“ผีประชาธิปไตย”: ความเข้าใจผิดๆ ว่าด้วยการปฏิรูปทางการเมืองในพม่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าพม่ากำลังอยู่ในระยะปฏิรูปในยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย (democratization) สังคมไทยส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงในพม่าในเชิงบวก เพราะเชื่อว่าการปฏิรูปในพม่านั้นจะนำพาความจำเริญทางเศรษฐกิจเข้ามาสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลจากพม่า[1] และยังฝากความหวังไว้กับโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ทวายอีกด้วย แต่แม้อนาคตของพม่าจะดูสดใสและมีผู้ตั้งความหวังกับการปฏิรูปในพม่าครั้งนี้ไว้สูงลิ่ว แต่ในความเป็นจริงความเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียง “ผักชีโรยหน้า” หรือแผนการโรดแม็บแบบ “สุกเอาเผากิน” เพื่อวาระซ่อนเร้นบางอย่าง

แต่ไม่ว่าวาระซ่อนเร้นนั้นจะเป็นอะไร ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา พม่ามาไกลเกินกว่าที่จะกลับไปเป็น “ฤๅษีแห่งเอเชีย” ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร นับตั้งแต่ปี 2003 เมื่อมีการประกาศใช้แผนแม่บท 7 ขั้น พม่าเริ่มออกตัวปฏิรูปอย่างเชื่องช้า นักโทษการเมืองหลายร้อยชีวิตยังใช้ชีวิตในเรือนจำและบางส่วนถูกทรมานอย่างทารุณ ด้านด่ออองซานซูจี (Daw Aung San Suu Kyi) ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ก็ยังถูกควบคุมตัวในบ้านพักต่อมาอีกหลายปี ชะตากรรมของทั้งด่ออองซานซูจีและเพื่อนนักโทษการเมืองอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าแม้นแผนแม่บทเพื่อการปฏิรูปการเมืองในพม่าจะผ่านไปแล้ว 6 ปี (จาก 2003-2009) แต่ก็ยังไม่มีทีท่าจากฝากฝั่งรัฐบาลที่จะปรับตัวให้เข้ากับแผนดังกล่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีในต้นปี 2010 ด้วยความงุนงงของผู้สังเกตการณ์ รัฐบาลพม่าได้ออกมาประกาศเป็นครั้งแรกว่าได้ผ่านกฎหมายการเลือกตั้งฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว และยังประกาศเปลี่ยนธงชาติ เพลงชาติและชื่อประเทศด้วย

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษเกิดขึ้นด้วยความหวาดระแวงจากพรรคฝ่ายค้านและจากทั่วโลก แต่พรรคฝ่ายฝ่ายค้านหรือพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (NLD – National League for Democracy) ตัดสินใจคว่ำบาตรการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2010 โดยอ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมเนื่องจากพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) พรรคใหญ่ที่สุดที่ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนั้นเปรียบเสมือน “ร่างทรง” ของรัฐบาลทหาร มีอดีตนายทหารที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างคับคั่ง ประกอบกับมีการทุจริตการเลือกตั้งในวงกว้างจนสื่อทั่วโลกมองว่าการเลือกตั้งในครั้งนั้นเปรียบเสมือนการเลือกตั้งหลอกๆ

ต่อมาในปี 2011 นับเป็นปีที่มีความหมายยิ่งต่อกระบวนการปฏิรูปในพม่า ตั้งแต่ต้นปี เตงเส่ง (Thein Sein) อดีตพลโทในกองทัพและนายทหารคนสนิทของนายพลตานฉ่วย (ผู้นำเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 1992) ก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ท่าทีของรัฐบาลพลเรือนเปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจนเริ่มตั้งแต่การทยอยยกเลิกบัญชีดำกว่า 2 พันรายชื่อ การให้เสรีภาพกับสื่อเพิ่มขึ้น ยกเลิกคำสั่งห้ามเวบไซต์บางแห่ง ปล่อยตัวนักโทษการเมืองบางส่วน และการระงับการสร้างเขื่อนมยิตโซน (Myitsone dam) โดยให้เหตุผลว่าโครงการดังกล่าว “ขัดกับความปรารถนาของประชาชนพม่า”[2] มีข่าวลือออกมาว่าเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังท่าทีการปฏิรูปของรัฐบาลพม่า (ที่ออกจะฉบับพลันจนตั้งตัวไม่ทัน!) ในปี 2011 นี้คือความเกรงกลัวอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในพม่าภายในกลุ่มนายทหารระดับสูงในรัฐบาลพม่าเอง[3]

เมื่อความพยายามปฏิรูปในปี 2011 ประสบความสำเร็จและได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากนานาชาติ พม่ากลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ชาติอื่น ๆ ให้ความสนใจไปลงทุน สถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนที่ “ดีขึ้น” ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติเริ่มมีความมั่นใจซึ่งนำไปสู่การยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับพม่าแม้จะมีเสียงติงจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง สหภาพยุโรป ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับพม่าอย่างถาวรในเดือนเมษายน 2013 และตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่เริ่มยกเลิกการคว่ำบาตรบางส่วนตั้งแต่ต้นปี 2013 เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้เศรษฐกิจพม่าเจริญแบบก้าวกระโดดมาจวบจนปัจจุบัน สถิติของธนาคารโลกชี้ชัดว่าเศรษฐกิจพม่าเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเมินกันว่าเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2013/2014 เติบโตถึง 8.3 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่าจะแตะ 8.5 เปอร์เซ็นต์ในปีงบประมาณหน้า[4] นอกจากนี้ภายในพม่าเอง รัฐบาลพม่าเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งมีการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในต้นปี 2014 (ครั้งสุดท้ายที่มีการสำรวจสำมะโนประชากรในพม่าคือในปี 1983) ที่จะเป็นตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจและเพื่อแสดงให้นานาชาติเห็นว่าพม่า “เปลี่ยนไปแล้ว” และตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่นี้อย่างดี

แม้การพัฒนาจะมาพร้อมการปฏิรูปแต่ประเด็นที่ทั่วโลกยังจับตามองพม่าด้วยความวิตกกังวลคือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่จัดขึ้น ณ กรุงเนปีดอว์ ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายนที่ผ่านมาถือเป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำชาติสำคัญ ๆ หรือแม้แต่องค์การสหประชาชาติเองออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศของพม่าด้วยความเป็นห่วง ในงานแถลงข่าวของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ[5]  นายบันคีมูนชี้ให้ทั่วโลกเห็นว่าประเด็นเรื่องชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในพม่ากลายเป็น “ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด”[6] นับตั้งแต่ความรุนแรงทางเชื้อชาติระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธในพม่า[7] ประทุขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2012 นายบันยังเรียกร้องให้ผู้นำพม่าหันมาให้ความสนใจกับประเด็นนี้เพิ่มขึ้นโดยที่เขาเน้นว่าชาวโรฮิงญามีสิทธิที่จะเป็นประชากรของพม่าอย่างสมบูรณ์ มิใช่คนไร้รัฐหรือผู้ลี้ภัยอย่างที่เป็นอยู่ จากการกดดันขององค์การสหประชาชาติและนานาชาติ รัฐบาลพม่ากล่าวถึงแผนปฏิบัติงาน (action plan) เพื่อพัฒนารัฐยะไข่ในเดือนตุลาคม ปี 2014  โดยรวมกระบวนการพิสูจน์สัญชาติของชาวโรฮิงญาที่รัฐบาลอ้างว่าจะนำไปสู่การมอบสัญชาติเมียนมาร์ให้กับกลุ่มคนไร้รัฐกลุ่มนี้ต่อไป[8] นายบันเจาะจงใช้คำว่า “ชาวโรฮิงญา” ซ้ำ ๆ ในงานแถลงข่าว[9]เพื่อให้รัฐบาลพม่าเข้าใจจุดยืนขององค์การสหประชาชาติว่าประเด็นเรื่องชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาภายในของพม่าที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างความปรองดองระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธภายในประเทศของตน มิใช่ให้การสนับสนุนขบวนการต่อต้านชาวมุสลิมอย่างที่เป็นอยู่

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาก็ได้แสดงออกผ่านทั้งทางวาจาและภาษากายว่ารัฐบาลพม่าควรจัดการกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้รัดกุมและรวดเร็วกว่านี้ แต่ก็ได้สรุปว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แม้เส้นทางปฏิรูปในพม่าจะคดเคี้ยวไปบ้าง แต่เขาเชื่อว่ารัฐบาลพม่าจะประสบความสำเร็จกับกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยนี้อย่างแน่นอน[10] ท่าทีแนวบวกที่โอบามาสะท้อนกลับไปให้ประธานาธิบดีเตงเส่งนั้นนับว่าไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะนับตั้งแต่สหรัฐฯยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบางส่วนกับพม่า สหรัฐฯจะกลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่ปี 2011 คือปีทองของการปฏิรูปทางการเมืองในพม่า ชื่อเสียงของพม่าในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ “มาแรง” ที่สุดในเอเชียกลับต้องสะดุดลงพร้อมกับเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมที่เริ่มจากรัฐยะไข่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2012 เมื่อมีสตรีชาวยะไข่พุทธถูกข่มขืนและสังหารอย่างโหดเหี้ยม ชาวพุทธในแคว้นยะไข่กล่าวหาว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมนี้ ข่าวลือแพร่ไปอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2012 เรื่อยมาจนถึงต้นปี 2014 ชาวยะไข่พุทธที่โกรธแค้นบุกเผาบ้านเรือน มัสยิด และสังหารชาวโรฮิงญาไปเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกชาวโรฮิงญาก็ตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรงแต่ไม่สามารถต้านทานกระแสความเกลียดชังของชาวพุทธที่ลามไปยังหัวเมืองอื่น ๆ ทั่วพม่า ได้แก่ ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์[11] พระสงฆ์พม่า (รวมถึงพระสงฆ์จากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ) เป็นกระบอกเสียงใหญ่ที่นำพากระแสความเกลียดชังชาวมุสลิมโรฮิงญาแทรกซึมเข้าสู่สังคมพม่า ก่อกำเนิดเป็นกระแสต่อต้านชาวมุสลิมที่รู้จักกันในนามขบวนการ “969” ซึ่งมีอูวีระธู (U Wirathu) พระนักเทศน์ชื่อดังเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการสร้างความเป็นอื่นนี้

ในประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้กระแสการปฏิรูปและการปฏิรูปประเทศ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่สำหรับพม่า กระบวนการปรองดองของคนในชาติโดยเฉพาะระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงตราบใดที่ผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีเตงเส่ง ชนชั้นนำ และชนชั้นกลางส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุน “เฮตสปีช” (hate speech) และบ่มเพาะความเกลียดชังให้ชาวพุทธเกลียดชังชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นจนนิตยสารไทม์ (Time) นำอูวีระธูขึ้นปกแล้วเขียนคำอธิบายสั้น ๆ ไว้ว่า “The Face of Buddhist Terror” (ฉบับเดือนมิถุนายน 2013) อูเตงเส่งให้สัมภาษณ์ตอบโต้นิตยสารไทม์เพียงว่าอูวีระธูคือ “บุตรของพระพุทธเจ้า” และบทความในนิตยสารจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนาพุทธ[12] ด้านคณะกรรมการสอบสวนเพื่อแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ (Rakhine Investigation Commission) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้กลับถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวพุทธหัวรุนแรงทั้งที่เป็นชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่ ตัวอย่างที่สำคัญเกิดขึ้นในความรุนแรงหลาย ๆ ครั้ง เมื่อคณะกรรมการฯออกมาปฏิเสธว่ามีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 40 คนในกลางเดือนมกราคม 2014 โดยอ้างเพียงว่าคณะกรรมการฯไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ชัดว่ามีการสังหารหมู่เกิดขึ้นจริง[13]

นอกจากประเด็นที่เป็นที่สนใจของประชาคมโลกอย่างในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาแล้วในปัจจุบันยังมีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมาเรื่อย ๆ ในแวดวงสื่อสารมวลชน ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่กรกฎาคม 2014) นักหนังสือพิมพ์และนักข่าวรวม 8 คนถูกจับกุมในข้อหาละเมิดกฎข้อบังคับของรัฐบาล หนึ่งในสื่อมวลชนที่ถูกจับกุมคือซอเพ (Zaw Pe) ช่างภาพจากสำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB) ยังนับว่าโชคดีที่ซอเพและเพื่อนนักข่าวอีก 1 คนได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกควบคุมตัวอยู่ 3 เดือน แต่สำหรับนักข่าวอิสระอย่างอ่องจอนาย (Aung Kyaw Naing)  หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม “พาจี” (Par Gyi) ต้องกลับถูกกังขับ ทรมานและสังหารอย่างเหี้ยมโหดโดยทหารพม่าหลังจากที่เขาเข้าไปทำข่าวความขัดแย้งและการปะทะกันระหว่างกองทัพพม่ากับชนกลุ่มน้อยที่รัฐมอญ[14] การเสียชีวิตของอ่องจอมินเป็นเครื่องเตือนให้เราตระหนักรู้อยู่เสมอว่าการปฏิรูปในพม่ามีปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นห่วงและยิ่งจะทำให้เราตั้งคำถามว่าการปฏิรูปในพม่านั้นเป็นภาพจริงหรือเป็นเพียงภาพมายา

แม้นักการเมืองระดับสูงในรัฐบาลพม่าจะออกมาย้ำว่าการปฏิรูปในพม่ากำลังไปได้ดีและพม่าตอบรับกับเสียงวิจารณ์จากนานาชาติได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ในท้ายที่สุดภาพที่ปรากฏออกมากลับเป็นภาพการปฏิรูปที่ล้วนเอื้อประโยชน์ให้กับคนในรัฐบาลและพวกพ้อง (crony) และทำลายผู้ที่คิดต่างอย่างไม่ปรานี ยิ่งไปกว่านั้น อำนาจของรัฐที่แผ่ขยายไปทุกภาคส่วนยังสร้างความประหวั่นใจให้กับผู้คนในสังคมพม่า การออกมาประท้วงร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติของนักศึกษาในย่างกุ้งและหัวเมืองอื่น ๆ อย่างทวายที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นสัญญาณอีกอย่างที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจะมีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล “ปฏิรูป” ชุดนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต กฎหมายการศึกษาระดับชาติฉบับดังกล่าวเองก็เป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐซึ่งต้องการรวมศูนย์การศึกษาไว้ที่ภาครัฐผ่านคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ อำนาจการตัดสินใจและการตั้งงบประมาณของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะอยู่ในมือคณะกรรมการชุดนี้ทั้งหมด[15]

พาจี (คนที่สามจากซ้าย) นักข่าวอิสระ ถูกคนของกองทัพพม่าสังหาร (ที่มาของภาพ: Democratic Voice of Burma)

ปัจจุบันกฎหมายการศึกษาแห่งชาติได้ผ่านความเห็นชอบของสภาสูงสุดของพม่าไปแล้ว และนักศึกษาพม่าได้ร่วมกันประท้วงกฎหมายที่พวกเขามองว่าขัดกับปรัชญาของการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย อนึ่ง บทบาทของนักเรียนและนักศึกษาพม่าต่อกระบวนการเรียกร้องเสรีภาพมีความโดดเด่นมาตั้งแต่ยุคที่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และการลุกฮือของนักศึกษาขึ้นต่อต้านพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (ที่พวกเขาเชื่อว่าจะปิดกั้นสิทธิของนักศึกษาที่ยากจน) ใน ค.ศ.1920 เป็นแรงบันดาลใจแรกที่นำไปสู่ขบวนการชาตินิยมพม่าที่เข้มแข็งในทศวรรษ 1920 และ 1930

เมื่อไม่กี่ปีก่อน เมื่อหลายคนได้รับฟังข่าวการปฏิรูปทางการเมืองของพม่าก็คงจะประหลาดใจและไม่คาดคิดว่าประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมา 26 ปีจะสามารถปฏิรูปตนเองได้ แต่ต่อมารัฐบาลพม่าก็พยายามแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าตนมีความจริงใจในกระบวนการปฏิรูปนี้ผ่านการปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกบัญชีดำ หรือแม้แต่การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อย จนทำให้นานาชาติไว้วางใจยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ความเจริญที่เกิดขึ้นสวนทางกับสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนที่กลับแย่ลง อีกทั้งการใช้อำนาจของรัฐเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองหรือผู้คิดต่างยังมีให้เห็นได้ทั่วไปในพม่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อนำพาพม่าไปสู่ประชาธิปไตยเต็มตัวเป็นเสมือน “ผี” ที่คอยหลอกหลอนชนชั้นนำในพม่าให้ “ต้อง” ปฏิรูปด้วยความกระอักอักอ่วนใจ เมื่อเวลาผ่านไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของภาคประชาสังคม (และการต่อต้านที่ตามมา) รวมทั้งการกดดันจากนานาชาติ เงาตะคุ่มที่อยู่แฝงอยู่หลังม่านปฏิรูปจึงเปิดเผยตนให้เห็นอีกครั้ง ในเวลานี้คงไม่มีใครมั่นใจหรือเชื่อมั่นอีกแล้วกระมังว่าพม่าอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจริง

นักศึกษาพม่าเดินขบวนประท้วงกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ณ สี่แยกเลดาน ใกล้กับมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง, 16 พฤศจิกายน 2014 (ที่มาของภาพ: Eleven Media Myanmar)



[1] บ่อแก๊ซหลัก ๆ ของพม่าคือบ่อยาดานาและบ่อเยตากุน มีปริมาณที่ส่งให้ไทยวันละ 640 และ 430 ล้านลูกบาศกฟุตให้ไทยทุกวัน (สถิติ พ.ศ.2556). “พม่าขึ้นเบอร์ 1 ส่งออกก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในเอเชีย,” ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9 พฤษภาคม 2556: http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9560000055820.

[2] Sean Turnell, “Myanmar in 2011: Confounding Expectations,” Asian Survey 52 (1), 2012, 157.

[3] เล่มเดียวกัน, 160.

[4] “Burma’s growth rate set to hit 8.5 percent : World Bank,” Democratic Voice of Burma (DVB), 7 ตุลาคม 2014: https://www.dvb.no/news/burmas-growth-rate-set-to-hit-8-5-percent-world-bank-burma-myanmar/44792.

[5] สหประชาชาติคือผู้บริจาค (donor) รายใหญ่ที่สุดในพม่า

[6] Roseanne Gerin, “UN Secretary General Urges Increased Rights for Myanmar’s Rohingya,” Radio Free Asia, 12 พฤศจิกายน 2014: www.rfa.org/english/news/myanmar/ban-ki-moon-rohingya-11122014155118.html.

[7] ชาวพุทธในพม่ามิได้มีแต่ชาวพม่า หรือ “พม่าแท้” (Burman) เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธโดยเฉพาะชาวยะไข่ (Rakhine) ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่อันเป็นถิ่นที่อยู่หลักของชาวโรฮิงญา ในช่วงแรกของความรุนแรงทางเชื้อชาติ

[8] “Action plan for development of Rakhine State discussed,” จากเวบไซต์ของทำเนียบประธานาธิบดีพม่า, 12 กันยายน 2014: www.president-office.gov.mm/en/?q=issues/rakhine-state-peace-and-stability/id-4187

[9] คำว่า “โรฮิงญา” เป็นคำที่รัฐบาลพม่าและชาวพุทธพม่าพยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด โดยพวกเขามักเรียกชาวโรฮิงญาว่า “เบงกาลี” เพื่อย้ำให้เห็นว่าชาวมุสลิมกลุ่มนี้มาจากแคว้นเบงกอล (ปัจจุบันคือประเทศบังคลาเทศ) มิใช่ประชากรของพม่า นอกจากนี้ในภาษาพม่า ยังมีคำสแลง (slang) ว่า “กะลา” ใช้เรียกชาวอินเดียหรือผู้ที่มาจากอินเดียใต้โดยรวม (เทียบได้กับคำว่า “แขก” ในภาษาไทย แต่ให้ความรู้สึกในเชิงดูถูกมากกว่า)

[10] “Myanmar reforms: Obama  ‘confident’ of political change,” BBC News Asia, 13 พฤศจิกายน 2014: http://www.bbc.com/news/world-asia-30015664.

[11] “Why is there communal violence in Myanmar?,” BBC News Asia, 3 July 2014: http://www.bbc.com/news/world-asia-18395788.

[12] Hanna Handstrom, “Burma president backs anti-Muslim ‘hate-preacher’ Wirathu,” Democratic Voice of Burma (DVB), 24 มิถุนายน 2013: https://www.dvb.no/news/politics-news/burma-president-backs-anti-muslim-%E2%80%98hate-preacher%E2%80%99-wirathu/28955.

[13] “Rakhine Investigation Commission denies Rohingya massacre,” Democratic Voice of Burma (DVB), 29 มกราคม 2014: https://www.dvb.no/dvb-video/rakhine-investigation-commission-denies-rohingya-massacre-myanmar-burma/36485.

[14] Helen Regan and David Stout, “A Reporter’s Death Shows Just How Little Burma Has Changed,” Time, 4 พฤศจิกายน 2014.

[15] “Myanmar’s University Students Protest Proposed Education Law,” Radio Free Asia, 2 กันยายน 2014: http://www.rfa.org/english/news/myanmar/protest-09022014192146.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท