Skip to main content
sharethis

33องค์กรภาคประชาสังคมภาคเหนือเด้งรับการปฏิรูปคู่ขนานไปกับ สปช. เพื่อยกร่างให้รัฐธรรมนูญมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ชูกระจายอำนาจฯจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น รัฐสวัสดิการ ฯลฯ วอน สนช.เสนอ คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อบรรยากาศอันดีในการปฏิรูป

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ภาคเหนือตอนบน ได้เปิดเวที ข้อเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ประมาณ 100 คน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน พะเยา และร่วมด้วยประชาสังคมจาก จ.ตาก

ผู้เข้าร่วมเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ภาคเหนือตอนบน ได้ระดมข้อเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ในครั้งนี้ โดยนำเสนอในสี่หมวดหลักที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน ได้แก่ 1) หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยกับสิทธิชุมชน  2) หมวดการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน  3) หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ  4) หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ซึ่งหลังจากมีการระดมความคิดเห็นในช่วงเช้าและได้ข้อสรุปในช่วงบ่ายแล้ว ทาง สชป. ภาคเหนือตอนบน ก็ได้ส่งมอบข้อเสนอจากภาคประชาชนครั้งนี้ แก่สปช. (สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) จังหวัดเชียงใหม่ ดร.จุไรรัตน์ กุลจักรวัฒน์ ซึ่งเดินทางมารับฟังช่วงบ่ายและยินดีนำข้อเสนอของ สชป.ภาคเหนือตอนบน ไปมอบแด่ประธาน สปช. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ

โดยสาระหลักของข้อเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของ สชป.ภาคเหนือตอนบน คือการเน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้ประชาชนมีสิทธิ์ มีส่วนร่วม และเป็นกลไกในการตัดสินใจต่อประเด็นสำคัญๆ อาทิ การจัดการทรัพยากร รัฐสวัสดิการ และอีกหลากหลายมิติเพื่อสร้างฐานการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน

และประเด็นสำคัญที่สุดคือ การขอให้ สปช. เสนอต่อ คสช. ให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อจะได้ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันจะเป็นการสร้างบรรยากาศการรับฟังที่ดี สร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ 


 

๐๐๐๐

 

 

จดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)

เรื่อง ข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคการมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ในการปฏิรูป

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์ปฏิรูปประเทศในขณะนี้ ที่จำเป็นอย่างยิ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง  ไม่ปล่อยให้สาระสำคัญของการปฏิรูปในครั้งนี้ถูกผูกขาดอยู่แต่เฉพาะส่วนของกลไกที่จัดตั้งขึ้นเพียงเท่านั้น  และในปัจจุบันใน 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ได้มีมติจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 รวมทั้งเข้าร่วมกับสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูประดับประเทศที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศที่ประชาชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปที่จัดตั้งขึ้นจะทำงานเชื่อมโยงกันตั้งตั้งแต่ระดับพื้นที่จังหวัด ระดับประเทศ และจะเชื่อมโยงการกับการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการในการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ให้ชัดเจนทั้งนี้โดยมี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน สภาองค์กรชุมชน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)เป็นหน่วยสนับสนุนวิชาการ ประสานการรวบรวมข้อเสนอเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

 ในการประชุมครั้งนี้ ได้พิจารณาต่อยอดสาระสำคัญในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยกับสิทธิชุมชน    การมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงของประชาชน  การกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น   การกำหนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  ทั้งนี้โดยมีข้อเสนอที่สำคัญที่เกิดขึ้นอย่างมาก  รวมทั้งมีข้อเสนอเชิงกระบวนการทำงานร่วมกับ สภาปฏิรูปแห่งชาติ  คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นระบบที่ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ที่ประชุมจึงขอเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ   ได้พิจารณาจัดทำแผนการรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน ในทุกระดับอย่างชัดเจน   พัฒนาให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ในเบื้องต้น ทางสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ขอเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ  ได้จัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อทำให้เกิดบรรยากาศของกระบวนการรับฟังและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  เป็นไปอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ

สำหรับข้อเสนอที่เป็นสาระสำคัญที่ต้องการบรรจุในกฎหมายรัฐธรรมนูญ   ทางสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปจะได้นำเสนอกับท่านอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

 

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

 

ขอแสดงความนับถือ

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือตอนบน

๐๐๐๐

 

หมายเหตุ : สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) คือ การรวมกลุ่มของ 33 องค์กร ทั้งจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักธุรกิจ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการปฏิรูปจากภาคประชาชนสู่ สปช. หรือเป็นการตั้งสภาคู่ขนานไปกับ สปช. เพื่อให้การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net