Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


“No state should have the power to takes a citizen’s life.
ไม่ควรมีรัฐใดที่จะมีอำนาจในการพรากชีวิตของประชาชน”

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 57 ที่ผ่านมา มีข่าวที่สุดเศร้าเกี่ยวกับ น.ส.เรย์ฮาเนห์ จ๊าบบารี หญิงสาวชาวอิหร่านวัย 26 ปีได้ถูกประหารชีวิตด้วยการถูกแขวนคอแล้ว หลังถูกศาลตัดสินประหารชีวิต โทษฐานฆ่าชายที่พยายามข่มขืนเธอเมื่อ 7 ปีก่อน โดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องจากทั่วโลกที่พยายามขอให้ศาลไว้ชีวิต เนื่องจากเป็นการป้องกันตนเอง จึงทำให้ผมต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยขออนุญาตนำข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่เป็นการทั่วไปอยู่แล้วมานำเสนอ

โทษประหารชีวิตช่วยยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง และทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น

ความจริง - มีหลักฐานจากทั่วโลกซึ่งแสดงให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่มีผลยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างชัดเจน หลายคนอาจแย้งว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตอาจทำให้มีอัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น แต่จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ข้อมูลที่ได้ไม่สนับสนุนความคิดเช่นนี้ ในปี 2547 ในสหรัฐฯ อัตราการฆาตกรรมเฉลี่ยในรัฐซึ่งมีโทษประหารชีวิตอยู่ที่ระดับ 5.71 ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับอัตรา 4.02 ต่อประชากร 100,000 คนในรัฐซึ่งไม่มีโทษประหารชีวิต เมื่อปี 2546 ในประเทศแคนาดา 27 ปีหลังจากยกเลิกโทษประหารชีวิต อัตราการฆาตกรรมลดลง 44% เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2518 สมัยที่ยังมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้สังคมปลอดภัยขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม การที่รัฐอนุญาตให้มีการประหารบุคคลแสดงถึงการสนับสนุนต่อการใช้กำลัง และการส่งเสริมวงจรความรุนแรง

การประหารชีวิตเป็นวิธีแก้ปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงซึ่งคุ้มค่ามากที่สุด

ความจริง-เราไม่ควรนำมาตรการที่ช่วยประหยัดต้นทุนมาใช้ หากนำไปสู่การให้อภัยต่อความรุนแรงและการยอมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ปัจจัยด้านการเงินไม่ควรมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าจะสังหารชีวิตบุคคลหรือไม่ การใช้โทษประหารชีวิตเพื่อลดจำนวนนักโทษเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ มีจำนวนนักโทษประมาณ 2.2 ล้านคน แต่มีนักโทษประหารเพียงประมาณ 3,000 คน ถ้ามีการสังหารนักโทษเหล่านี้จนหมด ก็แทบไม่ได้ทำให้จำนวนนักโทษลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลย

ผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือสังหารผู้อื่นก็สมควรจะถูกสังหารเช่นกัน

ความจริง-เราไม่สามารถใช้โทษประหารชีวิตต่อกรณีการสังหารบุคคลได้ หากรัฐกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับสะท้อนภาพของความจงใจของอาชญากรที่จะใช้ความรุนแรงต่อเหยื่อ นอกจากนั้น ระบบยุติธรรมทางอาญาทั้งปวงย่อมมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการตัดสินผิดพลาด ไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอ และปราศจากข้อบกพร่องเมื่อเป็นการตัดสินว่าใครควรมีชีวิตอยู่และใครไม่ควรมีชีวิตอยู่ การตัดสินตามอัตวินิจฉัยและความเห็นของสาธารณะอาจมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางอาญา ตั้งแต่ช่วงเริ่มการจับกุมไปจนถึงการพิจารณาการขออภัยโทษในช่วงนาทีสุดท้าย

โทษประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งดีตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่สนับสนุนอยู่

ความจริง-ในอดีตนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายจากการสนับสนุนของคนหมู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปการกระทำเหล่านั้นกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว การตกเป็นทาส การแบ่งแยกเชื้อชาติ และการลงประชาทัณฑ์ ได้รับการสนับสนุนจากคนหมู่มากทั้งนั้นซึ่งมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด และรัฐบาลก็ควรมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคน ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะขัดกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ก็ตาม นอกจากนี้ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่นั้นจะเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองและการให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

การฉีดยาเพื่อประหารชีวิตเป็นวิธีสังหารบุคคลที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและมีมนุษยธรรมมากที่สุด

ความจริง-กรณีล่าสุดเกี่ยวข้องกับนายโรเมลล์ บรูม (Romell Broom) อายุ 53 ปีซึ่งเป็นคนผิวดำ และรัฐโอไฮโอล้มเหลวที่จะประหารชีวิตเขาด้วยการฉีดยา ทนายความของโรเมลล์ บรูมได้ยื่นเรื่องต่อศาลแขวงเพื่อขอให้รัฐโอไฮโอยุติความพยายามประหารชีวิตเขาอีกครั้ง หรืออย่างน้อยควร “ยุติความพยายามที่จะใช้ขั้นตอนปฏิบัติและวิธีการที่บกพร่องและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบที่พวกเขาใช้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552” ทนายความระบุว่า การที่รัฐประสบความล้มเหลว กล่าวคือการที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นหาเส้นเลือดที่จะสามารถฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษได้แม้จะพยายามตั้งหลายครั้ง “เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการทรมานเพราะทำให้นายโรเมลล์ บรูมต้องเผชิญกับความตายที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง”

การประหารชีวิตไม่ว่ารูปแบบใดเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรม วิธีการประหารที่มีอยู่ต่างสร้างความเจ็บปวดและทำให้เกิดสภาพที่ไม่น่าดู นอกจากนั้น เราควรระลึกไว้ว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้สำคัญเฉพาะแค่ช่วงเวลาไม่กี่นาทีระหว่างที่มีการนำตัวนักโทษจากห้องขังเพื่อไปประหาร หากนักโทษเหล่านี้ต้องดำรงชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการประหารชีวิต นับตั้งแต่ช่วงที่ศาลตัดสินไปจนถึงช่วงที่หมดสติและเสียชีวิตไป

จากข้อมูลบางส่วนที่นำมานำเสนอข้างต้น ผมคิดว่าเราควรที่จะหันมาทบทวนการมีโทษประหารชีวิตกันอย่างรอบคอบว่ายังมีความจำเป็นหรือเหมาะสมกับสังคมมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมของผู้ที่มีจิตใจสูงตามความหมายของคำว่า “มนุษย์”อยู่ต่อไปหรือไม่ โดยไม่ให้มายาคติหรือความเชื่อข้างต้นมาบดบังความเป็น “มนุษย์”ของเรา

 

ที่มา: https://www.amnesty.or.th/our-work/death-penalty/myth-and-fact

เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 29 ต.ค.57

________________________________________

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net