Skip to main content
sharethis

นพ.นิรันดร์ เชิญรองผอ.รมน. สุราษฎร์ ชาวคลองไทรฯ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังข้อเท็จจริงปัญหาข้อพิพาท และปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชุมชนคลองไทร ด้านชาวบ้านถามทำไมทหารไม่เข้าตรวจสอบสิทธิ์นายทุนบ้าง

30 ต.ค. 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมถกปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ในกรณีข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและการเมือง เป็นประธานในที่ประชุม โดยได้มีการเชิญพันเอกสมบัติ ประสานเกษม รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ชาวชุมคลองไทรพัฒนา และกลุ่มสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย

การเข้าให้ข้อเท็จจริงปัญหาความรุนแรง และร่วมถกปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารในกรณีข้อพิพาทบนที่ดิน ส.ป.ก ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่มีผู้ไม่หวังดีได้ยิงปืนขมขู่ชาวบ้าน และทหารที่ประจำการอยู่ในชุมชนเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่นี่) การประชุมครั้งนี้เกิดจากการเข้าร้องของชาวชุมชนในนามของ สกต. ต่อคณะกรรมการสิทธิฯ โดยการประชุมร่วมกันครั้งนี้ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง  

ในที่ประชุมนายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ สมาชิกสกต. ได้เล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมทั้งได้ตั้งคำถามต่อการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารตลอดช่วงเวลาที่ผ่าน โดยได้มีการถามถึงการเข้าตรวจค้นในพื้นที่โดยไม่มีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเพราะเหตุใดจึงมีการสั่งบังคับจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน

ด้านพันเอกสมบัติ ตอบข้อสงสัยนี้ว่า เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ดังนั้นการเข้าตรวจสอบ เข้าค้นที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่จำเป็นต้องมีหมายคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร และการเข้าตรวจค้นที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เนื่องมาจากมีผู้ร้องเข้ามาว่า ชาวบ้านในชุมชนคลองไทรฯเข้าบุกรุกพื้นที่ของเขา จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย จึงได้มีการนำกำลังเข้าตรวจสอบ  และเหตุที่มีคำสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน นั้นเป็นการสั่งเฉพาะผู้ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย หากชาวบ้านในชุมชนคลองไทรสามารถยืนยันได้ว่าเข้ามาอย่างไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวอะไร

อย่างไรก็ตาม นางเรวดี วิชิตยุทธภูมิ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่กรมป่าไม้ได้ให้ที่ดินผืนนี้กับ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ยากจนต่อไป แต่ทางส.ป.ก. ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากบริษัทผู้เช่าอยู่เดิมไม่ยอมออกจากพื้นที่ จึงได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว จนถึงปัจจุบันคดียังอยู่ในขั้นฎีกา ซึ่งจะมีการพิจารณาคดีในวันที่ 11 พ.ย. 2557

เรวดีให้ข้อมูลต่อไปว่า ปัจจุบันในพื้นที่ซึ่งมีข้อพิพาทเกิดขึ้นและมีปัญหาความรุนแรงนี้ มีคนอย่างน้อยสองกลุ่มหลักๆ ที่เข้าอยู่ในพื้นที่ โดยคนกลุ่มแรกคนชาวบ้านที่เข้าไปตั้งรกราก สร้างที่ทำกิน โดยได้รับความชอบธรรมจากมติครม. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งรัฐอนุญาตให้ชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินอาศัยอยู่ในพื้นที่ไปก่อน จนกว่านายทุนจะออกจากพื้นที่และสามารถจัดสรรที่ดินทำกินได้ และคนกลุ่มที่สองคน กลุ่มผู้ที่ซื้อที่ดินต่อจากกลุ่มนายทุน ซึ่งในทางกฎหมายนั้นไม่สามารถทำการซื้อขายที่ดินได้ เพราะเป็นที่ดินของ ส.ป.ก. ฉะนั้นหากอ้างตามมติครม. ชาวชุมชนคลองไทรฯจึงมีความชอบธรรมในพื้นที่มากกว่า กลุ่มผู้ร้อง 13 ราย ที่ได้ร้องเรียนมายังเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งทางส.ป.ก เองก็ได้ทำการประกาศเตือนผู้ที่อาจจะหลงเชื่อการประกาศขายที่ดินอย่างเป็นทางการแล้ว

ทั้งนี้ด้านนายวัชรินทร์ พุ่มจิตร์ นายอำเภอชัยบุรี ได้กล่าวว่าปัญหากรณีพื้นที่พิพาทระหว่างชุมชนกับบริษัทและผู้ที่ซื้อที่ดินต่อจากบริษัทนั้นเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามล่าสุดทางด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานีได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา และกำลังจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกในวันที่ 3 พ.ย. นี้

วัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในการแก้ไขปัญหานั้นจะมีการดำเนินที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายให้มากที่สุด จะไม่มีความเห็นโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายใด แต่จะพิจารณาไปตามหลักการและเหตุผล

ด้านนายสุพจน์ กาฬสงค์ หนึ่งในชาวชุมคลองไทรฯ ได้เล่าถึงเหตุการณ์พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่า ก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุฆาตกรรมชาวบ้านในชุมชนไปถึง 3 ราย โดยรายแรกถูกยิงเมื่อปี 2553 และอีก 2 รายต่อมาถูกยิงเมื่อ 2555 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้ และหนึ่งในผู้ก่อเหตุยังเดินทางเข้ามาในชุมชนพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 16 ส.ค. และ 24 ก.ย. อีกด้วย และกล่าวต่อว่า เหตุใดทางเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเข้ามาตรวจสอบ ตรวจค้นในชุมชน จึงมั่นใจว่าที่เข้ามาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ที่เข้าอยู่ในพื้นที่อย่างถูกต้อง และทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบสิทธิ์เข้าอยู่ในพื้นที่ของฝ่ายผู้ร้องบ้าง

ต่อกรณีเหตุการณ์ฆาตกรรมชาวบ้าน 3 ราย ตัวแทนจากกรมสืบสวนคดีพิเศษซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยได้ให้ข้อมูลว่า ในกรณีการฆาตกรรมชาวบ้านทั้ง 3 รายนั้น จากข้อมูลของทีมสืบสวนที่ตนมีอยู่ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ยังได้กล่าวว่ายินดีที่จะดำเนินการให้ โดยขอข้อมูลเบื้องต้นจากตัวแทนชาวชุมชนคลองไทรฯไว้ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม

ด้านนพ.นิรันดร์ ได้ให้ความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหากรณีชุมชนคลองไทรฯ ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า การเข้าแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ทหารนั้นควรมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย และควรจะมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย พร้อมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ทหารเร่งหามาตรการดูแลความปลอดภัยของคนในชุมชนคลองไทรฯ เพราะมีความกังวลว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากใกล้ถึงวันที่ ศาลฎีกาจะพิจารณาคดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net