วิจารณ์จดหมายรักของ ส ศิวรักษ์ถึงเผด็จการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภายหลังจากที่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์หรือ ส. ศิวรักษ์ ได้เผยแพร่จดหมายผ่านเฟซบุ๊ก  “Sulak Sivaraksa” ในชื่อ“จดหมายรักถึงเผด็จการ (ฉบับสรุปสาระสำคัญ)” เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา และได้ถูกนำเสนอผ่านเว็บไซต์หลายแห่งโดยเฉพาะของสำนักพิมพ์ผู้จัดการ เป็นที่น่าประหลาดใจว่าผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์แห่งนี้หลายๆ  คน ได้แสดงความเห็นด้วยหรือชื่นชมต่อจดหมายฉบับนี้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ทุกคนมักโจมตีอาจารย์สุลักษณ์อย่างหนักหน่วง เต็มไปด้วยคำหยาบคายสุดพรรณนาจากการที่เขาได้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบอันไม่น่าพิสมัยในสายตาของคนเทิดทูนเจ้า แต่เมื่อได้อ่านดูอย่างพินิจแล้วจึงได้ทราบว่าจดหมายของเขานั้นราวกับจับเอาปากของกลุ่ม กปปส.(หรือพวกปฏิวัตินกหวีดที่เงียบเสียงต่อหน้ารถถัง) มาบรรเลงเป็นตัวหนังสือเอาเสียเลย

แม้ผู้เขียนจะมั่นใจได้ว่าอาจารย์สุลักษณ์จะเป็นนักวิชาการที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองและมีจุดยืนทางความคิดเช่นนี้ก่อนกลุ่ม กปปส.เสียด้วยซ้ำ แต่ก็ขอวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากจดหมายรักของอาจารย์สุลักษณ์ดังต่อไปนี้

ในตอนต้นของจดหมายรัก สุลักษณ์ (เพื่อความเป็นกลาง ผู้เขียนจึงขออนุญาตไม่ใส่คำว่าอาจารย์เหมือนกับครั้งที่ได้วิจารณ์บทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์)  ได้กล่าวถึงนักปกครองและนักปรัชญาการเมืองของอาณาจักรโรมันคนสำคัญคือชิเซโรดังต่อไปนี้

“ซิเซโรได้เอ่ยวลีอันเป็นอมตะที่เกี่ยวกับการเมือง การปกครองไว้ว่า “พื้นฐานของระบอบการปกครองบ้านเมืองนั้นมีอยู่สามอย่างคือ ราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย แต่ละระบอบมีจุดเด่นและจุดด้อย ที่กรุงโรมมีความเป็นเลิศทางด้านการปกครองอย่างไม่เหมือนใคร เพราะมีธรรมนูญที่รวมทั้งสามระบอบไว้ด้วยกัน”

ต่อมาสุลักษณ์ได้อ้าง Anthony  Everitt   ว่าการถ่วงดุลระหว่างการปกครอง 3 ชนิดนี้ในยุโรป “เป็นที่นิยม” ในมัธยมสมัย หรือยุคกลาง ต่อมาในศตวรรษที่ 18 แนวคิดประชาธิปไตยก็ได้รับความนิยมและการผสมผสานของรูปแบบการปกครอง 3 ชนิดได้สิ้นสุดลง เช่นการล้มระบบกษัตริย์หรือการทำให้กษัตริย์เป็น "เจว็ด" หรือเป็นประมุขของรัฐแบบลอยๆ ไม่มีอำนาจ ส่วนชนชั้นสูงก็เสื่อมทราม และถูกชนชั้นไพร่เข้ายึดครองจนนำประเทศไปสู่ความเลวร้าย 

ผู้เขียนนั้นเกิดความสงสัยว่า สุลักษณ์และ Everitt นั้นได้ให้นิยามของคำว่า “เป็นที่นิยม” อย่างไรกันแน่ จริงอยู่ที่ว่ารูปแบบการปกครองเช่นนี้ดำรงอยู่ในการเมืองยุคกลางของยุโรปมาเป็นพันๆ ปี  แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่า “เป็นที่นิยม” นั้นจะยังหมายถึงเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นอย่างอุดมคติตามความตั้งใจของสุลักษณ์หรือไม่เพราะในประวัติศาสตร์อันยาวนานของยุโรปนั้น มีกษัตริย์หรือจักรพรรดิจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นผู้ปกครองที่ดี ไม่ได้เข้าข่ายราชาธิปไตยเลย อันเป็นผลให้พวกขุนนางหรือพวกอภิชนาธิปไตยมีการแย่งชิงอำนาจจากกษัตริย์เสมอมา และผู้เขียนขออนุญาตมองต่างมุมจากสุลักษณ์โดยใช้ทฤษฎีแห่งความขัดแย้งว่าความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่ได้หมายถึง "การคานอำนาจ"กันแต่เป็น “การประลองอำนาจ” ดังเช่นขุนนางอังกฤษที่มุ่งลดทอนอำนาจของกษัตริย์มาเป็นเวลาพันๆ ปี  และการประลองอำนาจนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับประชาชนโดยรวมตามความคิดของสุลักษณ์เสมอไป เพราะเป็นการรักษาผลประโยชน์ไว้ในกลุ่มของตัวเอง ด้วยประวัติศาสตร์ของยุโรปที่ผ่านมามักมีการทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันทั้งในอาณาจักรและกับอาณาจักรอื่นอันส่งผลเสียร้ายแรงต่อสามัญชนซึ่งชีวิตของพวกเขาตามปกติไม่ได้ดีอะไรหนักหนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกทาสติดที่ดินหรือพวกชาวนาที่ต้องเช่าที่นาของพวกขุนนางในการทำกินที่ต้องออกไปทำสงคราม เสียสละชีวิตเพื่อความมั่งคั่งของผู้ปกครอง 

กระนั้นกษัตริย์ที่น่าจะใกล้เคียงกับอุดมคติของสุลักษณ์ น่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรม (Enlightened Absolutism) หรือกษัตริย์ผู้มีอำนาจที่เด็ดขาดและคอยสร้างประโยชน์ให้แก่อาณาจักรอย่างมากมาย ดังเช่น เช่น  พระเจ้าฟริดริกที่ 2 แห่งแคว้นปรัสเซีย   พระนางแคทอรินที่ 2 แห่งรัสเซีย พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แห่งสวีเดน ฯลฯ แต่ก็เป็นปรากฎการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักถ้าเทียบสัดส่วนกับกษัตริย์ทั้งหมด และถ้าลองศึกษารายละเอียดของกษัตริย์เหล่านั้นดูให้ดีเป็นรายๆ  ก็ล้วนต้องถูกตั้งคำถามทางจริยธรรมทั้งนั้น

ด้วยความเสื่อมถอยของ 2 ชนชั้นแรกเสียเอง ประกอบกับความต้องการผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของชนชั้นไพร่และทาสย่อมสะสมกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดกระแสประชาธิปไตยในยุคหลังซึ่งสุลักษณ์เหมือนจะไม่ได้กล่าวถึงตอนนี้ เขาเพียงเหมือนบอกว่ากระแสประชาธิปไตยเหมือนกับเป็นแนวคิดใหม่ที่มาแบบลอยๆ  เพื่อมาหักล้างความดีงามของรูปแบบการปกครองที่เป็นอุดมคติเช่นนี้ ผู้ยังใคร่อยากให้มองถึงตัวอย่างอื่นเช่นฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 นั้น การที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ถูกโค่นล้มในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสเพราะความไร้ความสามารถและความฉ้อฉลของพระองค์กับรัฐบาลที่ปกครองโดยพวกอภิชนาธิปไตย ตอกย้ำด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่อันฟุ่มเฟ้อของชนชั้นสูงอันเป็นสิ่งที่ทำให้การปฏิวัติจากประชาชนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้จะมีปรัชญาเสรีนิยมอันลุ่มลึกดังเช่นจอห์น ล็อคและฌอง ฌาค รูซโซเป็นอุดมการณ์ชี้นำแต่ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยหรือเกิดอารมณ์ร่วม การปฏิวัติย่อมสำเร็จได้ยาก

สุลักษณ์ก็ได้กล่าวอีกว่า

"ดังขอให้ดูได้ว่าสภาขุนนางของอังกฤษ ว่าเสื่อมทรามไปอย่างไรบ้าง พวกไพร่จึงใช้สภาสามัญรวบอำนาจไว้ จนสถาบันกษัตริย์เป็นเจว็ดเท่านั้น และแล้วประชาธิปไตยของอังกฤษก็เป็นเผด็จการทางด้านทุนนิยมอย่างเลวร้าย ดังเห็นได้ชัดในสมัยมาร์กาเร็ต แทตเชอร์  ครั้นโทนี่ แบลมาดำรงตำแหน่งแทน จากพรรคสังคมนิยม เขาก็ถูกกล่าวหาว่าเลวร้ายพอ ๆ กับนางแทตเชอร์นั้นแล "

สำหรับความคิดของผู้เขียนนั้น กลับเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำที่สภาขุนนางหรือ House of Lords จะเสื่อมทรามและถูกยึดโดยพวกสภาสามัญอันเป็นตัวสะท้อนถึงความเจริญเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษ  เพราะสภาขุนนางเคยถูกโจมตีว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพและนึกถึงแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง  ฝ่ายรัฐบาลซึ่งมาจากไพร่ก็ได้มีการปฏิรูปสภาแห่งนี้อยู่เสมอในเวลาที่ผ่านมาเช่นรัฐบาลได้ให้สมาชิกสภาขุนนางยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นคือสมาชิกส่วนใหญ่จากเจ็ดร้อยกว่าคนมาจากการทูลเกล้าถวายรายชื่อโดยนายกรัฐมนตรีให้แก่สมเด็จพระราชินี ฯทรงแต่งตั้งจากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือกลุ่มอิสระอื่นรวมไปถึงกลุ่มนักบวช ส่วนผู้ที่สืบทอดตำแหน่งสมาชิกแบบสายเลือดเหมือนยุคก่อนถูกลดให้เหลือเพียงไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ซึ่งปัจจุบันสภาขุนนางก็ยังคงมีปัญหาอยู่ไปตามปกติของสถาบันการเมืองของโลกใบนี้ แต่ถ้าสุลักษณ์ใช้เกณฑ์แบบศีลธรรมแบบพุทธที่อิงจากอดีตแบบฝัน (Buddhist moral nostalgia) ระบบการเมืองของอังกฤษหรือประเทศอะไรในโลกก็ย่อมเสื่อมทรามทั้งสิ้น

สำหรับประชาธิปไตยแบบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือกษัตริย์กลายเป็นเจว็ด นั้นกลับกลายเป็นเรื่องดีอีกเช่นกัน เพราะพฤติกรรมของกษัตริย์อังกฤษจำนวนมากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่าจะบริหารประเทศได้อย่างดีหากมีอำนาจเหมือนแต่ก่อน  ส่วนรัฐบาลของพวกไพร่โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นประชาธิปไตยอิงกับระบบทุนนิยมไม่ได้มีนายกรัฐมนตรีคือมาร์กาเร็ต แทตเชอร์และโทนี แบลร์เพียงสองคน เหตุใดสุลักษณ์จึงไม่กล่าวถึงรัฐบาลของคลีเมนท์ อัตต์ลี (1945-1951) ที่มาจากประชาธิปไตยแต่เน้นนโยบายสวัสดิการเช่นระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ  ( National Health Service) รวมไปถึงการโอนให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เป็นของรัฐซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับชาวอังกฤษทุกระดับชั้นอย่างมาก ปรากฎการณ์เช่นนี้ก็ได้เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยผสมทุนนิยมอื่นเช่น ฝรั่งเศสซึ่งเน้นนโยบายค่อนไปทางสังคมนิยมเกือบสามสิบปี หรือเยอรมันตะวันตกที่ใช้นโยบายแบบตลาดอิงสังคม (Social Market Economy) ซึ่งไม่ได้สนับสนุนทุนนิยมเพียงอย่างเดียวเพราะยังให้ความสำคัญแก่ชนชั้นแรงงานและผู้ประกอบการที่กำลังตั้งไข่ด้วยอันเป็นผลให้เยอรมันตะวันตกฟื้นตัวจากสงครามอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายว่าสุลักษณ์ได้ใช้เพียงตัวอย่างเพียงประเทศเดียวเพื่อเพียงสรุปว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่เป็นทุนนิยมนั้นต่ำทราม

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสุลักษณ์อาจลืมไปว่าประชาธิปไตยและระบบทุนนิยมนั้นมีหลากหลายจุดยืน อาจจะเป็นอิงซ้ายแบบอัตต์ลี หรืออิงขวาลิเลอร์ทาเรียน (Libertarianism) ที่เน้นให้รัฐไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแบบแทชเชอร์ก็ได้ ส่วนโทนี แบลร์ (ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตแก้ไขว่ามาจากพรรคแรงงาน ไม่ใช่สังคมนิยม) ก็พยายามเลือกเส้นทางใหม่หรือเส้นที่สาม หรือ Third way กล่าวคือพยายามผสมผสานระหว่างอุดมการณ์ทางซ้ายและขวาแน่นอนว่าแม้เขาจะถูกโจมตีว่าเลวร้ายเหมือนแทชเชอร์อย่างที่สุลักษณ์กล่าวจริง แต่ก็ถือได้ว่าเศรษฐกิจของอังกฤษมีเสถียรภาพและมั่นคงพอสมควร ซึ่งผู้เขียนคงจะเลือกอยู่ในอังกฤษช่วงทศวรรษที่ 90 มากกว่าเป็นไพร่ในยุโรปยุคกลางที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงธรรม

สำหรับประโยคต่อมาของสุลักษณ์ที่อ้างอิงนักคิดคนอื่นเสียยาวเหยียด

" เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยของอังกฤษกับสหรัฐฯ มาแล้ว ขอนำคำของ Tony Judt ......มาให้อ่านกันดังต่อไปนี้

“ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่สำคัญหรือเหมาะสม สำหรับสังคมที่ดีและเปิดเผย (4) ข้าพเจ้าไม่ต้องการที่จะได้ชื่อว่าโอนเอนเอามากๆ เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย จนอาจถูกกล่าวหาว่าพอใจในระบอบอภิชนาธิปไตย ในสังคมที่มีเสรีภาพ อย่างในสมัยศตวรรษที่ 19 แต่ข้าพเจ้าขออ้างคำของไอไซอะ เบอลิน ผู้มีจุดยืนอย่างสำคัญที่แนะว่า เราควรยอมรับว่าสังคมดั้งเดิมก่อนมีระบอบประชาธิปไตยนั้น ควรได้รับความเคารพนับถือว่านั่นในบางกรณีแล้ว สังคมดังกล่าวดีกว่าระบอบประชาธิปไตยเสียอีก”

โดยที่เขาสรุปว่า “ประชาธิปไตยแบบมวลมหาประชาชนนั้น มีแนวโน้มไปในทางสร้างนักการเมืองที่กึ่งดิบกึ่งดี ที่ทำให้ข้าพเจ้าวิตก นักการเมืองส่วนใหญ่ในสังคมเสรีทุกวันนี้ มีมาตรฐานต่ำ ไม่ว่าคุณจะเริ่มที่อังกฤษ แล้วไปจบลงที่อิสราเอล หรือคุณจะเริ่มที่ฝรั่งเศส ไปจนตลอดยุโรปตะวันออก หรือคุณจะเริ่มที่อเมริกาแล้วไปจบลงที่ออสเตรเลีย การเมืองไม่ใช่สถานที่ที่บุคคลซึ่งเป็นไทแก่ตัว ที่มีจิตใจและลมหายใจที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”"

เหมือนกับนักเขียนคนอื่นๆ ที่ผู้เขียนเคยวิจารณ์นั้นคือสุลักษณ์เหมือนจะพยายามย้ำหรือจำกัดประชาธิปไตยอยู่ที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา (ในที่นี้รวมไปถึงฝรั่งเศส ออสเตรเลียและอิสราเอลซึ่งก็ได้มีพลวัตร ที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่เบอร์ลินได้กล่าวถึง) ซึ่งถึงแม้จะเป็นต้นแบบแต่ก็มีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยอยู่มากและปัญหาทางสังคมของสหรัฐฯ ที่สุลักษณ์ยกมาก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่สุลักษณ์ไม่กล่าวถึงประเทศอื่นที่มีระดับขั้นของการเป็นประชาธิปไตยสูง กว่าและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าทั้ง 2 ประเทศที่ได้กล่าวมาอย่างเช่นประเทศในย่านสแกนดิเนเวียคือนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ รวมไปถึงนิวซีแลนด์ (1)  กระนั้นประเทศเหล่านั้นก็ยังมีปัญหาอยู่มากเหมือนกันเพราะประชาธิปไตยก็คืออุดมการณ์ที่สูงส่ง ยิ่งถ้าเอาศีลธรรมแบบพุทธของสุลักษณ์กับภาพฝันๆ ของยุคกลางมาตัดสิน ทุกประเทศก็เลวทรามไปหมด แม้สุลักษณ์จะอ้างอิงนักประวัติศาสตร์อย่างเช่น Tony Judt ซึ่งยกคำพูดของ ไอไซอะ เบอร์ลินที่เป็นนักปรัชญาการเมืองแต่ดูเหมือนทั้ง 3 คนจะตกหลุมพรางหลุมเดียวกันหมด 

ผู้เขียนเข้าใจดีว่านักคิดแนวอนุรักษ์นิยมเชิงก้าวหน้าอย่างสุลักษณ์ย่อมชื่นชอบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรม ในขณะเดียวกันก็รังเกียจประชาธิปไตยแบบมวลมหาประชาชน (Mass democracy) หรือประชาธิปไตยที่ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากและดำเนินนโยบายเพื่อเอาใจมวลชนซึ่งเป็นสิ่งที่อาจไม่ถูกต้องก็ได้  แต่เราควรจะเข้าใจว่าในกระบวนทัศน์ของการปกครองยุคใหม่ในโลกนั้นไม่สามารถจะใช้เกณฑ์ของการมีภูมิธรรมเช่นนี้ได้อีกต่อไป ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าตนเป็นนักปกครองผู้ทรงภูมิธรรมโดยไม่อิงอำนาจจากประชาชนโดยผ่านกระบวนการอันเป็นรูปธรรมคือการเลือกตั้งได้อีกแล้ว (2) แม้แต่จีนก็ยังพยายามจัดฉากให้มีการเลือกตัวแทนเข้ามาสู่สภาประชาชนแม้การเลือกตั้งจะไม่เหมือนกับประชาธิปไตยก็ตาม

นอกจากนี้ด้วยระบบทางการการเมืองแบบยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีความซับซ้อนจนผู้ปกครองไม่สามารถใช้อำนาจโดยเด็ดขาดต่อไป เพราะขั้วอำนาจไม่กระจุกอยู่กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเล็ก ๆที่อ้างว่ามีคุณธรรมและมีคุณภาพได้  อย่างเช่นผู้ทรงภูมิธรรมจะพิจารณาการค้าเสรีอย่างไร หากนึกถึงแต่ประชาชนอย่างสุลักษณ์เรียกร้อง แต่ก็อาจทำให้เศรษฐกิจประเทศซึ่งอิงกับการลงทุนของต่างชาติไม่เติบโตและยังทำให้เกิดขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มทุนในประเทศซึ่งคอยค้ำจุนรัฐบาลอยู่ ในกลับกันถ้าคำนึงถึงกลุ่มทุนมากไป ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญยังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจนต้องออกมาประท้วงอย่างหนัก แน่นอนว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องพยายามดำเนินนโยบายให้อยู่ตรงกันกลาง แต่จะทำให้อย่างไรให้เกิดความพอดีหรือทำให้ทุกกลุ่มพอใจนี่คือปัญหา 

ผู้ปกครองยุคใหม่ยังไม่สามารถสร้างบารมีของการเป็นผู้ทรงภูมิธรรมได้อย่างเต็มที่  เพราะมุมมองหรืออำนาจในการตัดสินนั้นไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ที่ราชสำนักเหมือนแต่ก่อนแต่จากประชาชนซึ่งมีมุมมองและความคิดอันหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนึ่งคือสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียได้ก้าวหน้าไปกว่ายุค "บ้านยังเก่า เมืองยังดี" ที่ประชาชนไม่มีช่องทางในการแสดงความไม่พอใจต่อนักปกครองผู้ทรงธรรมที่สุลักษณ์ชื่นชมได้ สาเหตุที่นักการเมืองในโลกยุคใหม่ดูไม่ดีสักคน ก็เพราะประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงข้อด้อยและข้อเสียของนักปกครอง ผู้เขียนคิดเล่นๆ เหมือนกับการ์ตูนฝรั่งที่่สมมติว่าในยุคแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมของยุโรปมีเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์อันแพร่หลายและกลายเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบัน เราก็อาจจะได้เข้าใจความรู้สึกอันแท้จริงของประชาชนภายใต้การปกครองเหล่านั้น

สุลักษณ์ยังกล่าวถึงตอนที่เขาได้รับเชิญให้ไปแสดงสุนทรพจน์ที่ National  Endowment  for Democracy ที่กรุงวอชิงตัน และได้เอ่ยข้อความดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นภาษาอังกฤษ

"ข้าพเจ้าจึงขยายความให้เขาฟังต่อไปว่า บุชพ่อลูกที่เป็นประธานาธิบดีติดต่อกันมาดังสืบราชสันตติวงศ์นั้น เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ละหรือ ยัง ดิก เชนีย์ เป็นรองประธานาธิบดีที่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดีนั้นเล่า ก็เพราะเขาหากินใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติยิ่งกว่าใครๆ มิใช่หรือ ข้าพเจ้าบอกเขาต่อไปด้วยว่า ถ้าตราบใดสหรัฐฯ ยังยอมให้คนอุดหนุนเงินแก่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ แล้วยังเรียกภาษีคืนได้อีกด้วย บรรษัทข้ามชาติย่อมทุ่มเงินช่วยคนของเขา ดังโรนัลด์ เรแกน ซึ่งเป็นดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็ได้เป็นประธานาธิบดี"

ถ้าสหรัฐฯ ทำตามข้อเสนอของเจอรี บราวน์ ซึ่งบัดนี้เป็นผู้ว่าราชการรัฐแคลิฟอร์เนีย ว่าเงินช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ควรอุดหนุนได้เกิน $100 ต่อคน หรือนิติบุคคลใดๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ ประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ น่าจะกลับคืนมาได้ยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่จำต้องเป็นจักรวรรดิอีกต่อไป เพราะจักรวรรดิคือการใช้แสนยานุภาพไปปราบบ้านอื่นเมืองอื่น โดยมีบรรษัทข้ามชาติอุดหนุนอย่างเต็มที่"

ผู้เขียนใคร่แก้ไขความเข้าใจผิดต่อตัวประธานาธิบดีอเมริกันว่าที่จริงนั้นประธานาธิบดีไม่ได้มีอำนาจล้นพ้นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน อำนาจของประธานาธิบดีถูกจำกัดและถ่วงดุลโดยสภาคองเกรส รวมไปถึงศาลสูงและรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าประธานาธิบดีจะมีอำนาจดุจดังราชาและจะสามารถดลบันดาลอะไรได้มากมายตามความเข้าใจของสุลักษณ์ ความจริงแล้วประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังจะมีอำนาจเสียยิ่งกว่า

นอกจากนี้ผู้เขียนยังขอแสดงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาดังนี้

-บุชผู้พ่อและผู้ลูกแห่งพรรครีพับลิกันไม่ได้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน แต่มีประธานาธิบดีบิลคลินตันแห่งพรรคเดโมแครตมาคั่นกลางถึง 8 ปี สองวาระคือ 1993-1997 และ 1997-2001 สำหรับบุชทั้งพ่อและลูก (และดิก เชนีรองประธานาธิบดี) นั้นมีพื้นฐานเป็นข้าราชการระดับสูงและนักธุรกิจซึ่งก็พอเข้าใจว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับบริษัทข้ามชาติได้มาก แต่สำหรับคลินตันนั้นเป็นนักกฎหมายมาก่อน หากประธานาธิบดีเป็นตัวแทนของอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ ผู้ดำรงตำแหน่งน่าจะจำกัดเฉพาะนักธุรกิจหรือไม่ก็ชนชั้นสูง ยิ่ง บารัก โอบามาเป็นนักกฎหมายผิวค่อนดำที่ไม่ได้มาจากตระกูลที่ร่ำรวยด้วยแล้ว การที่คลินตันเอาชนะบุชผู้พ่อซึ่งดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียวก็เพราะบุชไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ อันสะท้อนว่าเสียงของประชาชนอเมริกันต่างหากที่มีพลัง (3)  

-การที่เรแกนได้รับเลือกประธานาธิบดีในปี 1980 ไม่ใช่เพราะการสนับสนุนจากบริษัทข้ามชาติ  สมมติว่าข้อมูลของผู้เขียนผิด ก็ยังน่าเสียดายที่สุลักษณ์มองข้ามปัจจัยอื่นๆ อีกหลายปัจจัยที่ทำให้คนอเมริกันให้ความนิยมแก่ตัวเรแกนไม่ว่านโยบายเศรษฐกิจซึ่งคนอเมริกันเชื่อว่าจะช่วยฉุดให้สหรัฐฯ พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ความอ่อนแอและความล้มเหลวของประธานาธิบดีจิมมี      คาร์เตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขวิกฤตตัวประกันที่อิหร่าน รวมไปถึงบุคลิกและนโยบายทางสังคมแบบอนุรักษ์นิยมที่ทำให้คนอเมริกันซึ่งเอือมระอาต่อสังคมอันเน่าเฟะของตนในทศวรรษที่ 70 ให้การสนับสนุนเรแกน จริงอยู่ที่เรแกนเน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่เอื้อต่บริษัทข้ามชาติ แต่นั้นเป็น อุดมการณ์ที่มีมานานของพรรครีพับลิกัน แม้แต่คลินตันซึ่งอยู่คนละพรรคก็ได้ดำเนินนโยบายเช่นนี้สืบต่อจากเรแกน

-สุลักษณ์ยังกล่าวในตอนหลังอีกว่าประธานาธิบดียุคหลังรูสเวลต์ "ถูกสะกดโดยบริษัทข้ามชาติและบริษัทค้าอาวุธแทบทุกคน" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการกล่าวที่แยบยลเพราะสุลักษณ์ใช้คำว่า "แทบ" แทนที่จะเป็นทุกคน  ดังนั้นเขาจึงไม่มีทางผิด กระนั้นผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นว่าบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ (Interest groups) ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นบริษัทข้ามชาติในนามของกลุ่มธุรกิจได้มาเข้ามามีอิทธิพลต่อประธานาธิบดีและสภาคองเกรสแต่อยู่ในรูปแบบของการ   ดิ้นรนหรือ lobby  มากกว่าจะเข้ามาสะกดเพราะกลุ่มผลประโยชน์นั้นมีมากมายไม่ว่ากลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มสาขาวิชาชีพ กลุ่มประชาสังคมซึ่งก็ประสบความสำเร็จต่อนโยบายของรัฐจำนวนมากซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นด้านลบหรือเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นสูงเสมอไป ดังเช่นกฎหมายที่ให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่คนสีผิวหรือนโยบายประกันสุขภาพ ฯลฯ  นอกจากนี้ กลุ่มเหล่านั้นไม่ได้ให้ผลประโยชน์แก่พรรคการเมืองเฉพาะเงินบริจาคเพียงอย่างเดียวอย่างที่สุลักษณ์เข้าใจ หากยังรวมไปถึงการลงคะแนนเสียง การช่วยรณรงค์หาเสียง การสนับสนุนด้านสื่อ การให้ข้อมูลเฉพาะด้านแก่ประธานาธิบดีและสภาคองเกรส ฯลฯ ดังนั้นเพียงจำกัดจำนวนเงินบริจาค ก็ใช่ว่ากลุ่มผลประโยชน์จะไม่มีแรงกดดันต่อนักการเมืองอีก

-ที่สำคัญประธานาธิบดีไม่ว่ายุคไหนเองถือว่าระบบทุนนิยมก็คือผลประโยชน์และความมั่งคั่งของชาติอเมริกันซึ่งแพร่ขยายไปทั่วโลกแบบ Pax Americana ผ่านบริษัทข้ามชาติ ถึงแม้กลุ่มทุนจะไม่มาสะกดประธานาธิบดี  ทุกรัฐบาลก็ต้องมีนโยบายสนับสนุนบริษัทข้ามชาติไม่มากก็น้อยเช่นการตัดภาษีหรือการบีบให้ประเทศอื่นออกกฎหมายเอื้อต่อการลงทุน แม้แต่รูสเวลต์ถ้าไม่ชิงตายเสียก่อน ในยุคหลังสงครามโลกที่บริษัทข้ามชาติอเมริกันมีอิทธิพลไปทั่วโลก เขาก็ต้องมีนโยบายเอื้อต่อบริษัทข้ามชาติอย่างแน่นอน   สำหรับรัฐบาลบุชและเชนีย์ดูเหมือนจะถูกสะกดโดยบริษัทน้ำมันและอุตสาหกรรมอาวุธจากการทำสงครามที่อิรักแต่เราก็ต้องดูนโยบายในประเทศอื่นๆ ของพวกเขาว่าตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมาด้วยว่าได้เอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่บริษัทข้ามชาติหรือไม่

สุลักษณ์ก็ไม่ได้มองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลวร้ายเสียทุกคนดังเช่นเขาได้ยกย่องรูสเวลต์ซึ่งเป็นบุคคลในอุดมคติคือมาจากการเลือกตั้งและดูเป็นเผด็จการที่ทำประโยชน์ให้กับชาติดังนี้
  

" ในสหรัฐฯ แฟรงก์ เดลานอ รูสเวลต์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีเกินสามสมัย โดยเขามีความเป็นผู้นำที่แท้ และอิงระบอบประชาธิปไตยอย่างชาญฉลาด เวลาใครนำเอาความคิดดีๆ ไปเสนอเขา เขาบอกให้คุณไปสร้างประชามติขึ้นให้มากๆ นั่นจะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ง่าย และจะสั่งการให้อะไรๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที"

ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธคุณสมบัติความเป็นผู้นำของรูสเวลต์ตามที่สุลักษณ์ได้อ้าง แต่ใคร่นำเสนอความจริงด้านอื่นๆ ของรูสเวลต์ดังต่อไปนี้

-นโยบายนิวดีลของรูสเวลต์ซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในการทำให้สหรัฐ อเมริกาฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 30 มีกิจกรรมหลายอย่างที่ค่อนไปทางประชานิยมเหมือนกับของทักษิณเช่นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าในระบบผ่านสร้างโครงการต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยเฉพาะการว่าจ้างแรงงาน ซึ่งสุลักษณ์มักใช้โจมตีทักษิณว่ามอมเมาประชาชน  ด้วยนโยบายเช่นนี้ประกอบกับบุคลิกภาพของรูสเวลท์ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีถึง 4 สมัย อันเป็นลักษณะของประชาธิปไตยแบบมวลมหาประชาชนซึ่งสุลักษณ์แสดงความรังเกียจตั้งตั้งแต่ต้น

-รูสเวลต์ถูกมองว่าเป็นเผด็จการที่เข้าไปแทรกแซงองค์กรอื่นเช่นตุลาการรวมไปถึงการรวบศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาลกลางเหนือรัฐบาลระดับมลรัฐ อันเป็นการทำลายระบบ สหพันธรัฐ  อันทำให้รูสเวลต์ถูกโจมตีจากฝ่ายตรงกันข้ามในยุคนั้นอย่างมาก ถ้าสุลักษณ์เป็นปัญญาชนหัวอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ ในยุคนั้นย่อมโจมตีรูสเวลต์อย่างเสียๆ หายๆ เหมือนกับที่โจมตีว่าทักษิณเป็นเผด็จการ และในที่สุดรัฐธรรมนูญของอเมริกาก็ได้มีการแก้ไขในปี 1951 เพื่อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีให้เหลือเพียง 2 วาระ

-รูสเวลต์สนับสนุนให้มีการยกเลิกกฎหมายการห้ามจำหน่ายสุรา (Prohibitionism) ในปี 1932

-รูสเวลต์เป็นคนริเริ่มโครงการแมนฮัตตันในปี 1942 ซึ่งต่อมาสามารถพัฒนาเป็นอาวุธปรมาณูที่ประธานาธิบดีคนถัดมาคือแฮรรี ทรูแมนใช้ทิ้งที่ญี่ปุ่น

สองข้อสุดท้ายนี้ หากใช้มาตราฐานคือศีลธรรมแบบพุทธอย่างที่สุลักษณ์ยึดถือ รูสเวลต์ไม่อาจเป็นต้นแบบของนักปกครองที่ดีได้ อีกยังค่อนไปทางทรราชเสียด้วยซ้ำ

ในตอนที่ 2  ของจดหมายรักซึ่งเป็นตอนแนะนำพลเอกประยุทธ์นั้นใจความสำคัญคงอยู่ที่ประโยคแรก

"ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีได้สำหรับเผด็จการไทยคนปัจจุบัน แม้เขาจะไม่มีเวลาอ่านจดหมายรักฉบับนี้ คนใกล้เคียงเขา ก็ควรอ่านแล้วสรุปประเด็นเสนอขึ้นไป ในเมื่อเขาเป็นเผด็จการ ก็ควรเอาเยี่ยงอย่างรูสเวลต์ โดยที่บัดนี้มีรัฐสภาขึ้นแล้ว ก็ควรใช้สถาบันนั้นให้เป็นประโยชน์ อย่าให้สถาบันนั้นเป็นแต่เสือกระดาษ ส่วนคณะรัฐมนตรีนั้น ดูจะเน้นไปในทางทุนนิยมค่อนข้างมาก หากไม่หาทางรั้งเอาไว้บ้าง สยามประเทศจะเป็นไปในทิศทางที่อยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิจีน และจักรวรรดิอเมริกัน รวมถึงบรรษัทข้ามชาติอย่างน่าวิตกนัก"

ผู้เขียนคิดว่าสุลักษณ์ไม่ควรตกหลุมพรางเหมือนกับพวกพิศวาทรถถังทั่วไปที่มองว่าประยุทธ์เป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่ทรงคุณธรรมเช่นเดียวกับรูสเวลต์(4) ซึ่งสะท้อนว่าสุลักษณ์ยังติดแนวคิดแบบมหาบุรุษ ( Great man theory) จนมองข้ามปัจจัยอื่นๆ ดังเช่นการที่ประยุทธ์ขึ้นมามีอำนาจได้ก็ต้องอาศัยภาวะแห่งความฉ้อฉลตั้งแต่แรกคือการที่กองทัพไม่ยอมเชื่อฟังพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจอื่นที่แสวงหาผลประโยชน์จากประเทศมาเนิ่นนานไม่ต่างจากทักษิณคนที่สุลักษณ์เกลียดชังอย่างมาก  ยิ่งสื่อกระแสหลักพยายามประโคมภาพของประยุทธ์มากให้โดดเด่นดุจดังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์เจ้าของวลี "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" เพียงใด ยิ่งเป็นเรื่องอันตรายเพราะช่วยให้กลุ่มผู้มีอำนาจสามารถแฝงตัวอยู่นอกฉากหรือทำให้สาธารณชนมองไม่เห็น

ยิ่งสาธารณชนมองไม่เห็นเท่าใด ผู้มีอำนาจเหล่านั้นก็สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ สามารถกดรีโมทหรือชักใยให้ประยุทธ์กับ คสช.เลือกใครมาเป็น ครม. สนช. สปช. ก็ได้จากข้ออ้างสาระพัด ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนมีพฤติกรรมและจะมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับที่ สุลักษณ์เขียนแนะนำอย่างยาวเหยียดตลอดไปลงในจดหมายรัก (ที่อย่างมากลิ่วล้อพวกเขาคงได้อ่านและไปสรุปให้เจ้านายตนพร้อมกับเสียงหัวเราะประกอบ) เพราะพวกเขารวมไปถึงประยุทธ์ก็คงไม่ได้คิดจะถือว่านักวิชาผู้ยึดมั่นในหลักสัจธรรมอย่างเช่นสุลักษณ์เป็นกัลยาณมิตรแม้เพียงนิด

 

 

เชิงอรรถ

(1) อนึ่งเนื่องจากผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเหล่านี้มาในหลายบทความจนน่ารำคาญจึงขอแสดงการอ้างอิงดังต่อไปนี้  http://democracyranking.org/?page_id=738 และเป็นที่น่าสนใจว่าประเทศอย่างนอร์เวย์หรือสวีเดนนั้นมีการปกครองแบบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือมีกษัตริย์เป็น “เจว็ด” ตามความคิดของสุลักษณ์นั้นเอง

(2) บุคคลซึ่งสุลักษณ์ให้ความเคารพอย่างมากคือปรีดี พนมยงค์ที่มีพฤติกรรมอันน่าสอดคล้องกับแนวคิดนักปกครองผู้ทรงธรรมแบบไทยๆ มากที่สุด    สุลักษณ์ได้กล่าวว่าปรีดีนั้นได้สนทนาธรรมกับพุทธทาสภิกขุ (เจ้าของแนวคิดเผด็จการโดยธรรม) อยู่นาน จนปรีดีน่าจะเป็นนักการเมืองคนเดียวที่นำเอาหลักธรรมมาใช้ในการบริหารประเทศ  แต่เนื่องจากปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงเวลาไม่ถึง 1 ปี ส่วนตำแหน่งหรือกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ของเขาก็ยังไม่อาจเป็นหลักฐานที่หนักแน่นในการสนับสนุนความคิดของสุลักษณ์    นอกจากนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่ว่าปรีดีมีแผนการที่จะเปิดบ่อนคาสิโนทำห้ผู้เขียนจึงคิดเล่นๆ ว่าถ้านายปรีดีได้เป็นนายกรัฐมนตรียาวนานกว่านี้มากๆ  ก็อาจจะไม่ต่างจากนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ต้องดำเนินนโยบายของรัฐเพื่อให้ได้คะแนนเสียงของประชาชนมากกว่าใช้หลักธรรมะที่ยากปฏิบัติก็ได้

(3) แม้การเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเสียอย่างเดียว เพราะวัดกันที่เสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college) แต่คณะผู้เลือกตั้งก็มาจากการเลือกของประชาชนอีกทีหนึ่งและมักจะฟังเสียงคะแนนความนิยมที่มวลชนมีต่อตัวผู้สมัครเป็นระยะ ๆ ก่อนการเลือกตั้ง ว่าตามความจริงแล้วระบบการเมืองอเมริกันถูกออกแบบโดยบรรดาผู้ก่อตั้งประเทศที่ดูถูกชนรากหญ้าเหมือนสุลักษณ์เสียด้วยซ้ำ

(4)  แค่เอามาเทียบกันก็ผิดแล้วเพราะรูสเวลต์มาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าจะลองเปรียบดู เล่นๆ  ผู้เขียนคิดว่าประยุทธ์เหมือนจอร์จ ดับเบิลยู บุชในด้านบุคลิกภาพและสติปัญญาเสียมากกว่า  กระนั้นบุชก็ยังเหนือชั้นกว่าประยุทธ์ เพราะบุชสามารถทำให้สื่อและคนรอบข้างหัวเราะอย่างมีความสุขได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท