“การเมืองเรื่อง Performativity”: คำประกาศจาก Judith Butler ใน Gender Trouble จเร สิงหโกวินท์

 

ในโครงการ "หญิงอ่านเขียน เขียนอ่านหญิง" ครั้งที่ 8 จัดโดยหลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ. ดร. จเร สิงหโกวินท์ จากคณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาชวนอ่าน 'บทนำ' ของ Judith Butler ใน Gender Trouble หนังสือซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นที่อ้างอิงอย่างแพร่หลาย ในหมู่นักวิชาการ และผู้สนใจเรื่อง เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา  โดยเฉพาะ ในประเด็นเรื่อง การสวมบทบาท หรือ Performativity

จเร เริ่มต้นด้วยการเล่าประวัติของหนังสือเล่มนี้ว่า  เมื่อออกมาใหม่ๆ ในปี 1990 Butler ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ถูกตั้งคำถามว่า เป็นเลสเบี้ยนหรือเปล่า ?  ทำไมแต่งตัวเหมือนทอม ?  ตกลงเธอเป็นเฟมินิสต์ หรือ เควียร์ (Queer) แต่เมื่อกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว  งานของ Butler ถูกจัดประเภทให้เป็น เควียร์ โดยเฉพาะ Queer Performativity

งานของ Butler นั้นเป็นงานที่ค่อนข้างอ่านยาก เพราะเธอเป็นนักปรัชญา และได้รับการฝึกฝนทางด้านปรัชญามาโดยเฉพาะ  จึงมีการหยิบยกปรัชญามาใช้ค่อนข้างมาก  นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นงานที่อ้างอิงนักปรัชญาหลายท่าน อาทิ เฮเกล  ฟูโกต์  แดริดา   ดังนั้น  Butler จึงค่อนข้างชื่นชมผู้อ่านว่า มีความเพียรพยายามมาก แม้เนื้อหาจะยาก แต่การทำความเข้าใจ ผู้อ่านก็สามารถอ่านได้

และที่ว่ายากแสนยากนั้น ยากตรงไหน ?  จเรชวนคิดโดยการโยนคำถามต่อไป  ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ที่จริง ผู้เขียนคงไม่ได้ตั้งใจ เขียนให้ยาก แต่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น" ซึ่งจเรได้ขยายความเพิ่มเติมต่อไปว่า  งานของ Butler ยากใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1) เรื่องของคำศัพท์ ที่ทั้งคัดสรรมาจากที่ต่างๆ และที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะเสนอบางสิ่งบางอย่าง แต่ที่ยากมากที่สุด คือ 2) โครงสร้างทางภาษา ที่ไม่ใช่โครงสร้างภาษาอังกฤษทั่วไป  ดังนั้น  เวลาที่อ่าน ถ้าหากไม่เข้าใจประโยคไหน ให้หยุด อ่านซ้ำอีกรอบ และตั้งคำถามกับประโยคเหล่านั้น

คำถามต่อไปคือ ทำไม Butler จึงต้องเขียนงานให้ยากแบบนี้ และงานที่ยากๆ เช่นนี้สะท้อนให้เห็นจุดยืนของเธออย่างไร ?  ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านต่อมาได้แสดงความคิดเห็นว่า  Butler ใช้ภาษายาก เพราะภาษาไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือสื่อสารที่เป็นกลาง  ภาษาได้แฝงทั้ง อคติ ความหมาย และคุณค่าบางอย่างในตัวของมันเอง เช่นเดียวกับที่แดริดาเสนอไว้  ซึ่งจเรได้ขยายความต่อไปว่า  ภาษาไม่ได้เป็นกลางจริงๆ หากเป็นสิ่งที่แฝงด้วยอคติทางเพศและสังคม ยกตัวอย่างเช่น การที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ใช้คำว่า "ฮือฮา" นำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ปกติแล้ว คำคำนี้ในบริบทสังคมไทย จะแปลว่า 'แปลก'  ซึ่งไม่ได้มีความหมายไปในทางลบ หรือ ดูถูกจนอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาในบริบทของระเบียบวิธีวิจัยในแนว Content Analysis ซึ่งนับความถี่ในการใช้คำ จะพบว่า "ฮือฮา" ถูกใช้เกือบทุกครั้งในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน  ดังนั้น หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว คำคำนี้ คงจะชี้ให้เห็นถึงความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันที่แฝงอยู่ในสื่อมวลชนนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จเรได้วิพากษ์ต่อไปว่า  ข้อเสนอดังกล่าว อาจจะเป็นการถอดสัญญะของคำในความหมายเชิงลบของเขาเอง

ต่อมา คือ ประเด็นจุดยืนของ Butler ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่าน 'ภาษา' จเรได้อธิบายโดยสรุปว่า แนวคิด Post - structuralism ให้ความสำคัญกับการรื้อสร้างโครงสร้างของภาษา ซึ่ง [ครั้งหนึ่งเคย] ถูกมองว่า แน่น และไม่สามารถขยับเขยื้อนได้   ด้วยความตระหนักว่า ภาษาเป็นเครื่องมือในการนำเสนอเนื้อหา Butler จึงใส่ ค่านิยม จุดยืน และอุดมการณ์ Queer ลงไป ดังนั้น หนังสือของเธอจึงอ่านยาก เพราะโครงสร้างทางภาษา ไม่เหมือนกับที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง แต่แม้จะยาก จำนวนผู้อ่านของ Butler ก็มิได้น้อยลง เครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยในการอ่านงานของ Butler ก็คือ ต้องตามอ่านงานของนักปรัชญาที่ Butler อ้างถึง อาทิ เฮเกล ฟูโกต์ แดริดา เป็นต้น  เพราะเธอจะเสนอว่า ได้ความคิดนี้มาจากที่ใดบ้าง และเธอมีข้อถกเถียงหรือข้อโต้แย้งอย่างไร ? ดังนั้น ในการอ่านงานของ Butler จะต้องตระหนักใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1) ความยากของคำศัพท์ 2) ภาษาที่ใช้ และ 3) ผู้อ่านต้องไม่ดูถูกตัวเอง อีกทั้งยังต้องตามอ่าน หรือ หางานที่ Butler อ้างถึงด้วย เพื่อจะได้มีความเข้าใจมากขึ้น 

หลังจากแนะนำ Butler แล้ว จเรได้พาผู้ฟังมาถึงช่วงชวนอ่าน 'บทนำ' ของหนังสือ โดยยกตัวอย่างจากบางหน้าว่า สามารถอ่านและตีความได้อย่างไรบ้าง และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ Butler เขียน Gender Trouble ในราวๆ ปี 1989 นั้น มีข้อถกเถียงในแวดวงสตรีนิยมที่ค่อนข้างร้อนแรง แนวคิดสตรีนิยมถูกท้าทายจากคลื่นลูกที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง "Universal Sisterhood"  คือไม่ว่าจะอยู่ชาติไหน หรือที่ไหนก็ตามถูกจัดว่าเป็นพี่น้องกันหมดเลย ซึ่งโดนโจมตีเป็นอย่างมาก แม้แต่ Butler เองก็ยังนำมาวิพากษ์ เพราะเมื่อพูดถึงพี่น้องผู้หญิง ก็ยังมีการแบ่งอัตลักษณ์ทางเพศ และเพศสถานะ ให้มีแค่ผู้หญิงกับผู้ชาย ความเป็นหญิงชัดเจนมากขึ้นและอัตลักษณ์ทางเพศก็ดูเฉพาะมากยิ่งขึ้น  ซึ่ง Butler เองมองว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการเบื้องต้นของนักสตรีนิยม ที่ว่าอัตลักษณ์เหล่านี้หากมองลึกเข้าไปคือจะมีการแบ่งเพศ และทุกอย่างจะดูคล้ายเป็นรักต่างเพศเสียหมด หากคนที่เป็นผู้หญิงแต่ไม่ชอบผู้ชาย เขาจะถูกจัดให้อยู่ตรงไหน นอกจากนี้แล้ว ยังไม่ใช่ประเด็น  sexuality เพียงอย่างเดียว และมิได้เป็นเพียงประเด็นทางสังคมเท่านั้น มีเรื่องของ ชนชั้น เชื้อชาติ มิติต่างๆ อีกมากมายที่แตกต่างจะต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมด้วย Butler ยังกลับไปหานักคิดสตรีนิยมฝรั่งเศส ซีมอน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ผู้เสนอคำขวัญ “One is not born; but becomes a woman.” อันโด่งดังซึ่งส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามว่า ความเป็นหญิงจริงๆ แล้วคืออะไร การที่นักสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 ออกมารณรงค์ว่าผู้หญิงทุกคนเป็นพี่น้องกัน แสดงให้เห็นถึงความคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานแนวคิดแบบ Essentialism ซึ่งมองว่าความเป็นหญิงเป็นสิ่งที่คุณได้ติดตัวมาแต่กำเนิดนั่นเอง

ด้วยเหตุที่ อุดมการณ์ของ Butler อยู่บนพื้นฐานของ Post-Structuralism และ Post-Modernism คำว่า universal จึงถูกตั้งคำถาม Butler ย้ำว่า จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้คือ การชี้ให้เห็นว่า universal ทำให้กลุ่มที่มีอัตลักษณ์เฉพาะหายไป หนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างในประเด็นเพศสถานะ และเพศวิถี นอกจากนี้แล้ว จเรยังอธิบายต่อไปว่า ถ้าเริ่มจากคำถามว่า "ผู้หญิงคืออะไร  ?" ก็เท่ากับถามว่า ชีวิตนั้นมีอยู่ เป็นอยู่แล้วหรือ ตัวตนของเราเป็นการประกอบสร้างทางสังคม ดังนั้น Butler จึงได้เสนอว่า ความเป็น gender มัน Trouble เพราะว่ามันจำกัดการกระทำและพฤติกรรมของเรา ว่าสามารถทำแบบนี้ได้ ทำแบบนี้ไม่ได้ เช่น เป็นผู้หญิงต้องช่วยแม่เลี้ยงน้อง เป็นผู้ชายสามารถออกไปวิ่งเล่นข้างนอกได้ ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้เองก็มาจากข้อห้ามหรือข้ออนุญาตต่างๆของสังคม สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ความเป็นหญิงถูกอธิบายด้วยระบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกกำหนดบทบาทว่าสามารถมีพื้นที่ไหนได้บ้าง อยู่ในพื้นที่สาธารณะได้อย่างไร

จเรกล่าวต่อไปว่า เบื้องหลังแนวคิดของ Butler คือ การรับอิทธิพลของนักคิดสายฝรั่งเศส  และแนวคิดที่ได้รับมามากที่สุด คือ Gender Performativity ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ และความไม่สัมพันธ์ระหว่างเพศสถานะและเพศวิถี นอกจากนี้แล้ว นักสตรีนิยมมักเสนอให้ คำ 3 คำ คือ Sex Gender และ Sexuality สามารถแยกออกจากกันได้ ไม่จำเป็นต้องยึดโยง แต่ Butler บอกว่าจะไม่ยึดโยงไม่ได้ เพราะแม้แต่ความเป็นเพศทางชีวภาพ หรือเพศกำเนิดจริงๆ แล้วมันก็เป็นเพศสถานะอยู่แล้ว ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า คำ sex เป็นสิ่งที่อิงกับอวัยวะเพศ และอวัยวะเพศนั้นได้ถูกใส่ความหมายลงไปอยู่แล้วด้วย ซึ่งจเรได้ขยายความต่อว่า ความเป็นเพศนั้นถูกตัดสินด้วยเครื่องเพศ ฮอร์โมน แต่ความพยายามทำความเข้าใจว่า ผู้ชายคืออะไร และผู้หญิงคืออะไร เป็นการพยายามแสดงให้เราเห็นว่าในเรื่องของเพศที่เป็นเรื่องชีวภาพจริงๆ แล้วเป็นเรื่องการให้ความหมายจากวิถี ขนบ ประเพณีของสังคมนั้นๆ เอง Butler จึงได้บอกว่ามันแยกออกจากกันไม่ได้เลย และเสนอว่าควรจะกำจัดล้มล้าง Sex Gender และ Sexuality ทั้ง 3 คำนี้ออกไปเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นคำที่มีปัญหา ในการกำหนดอัตลักษณ์ที่สำคัญของความเป็นมนุษย์ ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว เพศเป็นเสมือนกระบวนการอย่างหนึ่งที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆไม่มีจุดสิ้นสุดและไม่มีจุดเริ่ม หรืออาจกล่าวได้ว่า ตกลงแล้ว ความเป็นเพศจะถูกตัดสินด้วยอะไร ในเมื่อมันยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงที่ชัดที่สุด คือ แง่มุมของการให้คำนิยามของความเป็นเพศว่า ความเป็นหญิง และความเป็นชาย หมายความว่าอย่างไร ทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันผู้ชายแต่งหน้า การแต่งหน้านั้นไม่ได้หมายถึงความเป็นชายได้สิ้นสุดลงตรงการแต่งหน้า ผู้ชายอาจอ่อนไหวบ้าง บางทีดูไม่เป็นชายเลยแต่ก็เป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้จึงทำให้เชื่อมโยงได้กับสิ่งที่ Butler ย้ำคือ กระบวนการที่เปลี่ยนแปลง และกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะตายตัว ซึ่งเชื่อมโยงได้กับ Geder Performativity การแสดงออกทางเพศสถานะ

หลังจากการอ่านหนังสือเป็นการชม คลิปของ Butler [*] ซึ่งจเรได้ชี้ให้เห็นว่า  Butler อธิบายอย่างชัดเจนเรื่องของกระบวนการดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ คือ กระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งควบคุมการนำเสนอโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศสถานะ Butler ได้พูดถึงการแสดงทางเพศสถานะ หรือที่เรียกว่า Gender Performativity ซึ่งมีความแตกต่างจาก Gender Performance เพราะ Gender Performance นี้จะมีผู้แสดงอย่างชัดเจน ส่วน Gender Performativity แทบจะไม่ทราบถึงตัวผู้แสดงเลยด้วยซ้ำ หรืออาจจะมีผู้แสดงอยู่เบื้องหลังแต่เราไม่รู้ อย่างไรก็ตาม Gender Performativity เป็นผลของการกระทำที่ถูกผลิตซ้ำไปซ้ำมา มีลักษณะเฉพาะผันแปรตามสังคมนั้นๆ ถ้าขยายให้เข้าใจมากกว่านี้ก็คือ เป็นการให้คำนิยามคำว่า เพศ เพศสถานะ เพศวิถี ของแต่ละสังคมผ่านสถาบันทางสังคม ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล เมื่อเกิดมาจะมีการจับห่อผ้าสีชมพูและสีฟ้าเพื่อแยกเพศ หรือโรงเรียนที่บังคับให้ผู้หญิงต้องใส่กระโปรงและผู้ชายต้องใส่กางเกง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้ว แต่เป็นการปฏิบัติการอย่างเป็นทางการผ่านสถาบันต่างๆอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้แล้ว จเรยังยกตัวอย่างหนังเรื่อง Paris is burning ที่ Butler ใช้สนับสนุนข้อเสนอ ที่ว่า การสวมบทบาทเรื่องเพศเป็นกระบวนการที่ไม่มีจุดเริ่ม และไม่มีจุดสิ้นสุด ในหนังเรื่องดังกล่าวมีการจัดประกวดโดยให้คนข้ามเพศมาแต่งตัวนำเสนอเลียนแบบบุคลิกลักษณะของอาชีพต่างๆที่ตัวเองสนใจโดยต้องทำให้คล้ายจริง  หากใครทำได้เหมือนมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะซึ่งชี้เห็นได้ถึงกระบวนการที่ไม่ได้ตายตัว เพราะเพียงแค่คุณใส่เสื้อผ้าก็จะสามารถเป็นเพศนั้นๆ เลียนแบบตามที่สังคมกำหนดไว้ได้ นอกจากนี้แล้ว หนังเรื่องนี้สามารถวิเคราะห์และมีนัยยะที่กำลังจะบอกว่าเรื่องเพศขึ้นอยู่กับภาพจำจากการนำเสนอของสังคมนั้นๆ นั่นเอง

ในช่วงท้ายของรายการ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ว่าเพศใดๆ ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีขึ้นเพราะการประกอบสร้างทางสังคมอย่างที่ Butler กล่าวแล้ว เราจะใช้ทฤษฎี Performativityอย่างไรในการอธิบายเด็กคนหนึ่ง ที่ตอนอนุบาลเขาอยากเป็นหญิงมาก ชอบประดิษฐ์ประดอย ส่วนอีกคนหนึ่งชอบใส่กางเกง จเรได้แสดงความคิดเห็นว่า เขาอาจจะเห็นตัวอย่างจากครอบครัวหรือสังคมก็ได้ ในขณะที่สังคมของเรามีความหลากหลาย แต่ทุกอย่างถูกจัดให้เป็นระเบียบ ให้ค่านิยม ให้ความหมายแก่เพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้ว มันอาจมีการผันแปรได้ คงจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ถ้าสังคมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เพศชายและเพศหญิง 

ก่อนจบ จเรได้ทิ้งท้ายไว้ว่า งานของ Butler ได้พยายามเปิดพื้นที่ให้เห็นว่า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น สามารถมองได้หลากหลายแง่มุม คงจะเป็นการดีมากทีเดียว หากเราสามารถมองคนอื่น และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ แนวคิด Performativity ของ Butler ได้เสนอว่า อัตลักษณ์เรื่องเพศเป็นสิ่งที่มีได้อย่างหลากหลาย หากเท่าที่เป็นอยู่การประกอบสร้างในสังคม กำหนดให้มีเพียงสองเพศเท่านั้น  ดังนั้นหากเรารู้เท่าทันถึงสถาบันทางสังคม หรือ สังคมที่พยายามประกอบสร้างเพศให้เหลือเพียงแค่สองเพศนี้ เราควรต้องกลับมาคิดเสียใหม่ว่าสิ่งที่เป็นจริงคือเพศมีได้หลากหลายอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นและยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติเกี่ยวกับเพศนี้เป็นเพราะสังคมกำลังครอบงำความคิดเกี่ยวกับเพศให้เราอยู่หรือไม่และ อย่างไร

 

 



[*] Judith Butler  - Bigthink.cin (http://bigthink.com/videos/your-behavior-creates-your-gender)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท