Skip to main content
sharethis

จากกรณีที่วานนี้ (5 พ.ย.57) ขณะที่เวทีระดมความคิดเห็น เรื่อง “สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ” จัดโดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการไปได้สักครู่ เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจเข้ามาในบริเวณห้องประชุม เพื่อสอบถามที่มาของการจัดงาน โดยตัวแทนผู้เข้าร่วมได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์การจัดเวที ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวโยงกับการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ทำงานในด้านสิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน กระทั่งช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้ามายังห้องประชุมอีกรอบ พร้อมกับเชิญตัวผู้จัดเวที ไปยังค่ายทหารฯ เพื่อไปร่วมชี้แจงของการจัดเวทีตามขั้นตอน เมื่อมองว่ารายละเอียดของเวทีไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทางเจ้าหน้าที่ทหารจึงอนุญาตให้จัดประชุมต่อได้ แต่ขอให้ทหารเข้าไปร่วมฟังด้วย





วันนี้ (6 พ.ย.57) ผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “พิจารณากรอบประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ดำเนินรายการโดย นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมฟังและขอรายชื่อผู้เข้าร่วมเวที

ผู้เข้าร่วมต่างระดมความคิดเห็นในประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อไปนำเสนอสู่ส่วนกลาง อาทิ หมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ หมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

การระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม พอสรุปได้ดังนี้

1. หมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
มีการแสดงความเห็นต่อแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวงแลกเปลี่ยนเสนอให้คงหลักการตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้แก่ 1) การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม 2) การกระจายการถือครองที่ดิน 3) จัดให้มีการวางผังเมืองเพื่อประโยชน์ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ 4) จัดให้มีแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ 5) ส่งเสริม บำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

2. หมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ควรมีส่วนที่ว่าด้วยที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ทรัพยากรเป็นของส่วนรวม ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงและได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร เช่น บุคคลซึ่งไร้ที่ดินทำกินรัฐต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม รวมทั้งสิทธิในการพัฒนา หมายความว่า ประชาชนต้องมีสิทธิในการร่วมพัฒนา รวมทั้งผลจากการพัฒนาต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งนี้ การพัฒนาต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net