวนการตาย เนื่องจากศาลไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ที่ตายและไม่กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำหรือทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะกล่าวได้ และศาลวินิจฉัยถึงเหตุที่ตายแต่เพียงว่าผู้ตายขาดอากาศหายใจนั้น ขัดกับความเข้าใจของสาธารณชนที่ข้อเท็จจริงที่มีทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ภาพถ่าย และวัตถุพยานเป็นแผ่นบันทึกภาพและเสียงของเหตุการณ์ ว่ามีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างอย่างไร

(ประชาไท, 30 ก.ค.52)

ป.ป.ช. มีมติ 8 : 1 ให้ดำเนินคดีอาญา ‘สมชาย - ชวลิต - พัชรวาท – สุชาติ’ คดี 7 ตุลา

7 ก.ย. 52 ป.ป.ช. ได้พิจารณาคดีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดนักการเมืองและนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกล่าวหา ประกอบด้วย    

1.     นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการ และเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าสู่รัฐสภา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

2.     พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 6 ต่อ 3

3.     พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขั้นผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดขาขาดแขนขาด ก็ต้องยับยั้งมิให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป และมีการให้การจากพยานว่า เป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

4.     พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และเป็นเจ้าของพื้นที่ มีความผิดวินัยร้ายแรงและอาญา เช่นกัน โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

ส่วนนายตำรวจอีก 5 คน ประกอบด้วยพล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร.ถูกกล่าวหามีความผิดทางวินัย พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น.ถูกกล่าวหามีความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น.ถูกกล่าวหามีความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น.ถูกกล่าวหามีความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา และ พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น.ถูกกล่าวหามีความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา นั้น ทาง ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิด เนื่องจากทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

(ผู้จัดการออนไลน์, 7 ก.ย.52)

เครือข่ายองค์กรโลกเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เข้าร่วมภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ

3 ต.ค.54 องค์กรเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งมีสมาชิกหลากหลายมากมายกว่า 2500 องค์กร/ หน่วยงาน จาก 150 ประเทศทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มีความเที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นอิสระ ส่งถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้ดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าสู่การให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศในเร็ววัน

(ประชาไท, 4 ต.ค.54)

ครม.เห็นชอบลงนามอนุสัญญาคุ้มครองไม่ให้คนหาย

4 ต.ค. 54 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance ) และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายต่อองค์การสหประชาชาติให้ทันก่อนวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

(iLaw, 7 ต.ค.54)

ครม.อนุมัติเงินเยียวยาเหยื่อสลายการชุมนุม ปชป.เตรียมฟ้องศาลปกครอง

6 มี.ค.55 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบการชุมนุมทางการเมือง การจ่ายเงินจะจ่ายเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเรียกว่าเป็นการเยียวยาให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งรายละเอียดนั้นคณะกรรมการ ปคอป.จะรายงานให้สื่อมวลชนได้รับทราบต่อไป พร้อมทั้งยืนยันว่าเป็นการเยียวยาทุกกลุ่มไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยครอบคลุมตั้งแต่การประท้วงปิดสนามบิน เป็นต้นมา รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ส่วนการเยียวยาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง แต่โดยหลักการจะไม่ต่างกัน

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเยียวยาทางแพ่งและ ฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น  ระบุว่า การจ่ายเงินกรณีผู้เสียชีวิต ได้รับค่าปลงศพทันที 2.5 แสนบาท และจะได้อีก 2 ส่วน คือ การเยียวยาด้านจิตใจ 3 ล้านบาท จะจ่ายทันที และอีก 4.5 ล้านบาท

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากกรณีมติครม. เมื่อ 6 มี.ค. ที่มีการอนุมัติหลักการให้เยียวยาคนเสื้อแดงนั้น ยังไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ระเบียบขั้นตอนกฎหมาย และไม่เสมอภาคเป็นธรรมในกรณีเดียวกันของทุกกลุ่ม จึงยืนยันจะนำมติครม.ดังกล่าวพร้อมหลักเกณฑ์ที่มติครม.อนุมติจ่ายเงิน ไปฟ้องศาลปกครองในวันที่ 8 มี.ค.เวลา 14.00 น. พร้อมกับยื่นคำร้องไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราว

(ประชาไท, 6 มี.ค.55 : ไทยรัฐออนไลน์, 7 มี.ค.55)

เยียวยาไฟใต้ ทนายสมชาย ตากใบ สะบ้าย้อย 7.5 ล้าน กรือเซะ 4 ล้าน

10 มิ.ย.55 การประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 5/2555 พิจารณาขออนุมัติเงินให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3 เหตุการณ์ คือ วันที่ 28 เม.ย. 2547 1. เหตุการณ์กรือเซะ และ 2. เหตุการณ์สะบ้าย้อย และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 เหตุการณ์ตากใบ

(ประชาไท, 10 มิ.ย.55)

ปชป. ยื่นจม. 2 ฉบับ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ฟ้องเอาผิด “ทักษิณ” เบื้องหลังฆ่าตัดตอน

4 ส.ค.55 นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาธิปัตย์  ได้ทำหนังสื่อยื่นอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศรวมทั้งประธานศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก  ประเทศเนเธอร์แลนด์  เมื่อวันที่ 27 ก.ค.55 เป็นการร้องศาลอาญาระหว่างประเทศในเรื่องกระบวนการฆ่าตัดตอนตามนโยบายการปราบปรามยาเสพติดในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี อยากเรียกร้องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการดังกล่าว เช่น  กรณีของน้องฟลุ๊คที่ถูกลูกหลงจากการจับกุมยาเสพติดของตำรวจให้มาร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ด้วย

(เดลินิวส์, 4 ส.ค.55)

“เหวง” จี้ รมว.ยุติธรรมส่งคำประกาศรับ ICC ให้นายกฯ แดงย่อยเห็นต่างให้สัตยาบันชัวร์กว่า

9 ส.ค. 55 สหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน(Union for People’s Democracy) ได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นจดหมายและรายชื่อประชาชน 6,000 กว่ารายที่เข้าชื่อต่อรัฐสภาเพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court หรือ ICC) โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 มารับ โดยทาง สหภาพฯ ย้ำว่าทำเพื่อทุกกลุ่มไม่ว่าสีใดเพื่อป้องกันการปราบปรามประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แม้จะไม่สามารถนำนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาลงโทษจากกรณีการสลายการชุมนุม เมษา-พ.ค. 53 ก็ตาม โดยทางรองประธานสภาฯแจ้งว่ากับทางผู้เข้ายื่นรายชื่อว่าตามกระบวนการจะต้องใช้เวลาอีก 3 เดือนเพื่อตรวจสอบรายชื่อ โดยในระหว่างนี้ทาง สหภาพฯ จะมีการล่ารายชื่อเพิ่มเติมเพื่อให้ครบ 1 หมื่นรายชื่อ

ผศ.ดร.ศิลป์ ราศรี ที่ปรึกษาสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าตามที่ได้ศึกษาการที่จะเอานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นศาลมันทำไม่ได้เลย การที่จะให้รัฐบาลลงนามฝ่ายเดียว รับเขตอำนาจศาล ICC นั้น ทำไม่ได้ เพราะ กฎของศาล ICC มีอยู่ว่าถ้าศาลภายในประเทศยังทำงานได้อยู่เขาจะไม่เข้ามาแทรกแซง แต่ถ้าศาลภายในประเทศไม่ทำงานหรือไม่ตั้งใจทำงาน ศาล ICC ถึงจะเข้ามาแทรกแซงได้ และปัญหามีอยู่ว่าเขามีความกังวลว่าศาลไทยทำงานในนามพระปรมาภิไธย ถ้าหากไปให้ศาล ICC เข้ามาแทรก มันจะเป็นการดูไม่บังควร เพราะฉะนั้นทางเราจึงเห็นว่ามีทางเดียวคือการให้รัฐบาลไปลงสัตยาบัน เป็นรัฐภาคี เพื่อป้องกันเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในอนาคต ลูกหลานเราจะได้ไม่ถูกเข่นฆ่าอีกต่อไป แม้ว่าเรื่องนายอภิสิทธิ์จะทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

15 ส.ค. 55 นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ส่งมอบคำประกาศ “ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสังหารประชาชนกลาง กทม. ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 53” ให้แก่นายทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ

(ประชาไท, 17 ส.ค.55)

 

ครม.อนุมัติเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านทรัพย์สินและผู้ต้องหาทางการเมือง

11 ธ.ค.55 ครม. มีมติอนุมัติ หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม สำหรับผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ 2548 ถึงพ.ศ. 2553 โดยผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิในสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดหรือบางส่วนจากการชุมนุมทางการเมือง โดยคำนวณอัตราเงินเยียวยาเป็น 8 ระดับ คือ ตั้งแต่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาท ไปจนมากกว่า 5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 16,286 ราย และใช้เงินงบประมาณรวม 1,949,675,000 บาท

รวมทั้ง อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี2548 ถึงปี 2553 ในกรณีมีการควบคุมและคุมขัง ผู้ต้องหาเกินกว่า โทษที่ได้รับหลังจากที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำตัดสินจำคุกน้อยกว่าจำนวนวันที่ถูกต้องขังมาแล้ว คือ ไม่เกิน 90 วัน จ่ายเงินเยียวยาควบคุมและคุมขังน้อยกว่าหรือเท่ากับ37,030 บาท เกินกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 180 วัน จ่ายเงินเยียวยาควบคุมและคุมขัง 74,060 บาทและเพิ่มเงินเยียวยาด้านจิตใจอีก 750,000 บาท

(ประชาไท, 11 ธ.ค.55)

‘สุรพงษ์’ รับพิจารณาอีกนานเรื่องให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ยันทำคำประกาศรับเขตอำนาจไอซีซีต้องรอบคอบ

1 ม.ค.56 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการพิจารณาให้สัตยาบันเพื่อเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม และการพิจารณาจัดทำคำประกาศรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เพื่อให้เข้ามามีบทบาทพิจารณาคดีผู้เสียชีวิตในระหว่างการชุมนุมทางการเมือง 99 ราย ตามคำร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติแต่งตั้งเมื่อปี 2542 ได้ประชุมในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งแบ่งการพิจารณาออกเป็น 2 เรื่อง ได้แก่ การให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม และการจัดทำคำประกาศรับเขตอำนาจไอซีซี แต่การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ จึงต้องมีการประชุมต่อไป

(เดลินิวส์, 1 ม.ค.56)

เสื้อแดงยุโรปร้องสภาฯเร่งลงนามสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม

1 มิ.ย.56 กลุ่มสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน ซึ่งเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในยุโรป เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้นำข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยลงนามสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมเป็นภาคีสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เสนอต่อรัฐสภาและรัฐบาล เพื่อยุติการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ และนำความยุติธรรมมาให้เหยื่อและประชาชนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 53

(กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 1 มิ.ย.56)

คดีตากใบ : ศาลฎีกาพิพากษายืน ไม่รับคำร้องไต่สวนการตาย

1 ส.ค.2556 ศาลฎีกาพิพากษายืน ไม่รับคำร้องญาติผู้เสียชีวิต ที่ขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่ในคดีไต่สวนการตาย เนื่องจากเห็นว่า ไม่เป็นไปโดยถูกต้อง ทั้งที่มีข้อเท็จจริงว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม บังคับให้ถอดเสื้อ-มัดมือไขว้หลัง-นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถทับซ้อนกันหลายชั้น-มีการทำร้ายร่างกาย จนได้รับบาดเจ็บ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตระหว่างทาง

(ประชาไท, 1 ส.ค.56)

ฉลุย! สภาฯ ผ่านวาระ 3 นิรโทษกรรม “สุดซอย-เหมาเข่ง” ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง

31 ต.ค.56 มติสภาผ่านร่างพรบ.นิรโทษกรรม วาระ 3 แล้วด้วยมติ 310 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง รวมเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง ส่งวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้ศึกษาและสรุปส่งไปยังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ได้นัดประชุมสภานัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 31 ต.ค.56 นั้น มาตรา 3 ระบุว่า

“ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

(มติชนออนไลน์, 30 ต.ค.56, 1 พ.ย.56)

ศาลอาญารับฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์-เฉลิม' สลายชุมนุม กปปส. ผ่านฟ้า

3 มี.ค. 57 จากกรณีคดีที่นางจงจิต แซ่ด่าน ภรรยาของนายศรัทธา แซ่ด่าน ผู้ตาย และน.ส.อุมาพร อ่างทอง มารดาของนายจีรพงษ์ ฉุยฉาย ผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่แยกผ่านฟ้า เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม , ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปฏิบัติหน้าที่รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในฐานะรอง ผอ.ศรส. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการ ศรส. พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภ.2 และพล.ต.ต.คัชชา ธาตุศาสตร์ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.57

โดยนายชัยวัตน์ สิทธิสุขสกุล ทนายความเปิดเผยว่า หลังจากที่ยื่นฟ้องคดีแล้ว ในวันที่ 3 มีนาคม ศาลอาญาได้รับฟังและมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในคดีของน.ส.อุมาพร หมายเลขดำ อ.451/2557 ในวันที่ 26 พ.ค.57 เวลา 09.00 น. และคดีของนางจงจิต หมายเลขดำ อ.452/2557 โดยนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์วันเดียวกัน ในเวลา 13.30 น.

(คมชัดลึกออนไลน์, 3 มี.ค.57)

สปป.ขอนแก่น จี้ รบ.ให้สัตยาบัน ICC

5 เม.ย.57 กลุ่มนักวิชาการ นักธุรกิจ นักศึกษา ประชาชน ขอนแก่น ในนามสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยขอนแก่น ร่อนแถลงการณ์จี้ กกต.เร่งจัดเลือกตั้ง จี้รัฐบาลให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ ทำประชามติให้ประชาชนเลือกรัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับ 2550 วอนสหประชาชาติหนุนไทยตั้งคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันสร้างมาตรฐานการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง

(ประชาไท, 5 เม.ย.57)

คำสั่งศาล กรณีไต่สวนการตาย เม.ย.-พ.ค.53

17 ก.ย.55 – 4 ก.ค. 57 กรณีการไต่สวนการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. โดย ศอฉ. ช่วง เม.ย.-พ.ค.53 นั้น ศาลมีคำสั่งแล้วมีอยู่ 20 คดี รวม 30 ราย โดยในจำนวนนี้ มีอยู่ 18 ราย ที่ศาลระบุว่ามีวิถีการยิงมาจากฝั่งทหารชัดเจน แต่ไม่อาจระบุถึงตัวบุคคลได้ว่านายทหารผู้ใดเป็นคนยิง ประกอบด้วย นายพัน คำกอง, นายชาญณรงค์ พลศรีลา, นายชาติชาย ชาเหลา, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ, พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ, ฟาบิโอ โปเลนกี, นายสุวัน ศรีรักษา, นายอัฒชัย ชุมจันทร์, นายมงคล เข็มทอง, นายรพ สุขสถิต, นางสาวกมนเกด อัคฮาด, นายอัครเดช ขันแก้ว, นายจรูญ ฉายแม้น, นายสยาม วัฒนนุกูล, นายถวิล คำมูล, ชายไม่ทราบชื่อ, นายนรินทร์ ศรีชมภู และนายเกรียงไกร คำน้อย เป็นต้น

ส่วนกรณีที่ยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนในชั้นศาล นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า เป็นต้น

ดีเอสไอระบุว่าได้ส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ ไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพิ่มเติมอีก 5 ศพ คือ นายธนโชติ ชุ่มเย็น นายวงศกร แปลงศรี นายเฉลียว ดีรื่นรัมย์ โดยทั้ง 3 ราย เหตุเกิดที่ถนนพระราม 4 และอีก 2 ราย คือ นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ และนายอำพน ตติยรัตน์ เหตุเกิดที่ถนนตะนาวและถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ทั้ง 5 ศพนี้มีพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในขณะนั้น

ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ส่งให้สำนวนชันสูตรพลิกศพให้บช.น.พิจารณาไปแล้ว 12 ศพ ประกอบด้วย น.ส.สัญธะนา สรรพศรี นายกิตติพันธ์ ขันทอง นายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ  นายอำพล ชื่นสี นายอุทัย อรอินทร์ นายสุภชีพ จุลทัศน์ นายมนูญ ท่าลาด นายธันวา วงศ์ศิริ นายสรไกร ศรีเมืองปุน นายบุญทิ้ง ปานศิลา นายทิพเนตร เจียมพล นายเหิน อ่อนสา เป็นต้น

(ประชาไท, 4 ปีเมษา-พฤษภาเลือด: สรุปภาพรวมคำสั่งไต่สวนการตาย กระสุนมาจากไหน : ประชาไท, ศาลสั่งคดีชันสูตร 'เกรียงไกร คำน้อย')

ศาลยกฟ้อง ไม่โอนคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายแดง53 ให้ ป.ป.ช.

8 ส.ค.57 ศาลยกฟ้องคดีที่ ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ฟ้อง ‘ธาริตและพวก’ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณีดำเนินคดีสลายแดงปี 53 ในข้อหา ‘ก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล’  ศาลระบุผู้ตายบางรายศาลสั่งแล้วเสียชีวิตจากทหาร และไม่โอนให้ ป.ป.ช. เหตุปฏิบัติตามกม.แล้ว

โดยศาลได้มีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตบางราย โดยเฉพาะนายพัน คำกอง ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหาหรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด  ส่วนที่โจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง  คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช.  ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้นเห็นว่า คดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและส่งให้พนักงานอัยการนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288  ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง

(ประชาไท, 8 ส.ค.57)

ไต่สวนการตาย กปปส. นัดแรก 3 พ.ย.57

18 ส.ค.57 ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม กปปส. ที่แยกผ่านฟ้า หมายเลขดำ อ.451-452 /2557 ที่ น.ส.อุมาพร อ่างทอง มารดาของนายจีรพงษ์ ฉุยฉาย และนางจงจิต แซ่ด่าน ภรรยาของนายศรัทธา แซ่ด่าน สองผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมกลุ่ม กปปส. ที่แยกผ่านฟ้า เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม , ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.แรงงาน และผอ.ศรส., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. ปัจจุบันปฏิบัติราชการ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ,นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการ ศรส. ปัจจุบันปฏิบัติราชการ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ,พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภ.2 และ พล.ต.ต.คัชชา ธาตุศาสตร์ ผบก.ภว.ชลบุรี เป็นจำเลยที่ 1-6 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.57 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 และ 84

ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อรอผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ

สำหรับการยื่นคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพเพื่อให้ศาลทำคำสั่งสาเหตุการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ ชุมนุม กปปส.นั้น อัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาแล้ว รวม 3 สำนวนเป็นคดีดำหมายเลข อช.5,6,7/2557 ประกอบด้วย นายธนูศักดิ์ รัตนเดช อายุ 29 ปี , นายศรัทธา แซ่ด่าน อายุ 44 ปี และนายจิรพงษ์ ฉุยฉาย อายุ 29ปี ซึ่งศาลอาญานัดไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 3 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

(กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 18 ส.ค.57)

ศาลยกฟ้องคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลายม็อบ ชี้เป็นอำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง

28 ส.ค.57 ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก

โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม

(ประชาไท, 28 ส.ค.57)

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แย้ง ระบุศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’

28 ส.ค.57 นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วย โดยเห็นว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาจากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ในการฟ้องหากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีจึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสองก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด หากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นตามฟ้องอัยการโจทก์นี้ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

(ประชาไท, 28 ส.ค.57)

อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลายแดงปี 53

25 ก.ย.57 นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดได้ยื่นขออุทธรณ์คดีที่ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในความผิดสั่งสลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต

โดยอัยการสูงสุดขออุทธรณ์ในประเด็นทางข้อกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ ได้ยื่นฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญามาตรา 157

(ประชาไท, 25 ก.ย.57)

ผู้บาดเจ็บ-ญาติคนตาย คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายแดงปี 53 อุทธรณ์ ชี้เป็นความผิดต่อชีวิตไม่ใช่ต่อหน้าที่

29 ก.ย.57 ที่ศาลอาญา นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของของโจทก์ร่วม คือ นายสมร ไหมทอง อาชีพขับรถตู้ ผู้ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสคืนวันที่ 14 ต่อวันที่ 15 พ.ค.53 และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง อาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์เดี่ยวกัน ช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ อดีต ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 53 ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

นายโชคชัย กล่าวว่า “คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา เพราะว่าข้อหาที่ฟ้องเป็นข้อหาความผิดต่อชีวิต ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไม่มีอำนาจสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับข้อหานี้ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนเฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และเราก็เห็นว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจรับคดีจาก ป.ป.ช. คดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งคดีนี้ไม่ใช่คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่”

(ประชาไท, 1 ต.ค.57)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท