Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918 สภาคองเกรสก็ยกเลิกสิทธิการผูกขาดการสื่อสารทางวิทยุของทางกองทัพ หลังจากที่วิทยุอันเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารสำคัญอันใหม่ของกองทัพก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่กองทัพจะผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวได้อีกอีกต่อไปในนามของความมั่นคง บริษัทวิทยุยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างอังกฤษอย่าง Marconi Company ก็ได้มีสิทธิ์ดำเนินการผูกขาดสิทธิบัตรวิทยุในอเมริกา อย่างไรก็ดีนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทางกองทัพอเมริกันจะพึงพอใจ เพราะในสายตาของกองทัพเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงอย่างวิทยุไม่ควรจะไปอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติแม้ว่าสงครามจะจบสิ้นแล้วก็ตาม หลังจาก Marconi Company ผูกขาดการรับส่งคลื่นวิทยุ ทางกองทัพได้ทำการขัดแข้งขัดขาต่างๆ นานา และเจรจาสารพัด จนสุดท้าย ทางกองทัพก็ร่วมมือกับบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันอย่าง General Electric ทำการเทคโอเวอร์ Marconi Company สาขาอเมริกาและตั้งบริษัทใหม่นามว่า Radio Corporation of America (RCA) ที่เป็นบริษัท “มหาชน” ซึ่งมีแต่ชาวอเมริกันเท่านั้นที่จะถือหุ้นในบริษัทได้

นี่เป็นจุดเริ่มของทศวรรษ 1920 อันเป็นทศวรรษที่ยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมวิทยุ ซึ่งจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ในปี 1929 ทาง RCA ก็สามารถ “เทคโอเวอร์” Victor Talking Machine Company อันเป็น “ค่ายเพลง” ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาที่เป็นบริษัทที่ผลิต “แผ่นเสียง” และเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้นได้ การควบกิจการข้ามอุตสาหกรรมนี้นอกจากจะทำให้เครื่องหมายการค้า “หมาฟังกระบอกเสียง” อันโด่งดังกลายมาเป็นของ RCA แล้ว (เฉพาะในสหรัฐอเมริกา) มันก็ดูจะส่งผลต่อทิศทางของกฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกันด้วย

ความเป็นหนึ่งเดียวกันของ “ค่ายเพลง” “บริษัททำแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียง” “บริษัทวิทยุ” ทำให้ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมเหล่านี้มีร่วมกันในนามของ RCA และนี่ส่งผลทำให้ไม่เกิดการต่อสู้เพื่อให้เกิด “ลิขสิทธิ์การกระจายเสียง” งานงานดนตรีต่างๆ เพราะสุดท้าย RCA ที่เป็นหนึ่งในค่ายเพลงใหญ่และยักษ์ใหญ่ของการผลิตแผ่นเสียงก็ได้ประโยชน์อยู่แล้วโดยไม่ต้องต่อสู้ใดๆ

วิทยุเป็นสื่อที่จำต้องจ่าย “ค่าลิขสิทธิ์” ในการนำดนตรีมาเผยแพร่อยู่ตั้งแต่แรกแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ในการใช้ “บทประพันธ์ทางดนตรี” เพื่อ “เผยแพร่ต่อสาธารณะ” นั้นก็เป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายของรัฐบาลกลางมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ในทศวรรษที่ 1920 การนำบทประพันธ์ทางดนตรีไปใช้แสดงต่อสาธารณะก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้นักแต่งเพลง (ที่ตอนนั้นรวมตัวกันในนาม ASCAP แล้ว) อยู่แล้ว ซึ่งการ “เผยแพร่ต่อสาธารณะ” นี้ในทางปฏิบัติก็คือการนำดนตรีไปเล่นสดในพื้นที่สาธารณะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงเหล้า หรือการ “แสดงสด” เพื่อ “ออกอากาศ” ทางวิทยุ

คำถามคือในตอนนั้นมีเทคโนโลยีบันทึกเสียงแล้วทำไมสถานีวิทยุถึงต้องจ้างนักดนตรีไปแสดงสด แทนที่จะ “เปิดแผ่น” ออกอากาศเลย คำตอบคือเหตุผลด้านคุณภาพเสียง เพราะเทคโนโลยีบันทึกเสียงในทศวรรษที่ 1920 ก็ยังไม่ได้ดีเลิศอะไรไปกว่ายุคก่อนหน้านั้นนัก การเอาแผ่นเสียงมาเปิดออกอากาศมันก็ยิ่งทำให้งานบันทึกเสียงที่คุณภาพเสียงไม่สู้ดีอยู่ ต้องมาลดทอนคุณภาพเสียงไปอีกกับกระบวนการออกอากาศซึ่งก็คือต้องแปลงสัญญาณเสียงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและลดคุณภาพเสียงไปอีก ดังนั้นในแง่นี้การแสดงสดในการออกอากาศเลยจึงเป็นการเริ่มกระจายเสียงจาก “สัญญาณ” เสียงแบบเต็มๆ สดๆ ก่อนแปลงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าส่งตรงไปทางบ้านของผู้ฟัง ซึ่งผลคือการ “กระจายเสียงการแสดงสด” ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าการ “เปิดแผ่น” แบบเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นในทศวรรษที่ 1920 โดยทั่วไปในรายการดนตรีทางวิทยุก็ไม่มีใครเอาแผ่นเสียงมาเปิดกัน แต่จะจ้างนักดนตรีมาเล่นออกอากาศสดๆ แทน และนั่นก็เป็นแหล่งรายได้อย่างงามของพวกนักแต่งเพลงที่คอยจะเก็บค่าลิขสิทธิ์อยู่แล้ว และเมื่อไม่มีการ “เปิดแผ่นเสียง” อย่างเป็นล่ำเป็นสันในธุรกิจที่เงินไหลมาเทมาอย่างวิทยุ การเรียกร้องว่า “เสียง” ในแผ่นเสียงมีลิขสิทธิ์และ “เจ้าของเสียง” ต้องได้การตอบแทนทุกครั้งที่มีการเปิดเสียงก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้สักเท่าไรในยุคนั้น

อันที่จริงยุคนั้น “แผ่นเสียง” ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ฟังกันกระหน่ำกันทุกระดับของสังคมดังเช่นในครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 เพราะแม้ว่า “แผ่นเสียง” ของทาง Victor Talking Machine Company จะมียอดขายชนะ “กระบอกเสียง” ของบริษัทอื่นๆ และกลายมาเป็นวัสดุบันทึกเสียงที่ขายดีที่สุดมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1920 ไปเรียบร้อยก่อนที่ทาง RCA จะเข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทแล้ว แต่คนยุคนั้นก็ไม่ได้นิยมจะซื้อ “แผ่น” มาฟังกันอย่างที่เป็นในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 งานดนตรีที่ถูกบันทึกลงแผ่นเสียงส่วนใหญ่ก็เป็นเพลง “บลูส์” “กอสเปล” และ “แจ๊ส” (ถ้าจัดตามมาตรฐานทุกวันนี้ก็น่าจะเป็นแจ๊สแขนง “สวิง” และ “บิ๊กแบนด์” เป็นหลัก)  ซึ่งในทศวรรษ 1920 นี่เป็นแขนงดนตรีที่ผู้ฟังหลักเป็นคนดำ ดังนั้นงานพวกนี้ที่ทั้งหมดผลิตเป็นแผ่นเสียงความเร็ว 78 RPM จึงถูกขนานนามว่า “แผ่นคนดำ” (Race Record) [1]

แม้ว่ายุคทศวรรษ 1920 หรือยุค “ทเว็นตี้ร้องคำราม” (Roaring Twenties) จะมีพวกคนขาวฟังเพลงคนดำเหล่านี้มาก แต่คนพวกนี้ก็ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ เพราะโลกดนตรีของคนขาวดูจะเป็นโลกของการไปดูการแสดงสดที่มีดนตรีประกอบและการฟังวิทยุที่แสดงสดเพลงคลาสสิกยาวๆ ไปเลยมากกว่าจะที่มานิยมฟังแผ่นเสียงเพลงแจ๊สของพวกคนดำที่ตอนนั้นเป็นดนตรีที่แสดงถึงความ “ขบถ” ในสังคมอเมริกันเสียยิ่งกว่าที่ดนตรีร็อคแอนด์โรลจะเป็นได้ในอีกราว 30 ปีให้หลัง (ไม่ต้องพูดถึงอะไรหลังจากนั้น)

พวกคนขาวยอมรับเพลงแจ๊สมากขึ้นก็ในช่วงทศวรรษ 1930 อันเป็นยุคที่เกิด “ภาวะตกต่ำครั้งใหญ่” (The Great Depression) อันเป็นยุคมืดทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ยาวนานมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ในยุคนี้ ก็แน่นอนว่า “กำลังบริโภค” ของผู้คนไม่ว่าจะผิวสีอะไรก็ล้วนลดฮวบฮาบ ซึ่งสิ่งที่บริษัทผลิตแผ่นเสียงงานดนตรีเจ้าใหญ่อย่าง RCA ทำก็คือ ผลิต “เครื่องก็อปแผ่น” มาขยายเพราะตระหนักว่าภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ก็คงจะไม่ค่อยมีใครซื้อแผ่นเสียงฟังกัน (แม้ว่าจะเป็นแผ่นเสียงของทางบริษัท) ซึ่งนี่ก็เป็นความยืดหยุ่นของบริษัทที่ทำมาหากินกับดนตรีสารพัดทางที่สามารถจะเปลี่ยน “โมเดลทางธุรกิจ” ให้เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ “ค่ายเพลง” ในอเมริกายุคปัจจุบันไม่มี (จึงต้องไปไล่บี้การผลิตแผ่นผีและการโหลดเพลง แทนที่จะไปหากินในตลาดเหล่านั้นเอาเสียเอง) [2]

แม้ว่าจะเครื่องก็อปแผ่นจะเป็นเทคนิคที่พยายามใช้เพื่อแก้ลำยอดขายแผ่นเสียงที่ตกลง แต่มันถือเป็นความล้มเหลวทางธุรกิจของ RCA เพราะราคามันก็แพงเกินกว่าที่คนทั่วๆ ไปจะซื้อมาใช้ได้ และอเมริกันชนในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ดูจะเลือกที่จะหาดนตรีฟังเอาทางอื่นเช่นทางวิทยุ (ซึ่งในแง่นี้บริษิทที่มีพื้นฐานคือการหากินกับวิทยุอย่าง RCA ก็ยังได้ประโยชน์อยู่) ไปจนถึงทำกิจกรรมอย่างอื่นมากกว่า เพราะการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของชีวิตที่คนจะขาดไม่ได้ในยุคนั้น

อย่างไรก็ดีการเกิดขึ้นของ “เครื่องก็อปแผ่น” มันก็ได้กลายมาตอบสนองความต้องการของเหล่านักสะสมแผ่นเสียงที่เป็นคนขาวทั้งหลายในยุคนั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าคนขาวยอมรับดนตรีคนดำมากขึ้นมากในทศวรรษที่ 1930 คนพวกนี้คือคนที่มีฐานะพอสมควรมิเช่นนั้นก็คงจะเป็น “นักสะสม” ไม่ได้ ซึ่งความนิยมดนตรีคนดำของคนพวกนี้ก็ทำให้คนพวกนี้ไปไล่ซื้อ “แผ่นคนดำ” ที่ผลิตมามากมายในทศวรรษที่แล้ว

อย่างไรก็ดี แผ่นพวกนี้ก็ถือเป็นของเก่าเก็บ แผ่นใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยยังได้รับการผลิตอยู่ อย่างไรก็ดี “งานเก่าๆ” อีกจำนวนมากก็ไม่ได้รับการผลิตซ้ำอีกแล้วโดยพวกค่ายเพลงต่างๆ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำช่วงทศวรรษ 1930 ก็คงจะไม่มีนายทุนค่ายเพลงใดที่จะผลิตงานดนตรีนี่ไม่น่าจะขายดีนัก หรือกระทั่งไม่น่าจะขายได้เป็นจำนวนมากออกมา [3] ดังนั้นเหล่านักสะสมทั้งหลายในยุคนั้นที่ต้องการเก็บสะสมงานดนตรีคนดำเก่าๆ ก็ต้องเฟ้นหาสารพัดวิธี ว่ากันว่าการไปไล่เคาะประตูบ้านของคนดำและเสนอซื้อแผ่นเสียงเก่าๆ ก็เป็นเรื่องปกติของนักสะสมแผ่นเสียงคนขาวในช่วงทศวรรษ 1930 เลยทีเดียว

แต่การไปไล่เก็บแผ่นตามครัวเรือนของคนดำก็ไม่ได้เป็นการตอบสนองความต้องการงานดนตรีเก่าๆ ของนักสะสมอีกจำนวนมาก นี่ทำให้เริ่มมี “ค่ายเพลง” เล็กๆ ทำแผ่น “ดั๊บ” (dub) หรือทำการก็อปปี้แผ่นเสียงออกมาขายโดยเน้นแต่งานดนตรีเก่าหายากที่ทางค่ายเพลงไม่ผลิตแล้ว ซึ่งการ “ดั๊บ” นี่ก็ย่อมาจากการ “ดับเบิ้ล” (double) ซึ่งก็สื่อให้เห็นว่าการทำแผ่นดั๊บนั้นต้องทำทีละแผ่น

พวกค่ายเพลงที่ “ดั๊บ” แผ่นหายากขายพวกนี้น่าจะเป็นเป็นธุรกิจ “แผ่นผี” ที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันในยุคแรก อย่างไรก็ดีในยุคนั้นไม่มีค่ายเพลงออกมาโวยวายพวกแผ่น “ดั๊บ” พวกนี้เพราะนอกจากที่ยุคนั้นตัว “งานบันทึกเสียง” ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีลิขสิทธิ์แล้ว การไปโวยวายกับแผ่น “ดั๊บ” ก็ยังไม่สามารถเข้าข้อหาคลาสสิกที่พวกค่ายเพลงนิยมใช้ฟ้อง “คนทำแผ่นผี” ในยุคก่อนมีลิขสิทธิ์อย่างข้อหา “ทำการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม” ด้วย เพราะแผ่นดั๊บเหล่านี้ก็ไม่ได้ไป “แข่งขัน” อะไรกับสินค้าของค่ายเพลง เพราะมันผลิต “อดีตสินค้า” ของค่ายเพลงที่ค่ายเพลงไม่เห็นค่าพอจะ “ผลิตซ้ำ” มันออกมาขายอีกครั้ง นั่นก็คือพวกค่ายเพลงที่ “ดั๊บ” แผ่นขายมันมักจะผลิดเฉพาะแผ่นที่ขายหมดสต็อก (out of print) แล้วเท่านั้นมาขาย

ถ้าจะกล่าวด้วยภาษาปัจจุบันคือค่ายเพลงเล็กๆ พวกนั้นมันหากินกับ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่เจ้าของไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกแล้ว  ซึ่งการพูดแบบนี้ในทศวรรษที่ 1930 ก็ถือว่าเป็นการใช้คำแบบผิดยุคสมัย เพราะอเมริกาต้องรออีกราว 40 ปีก็ตามกว่ารัฐบาลกลางจะยอมรับว่างานบันทึกเสียงเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ชนิดหนึ่ง

 

อ้างอิง

[1] ผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไม “คนดำ” ที่น่าจะเป็นคนระดับล่างของสังคมอเมริกาถึงมีเงินซื้อแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั้งๆ ที่ในยุคนั้นเป็นของที่มีราคาสูง คำอธิบายเบื้องต้นก็คือ ในทศวรรษที่ 1920 “มาตรฐานการครองชีพ” ของสังคมอเมริกันขึ้นสูงมาก และการยกระดับการครองชีพนี้ก็ส่งผลต่อทุกระดับของสังคม “คนดำ” ที่แม้จะเป็นคนระดับล่าง แต่ก็เป็นระดับล่างของสังคมที่มาตรฐานการครองชีพถือว่าสูงลิบในโลก ซึ่งนี่ก็คงจะไม่ได้ต่างจากการที่ “ชนชั้นแรงงาน” อเมริกันในยุคปัจจุบันก็มีความสามารถในการบริโภคที่อาจจะสูงกว่า “ชนชั้นกลาง” ในประเทศโลกที่สามบางประเทศด้วยซ้ำ

[2]  Alex Sayf Cummings, Democracy of Sound: Music Piracy and the Remaking of American Copyright in the Twentieth Century, (New York: Oxford University Press, 2013), pp. 35-62

[3]  ยอดขายแผ่นเสียงในอเมริกาเมื่อเข้าช่วงเศรษฐกิจตกต่ำตกฮวบ ขนาดที่เรียกได้ว่าช่วงยุครุ่งเรืองกลางทศวรรษ 1920 ยอดขายแผ่นทั้งอุตสาหกรรมสูงถึง 100 ล้านแผ่น แต่มาช่วงเศรษฐกิจตกต่ำยอดขายตกลงมาเหลือเพียง 6 ล้านแผ่น ดู  Loren Schoenberg, Jazz: A History of America's Music, http://www.pbs.org/jazz/exchange/exchange_race_records.htm>

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net