Skip to main content
sharethis

นักวิจัยทรัพย์สินทางปัญญาเผย กังวลร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าจ่อเข้า ค.ร.ม.พรุ่งนี้ หวั่นผู้ประกอบการรายใหญ่-เอสเอ็มอีเครื่องสำอางไทยกระทบหนัก เสนอ ก.พาณิชย์ฟังความเห็นรอบด้าน ศึกษาผลกระทบ

11 พ.ย.2557 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เผย มีความกังวลเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ... (ในส่วนที่เกี่ยวกับการขยายขอบเขตความคุ้มครอง การปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และระยะเวลาการจดทะเบียน การปรับปรุงค่าธรรมเนียม) ที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในวันพรุ่งนี้

นักวิจัยจาก กพย.เผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะส่งกระทบต่อผู้ประกอบการของไทยอย่างมาก และอาจกระทบต่อระบบสุขภาพ โดยก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และถูกคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภาท้วงติงอย่างมากก่อนการยุบสภาในปี 2556 อีกทั้งเป็นการแก้กฎหมายล่วงหน้าก่อนทำเอฟทีเอ และความตกลงมาดริด ซึ่งจะทำให้ไทยเสียอำนาจต่อรอง

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระกำหนดเพิ่มลักษณะบ่งเฉพาะ และเครื่องหมายการค้าประเภทใหม่ๆ เช่น กลิ่นและเสียง เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ทริปส์) โดยการนำหลักสากลมาปรับใช้

“ความเป็นจริงความตกลงทริปส์ไม่ได้บังคับให้ต้องรับจดทะเบียนกลิ่นเสียง เรื่องนี้ไม่ใช่หลักสากล จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต” นักวิจัย กพย.กล่าว

นักวิจัยจาก กพย. ระบุเพิ่มเติมว่า การจดทะเบียนให้กับกลิ่นจะมีผลร้ายมากกว่าการให้สิทธิบัตร และกระทรวงพาณิชย์ไม่ควรเสนอให้ ครม.พิจารณาโดยรวบรัด

“สิทธิบัตรถ้านำกลิ่นธรรมชาติ  อาทิ น้ำมันที่สกัดจากพืชมาผสมกันต้องเกิดผลพิเศษที่ไม่ได้แปลว่ามีกลิ่นใหม่ขึ้นมาเท่านั้น ต้องมีผลบางประการที่พิสูจน์ได้ ต้องมีความใหม่ มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ไม่ใช่ทักษะสามัญ จึงรับจดสิทธิบัตร แต่เครื่องหมายการค้าเท่ากับว่า นำเอาวัตถุธรรมชาติมาผสมกันแล้วได้รับจด ต่อไปบุคคลอื่นก็นำเอาวัตถุเหล่านั้นมาผสมกันไม่ได้เลย ทั้งที่เป็นสมบัติสาธารณะ จึงเป็นการละเมิดสิทธิสาธารณะ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีควรตีกลับให้กระทรวงพาณิชย์ไปทำรายงานวิจัยผลกระทบอย่างเจาะลึกทุกภาคส่วน และจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน อย่าใช้การลักไก่เสนอแก้กฎหมายในภาวะไม่ปกติเช่นนี้อีก"

นักวิจัยจาก กพย. กล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากเอกสารของ ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ นักวิชาการอิสระที่ได้รับเชิญจากกรรมาธิการของวุฒิสภาไปให้ข้อมูลในปี 2556 ระบุว่า เครื่องหมายการค้าในเรื่อง กลิ่น น่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ อันประกอบด้วย ยา เครื่องมือแพทย์ เช่น ถุงยางอนามัย วัตถุอันตรายที่ใช้ในทางสาธารณสุข เช่น ผลิตภัณฑ์ทากันยุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องสำอาง

“ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่น่าจะมีผลกระทบมากที่สุดคือ เครื่องสำอาง เนื่องจากกลิ่นนั้นถือเป็นส่วนสำคัญของตัวผลิตภัณฑ์ และในประเทศไทยนั้นการผลิตเครื่องสำอางนั้นมีแพร่หลายในทุกระดับ ทั้งในระดับโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก จนถึงระดับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ซึ่งมีอยู่ในแทบทุกชุมชน หากมีการให้เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีอยู่มากมายทั่วประเทศจะมีกลิ่นที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกับเครื่องสำอางของโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ หรือเหมือนกับกลิ่นที่มีผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว กลายเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ก่อให้เกิดการฟ้องร้องมากมาย ปัญหานี้ยังไม่นับรวมกับความพร้อมของบุคลากรและเครื่องมือของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะใช้ในการตรวจสอบหากมีการฟ้องร้องการละเมิดเครื่องหมายการค้า”

นอกจากนี้ นักวิจัย กพย.ยังกังวลด้วยว่า หากมีการให้เครื่องหมายการค้ากับกลิ่น อาจเกิดกรณีการละเมิดเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ผลิตยาภายในประเทศโดยไม่ได้เจตนา ก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่มั่นใจในการพัฒนาสูตรตำรับยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องระวังในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรยาแล้ว ยังต้องระวังในประเด็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่น ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่าง ถุงยางอนามัยที่มีการแต่งกลิ่น และวัตถุอันตรายที่ใช้ในทางสาธารณสุข เช่น ผลิตภัณฑ์ทากันยุง ก็จะได้รับผลกระทบด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net