Skip to main content
sharethis

ปธ.กมธ.ยกร่างฯ เผยวางกรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญแล้ว  พร้อมตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ขับเคลื่อนการทำงานและรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน เลือกรองประธาน-กำหนดกรอบทำงานพรุ่งนี้

5 พ.ย.2557 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองเพื่อขอพรก่อนปฏิบัติหน้าที่ ว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการแสดงความจริงใจก่อนการทำหน้าที่ หากใครที่คิดไม่ดีจะตระหนักได้เอง

ส่วนจะร่างรัฐธรรมนญจะมีการกีดกันไม่ให้พรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาเล่นการเมืองอีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเพียงการคาดการณ์ในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น สถานการณ์ในช่วงนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องของกระบวนการปฎิรูปมากกว่าที่จะตั้งธงกำจัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เป็นเรื่องที่ทำยาก ไม่เชื่อว่าจะมีใครยอมให้เกิดสิ่งนั้น เพราะจะถูกติฉินนินทา และตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ทำรัฐประหาร ไม่มีใครเคยส่งสัญญาณเช่นว่านั้นเลย หากเกิดขึ้นจริงคงไม่ใช่เพราะตั้งธงเอาไว้ก่อน แต่เป็นเพราะกระบวนการปฎิรูปทำให้เกิดสิ่งนั้นเอง” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะการดำเนินการต่าง ๆ ต้องฟังความเห็นจากหลายฝ่ายด้วย ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่มีความเหมาะสม มีความรู้ความสามารถ และรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เชื่อว่ากรรมาธิการฯ ทุกคนจะทำหน้าที่ออกมาได้อย่างดี แต่ขอให้ยอมรับว่าไม่มีใครที่จะได้สิ่งที่ต้องการทั้งหมด ต้องฟังความเห็นหลายฝ่ายด้วย

ส่วนกระแสข่าวระบุว่าได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ก่อนแล้ว นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ไม่มีแนวคิดที่จะทำเช่นนั้น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกอย่างจะอยู่ในสายตาของประชาชน รวมทั้งการร่างจะเป็นไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

ส่วนที่นายวิษณุมีแนวคิดตั้งคณะกรรมการติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้กลัวการต่อต้านเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีกลุ่มต่าง ๆ เดินหน้าผลักดันและเสนอแนวทางต่าง ๆ มายังกรรมาธิการฯ ดังนั้น เพื่อเป็นการรับผิดชอบในฐานะที่รัฐบาลและคสช.เป็นคนแต่งตั้ง จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องติดตามการดำเนินการและเสนอแนะ รวมถึงอาจให้งบประมาณสนับสนุน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหลังจากร่างเสร็จแล้ว

นายวิษณุ กล่าวถึงกรอบเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า จะเสร็จสิ้นในช่วงกันยายน-ตุลาคม 2558 และเมื่อประกาศใช้ ต้องให้เวลา 2-3 เดือนในการออกกฎหมายลูกอีก 2-3 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ก็จะต้องให้เวลาในการหาเสียง ซึ่งคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในต้นปี 2559

ส่วนการทำประชามติเพื่อถามความเห็นประชาชนก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะการทำประชามติไม่สามารถยืนยันได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะมีความศักดิ์สิทธิ์ เห็นได้จากการทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาไม่ได้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย ตรงกันข้ามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ทำประชามติ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2475-2489 และ 2495-2502 กลับถูกใช้มาอย่างยาวนาน ควรเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฎิรูปมากกว่า หากเขียนรัฐธรรมนูญมาอย่างดีแล้ว ทุกคนจะยอมรับและไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฉีกทิ้งในอนาคต

“ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะนำรัฐธรรมนูญมาตรา 44 มาใช้นั้น เพื่อป้องกันผู้ที่จะกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น ที่ผ่านมาการใช้มาตรานี้ในทางสร้างสรรค์และความปรองดองก็มีอยู่ ส่วนขั้นตอนการใช้นั้นต้องมีมติของคสช.และแจ้งให้ สนช.ทราบก่อน หัวหน้าคสช.จึงจะใช้อำนาจได้” นายวิษณุ กล่าว

‘บวรศักดิ์’ เผยวางกรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญแล้ว

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อย่างไม่เป็นทางการ ว่า ในวันนี้ (5 พ.ย.) มีการหารือการทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงแต่งตั้งรองประธานกรรมาธิการ 6 คน ได้แก่ นายกระแส ชนะวงศ์ ,นายมานิจ สุขสมจิต ,นายสุจิต บุญบงการ, นางนรีวรรณ จินตกานนท์, นายปรีชา วัชราภัย และนายชูชัย ศุภวงศ์ พร้อมกันนี้ ตั้งนายประสพสุข บุญเดช นายจรูญ อินทจาร และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ ส่วนเลขานุการ ได้แก่ นายดิสทัต โหตระกิตย์ และนางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์  ขณะที่คณะโฆษกประจำคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นางสาวสุภัทรา นาคะผิว นายวุฒิสาร ตันไชย และนายปกรณ์  ปรียากร  ทั้งนี้ในคณะทำงานจะมีสัดส่วนของผู้หญิงเข้าร่วมด้วย ยกเว้นที่ปรึกษา

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ยังตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรรมาธิการสัดส่วนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมาธิการกระบวนการทำงาน ที่แบ่งย่อยออกเป็น 3 ชุด โดยชุดที่หนึ่งมีหน้าที่บันทึกเจตนารมณ์และจัดทำจดหมายเหตุ โดยมีนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นประธานคณะทำงาน ชุดที่ 2 อนุกรรมการการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน มีหน้าที่รับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน โดยมีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธาน ซึ่งอนุกรรมการชุดนี้จะต้องแบ่งงานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกับ สปช. และชุดที่ 3 อนุกรรมการประสานงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สปช.และองค์กรต่าง ๆ โดยมี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธาน  โดยในอนุกรรมาธิการแต่ละคณะ ให้ประธานไปคัดสรรรายชื่อ โดยอนุโลมใช้ข้อบังคับการประชุม สปช.คณะละไม่เกิน 15 คน  คณะอนุกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นสามารถเดินหน้าทำงานได้ทันที ทั้งนี้จะนำผลการหารือแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่จะประชุมอย่างเป็นทางการับทราบ

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการวางกรอบและโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีกี่มาตรา และจะมีส่วนที่เหมือนหรือคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550 ทั้งนี้ วันที่ 19 ธันวาคม 2557 สปช.ต้องส่งความเห็นให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งเป็นไปตามกรอบ 60 วัน และกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 เมษายน 2558 ซึ่งจะครบกำหนดตามกรอบ 120 วันที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด

“ขอให้สื่อมวลชนเข้าใจการทำงานของกรรมาธิการ ส่วนตัวพร้อมที่จะเปิดให้เข้าฟังการประชุม แต่ต้องเป็นมติของที่ประชุม เพราะเกรงเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและอยากให้กรรมาธิการได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ให้รู้ไว้ว่าผมและกรรมาธิการทุกคนรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ง่ายที่จะทำ เพราะสื่อหลายสื่อเริ่มจากการมีทัศนคติไม่เป็นบวกต่อกรรมาธิการ เราสำนึกและตระหนักดี อะไรก็ตามที่ทำให้ความรู้สึกดีขึ้น ก็อยากทำทั้งสิ้น แต่อะไรที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นแต่เนื้อหาไม่ดี ก็เลือกที่เนื้อหา” นายบวรศักดิ์ กล่าว

สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า สำหรับกรอบปฎิทินการทำงานของกรรมาธิการฯ วันที่ 6 สิงหาคม 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ สปช.จะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และวันที่ 4 กันยายน 2558 จะเป็นวันสุดท้ายที่ประธาน สปช. จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ

เลือกรองประธาน-กำหนดกรอบทำงานพรุ่งนี้

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างฯ เปิดเผยก่อนการประชุมนอกรอบว่า ในวันนี้ (5 พ.ย.) เป็นการทำความรู้จักคุ้นเคยกันก่อน เพราะแต่ละคนมาจากคนละด้าน และในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ย.) เวลา 09.00 น.จะมีการประชุมอย่างเป็นทางการเพื่อเลือกรองประธาน โฆษก และกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า รองประธานและโฆษก จะต้องมีหลายคน เพื่อจะได้ช่วยกันทำงาน เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญมีกรอบเวลาที่จำกัด และอาจต้องประชุมกันทุกวัน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ย.) จะมีความชัดเจน ทั้งหน้าที่และกรอบเวลาการทำงาน โดยในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องนำรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาดู และร่างให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญปี 2557 ที่วางไว้ ทั้งนี้ยอมรับว่านายบวรศักดิ์ขอความร่วมมือกรรมาธิการฯ และได้เห็นตรงกันว่า หลังจากที่มีการตั้งรองประธานและโฆษกในวันพรุ่งนี้แล้ว ให้กรรมาธิการฯ ลดการแสดงความเห็นส่วนตัว เพื่อป้องกันความสับสน

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net