เครือข่ายผู้บริโภคแฉโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ยุค คสช. ยังเกลื่อน

5 พ.ย. 2557 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดตัวโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยนำเสนอผลการเฝ้าระวังสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางคลื่นวิทยุในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน 2557 ชี้ชัด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการห้ามออกอากาศโดย คสช. แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงเป็นปัญหา ทั้งโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาสารพัดโรค ลดไขมัน-ผอม-ขาว-สวย เพิ่มสมรรถภาพและความน่าหลงใหลทางเพศทั้งชาย-หญิง โฆษณายาเกินจริงถึงรักษามะเร็ง โฆษณายาอันตราย และส่งเสริมการขายยาทั้งชิงโชค-แถมพก-ลดราคา หรือแม้กระทั่ง โฆษณาเครื่องสำอางเป็นยายังพบได้ทั่วไป เตือนผู้บริโภคตื่นตัวตลอดเวลา อย่าหลงเชื่อเพราะอาจถึงชีวิตได้ ยืนยันพร้อมทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ก่อนการเผยแพร่

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพประชาชน กล่าวในการแถลงข่าว โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายในยุค คสช.ว่า กสทช. ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค  10 จังหวัด  เพื่อสร้างนักร้องเรียนให้ช่วยติดตามตรวจสอบการเผยแพร่ออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์หลังจากที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่  คสช. ระงับการออกอากาศสถานีวิทยุทดลองประกอบกิจการ  แต่จากการเฝ้าระวังกลับพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิด กม.ในสถานีวิทยุหลักทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด A.M. และ F.M.  สำนักงาน กสทช. ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบและพบว่าผิดกฎหมายจริง 4 สถานีในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่  สถานีวิทยุทหารอากาศ 20 สถานีวิทยุ สวพ.ขอนแก่น  สถานีวิทยุเบสท์เรดิโอ และสถานีวิทยุสุขภาพดีมีสุข  สำนักงาน กสทช. จะส่งหนังสือให้ระงับโฆษณาดังกล่าวหากฝ่าฝืนจะปรับวันละ 20,000 บาท  และกระทำผิดซ้ำจะส่งผลต่อการพิจารณาต่อใบอนุญาต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีวิทยุทดลองประกอบกิจการที่ได้สิทธิออกอากาศแล้วขณะนี้ 2,000 กว่าแห่ง ขอให้ระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหา หากกระทำผิดการโฆษณาอาหารและยาจะส่งผลต่อการพักใช้ใบอนุญาตได้ 

ขณะนี้ทราบว่าเครือข่ายผู้บริโภคกำลังติดตามเฝ้าระวังการนำเสนอเนื้อหาในสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี  หลังจากที่ได้รับอนุญาตออกอากาศแล้วว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย  และจะส่งข้อมูลเพื่อให้สำนักงาน กสทช. ด้วยในครั้งถัดไป” สุภิญญากล่าว

พชร แกล้วกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 10 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี เพชรบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฏร์ธานี สงขลา และสตูล ได้ร่วมกับ กสทช. ในการดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปีตั้งแต่ มิถุนายน 2557 ถึง พฤษภาคม 2558 ภายใต้สามยุทธศาสตร์หลักคือการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการและภาคีอื่น ๆ ในการจัดการปัญหาและการสร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภค เท่าทันสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

พชร กล่าวต่อว่า การแถลงข่าวในวันนี้เป็นการนำเสนอผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุซึ่งได้มีการเฝ้าระวังในช่วงที่ คสช. เข้ามาควบคุมการกระจายเสียงคือระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง กันยายน 2557 ว่า ได้มีการเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา และเครื่องสำอางในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ๆ ละ 1 สัปดาห์ ทางสื่อวิทยุจำนวน 33 คลื่นใน 10 จังหวัด แบ่งเป็นคลื่นหลัก จำนวน 31 คลื่น และคลื่นวิทยุออนไลน์จำนวน 2 คลื่น ซึ่งใน 31 คลื่น เป็นคลื่น FM 27 คลื่น และ คลื่น AM 4 คลื่น ทั้งนี้ พบว่า 29 คลื่น (ร้อยละ 88)มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดย พบผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้นจำนวน 103  รายการ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 54 รายการ ผลิตภัณฑ์ยา 35 รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 13 รายการ และโฆษณาสถานพยาบาลจำนวน 1 รายการ

สิรินนา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสุราษฏร์ธานี กล่าวว่า หากแบ่งตามการกระจายตัวของการโฆษณา 1 อันดับแรกของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น จะได้แก่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอายแคร์ซอฟท์เจล (5 จังหวัด) กาแฟลิลลี่พลัส (4 จังหวัด) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบญจไท, น้ำเห็ดสกัดมัชรูมพลัส, น้ำมันจมูกข้าวผสมน้ำมันรำข้าวตรายูนิไรซ์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรีราล่า, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวีเอ็มพลัส, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลูทีนพลัส และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนัตโตะทู (3 จังหวัด) ซึ่งโดยสรุปรวมนั้น ทั้ง 54 รายการของผลิตภัณฑ์อาหารที่พบสามารถจัดกลุ่มตามลักษณะของการโฆษณาได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มบำรุงร่างกาย-รักษาโรคเฉพาะ-รักษาสารพัดโรคซึ่งมีจำนวน 35 รายการ กลุ่มเสริมความงามจำนวน 15 รายการ กลุ่มเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ 4 รายการ

สิรินนา กล่าวต่อว่าทางด้านผลิตภัณฑ์ยาเมื่อจัดกลุ่มตามการกระจายตัวของจังหวัดที่พบ 3 อันดับแรกนั้นจะได้แก่ วีกิ๊ฟ สมุนไพรชนิดน้ำและแคปซูลผสมว่านรากสามสิบ กับ กาโน 500  (6 จังหวัด), ป๊อก 109 กับ ยาน้ำสตรีฟลอร่าพลัส (5 จังหวัด), และยาระบายมะขามแขกตราลิลลี่ กับ ทวิน ยาสมุนไพรเขากวางอ่อน (4 จังหวัด) โดยที่ทั้ง 35 รายการของยาที่พบนี้ สามารถแบ่งกลุ่มตามเนื้อหาการโฆษณาได้เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มยาอันตรายที่ห้ามโฆษณา จำนวน 3 รายการ กลุ่มยาที่โฆษณาเรื่องเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงความสวย-ความงาม จำนวน 10 รายการ กลุ่มโฆษณารักษาครอบจักรวาล จำนวน 7 รายการ และ กลุ่มยาที่มีการโฆษณาลด แลก แจก แถม และชิงโชค เพื่อการขาย และส่งเสริมให้มีการใช้ยาเกินความจำเป็น จำนวน 15 รายการ

สิรินนา กล่าวสรุปว่าจากการเฝ้าระวัง ทางเครือข่ายได้ประสานกับ กสทช. และ อย. โดยส่งผลการเฝ้าระวังไปยังทั้งสองหน่วยงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับผู้บริโภคเนื้อหาโฆษณาทั้งหลายที่พบนี้สามารถก่อปัญหาให้กับสุขภาพของผู้บริโภคได้ เช่น โฆษณาว่ารักษาสารพัดโรค ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นโรคเรื้อรังหลงเชื่อ และหยุดการบริโภคยาของตน ซึ่งในอดีตก็มีกรณีร้องเรียนที่ผู้บริโภคเสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มายังเครือข่าย

ศิริวรรณ อำนวยสินสิริ ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้ริเริ่มแนวทางใหม่ ๆ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในระดับจังหวัดและภาค เช่น จ.ลำปางที่ได้ร่วมกับ สสจ. และ กสทช.เขต 3 (ลำปาง) ในการเชิญผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและนักจัดรายการประจำคลื่นต่าง ๆ มาประชุมหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการจัดการปัญหา จนนำไปสู่การรวมตัวกันของนักจัดรายการและเจ้าของคลื่นธุรกิจกว่า 16 สถานี โดยมีข้อตกลงร่วมกันที่จะไม่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย โดยผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันจาก สสจ. ว่าได้รับอนุญาตในการโฆษณาหรือไม่ ก่อนการโฆษณาในสถานีของตน และศูนย์ฯ ลำปางได้ตรวจสอบการโฆษณาอีกครั้ง พบว่าทั้ง 16 สถานี ยังไม่พบการโฆษณาที่เกินจริง

ด้านจังหวัดเพชรบุรีที่ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ “จังหวัดจัดการตนเองด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริงทางสื่อชุมชน” จนสามารถผลักดันให้เกิดเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ (เพชรบุรีโมเดล) ระหว่าง กสทช. กับเครือข่ายผู้บริโภคสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้เจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคเท่าทันการโฆษณาเกินจริงทางสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ การจัดการเฝ้าระวัง การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้บริโภค บนฐานการมีส่วนร่วมโดยความมุ่งมั่นร่วมกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายด้วยความรับผิดชอบและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จนนำมาซึ่งการอาสาตนของนักจัดรายการในการสนับสนุนและเป็นผู้ร้องเรียน  หรือแม้แต่ของจังหวัดกาญจนบุรีที่ไปชวนผู้ประกอบการจับเข่าคุยด้วยตนเองโดยมี สคบ. จังหวัด และ อย.ร่วมพูดคุยนำมาซึ่งการรวมตัวกันของสื่อวิทยุในพื้นที่เพื่อการคัดกรองเนื้อหาก่อนการออกอากาศ  กล่าวโดยสรุปในหลายจังหวัดก็มีทิศทางที่ดี โดยสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกจังหวัดสะท้อนตรงกันคือการที่ยังขาดความรู้กฎหมายการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงนำมาซึ่งโอกาสในการทำงานร่วมกันผ่านการจัดฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการและนักจัดรายการ การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังร่วมกัน รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือแบบสามประสานระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคมในการจัดการปัญหานี้ต่อไป ซึ่งก็หวังว่าแนวทางนี้จะไปได้ดีภายใต้การสนับสนุนของ กสทช.และ อย. อันนำมาซึ่งการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่ลดลงโดยผู้ประกอบการเป็นผู้ช่วยทางตรงในการคัดกรองเนื้อหากันเองก่อนการออกอากาศ

นิรัตน์ เตียสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย.เองอยู่ระหว่างการปรับปรุง พรบ.อาหาร ให้เพิ่มค่าปรับเป็นหนึ่งแสนบาท และได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำโครงการเฝ้าระวัง 1 อำเภอ 1 สถานีวิทยุชุมชน แต่ในความเป็นจริงบางจังหวัดก็เฝ้าทุกสถานีซึ่งมีวิธีการให้ความรู้กับผู้ประกอบการก่อน ซึ่งผู้ประกอบการบางคนก็รู้และไม่รู้ว่าผิดไม่ผิด

“ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะมีสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยคอยควบคุมดูแลกันเอง แต่ก็ยังมีนักโฆษณาที่ไม่ได้อยู่ในสมาคมทำให้สมาคมไม่สามารถควบคุมได้”

จากเวทีความร่วมมือผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ได้มีการจัดทำข้อเสนอดังนี้

1.      ให้เครือข่ายเฝ้าระวังส่งข้อมูลที่ตรวจพบส่งให้สถานีวิทยุเพื่อตรวจสอบโฆษณา ถ้าพบว่าไม่ถูกต้องให้นำโฆษณาออกจากรายการ

2.      ให้สถานีวิทยุกวดขันตรวจสอบใบอนุญาตโฆษณา หากไม่มีใบอนุญาตไม่ให้มีการโฆษณาในสถานีวิทยุนั้นๆ

3.      สร้างความร่วมมือสามฝ่ายในระดับจังหวัดในการกำกับกันเอง

4.      ให้เร่งพัฒนาระบบคอลเซ็นเตอร์ / จุดรับเรื่อง /แอพพลิเคชั่น ในการให้ข้อมูลความรู้ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยง่าย

5.      จัดเวทีระดับชาติ สร้างความร่วมมือกับสถานีวิทยุ

6.      ปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มมาตรการบทลงโทษ

นอกจากนี้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และปรับปรุงพระราชบัญญัติยา ให้มีหมวดที่ว่าด้วยการจัดการโฆษณาและส่งเสริมการขายโดยยกระเบียบต่าง ๆ ขึ้นมาอยู่ในระดับกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายแห่งชาติด้านยา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท