ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (26): กำเนิดวิทยุ: การปฏิวัติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและ ‘แอมปลิฟายเออร์’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ถ้าไม่มีลำโพงขยายเสียง เราก็คงยึดครองเยอรมันไม่ได้เป็นแน่”
Adolf Hitler (1938)

ถ้าปลายศตวรรษที่ 18 ตัวขับเคลื่อนหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมคือเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำแล้ว ปลายศตวรรษที่ 19 ตัวขับเคลื่อนหลักของสังคมมวลชน (ที่จริงๆ ก็ควรจะเรียกว่าเป็น “การปฏิวัติ” ไม่ได้ต่างจากปฏิวัติการพิมพ์ หรือปฏิวัติอุตสาหกรรม) ก็น่าจะเป็นเทคโนโลยีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อทำการสื่อสารระยะไกลแบบ “ไร้สาย”

วิทยาศาสตร์ปัจจุบันจัดแรงแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นหนึ่งในสี่แรงมูลฐานตามธรรมชาติ (อีกสามแรงคือ แรงโน้มถ่วง แรงอย่างแรง และแรงอย่างอ่อน – แรงแรกคือแรงดึงดูดกันของสสารที่มีมวล สองแรงหลังเป็นแรงที่ทำงานในระดับนิวเคลียสของอะตอมอีกที) การค้นพบแรงนี้เกิดตอนต้นศตวรรษที่ 19 และ “ความลับ” ของมันก็ค่อยๆ เปิดเผยมา

ตลอดศตวรรษที่ 19 “นักวิทยาศาสตร์” ค่อยๆ ค้นพบว่ากระแสไฟฟ้ากับสนามแม่เหล็กมีความสัมพันธ์กันโดยเมื่อกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านสิ่งใดมันก็จะเกิดสนามแม่เหล็กขึ้นโดยรอบ และเมื่อค้นไปค้นมาก็พบว่าคลื่นของไฟฟ้าที่มีสนามแม่เหล็กวิ่งคู่ขนานกันนั้นสามารถวิ่งไปได้ใน “ที่โล่ง” โดยไม่มีความจำเป็นต้องผ่าน “ตัวกลาง” เหมือนคลื่นในเชิงกลไกอย่างคลื่นน้ำและคลื่นเสียง หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่ง ถ้าจักรวาลทั้งจักรวาลอยู่ภายใต้ “สนามแม่แหล็กไฟฟ้า” ที่ดำรงอยู่ทุกแห่งอย่างทะลุทะลวงสสารต่างๆ แล้ว การทำให้เกิดคลื่นในสนามดังกล่าวมันจึงเป็นคลื่นที่สามารถทะลุทะลวงได้ (แทบ) ทุกสรรพสิ่ง

คลื่นที่ว่าเรียกว่า “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” ซึ่งจริงๆ มนุษย์ก็อยู่กับมันมานานแล้วแต่ไม่รู้จักมัน เพราะ “แสงสว่าง” จากพระอาทิตย์ที่ทำให้มนุษย์มองเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนั้นก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านความถี่หนึ่งซึ่งเป็นย่านเดียวที่มนุษย์สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ กล่าวคือแสงอาทิตย์ที่ฉายมายังโลกมนุษย์แต่โบราณกาลนั้นแท้จริงแล้วก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่มาจากดาวฤกษ์อย่างดวงอาทิตย์นั่นเอง

อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามันไม่ได้มีแค่ย่านความถี่ที่มนุษย์มองเห็นด้วยตาเปล่าอย่างแสงเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนที่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบว่าแสงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบและวัดความเร็วของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบอื่นมาก่อนแล้ว และต่อมาพอนักวิทยาศาสตร์ได้วัดความเร็วแสง นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าแสงมีความเร็วเท่ากับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ค้นพบมาก่อนหน้า ดังนั้นจึงสรุปว่าแสงก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบหนึ่ง

ในปี 1865 James Clerk Maxwell นักฟิสิกส์ชาวสกอตได้สร้างทฤษฎีว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมดมีความเร็วเท่าๆ กัน คือเท่ากับแสง แต่มีความต่างกันที่ความถี่และความยาวคลื่น (ซึ่งทั้งสองสิ่งแปรผกผันกัน) อย่างไรก็ดี กว่ามนุษย์จะสามารถสร้างเครื่องมือ “ส่ง” คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกไปจริงๆ ก็ในช่วงทศวรรษที่ 1880 ด้วยฝีมือของ Heinrich Hertz นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ซึ่งเขาก็ได้รับเกียรติให้หน่วยความถี่ของคลื่นเป็นชื่อของเขาซึ่งก็คือหน่วย “เฮิร์ตซ์” ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ซึ่งตัวย่อของมันก็คือ Hz นี่เอง

การสร้างเครื่องมือส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญมาก เพราะก่อนหน้านี้ไม่นานนักเทคโนโลยีในการเปลี่ยนคลื่นเสียงอันเป็นคลื่นในเชิงกลไกไปเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อสื่อสารตามสายไฟฟ้าก็เกิดขึ้นแล้วกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีไมโครโฟนและโทรศัพท์ ดังนั้นอีกก้าวหนึ่งของการสื่อสารแบบไร้สายในระยะไกลก็คือการเปลี่ยนคลื่นไฟฟ้านี้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อส่งในระยะไกลกว่าเดิมแบบไร้สายด้วยคุณสมบัติในการเดินทางระยะไกลในความเร็วเท่าแสงนั่นเอง

คนที่เป็นผู้ประสานเทคโนโลยีรับส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่างๆ เข้าด้วยกันจนกลายมาเป็นการส่งสัญญาณ “วิทยุ” ในยุคแรกคือ Guglielmo Marconi นักประดิษฐ์ชาวอิตาลี ซึ่งผลงานการสร้างเครื่องรับส่งคลื่นวิทยุของเขาก็ทำให้เขาเป็นเจ้าพ่อสิทธิบัตรของสิ่งประดิษฐ์ใหม่อย่าง “วิทยุ” ในยุคแรกซึ่งก็คือช่วงทศวรรษ 1900 และก็ยังทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 1909 อีกด้วย

การส่งสัญญาณวิทยุในยุคแรกๆ ส่งได้ในระยะที่ไม่ได้ไกลนัก เพราะแม้ว่าคลื่นวิทยุที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะเดินทางได้อย่างรวดเร็วเท่ากับแสงและทะลุทะลวงกำแพงได้ แต่ระยะการส่งคลื่นก็ขึ้นอยู่กับพลังงานของอุปกรณ์ที่ใช้ส่งคลื่นอยู่ดี (อย่างไรก็ดีการสื่อสารได้เป็นร้อยไมล์ในยุคแรกของการสื่อสารแบบไร้สายก็ยังถือว่าน่าประทับใจสำหรับยุคนั้นแล้ว) นอกจากนั้นสัญญาณวิทยุที่ได้รับก็เบามากจนต้องใส่หูฟังเพื่อฟัง (ดังนั้นการฟังวิทยุยุคแรกจึงเป็นการใส่หูฟังเพื่อฟังคนเดียว หรือตามจำนวนหูฟังที่ต่อออกจากเครื่องได้)

อย่างไรก็ดีภายหลังมีเทคโนโลยีขยายสัญญาณ หรือ “แอมปลิฟายเออร์” ที่เป็นไปได้ภายใต้การสร้างหลอดสูญญากาศในปี 1906 การปฏิวัติการสื่อสารก็น่าจะเรียกได้ว่าเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เพราะการขยายสัญญาณไฟฟ้าทำให้ทั้งกระแสไฟฟ้าที่จะถูกเปลี่ยนเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีพลังมากขึ้น ทำให้สัญญาณส่งได้ไกลขึ้น ซึ่งนี่หมายความว่าสถานีวิทยุใหญ่ๆ ภายใต้เทคโนโลยีขยายสัญญาณก็สามารถส่งสัญญาณไปแทบจะทั่วโลกได้แล้วตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และในอีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้เครื่องวิทยุสามารถจะขยายสัญญาณไฟฟ้าที่มันรับมาให้มากขึ้นในระดับที่ผู้ฟังไม่ต้องใส่หูฟังเพื่อฟังอีกต่อไปและสามารถจะฟังพร้อมกันเป็นหมู่คณะได้

ศักยภาพการสื่อสารได้ชั่วพริบตาไปแทบจะทั่วทุกมุมโลกทำให้วิทยุเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความสั่นสะเทือนในระเบียบสังคมมากๆ ซึ่งแต่ละสังคมก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันไม่ได้ต่างจากช่วงแรกของเทคโนโลยีการพิมพ์ ในกรณีของสหรัฐอเมริกาอันเป็นที่แรกๆ ที่วิทยุขยายตัวมากหลังจากไม่มีการควบคุมการส่งสัญญาณและการรับสัญญาณทั้งนั้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเริ่มมีการส่งสัญญาณเสียงดนตรี “ออกอากาศ” มีการว่าจ้างนักดนตรีมาแสดงสดในห้องส่งสัญญาณวิทยุ (ซึ่งเหตุที่ไม่เอาแผ่นเสียงมาเปิดกระจายเสียงก็เพราะเทคโนโลยีบันทึกเสียงยุคนั้นยังบันทึกเสียงออกมามีคุณภาพต่ำอยู่ ทำให้การแสดงสดออกอากาศจะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่ามาก) และปัญหาที่ตามมาในมุมของบรรดานักแต่งเพลงก็คือการจ้างนักดนตรีมาเล่นสดเพื่อกระจายเสียงเหล่านี้ เป็นการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” งานดนตรีของพวกเขา [1]

แน่นอนว่าประเด็นความขัดแย้งนี้ก็ย่อมขึ้นไปถึงศาลสูงของอเมริกาและศาลสูงก็โยนไปให้สภาคองเกรสตัดสินในที่สุดว่าการกล่าวอ้าง “ลิขสิทธิ์” เหนือการกระจายเสียงวิทยุเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ทางสภาคองเกรสดูจะไม่เห็นด้วยกับพวกนักแต่งเพลง เพราะการกระจายเสียงในระดับสาธารณะ ก็ดูจะไม่ต่างจากการใช้ “เสรีภาพในการแสดงออก” ตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกอันศักดิ์สิทธิ์ นี่ยังไม่นับว่าในกรอบของกฎหมายลิขสิทธิ์ยุคนั้น การ “เปลี่ยนฟอร์แมต” งานก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะก็ดังที่ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าการแพร่สัญญาณวิทยุนั้นในทางเทคนิคมันไม่ใช่การกระจาย “เสียง” แต่เป็นการกระจาย “สัญญาณ” ซึ่งสัญญาณที่ว่านี้ก็เกิดจากการแปลงสัญญาณหลายต่อหลายครั้ง จากคลื่นเสียง เป็นกระแสไฟฟ้า เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นกระแสไฟฟ้าอีกรอบ และกลับมาเป็นคลื่นเสียงอีกครั้ง ซึ่งเสียงตอนปลายทางก็ไม่ได้เหมือนเสียงต้นทางด้วยเทคโนโลยียุคนั้นที่การส่งสัญญาณไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงนัก (อย่างไรก็ดีต่อให้ “ยุคนี้” จะทำแบบเดียวกันเสียงตอนส่งไปปลายทางก็ไม่มีทางเหมือนต้นทางอยู่ดี)

นี่ดูจะเป็นเหตุผลที่ “ลิขสิทธิ์การกระจายเสียง” ไม่ได้อยู่ในสารบบของลิขสิทธิ์อเมริกันมาตั้งแต่ตอนนั้น อย่างไรก็ดีภายใต้กรอบคิดของทางฝั่งยุโรป การอ้างว่าการกระจายเสียงนั้นควรจะได้รับการยกเว้นจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้นพอๆ กับที่การอ้างว่าการกระจายเสียงโดยอิสระเสรีควรจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับเสรีภาพของการพิมพ์หนังสือก็เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้นสำหรับทางยุโรปเช่นเดียวกัน ในทางปฏิบัตินี่หมายความว่าอเมริกามองว่าการเล่นดนตรีตามร้านอาหาร (ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนนำเพลงมาเล่นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19) กับการเอางานดนตรีกระจายเสียงทางวิทยุเป็นคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน แต่ทางยุโรปมองว่ากิจกรรมทั้งสองไม่ต่างกันและมันก็อยู่ภายใต้ขอบเขตคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งคู่

ส่วนหนึ่งของรากฐานในการกล่าวอ้างดังนี้ของฝั่งยุโรปก็คือยุโรปมองว่าย่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เป็นคลื่นวิทยุนั้นเป็นสมบัติของรัฐมาแต่แรกในขณะที่อเมริกาถือว่าเป็นของสาธารณะ ดังนั้นที่จะเห็นได้ก็คือสำหรับอเมริกาการส่งสัญญาณวิทยุก็จึงเป็นการสื่อสารของประชาชนในช่องทางที่เป็นของประชาชน แต่ในยุโรปช่องทางดังกล่าวไม่ใช่ของประชาชนมาตั้งแต่แรกแล้ว และทางภาคพื้นทวีปยุโรปก็มองว่า “ลิขสิทธิ์” ไม่ใช่แค่อภิสิทธิ์ในการทำซ้ำที่รัฐมอบให้ผู้ผลิตเพื่อกระตุ้นการผลิต แต่เป็นสิทธิธรรมชาติที่ไม่แยกออกจากตัวผู้สร้างสรรค์งาน และในกรอบแบบนี้เองที่รัฐยุโรปจะบัญญัติว่าการเผยแพร่งานดนตรีทางวิทยุแบบไม่ได้รับอนุญาตจะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

แนวคิดแบบนี้ก็เกิดขึ้นแม้แต่ในอังกฤษอันเป็นรัฐสมัยใหม่รัฐแรกของโลกที่มี “เสรีภาพสื่อ” หรือ “เสรีภาพของแท่นพิมพ์” มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 กล่าวอีกแบบคืออังกฤษไม่เห็นว่าการจำกัดการส่งสัญญาณวิทยุเป็นเรื่องของการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ เพราะอย่างน้อยๆ “เสรีภาพสื่อ” ของอังกฤษก็มี “ข้อแม้” มาตลอดตั้งแต่แรกๆ และ “ข้อแม้” ในกรณีของวิทยุก็ดูจะเป็นทั้งเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคลื่นและความมั่นคงของชาติด้วย เพราะอย่างน้อยๆ การปล่อยให้เทคโนโลยีอย่างวิทยุดำเนินไปตามครรลองตามปกติก็หมายถึงรัฐอังกฤษก็ต้องยอมออกสิทธิบัตรวิทยุให้ “ชาวต่างชาติ” อย่าง Marconi ซึ่งตระเวนทัวร์นานาชาติเพื่อจดสิทธิบัตรด้วย การให้สิทธิในการควบคุมสื่อที่มีขอบเขตการสื่อสารไปทั้งประเทศกับชาวต่างชาตินั้นก็ดูจะไม่ใช่เรื่องเล่นในมุมของความมั่นคง และนี่ก็ทำให้รัฐบาลอังกฤษรวมสิทธิบัตรดังกล่าวมาเป็นของรัฐและตั้ง British Broadcasting Company หรือ BBC ขึ้นมาเพื่อบริหารสิทธิบัตรดังกล่าวและเผยแพร่สัญญาณ ซึ่งนี่ทำให้ทั้งผู้ส่งสัญญาณและรับสัญญาณในอังกฤษต้องมี “ใบอนุญาต” จากรัฐมาจนถึงปัจจุบันที่คนอังกฤษทุกคนที่มีโทรทัศน์ในบ้านก็ต้องเสียค่า “ใบอนุญาต” การรับสัญญาณนี้ไปเรื่อยๆ ทุกๆ ปี

ในกรณีของเยอรมนี สิ่งที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีการกระจายเสียงสารพัดถูกใช้ในทางการเมืองอย่างกระหน่ำโดยนาซีที่ยึดอำนาจได้พอดี เทคโนโลยีขยายเสียงเป็นฐานให้กับการกระหน่ำใช้ทั้งวิทยุและเสียงตามสายป่าวประกาศโฆษณาชวนเชื่อกรอกหูคนไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งทั้งหมดก็เป็น “ด้านมืด” ของการยึดอำนาจในการควบคุม “สื่อใหม่” กลับมาที่รัฐที่คนไม่พูดถึงกันนัก

อย่างไรก็ดีการใช้ “สื่อใหม่” เพื่อรับใช้ระบอบเผด็จการของพวกนาซี ก็ดูจะเป็นแค่เชิงอรรถเล็กๆ ของประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและลิขสิทธิ์เท่านั้น ซึ่งนี่เทียบไม่ได้กับเทคโนโลยีเทปแม่เหล็กของพวกนาซีที่ถูกพัฒนามาเพื่อเป็นเทคโนโลยีลับช่วงสงครามเพื่อบันทึกเสียงการดักฟัง ก่อนที่อเมริกาและผ่ายสัมพันธมิตรจะไปค้นพบในช่วงปลายสงครามโลกและนำกลับมาอเมริกา และมันก็ได้กลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถ “บันทึก” เสียงได้ในครัวเรือน ซึ่งในท้ายที่สุดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ก็ผลักดันให้อเมริกายอมรับงานบันทึกเสียงเข้ามาในสารบบลิขสิทธิ์ในที่สุด แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกหลายสิบปีให้หลัง

 

///////////////////////

อ้างอิง
[1] อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือวิทยุในยุคแรกนั้นเป็นสื่อบันเทิงมวลชนแบบใหม่ที่คนตื่นเต้นกัน ซึ่งสิ่งที่มีในวิทยุก็ก็ไม่ได้มีแค่ดนตรี เพราะอย่างน้อยๆ รายกายข่าว รายการบันเทิงต่างๆ ไปจนถึงละครวิทยุก็เป็นองค์ประกอบของวิทยุเช่นกัน ทั้งนี้ยุคตั้งแต่ที่วิทยุครองความเป็นเจ้าแห่งสื่อมวลชนก่อนที่จะมีโทรทัศน์มาแย่งบทบาทและวิทยุก็หันไปมีบทบาทในการเผยแพร่ดนตรีเป็นหลักแทนที่จะมีอะไรสารพัดอย่างเดิมก็เรียกกันว่า “ยุคทองของวิทยุ” ในประวัติศาสตร์ของวิทยุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท