Skip to main content
sharethis
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกค้านทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด-พาณิชย์ จนกว่าไทยจะมีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ภายใต้สภาพัฒน์ฯ จัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเกษตรยั่งยืน-เกษตรอินทรีย์ โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
 
 
30 ต.ค. 2557 เวลา 13:00 น. ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ อาทิ นครสวรรค์ เชียงใหม่ มหาสารคาม ขอนแก่น ยโสธร สุรินทร์ สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทราสงขลา พัทลุง เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล และศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เกิดการทบทวนนโยบายการทดทดลองการปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด และการอนุญาตให้มีการปลูกในเชิงพาณิชย์
 
สำหรับเนื้อหาของจดหมายมีดังนี้ ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการให้มีการปลูกทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs: Genetically Modified Organisms) ในแปลงเปิด รวมไปจนถึงการปลูกในเชิงพาณิชย์นั้น
 
องค์กรเกษตรกร องค์กรผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ซึ่งได้ติดตามการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในประเทศต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์มีผลกระทบเชิงลบมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับดังนี้
 
 
ประการแรก เทคโนโลยีในการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่บริษัท ตัวอย่างเช่น พืชดัดแปรพันธุกรรมสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้ายที่ปลูกในสหรัฐอเมริกามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีบริษัทมอนซานโต้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร การตัดสินใจเปลี่ยนเกษตรกรรมของประเทศไปใช้พืชดัดแปรพันธุกรรมจะทำให้ระบบเกษตรและอาหารของประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบรรษัทขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของเกษตรกร ผู้บริโภค และประเทศไทยโดยรวม
 
ประการที่สอง ประชาชนและผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มีแนวโน้มต่อต้านผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศส สูงถึง 78 เปอร์เซ็นต์ และ 84 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง มีประชาชนถึง 54 เปอร์เซ็นต์ที่ปฏิเสธอาหารดัดแปรพันธุกรรม และมีการเรียกร้องให้ติดฉลากสินค้าที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรม นั่นแสดงให้เห็นว่าตลาดที่จะรับซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากพืชดัดแปรพันธุกรรมกำลังลดลงเป็นลำดับ
 
ประการที่สาม ขณะนี้ผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทยถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศยุโรป และญี่ปุ่นเมื่อถูกตรวจสอบพบว่ามาจากพืชดัดแปรพันธุกรรม และหากอนุญาตให้มีการทดลองปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในแปลงเปิดหรือปลูกในเชิงพาณิชย์ จะทำให้ประเทศคู่ค้าจับตาผลผลิตที่ส่งออกจากประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการตรวจสอบและการจัดการเพิ่มขึ้นทั้งระบบ
 
ประการที่สี่ ประเทศไทยไม่สามารถปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมร่วม (Coexist) ไปกับการพืชทั่วไปและการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ เนื่องจากพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรเฉลี่ยมีพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 15 ถึง 20 ไร่เท่านั้น ทำให้การแบ่งแยกพื้นที่ไม่ให้มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการปนเปื้อนทางพันธุกรรมจากการที่เกิดจากการผสมเกสรของแมลงหรือลม แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเกษตรกรมีพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่และมีระบบการจัดการที่ดีกว่ากลับพบว่าไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้ ดังกรณีข้าวโพดสตาร์ลิงค์ (2543) ข้าวลิเบอร์ตี้ลิงค์ (2549) และข้าวโพดวิปเทอร่า (2557) ต้องจ่ายค่าเสียหายรวมกันหลายหมื่นล้านบาท
 
ในกรณีประเทศไทย การปนเปื้อนทางพันธุกรรมยังทำให้ยีนแปลกปลอมที่ได้รับการจดสิทธิบัตรโดยบรรษัทขนาดใหญ่ไปผสมปนเปื้อนกับทรัพยากรชีวภาพของประเทศ โดยไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ (Irreversible) ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ต่อทรัพยากรธรรมชาติของประเทศในระยะยาว
 
ประการที่ห้า การปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ทำให้มีการเพิ่มการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากมีผลเร่งกระบวนการวิวัฒนาการของศัตรูพืชเพื่อพัฒนาการต้านทานสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาทิ ทำให้เกิดวัชพืชที่ต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช และแมลงที่ต้านทานสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การศึกษาที่ใช้ข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐเองพบว่าระหว่างปี 1996 ถึง 2011 มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นถึง 183 ล้านกิโลกรัม
 
ประการที่หก สำหรับคำกล่าวอ้างว่าเทคโนโลยีการดัดแปรพันธุกรรมสามารถทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เป็นความจริง เพราะพืชดัดแปรพันธุกรรมทั้งหมดที่มีการนำมาใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงการนำยีนที่ผลิตสารพิษและยีนที่ต้านทานสารเคมีปราบวัชพืชตัดต่อใส่ในพืชผลผลิตสูงที่ผสมพันธุ์โดยวิธีปกติเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มศักยภาพของพืชในการเพิ่มผลผลิตแต่ประการใด งานศึกษาเชิงเปรียบเทียบล่าสุดยังพบด้วยว่าการปลูกข้าวโพดสายพันธุ์ทั่วไปของประเทศในสหภาพยุโรปยังได้ผลผลิตมากกว่าข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
 
ประการที่เจ็ด แม้มีความพยายามในการผลักดันให้มีการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมมาโดยต่อเนื่องตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมยังมีสัดส่วนเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้น โดย 90 เปอร์เซ็นต์กระจุกตัวอยู่ในเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ในระยะหลังอัตราการขยายตัวของพื้นที่ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากปัญหาหลายประการดังที่ได้กล่าวแล้ว
 
ประการที่แปด ประชาคมวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมจะปลอดภัยต่อสุขภาพและจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว ดังที่พบว่ามีงานศึกษาที่เป็นอิสระจำนวนหนึ่งได้รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบมาเป็นระยะ ในขณะที่สมาคมทางการแพทย์สำคัญๆ เช่น British Medical Association, German Medical Association , American Public Health Association, California Medical Association, American College of Physicians เป็นต้น เสนอแนะให้รัฐบาลบังคับติดฉลากสินค้าดัดแปรพันธุกรรม เพื่อติดตามความเสี่ยงระยะยาว
 
ประการที่เก้า พืชดัดแปรพันธุกรรมที่ผลักดันให้มีการทดลองภาคสนามในประเทศไทย นับตั้งแต่ฝ้ายบีทีมอนซานโต้ มะละกอจีเอ็มโอต้านทานโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวนคอร์แนล และข้าวโพดจีเอ็มโอมอนซานโต้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรที่มีต่างชาติเป็นผู้ครอบครอง ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีของเราเองแต่ประการใด การอนุญาตให้ปลูกทดลองในแปลงเปิดเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อที่จะได้ปลูกเชิงพาณิชย์เท่านั้น
 
ประการที่สิบ ประเทศไทยสามารถเลือกแนวทางการพัฒนาการเกษตรที่ดีกว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่า ผู้บริโภคให้การยอมรับมากกว่า โดยให้ความสำคัญกับการผลิตที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ อาทิเช่น การวิจัยเพื่อฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ การส่งเสริมให้บริษัทท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีปกติจนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพได้เอง ตัวอย่างกรณีของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน เป็นต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์ซึ่งเป็นแนวทางที่เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้ผลักดันร่วมกันมานับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
 
ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว องค์กรซึ่งมีรายชื่อตามจดหมายนี้จึงขอเสนอต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้โปรดทบทวนนโยบายและการดำเนินการเกี่ยวกับพืชดัดแปรพันธุกรรมดังต่อไปนี้
 
หนึ่ง ขอให้ยับยั้งการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด จนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายและรับผิดชอบกรณีที่เจ้าของหรือผู้ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับพืชทั่วไป พืชที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ หรือทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ/ทรัพยากรธรรมชาติในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายข้างต้น ให้มีการอนุญาตในการปลูกทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรมในโรงเรือนทดลอง หรือให้ห้องปฏิบัติการเท่านั้น
 
สองขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ภายใต้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์ ทั้งนี้โดยให้มีตัวแทนของผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือข่ายเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของประเทศสามารถเชื่อมโยงประสานกันโดยไม่ขัดแย้งกัน
 
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เกษตรกรยั่งยืน จากพื้นที่ 14 อำเภอในเชียงใหม่ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 1,000 ครัวเรือน ได้ยื่นหนังสือผ่านทางนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยตัวแทนเกษตรกรรายหนึ่งกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีการทบทวน ตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรใช้เพาะปลูกกันทุกวันนี้เราก็ไม่รู้ว่ามันมาจากไหน ทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อรักษาอธิปไตยทางอาหาร และความยั่งยืนของเกษตรกร
 
 
- ชมบรรยากาศการยื่นหนังสือที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่: http://youtu.be/_ad3lwXT6xU
- ชมการเนื้อหาการเสวนา เดินหน้า GMO บรรษัทกำไร ประชาชนไทยล่มจม?: http://www.youtube.com/playlist?list=PLs7l-zYsBZRjRqsXy9OjD9h0Nvi4D4boT
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net