โลกของคนขับรถบรรทุก: สภาพการจ้างงานและการเกิดอุบัติเหตุ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

         

การใช้ชีวิตทำงานบนท้องถนนของคนขับรถขนส่งสินค้าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการ การกิน อยู่ หลับนอนบนรถ ในระหว่างการทำงานเกือบ 24 ชั่วโมงสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ ผู้ใช้รถใช้ถนนควรรับรู้และเข้าใจถึงสภาพการทำงานของคนขับรถในธุรกิจนี้ นอกเหนือจากสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมแรงงาน เนื่องจากคนขับรถสามารถมีบทบาทในการช่วยลดอุบัติเหตุได้ ด้วยการตระหนักถึงสภาพการจ้างงานที่ดีและปลอดภัย คนขับรถนอกจากจะต้องชำนาญในการขับ ดูแลรถให้พร้อมใช้ แต่ต้องต่อสู้เรียกร้องเรื่องสภาพการจ้างงานให้เป็นธรรมขึ้น นั่นคือ รายได้ สวัสดิการ สุขภาพ ชั่วโมงการทำงาน เวลาพักผ่อน ความปลอดภัยในการทำงาน และการยกระดับความเป็นผู้มีทักษะฝีมือขั้นสูง

รายงานชิ้นนี้ จะเชื่อมโยงประเด็นแรงงานกับการสร้างความปลอดภัยบนถนน (Road safety) ว่าอุบัติเหตุสัมพันธ์กับสภาพการทำงานของคนขับรถอย่างไร ด้วยการสืบเสาะหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่เชื่อมโยงกับสภาพการทำงานของแรงงานภาคขนส่ง จำกัดขอบเขตการศึกษาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนขับรถบรรทุก 10 ล้อ รถพ่วง รถเทรลเลอร์

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคขนส่งและโลจิสติกส์ทางถนน (ณ ราคาปีปัจจุบัน) ในปี 2557 จะมีมูลค่า 257,900-263,800 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 5.1-7.5 จากปี 2556 ที่มีมูลค่าประมาณ 245,400 ล้านบาท  ซึ่งสะท้อนการเติบโตต่อเนื่อง มีการขยายธุรกิจข้ามไปยังชายแดน ประเทศเพื่อนบ้าน[1] และจะก้าวสู่ตลาดอาเซียน แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องต้นทุนราคาเชื้อเพลิงกับค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้นก็ตาม  ธุรกิจนี้ก็ควรรับฟังเสียงของคนทำงานด้วย

ประเด็นที่นำเสนอ ได้แก่

1. กฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งทางบกกับการป้องกันอุบัติเหตุ
2.ระบบการจ้างงานคนขับรถบรรทุก
3.สรุป

1.กฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งทางบกกับการป้องกันอุบัติเหตุ

มาตรา 6 และมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ประกอบสำหรับการทำงานด้านขนส่งทางบก ว่า งานขนส่งทางบก ทั้งการลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของด้วยยานพาหนะขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือ พลังงานอื่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคคลหรือสัตว์ที่เจ็บป่วยและการขนส่งในงานดับเพลิงหรืองานบรรเทาสาธารณภัย    นายจ้างต้อง

-กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้าง ในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง
-ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ทำงานล่วงเวลา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และหากได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง เว้นแต่มีความจำเป็นอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร และต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเงิน  (นั่นคือ ต้องมีค่าล่วงเวลา)

นอกจากนี้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 103 ทวิ ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับรถขับรถติดต่อกันนานเกิน 4 ชั่วโมง แต่ถ้าได้พักติดต่อกันไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ก็ให้ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมงติดต่อกัน  และในมาตรานี้ได้เพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.การขนส่งทางบก ฉบับที่ 8 พ.ศ.2542  เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอันร้ายแรงบนท้องถนน ซึ่งสาเหตุมาจากการเมาสุรา การเสพยา รวมทั้งการทำงานเป็นเวลานานจนเกินไปทำให้คนขับรถเกิดความตึงเครียด   ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ จึงเคร่งครัดเรื่องชั่วโมงการทำงานและการเสพสุรา ยาเสพติดที่กระตุ้นให้เกิดการทำงานที่ยาวนาน[2]

อุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สังคมไทยกำลังเผชิญคือ จากรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก พ.ศ.2556 จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก พบว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก คนไทยเสียชีวิตถึง 38.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน รองจากประเทศเกาะนีอูเอ และสาธารณรัฐโดมินิกัน[3] และจากสถิติของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ปี 2556 พาหนะที่ประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางทางถนน ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์มากที่สุด ร้อยละ 74.2 รองลงมาเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลร้อยละ 18.3 รถบรรทุก ร้อยละ 2.5 รถโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 1.8 และพาหนะอื่น ๆ อีกร้อยละ 3.2 ตามลำดับ  อีกทั้ง จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ  สํานักงานตํารวจแห่งชาติ พบว่า การเกิดอุบัติเหตุในปี  2547 มีจํานวน 124,530 ราย หลังจากนั้นมีแนวโน้มลดลง จนกระทั่งในปี  2556 เกิดขึ้น 61,246 ราย (มีผู้เสียชีวิต 7,338 คน มีคนบาดเจ็บ 20,888 คน)[4]  ลดลงจากอดีต ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตมากที่สุดมักเป็นผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน วัยรุ่น  จำนวนผู้พิการในปี 55 รวม 84,199 คน  สำหรับมูลค่าทรัพย์สินที่เสียหายจากอุบัติเหตุทางบกในปี 56 เท่ากับ 649.2 ล้านบาท ลดลงจากปี 51 คือ 5,415.5 ล้านบาท[5]

ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและผู้อาศัยริมทาง คือ การทำงานของพนักงานขับรถขนส่งต้องมีสภาพการจ้างงานที่ดีปลอดภัย ไม่เหนื่อยล้าตึงเครียดจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น  จึงเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการแยก “เวลาทำงาน” และ “เวลาพัก”

ด้วยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่มีมากมาย ได้แก่ ความบกพร่องของผู้ขับขี่ เช่น ขับไว ประมาท ไม่ชำนาญ เมา หลับใน ความบกพร่องของถนน เช่น ถนนลื่น บริเวณโค้ง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ความบกพร่องของรถ เช่น รถชำรุด  แต่จะทำอย่างไรให้อุบัติเหตุลดน้อยลง  สำหรับคนขับรถขนส่งขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก 10 ล้อ รถพ่วง เทรลเลอร์ รถโดยสาร สิ่งที่ค้นพบคือ คนขับรถมักมีอาการหลับใน อ่อนเพลีย เพราะทำงานหลายชั่วโมง พักผ่อนน้อย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงได้ สิ่งที่ควรเข้าไปสำรวจตรวจสอบต่อไปคือ ระบบการจ้างงาน สภาพการทำงานของคนขับรถขนส่ง โดยเฉพาะคนขับรถบรรทุก รถเทรลเลอร์ ว่ามีการทำงานหลายชั่วโมงหรือไม่ เพราะอะไร มีอาการหลับใน ติดสุรา สารเสพติดหรือไม่ ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น

 

2.ระบบการจ้างงานของคนขับรถบรรทุก  

ระบบการจ้างงานของคนขับรถบรรทุกสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ

1.การจ้างงานในบริษัทข้ามชาติ
2.การจ้างงานในบริษัทของไทย ระบบเถ้าแก่ เหมาเที่ยววิ่ง

บริษัทขนส่งทางบก

ตัวอย่างเช่น บ.กู้ดทีม เอ็นเตอร์ไพรส์ บ. ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต บ. ดีเอชแอล ซับพลายเชน บ.ทวีพงศ์ บ. สปีดอินเตอร์ ขนส่ง  บ.น.น.น. อินเตอร์เฟลท บ.รุจโอฬาร ทรานสปอร์ต  บ.ดอยตุงขนส่ง บ.เกียรติธนาขนส่ง  และมีรถบรรทุกสินค้าจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว ประมาณ 900,000 คันทั่วประเทศ

สภาพการจ้างงาน

ปัญหาหลักคือ รายได้ยังไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของครอบครัว จากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท จะทำให้มีรายได้เดือนละ 9,000 บาท แต่หลายบริษัทยังจ้างต่ำกว่ากฎหมาย นอกจากนี้ ค่าเที่ยวยังต่ำ ไม่รวมค่าล่วงเวลา กล่าวคือ ค่าเที่ยวจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ใช้เวลาขับ 2 วัน ต้องกลับมายังกรุงเทพฯ ภายใน 3 วัน แต่ค่าเที่ยวเพียง 400 บาท การเร่งเวลาทำงาน จนไม่มีเวลาพักผ่อน และไม่มีการปรับทักษะฝีมือให้สูงขึ้น

ในช่วงต้นปี 2556 จากกรณีปัญหาพนักงานขับรถของบริษัทลินฟ้อกซ์ทรานสปอร์ตถูกเลิกจ้าง ทำให้ทราบว่า พนักงานได้รับเงินเดือนประมาณ 9,450 บาท  ซึ่งเป็นไปตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ปัญหาที่พบ คือ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเพื่อให้ได้ค่าเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากเงินเดือนขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูง ทำให้มีปัญหาการขาดการพักผ่อน หลับในและประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนในที่สุด[6]

กฎระเบียบของบริษัท พนักงานขับรถมีสิทธิหยุดพักสัปดาห์ละ 1 วัน แต่ในทางปฏิบัติ พวกเขามักขับรถอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานาน และยากที่จะกลับถึงบ้านให้ตรงกับวันหยุด อันเนื่องจากต้องขับในระยะทางยาวไกล ตามต่างจังหวัดที่พวกเขาต้องขนส่งอาหารสดให้แก่ห้างเทสโก้ โลตัสทั่วประเทศ ฉะนั้นพวกเขาจึงทำงานหลายชั่วโมง เกิดความตึงเครียด จากการสั่งงานและควบคุมงานของผู้จัดการและหัวหน้า เช่น การขับรถไปยังภาคใต้ของประเทศ ใช้เวลา 22 ชั่วโมง และต้องหลับบนรถ ไม่มีสวัสดิการพักตามโรงแรม และจุดพักรถที่ปลอดภัย
 

บทสัมภาษณ์ [7]

กรณีพนักงานขับรถในบริษัทข้ามชาติ

ประเสริฐ (สงวนนามสกุล) เงินเดือนขั้นต่ำประมาณ 10,000 บาท รวมรายได้ 20,000 กว่าบาท ได้รับสิทธิประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยามเกษียณ มีโบนัส 1 เดือน ทำงานตลอด 12 ช.ม. ค่าเที่ยวประมาณ 160 บาท ค่าเที่ยวนั้นไม่มีการคิดค่าล่วงเวลา หากขับคร่อมวันหยุด จะไม่ได้รับอนุญาตให้หยุด หากขับไปต่างจังหวัดจะไม่มีที่พัก พักร้อนหากลูกจ้างไม่ใช้สิทธิถือเป็นโมฆะ  สิ่งที่พนักงานต้องการคือ ค่าเที่ยว ให้นับเวลาเพียง 8 ช.ม. ที่เหลือควรคิดเป็นค่าล่วงเวลาของค่าจ้างขั้นต่ำต่อช.ม.   ขณะนี้ นายจ้างมีคำสั่งให้จอดพักรถเป็นเวลา 30 นาทีและดับเครื่องยนต์ เพื่อแยกเวลาพักออกจากเวลาทำงานให้ชัดเจนตามกฎหมาย

นที (สงวนนามสกุล)เมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัทเลี่ยงไปใช้กองทุนประกันสังคม ตัวคนขับรถเองมีวิถีชีวิตที่ผิดพลาดเช่นกัน คือ เวลาพักไม่พัก ดื่มกาแฟมากเกินไป ทำให้นอนหลับไม่ได้  คนขับรถจึงต้องปรับปรุงวิถีชีวิตของตัวเองด้วย  จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เคยรับประทานยาแก้ง่วงมาอย่างหนัก ปัจจุบันเลิกแล้วและหันมาออกกำลังกาย วิดพื้น รับประทานผลไม้ ขนมขบเคี้ยวแก้ง่วงแทน  การดื่มกาแฟเป็นความเคยชิน คนขับชอบฝืนร่างกายเพื่อให้ได้ค่าเที่ยวเพิ่ม   และเห็นว่า รายได้ที่มาจากค่าเที่ยวนั้น บริษัทควรมีระบบการจ่ายงานให้พนักงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปอย่างเท่าเทียมที่สุด พนักงานจ่ายตั๋วซึ่งมีหน้าที่เลือกว่าจะจ่ายงานให้พนักงานคนใดขับไปตามที่ต่างๆ  ซึ่งการขับในระยะทางใกล้จะได้เปรียบกว่าระยะทางไกล คือ ระยะทางใกล้จะได้รับค่าเที่ยว 250 บาท ระยะทางไกล เช่นอรัญประเทศ 400 บาท หากไปใกล้จะได้หลายรอบ ถึง 3-4 รอบ ได้เงินมากกว่าคนที่ขับรถไปไกลๆ  และเห็นว่าควรมีค่าล่วงเวลา

 

กรณีพนักงานขับรถให้เถ้าแก่

ระบบเถ้าแก่ คือ การจ้างงานด้วยระบบเหมาเที่ยววิ่ง เช่น กรุงเทพฯ –เชียงใหม่รวมค่าน้ำมันเหมาไปกลับ 5,000 บาท ระบบนี้เป็นที่ชื่นชอบของคนขับรถบางประเภท คือ คนมีประสบการณ์ เพราะสามารถขับรถเลี้ยงน้ำมันได้ ปะรถน้อย ไม่เร่งเวลา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเถ้าแก่กับลูกจ้างมีลักษณะบนลงล่าง มีวัฒนธรรมจงรักภักดี ความเป็นเจ้าขุนมูลนาย คนขับรถคิดเฉพาะหน้าเท่านั้น ไร้อำนาจการต่อรอง เงินเดือนคนขับรถประเภทนี้ ประมาณ 5,000 บาทต่ำกว่ากฎหมาย

ประทวน (สงวนนามสกุล) ทำงานในระบบเถ้าแก่ ขับรถขนปูน รายได้มาจากการคิดเปอร์เซ็นต์ คือ จะได้รับ 10% ของมูลค่าสินค้าที่ขนส่ง เงินเดือนพื้นฐาน 5,000 บาท  เคยประสบอุบัติเหตุ ต้องเสียค่าส่วนหัวของรถที่เสียหาย 5,000 บาท ส่วนท้ายเสีย 7,000 บาท คนขับรถต้องการประหยัดน้ำมันเพื่อให้ได้ส่วนต่าง อันเป็นเงินจูงใจที่เถ้าแก่จัดให้  รถที่ขับยี่ห้อวอลโว่จะประหยัดน้ำมันมากกว่าอีซูซุ

พรชัย [8] (สงวนนามสกุล) อายุ 53 ปี เป็นคนอุทัยธานี ขับรถไม่เป็นเวลา ทำงานตลอด 24 ช.ม. รถพ่วงที่ขับมีประกันสองที่นั่ง หากที่นั่งของภรรยาเสียชีวิตจะได้ประกัน 600,000 บาท ส่วนที่นั่งคนขับ 1,200,000 บาท โดยบริษัทวิริยะประกันภัย เถ้าแก่เป็นผู้เสียเบี้ยประกัน  ขับรถพ่วง 24 ล้อขนหิน ทราย ไปตลิ่งชันทำทางรถไฟ บ้านบึง บางนา กม.ที่ 5 กม.ที่ 8 อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น  ทำงานมากว่า 1 ปี  ก่อนหน้าถูกเลิกจ้างโดยบริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อปี 55 โดยถูกกล่าวหาว่าขโมยน้ำมัน ในพื้นที่สีแดงห้ามจอด แต่ความเป็นจริง ได้จอดพักดื่มกาแฟ เข้าห้องน้ำ สูบบุหรี่ 10 นาที ใกล้จุดห้ามจอด ซึ่งตนไม่เคยทราบว่าเป็นพื้นที่สีแดง  และขับรถใช้น้ำมันเรทปกติ 3.7 ก.ม./ลิตร แต่บริษัทต้องการขับให้ได้ 4.2 ก.ม./ลิตร คือทำงานให้มีประสิทธิภาพที่สุด ได้ทำการฟ้องร้องนายจ้างที่ศาลจังหวัดลพบุรี แต่ไกล่เกลี่ยกันได้ ยอมรับค่าชดเชยจากบริษัท

จากประสบการณ์การขับรถ เคยขับรถประสบอุบัติเหตุ 7-8 ครั้ง เช่น เมื่อตอนหลังอายุ 25 ปี ที่เส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ เลนสวน ทางโค้ง ทางลับตา ขับเร็ว เบรคไม่ทัน และเจออุบัติเหตุปี 57 รถฮีโน่ ซีรี่ 5 ช่วงสี่ทุ่ม ชนรถไถ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต  รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 ราย เป็นจักรยาน มอเตอร์ไซด์ รถเก๋ง  สาเหตุหลักคือ มีอาการหลับๆตื่นๆ ขับเร็ว  หากมีประกันประเภท 1 จะไม่หนี  ถ้าหนีจะถูกดำเนินคดี ถูกตามจับ ส่วนเถ้าแก่ขอคืนรถได้ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอุบัติเหตุ

พรชัย เล่าว่า “กรณีที่ผมเกิดเหตุ ผมเคยเฝ้าศพที่ลพบุรี 2 ศพ มอเตอร์ไซด์เมาเหล้าชนท้าย ทางญาติฟ้องเรา ผมรับสารภาพ ถูกฝากขัง 7 ผลัดที่เรือนจำนครสวรรค์  ให้ประกันภัยเดินเรื่องให้ จนศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่รอลงอาญา 2 ปี และที่บางปะหัน ผมไปชนจักรยานตาย 1 ศพ รอญาติและตำรวจมา ประกันภัยจ่ายค่าทำศพ ตกลงกันได้  อย่างไรก็ตาม เคยหนี แล้วถูกตามจับ โดยตำรวจใช้ข้อมูลจากประกันสังคม  ล่าสุดที่เส้นชลบุรี-สวนหลวง ผมหลับใน สะดุ้งตื่น หักหลบ ตกใจขับออกเลนขวาเกือบชนรถเก๋งอีกคันหนึ่ง เพราะรถหลบไปชนขวาอีกที บาดเจ็บสาหัส  ผมรับสารภาพกับตำรวจ”

ช่วงทำงานที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในปี 38 ไม่เคยประสบอุบัติเหตุ งานสบายกว่าบริษัทที่ทำอยู่ขณะนี้ แต่เทียบแล้ว มีรายได้ใกล้เคียงกัน ไม่ต้องคลุมผ้าใบ มีคนขับ 2 คน  งานปัจจุบันไม่เป็นระบบ ต้องรองานให้เสร็จ ง่วงแล้วต้องพยายามหลับให้ได้

ในช่วงปีนี้ เถ้าแก่ได้ปรับเปลี่ยนการจ้าง โดยหักค่าใช้จ่ายเพิ่ม จากรายได้ที่เคยได้รับ 4-5 หมื่นต่อเดือน ทำงานแบบไม่หยุด ขับ 80-90 เที่ยวต่อเดือน วันละ 3 เที่ยว ๆ ละ 360-400 บาท พักผ่อนวันละ 3-4 ช.ม. คิดตามระยะทาง เที่ยวหนึ่งใช้เวลาขับประมาณ 4-5 ช.ม.  3 เที่ยว รวม 15 ช.ม. บางเที่ยวอาจจะใช้เวลาถึง 6-7 ช.ม. เช่นกรณีฝนตก  ต้องขับประหยัดน้ำมันเพื่อให้ได้ค่าน้ำมันที่เหลือ คือ โดยปกติเติมก๊าซ 80 ก.ก. หากขับเหลือ 30 ก.ก. จะได้เงิน 300 บาท หากขับเกินก็ถูกหักเงินไปก.ก.ละ 10 บาท

เถ้าแก่มีเงินรางวัล เบี้ยขยันให้ คือ หากขับ 90 เที่ยว จะได้ 5,000 บาท แต่กว่าจะได้ก็ใช้เวลา 24 ช.ม.   ได้หยุดพักจริงๆ ในวันออกพรรษา เข้าพรรษา ปีใหม่ และสงกรานต์ เพราะงานในโรงงานปูนตามภาคอีสาน รถซีแพค นำเพ็ง นกอินทรีย์ หากหยุดก็จะได้หยุดด้วย

ตอนนี้สุขภาพยังไหว สายตายังดี หันมารับประทานอาหารเสริมแคเซียมเพื่อช่วยให้ขาแข็งแรงขึ้น ความมุ่งหวังจากการทำงานคือ ต้องการสะสมเงินเพื่อไปซื้อที่ดินทำการเกษตร เลี้ยงปลา  เพราะเคยอยู่ในครอบครัวชาวนา  และต้องการให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้าง คือ จ่ายค่าเที่ยวเต็มจำนวน ไม่ควรหักค่าใดๆ  เพราะทำงานยาวนาน 24 ช.ม. รายได้หดหาย ด้วยเงินเดือนเพียง 5,000 บาท แม้เป็นลูกจ้างประจำ มีประกันสังคม ก็จำต้องรับเหมาทำงานหลายชั่วโมง

พรชัย มองว่า ระบบเถ้าแก่ มีข้อดีข้อเสีย ข้อเสีย คือ จ้างงานด้วยวาจา ไม่มีลายลักษณ์อักษร ปลดคนง่าย ส่วนใหญ่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หลบภาษี ใช้ป้ายขาวดำ กฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้าไม่ถึง ฟ้องไม่ได้  ข้อดีคือ การบริหารงานด้วยตัวเองที่คนงานบางประเภทชอบ

พนักงานขับรถของเถ้าแก่มีจำนวน 70 คน รถ 70 คัน และยังพาครอบครัวไปด้วย ภรรยาช่วยขับและควบคุมดูแลสามี  เหมือนระบบเด็กรถของบริษัท แต่ไม่มีเงินเดือน

เชิด (สงวนนามสกุล) สรุปว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเวลาเช้ามืด ซึ่งคนขับรถมักมีอาการวืด หลับในหลังจากขับมาเป็นเวลานาน อาการหลับใน คือ ร่างกายไม่ขยับ แต่สมองยังทำงาน คล้ายอาการผีอำ ดื่มกาแฟมากเกินไป ติดยาเสพติด ดื่มสุราเพื่อกระตุ้นให้ทำงานต่อหลายชั่วโมง  นอกจากนี้ยังมีกรณีคนงานไหลตายบนรถ เพราะขาดการพักผ่อน  

 

3.สรุป

จากปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ  3 ปัจจัย คือ 1. สภาพการทำงานของพนักงานขับรถ 2. ความชำนาญของคนขับ 3. ตัวรถกับโครงสร้างถนน  แต่มุมมองของคนทำงานจะให้ความสำคัญกับสภาพการจ้างงาน และระบบการทำงานที่ปลอดภัย คือ มีรายได้และสวัสดิการดี มีเวลาพักผ่อน ทว่าที่ผ่านมาในกรณีของนายเชิดข้างต้น ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง จึงฟ้องนายจ้างในข้อหาโกงค่าล่วงเวลา และเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเพราะออกมายื่นข้อเรียกร้อง จัดตั้งสหภาพแรงงาน  สภาพการจ้างงานของคนขับรถบรรทุกหลายบริษัท ปัจจุบันยังคงไม่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง เป็นเวลานับสิบๆ ปีก็ยังไม่ดีขึ้น แม้จะมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ปรับไม่ทันกับค่าครองชีพที่พุ่งสูง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย  การลดชั่วโมงการทำงานเพื่อให้มีเวลาพักผ่อนเต็มที่ และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

หากสังคมเล็งเห็นความสำคัญของบทบาทคนขับรถในการช่วยลดความเสี่ยงบนท้องถนน ก็ควรสนับสนุนการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนงาน  การสร้างมาตรฐานของการขนส่งทางบกข้อหนึ่งคือ สภาพการจ้างงานที่ดีและมีความปลอดภัย ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่นายจ้างต้องจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรม นอกเหนือจากการขอให้ภาครัฐสร้างจุดพักรถ ติดตั้งจีพีเอส และความร่วมมืออื่นๆ เพราะจะช่วยลดความเสียหายของทรัพย์สิน ลดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ส่วนภาครัฐต้องจริงใจกับการรณรงค์เพิ่มมาตรการความปลอดภัยบนถนน มาตรฐานการขนส่งทางบกที่วางกรอบไว้เป็นอย่างดี และสนับสนุนสิทธิของผู้ใช้แรงงาน  ผู้เขียนมองว่านี่คือแนวทางที่จะช่วยสร้างความสุขของทุกฝ่ายได้.

 

 

 

[1] ธุรกิจขนส่งทางถนนปี 57: ผู้ประกอบการขนส่งไทยตื่นตัวรับโอกาสที่ท้าทายจาก AEC. ฐานเศรษฐกิจออนไลน์  http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=214104:--57--aec&catid=176:2009-06-25-09-26-02&Itemid=524#.VFdQRVe8uwU

[2] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.  พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522.  แหล่งที่มา : http://trat.dlt.go.th/transport.pdf

[3] โครงการสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 11 : สิทธิกับความปลอดภัยทางถนน. จัดโดย กระทรวงคมนาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอื่นๆ.  แหล่งที่มา : http://www.tds.tu.ac.th/userfiles/contentfiles/files/138130323629cb2f0b55d0c1e06efa795d5a2241ba.pdf    และ เครือข่ายอุบัติเหตุห่วงไทยอันดับ3ลุ้นนายกฯร่วมถก. 20 ส.ค. 2556  แหล่งที่มา : สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง http://bhs.doh.go.th/node/504

[4] สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม. อุบัติเหตุบนทางหลวง 2556. แหล่งที่มา : http://bhs.doh.go.th/files/accident/56/report_accident56.pdf

[5] ศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ. “อุบัติเหตุ” ความสูญเสียที่มากกว่าชีวิต.  เมษายน 57.  แหล่งที่มา : http://www.nic.go.th/gsic/e-book/accident/accident.pdf

[6]สัมภาษณ์นายเชิด ครเพ็ง และศิริชัย แตงมีแสง อดีตพนักงานขับรถบรรทุกของบริษัทลินฟ้อกซ์ทรานสปอร์ต. 4 ต.ค.57 ณ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา.

[7] สัมภาษณ์คนขับรถ. วันที่ 11 ต.ค.57 ณ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา.

[8] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนขับรถพ่วง.  19 ต.ค. 57 ณ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท