พุทธทาส สวนโมกข์ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ขณะที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยนั้น มีการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ทางศาสนาพุทธอยู่ 3 ฝ่าย สันติอโศก ธรรมกาย และสวนโมกข์ กล่าวเฉพาะสวนโมกข์นั้นว่าตามจริงอยู่ในช่วงอ่อนระโหยโรยแรง อิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดต่อคนหนุ่มสาวยุค 2530 มีน้อยลงหากเทียบกับ 2-3 ทศวรรษก่อนนั้น จนกระทั่งหลังมรณะภาพของพุทธทาสในปี 2536 เหล่าผู้ศรัทธาพยามยามสืบทอดความคิด-คำสอนผ่านสิ่งพิมพ์ ซีดี อย่างสุดกำลัง แต่นับวันสิ่งพิมพ์เหล่านั้นมีพื้นที่น้อยลงอย่างมาก

สิ่งเหล่านี้เข้าใจได้ และข้าพเจ้ามีความรู้สึกเช่นนั้นตั้งแต่ต้น ว่าคำสอนพุทธทาสนั้นไม่ค่อยถูกจริตกับคนส่วนใหญ่สักเท่าไร แต่ข้าพเจ้าก็เชื่ออยู่ว่าสิ่งที่ดีงามบางอย่าง แม้ไม่ได้เป็นที่ถูกตาต้องใจคนส่วนใหญ่ ก็ควรมีไว้ประดับโลกต่อไป

“คู่มือมนุษย์” ทำให้ข้าพเจ้ามีศาสนา
ตั้งแต่วัยรุ่นจนใกล้จะสามสิบ ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจว่าตัวเองไม่มีศาสนา เพียงแต่ไม่กล้าประกาศให้ใครรู้ไม่ว่าทางวาจาหรือทางเอกสาร จนกระทั่งไปเรียนต่างประเทศ ข้าพเจ้าถึงกล้าประกาศว่าไม่มีศาสนา เพราะทราบว่า “ไม่มีศาสนา” เป็นทางเลือกหนึ่งที่สังคมเขายอมรับ

แม้ข้าพเจ้าจะไปวัดกับย่า กับแม่สม่ำเสมอตั้งแต่จำความได้ และถูกย้ำสอนให้ทำบุญ ให้สวดมนต์ ตักบาตร แต่ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต หรือแก้ปัญหายากๆในชีวิตได้อย่างไร ข้าพเจ้าจึงไม่อาจทำตามๆกันไปโดยประกาศว่าตนนับถือพุทธได้เหมือนคนอื่นเขา

ขณะเรียนมหาวิทยาลัยเมืองไทย เคยพลิกอ่าน “คู่มือมนุษย์” ได้ไม่กี่หน้า และได้วางลง เหตุที่ไม่อ่านต่อจำไม่ได้ว่าเพราะไม่เข้าใจอะไรเลย หรือเพราะเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ น่าจะเป็นเหตุแรกเสียมากกว่า

จนกระทั่งกลับเมืองไทยใหม่ๆ พบ “คู่มือมนุษย์ ฉบับย่อ” วางอยู่ที่บ้านพี่สาว พบว่าได้มาจากงานศพเพื่อน ลองพลิกอ่านเล่นๆ จากหน้าแรก ไปเรื่อยๆ จำได้ว่ายิ่งอ่านยิ่งเพลิน ถึงขนาดยิ้มไปขณะอ่าน บางช่วงถึงกับหัวเราะออกมา เพราะตลกขำขันนั่นคงไม่ใช่ แต่รู้สึกทึ่งที่หนังสือเล่มเล็กๆที่เคยอ่านไม่รู้เรื่อง สามารถอธิบายกลไกการทำงานทางจิตได้อย่างสะอาดหมดจด ตรงกับจริตข้าพเจ้าในวัยย่างสามสิบ

ถึงตอนนั้น ข้าพเจ้าถึงกล้ายอมรับกับตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน

ทำไมพุทธทาส ทำไมสวนโมกข์

สำหรับข้าพเจ้า คำสอนพุทธทาส (ซึ่งท่านย้ำอยู่ทุกที่ว่าท่านเพียงแต่ถ่ายทอดสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน) เปรียบเหมือนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ที่มุ่งเน้นไปที่การอธิบายการทำงานของจิต โดยเฉพาะความทุกข์ เหตุของทุกข์และการดับทุกข์ ท่านมุ่งเน้นอธิบายตรงไปที่เนื้อหาสาระ โดยหลีกเลี่ยงอ้างอิงกับพิธีกรรมและสถาบันทางการเมืองและสังคมแทบจะอย่างสิ้นเชิง

นี้คือเสน่ห์ที่ดึงดูดใจหนุ่มสาวจำนวนมากในช่วง 30 -40 ปีก่อนพุทธทาสสิ้นสลาย ให้หันมาศึกษา ตีความ เข้าใจ เพื่อยึดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต

พุทธทาส สวนโมกข์และพระสุเทพ

พุทธทาส มุ่งเน้นให้คนเป็นอิสรภาพจากความทุกข์ จากกิเลศด้วยปัญญาเฉพาะคน ท่านไม่เห็นความจำเป็น หรือถึงขั้นเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลศอย่างแท้จริง หากจะเอาตัวท่านและสวนโมกข์ไปเกี่ยวข้องกับรัฐ และสถาบันทางสังคมต่างๆ  ซึ่งมักเน้นที่กระพี้เช่นพิธีกรรม งานสมโภชน์ เฉลิมฉลอง เป็นสำคัญ

กำนันสุเทพเป็นคนเก่งและมีประโยชน์ในสายตาคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดเชิงอนุรักนิยม กำนันสุเทพบรรลุผลทางการเมืองแล้ว และตอนนี้พระสุเทพ กำลังดำเนินการให้สวนโมกข์ ซึ่งเป็นสถาบันสงฆ์ไม่กี่แห่ง* ที่มีระยะห่างอย่างสำคัญจากรัฐ ให้เป็นที่มั่นของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียให้ได้

ข้าพเจ้าไม่ได้เคลือบแคลงในเจตนาของพระสุเทพในทางมิชอบ ข้าพเจ้าเพียงแต่เสียดายที่สวนโมกข์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก จะสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเองไป

สวนโมกข์อาจดูคึกคักขึ้น แต่ทางเลือกสำหรับคนไทยหรือต่างชาติที่มีจริตต่างๆกันอาจเหลือน้อยลง

 

 

*ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่าจากพระรูปหนึ่งจากวัดป่าทางอีสาน ว่าเจ้าอาวาสวัดดังกล่าวพยายามอย่างมาก ที่จะทิ้งระยะห่างจากรัฐ โดยการบ่ายเบี่ยงที่จะได้รับการเลื่อนฐานะของวัด ซึ่งสื่อว่ารัฐมีความพยายามครอบงำสถาบันสงฆ์โดยเฉพาะพวกที่มีแนวทางเอกลักษณ์ของตัวเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท