Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

งานเขียนบทนี้ของออง ซาน ซูจี ถูกรวมอยู่ในหนังสือที่ใช้ชื่อเดียวกัน นั่นคือ Freedom from Fear ที่แปลกันอย่างง่ายๆ ว่า "เสรีภาพจากความกลัว" ซึ่งหลังจากที่ต้นฉบับถูกส่งเข้าสำนักพิมพ์เพื่อจัดเตรียมการตีพิมพ์ได้เพียง 17 วัน ในปี 1991 หัวหน้าคณะบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ก็ได้รับแจ้งว่า ออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาสันติภาพ ขณะที่ตัวของเธอนั้นถูกคุมขังทางการเมืองในที่พักของเธอ ในสถานการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า ที่พรรคของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่การเลือกตั้งถูกทำให้เป็นโมฆะ


สำหรับบทที่ชื่อว่า "การอภัยเมื่อเผชิญกับภยาคติ" - Freedom from Fear (เดี๋ยวเมื่ออ่านไปแล้วจะเข้าใจว่าทำไมไม่ควรแปลอะไรง่ายๆ ว่าเสรีภาพจากความกลัว) ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกหลังจากที่ออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัล Sakharov Prize for Freedom of Thought จากสภาแห่งสหภาพยุโรป หนึ่งเดือนก่อนได้รับรางวัลโนเบล หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ รางวัลนี้เป็นรางวัลโนเบลในระดับภูมิภาคยุโรป ที่ให้กับผู้ต่อสู้กับการกดขี่และความไม่เป็นธรรมและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนั่นแหละครับ และในครั้งแรกที่มีการตีพิมพ์งานชิ้นนี้ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ก็ได้เป็นหนึ่งในช่องทางในการตีพิมพ์มาแล้ว (ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา)

ในตอนต้นของงาน ออง ซาน ซูจี ชี้ให้เราเห็นอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจที่ต่างจากที่เราชอบพูดว่า อำนาจนั้นมีแนวโน้มไปสู่ความฉ้อโกง และอำนาจที่เบ็ดเสร็จนั้นคือการฉ้อโกงที่เบ็ดเสร็จ ซึ่งมาจากพูดถึงคำว่า คอร์รัป(ชั่น) จากประโยคอภิมหาอมตะของ ลอร์ด แอคตั้น ที่ว่า Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely นั่นแหละครับ - โปรดสังเกตคำว่า corrupt ให้ดี (และจริงๆ แล้ว ประโยคต่อเนื่องที่คนลืมอ้างอิงก็คือ Great men are almost always bad men - คนที่ยิ่งใหญ่นั้นมักจะเป็นคนชั่ว - หุหุ)

ออง ซาน ซูจี พลิกประเด็นโดยชี้ว่า อำนาจนั้นไม่ได้นำไปสู่ความฉ้อฉล แต่ความกลัวต่างหากที่นำไปสู่ความฉ้อฉล

หมายถึง ความกลัวที่จะเสียอำนาจไป ทำให้คนที่มีอำนาจนั้นฉ้อฉล และความกลัวต่อการถูกลงโทษ (หรือถูกใช้อำนาจใส่) ได้ทำให้เกิดการฉ้อฉลต่อคนที่ยอมต่ออำนาจและการลงโทษนั้น

มาถึงตรงนี้ ออง ซาน ซูจี เปิดประเด็นต่อโดยการเปลี่ยนจากการใช้คำว่า คอร์รัปชั่น (corruption) ซึ่งอาจจะแปลว่าการฉ้อฉล มาใช้คำว่า "อคติ" โดยอิงเข้ากับหลักศาสนาพุทธ คือ "อคติสี่" ที่ชาวพม่าคุ้นเคย (สังเกตให้ดีถึงยุทธศาสตร์การอ้าง "ความเป็นพม่า" ในการต่อสู้ช่วงชิงความหมายด้วยการอิงกับศาสนาพุทธที่ตัวเผด็จการพม่านั้นชิงฉวยไปใช้ล้มรัฐบาลประชาธิปไตยและรากฐานการกู้ชาติของบิดาของเธอในนามของสังคมนิยมแบบพุทธและตัวเธอในฐานะผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ถูกกีดกันสิทธิทางการเมืองและความเป็นชาวพม่าเพราะแต่งงานกับชาวต่างชาติ)

อคติสี่นั้นก็คือการฉ้อฉลสี่แบบ(fourkindof corruption ขณะที่ทางไทยแปลว่าลำเอียง) ประกอบด้วย

1.ฉันทาคติ คือการฉ้อฉลที่เกิดจากความปรารถนา หรือเบี่ยงเบนไปจากหนทางที่ถูกต้อง เพราะรักหรืออามิสสินจ้าง

2.โทสาคติ คือการเดินไปในหนทางที่ผิดเพราะไม่ชอบ เพราะเกลียดชัง โกรธแค้น

3.โมหาคติ คือ ฉ้อฉลเพราะไม่รู้ความ

4.ภยาคติ ซึ่งออง ซาน ซูจี เห็นว่าสำคัญที่สุด ก็คือ ฉ้อฉลที่เกิดจากความกลัว หรือพิจารณาศัพท์ให้ดีก็คือ ภัย bhaya ซึ่งนี่แหละครับเมื่อเราพูดถึง อภัย ก็คือ การไม่มีภัย ปลอดจากภัย และปลอดจากความกลัว ดังนั้นเวลาพูดถึงการให้อภัย จึงไม่ใช่แค่ความหมายที่ใช้กันจนเกร่อว่า "ลืม หรือ จำ" แต่มันคือสภาวะที่ไม่กลัว แต่ต้องไม่กลัวอย่างมีสติ เพราะถ้าไม่กลัวแบบไม่มีสติ อาจจะย้อนไปเป็นโมหาคติ คือ เดินไปในทางที่ไม่ถูกเพราะไม่รู้ความ (แปลง่ายๆ ว่าโง่ แต่คนที่ชอบว่าคนอื่นโง่ก็มักจะโง่ และมีอคติ คือ ฉ้อฉลในจิตใจ หรือโกงได้เหมือนกัน ต้องตระหนักรู้ให้มากเข้าไว้)

ออง ซาน ซูจี ตระหนักถึงประเด็นเรื่องของความไม่รู้เป็นอย่างมาก และมองว่าเราจะต้องขจัดความไม่รู้ด้วยการมีเสรีภาพในการแสวงหาความจริง/สัจจะ โดยไม่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยความกลัว ดังนั้นในสังคมที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล (ซึ่งแน่นอนในความหมายนี้ ออง ซาน ซูจี ได้เปิดประเด็นให้เห็นว่า อคตินั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่คลุมไปถึงการโกงและความฉ้อฉล ดังนั้นถ้าจะพิจารณาหรือต้านโกงนั้นมันต้องตั้งหลักเรื่องอคตินี่แหละ) หรือเต็มไปด้วยอคตินี้ จะเป็นสังคมที่ความกลัวแทรกซึม-ครอบงำไปในทุกอณู

ออง ซาน ซูจี มองว่าการที่ประชาชนพม่าออกมาบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 1988 ไม่ใช่เป็นผลโดยตรงมาจากเพียงเรื่องของความอดอยากทางเศรษฐกิจ แต่คนพม่าซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นคนที่ถูกเลี้ยงดูมาเป็นอย่างดีและรักสงบ เขาออกมาบนถนนก็เพราะการดำเนินชีวิตของเขาถูกกระทำย่ำยีด้วยการฉ้อฉลและความกลัว โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษานั้นไม่ได้ออกมาชุมนุมประท้วงเพียงเพราะเพื่อนเขาต้องตาย แต่เขาออกมาบนถนนเพราะสิทธิในการดำรงชีวิตของเขาถูกปฏิเสธโดยระบอบเผด็จการซึ่งพรากการใช้ชีวิตที่มีความหมายของพวกเขาไปสิ้นและพรากเอาความหวังต่ออนาคตของพวกเขาไปเสีย

และเมื่อการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาทำให้ประชาชนได้รู้สึกถึงความคับข้องใจที่ขยายไปในวงกว้างขึ้นการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยก็ขยายตัวไปทั่วประเทศซึ่งส่วนหนึ่งของผู้ที่สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยนี้ก็คือนักธุรกิจที่แท้จริงก็มีทักษะและเครือข่ายที่จะได้ประโยชน์กับระบบที่เป็นอยู่แต่ความมั่งคั่งที่พวกเขามีนั้นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกถึงความมั่นคงที่แท้จริงหรือมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตของพวกเขาได้จริงๆโดยพวกคนมีเงินเหล่านี้ก็ตระหนักได้ว่าถ้าเพื่อนพ้องร่วมชาติเดียวกับเขาซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวยเหมือนพวกเขานั้นจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายได้ก็จำเป็นจะต้องมีการบริหารที่พร้อมรับผิดต่อประชาชน

อองซานซูจีชี้ว่าชาวพม่าเหนื่อยล้ากับการดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะหวาดวิตกเพราะเป็นผู้ถูกกระทำราวกับว่าพวกเขาเป็นเหมือนน้ำที่อยู่ในมือของผู้มีอำนาจซึ่งในท้ายที่สุดพวกเขาก็สามารถตระหนักได้ว่าพวกเขาอาจจะเปลี่ยนสถานะของตนกลายเป็นเศษแก้วที่ตำมือของผู้มีอำนาจได้เศษแก้วที่เปรียบเสมือนสิ่งที่เล็กที่สุดแต่แหลมคมย่อมมีอำนาจเมื่อถูกบีบหรือถูกย่ำ(ยี)และจะถูกมองเป็นสัญลักษณ์แห่งความหาญกล้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะเป็นเอกราชจากการบีบคั้นของผู้มีอำนาจดังที่อองซานบิดาแห่งการปลดปล่อยสู่เอกราชของพม่าได้กระตุ้นเตือนให้ชาวพม่าได้พัฒนาความหาญกล้าขึ้นมาด้วยการชี้ว่าอย่าเพียงพึ่งพาความหาญกล้าและอดทนของคนอื่นแต่ทุกคนจะต้องเสียสละในการที่จะหลอมรวมกันเป็นวีรบุรุษที่มีความหาญกล้าและอดทน

ซึ่งสิ่งนี้เท่านั้นจะทำให้เราพบกับเสรีภาพ(หรือเอกราช)ที่แท้จริง

การพยายามที่จะใช้ชีวิตโดยปราศจากอคติ หรือการไม่ฉ้อฉล ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวในทุกๆ ส่วนของชีวิตประจำวันนั้นอาจจะมองเห็นไม่เด่นชัดจากพวกคนที่โชคดีพอที่จะมีชีวิตในบรรยากาศที่มีการปกครองด้วยหลักนิติธรรมด้วยว่ากฎหมายที่ยุติธรรมนั้นขัดขวางไม่ให้เกิดการฉ้อฉลโดยการตัดสินคดีกับผู้กระทำผิดโดยไม่ไว้หน้าใครและยังช่วยสร้างสังคมที่ผู้คนนั้นสามารถเติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่ต้องหันไปหาการฉ้อฉลต่างๆและในสังคมที่ไม่มีกฎหมายที่ยุติธรรมเช่นนี้ภาระในการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมและการประพฤติถูกทำนองคลองธรรมที่รับรู้กันทั่วไปก็เป็นภาระของประชาชนคนธรรมดา

และด้วยผลของการพยายามที่สะสมตัวขึ้นมาอย่างไม่ย่อท้อและมั่นคงนี้ความพยายามของประชาชนก็จะเปลี่ยนแปลงชาติที่เคยถูกทำให้ผิดรูปร่างไปด้วยความหวาดกลัวมาสู่ชาติที่มีกฎหมายเป็นรากฐานที่จะส่งเสริมความมุ่งมาดปรารถนาของมวลมนุษย์ที่จะอยู่อย่างสมานฉันท์และยุติธรรมและสกัดกั้นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของพวกเขาลง

ในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดอาวุธที่อันตรายและถูกใช้โดยผู้มีอำนาจและผู้ที่ขาดหลักการโดยนำไปใช้ครอบงำคนที่อ่อนแอและคนที่รอการช่วยเหลือก็เป็นยุคที่เราต้องการความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างการเมืองกับศีลธรรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติดังที่คำประกาศสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้แถลงว่าทุกๆคนและทุกภาคส่วนของสังคมควรจะส่งเสริมให้เกิดสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพต่างๆที่มนุษยชาติไม่ว่าจะสีผิวไหน ชาติหรือศาสนาใดก็จะต้องได้รับสิทธินั้น แต่ตราบที่รัฐบาลที่ได้อำนาจของพวกเขาจากการข่มขู่บังคับแทนที่จะมาจากการมอบให้ด้วยความสมัครใจของประชาชนและการที่มีกลุ่มบุคคลที่แสวงหาประโยชน์ในระยะสั้นจากสันติภาพและความมั่งคั่งในระยะยาวของสังคมแล้วการร่วมมือกันของปฏิบัติการในระดับนานาชาติที่จะป้องกัน(การละเมิด)และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่จะต้องตระหนักถึงและอีกส่วนหนึ่งนั้นการต่อสู้ก็จะต้องมาจากการที่เหยื่อของการกดขี่ครอบงำนั้นจะต้องพัฒนาเอาสิ่งที่พวกเขามีขึ้นมาจากภายในตัวของเขาเองออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขาที่จะถูกพรากไปไม่ได้ในฐานะที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแห่งมนุษยชาติที่เป็นครอบครัวเดียวกัน

ดังนั้นการปฏิวัติที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในระดับจิตวิญญาณซึ่ีงมาจากความมุ่งมั่นในระดับปัญญาต่อความต้องการที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในจิตใจและคุณค่าต่างๆในจิตใจของผู้คนที่จะนำไปสู่การพัฒนาของประเทศชาติ การปฏิบัติจะมีโอกาสสำเร็จอย่างแท้จริงหากเป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือสถาบันที่ส่งผลเพียงแต่เรื่องทางกายภาพทั้งนี้เพราะหากขาดการปฏิวัติในระดับจิตวิญญาณแล้วอำนาจในการผลิตความไม่เท่าเทียมกันภายในระบบเก่านั้นก็ยังคงทำงานต่อไปและเป็นภัยคุกคามที่มีอย่างต่อเนื่องต่อกระบวนการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงสู่รุ่นต่อไป

ดังนั้นการเรียกร้องให้มีเสรีภาพประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจึงยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงแต่จะต้องเป็นความมุ่งมั่นที่ผนึกประสานกันอย่างเป็นเอกภาพในการได้มาซึ่งสัจธรรมที่หยัดยืนต่ออิทธิพลของความฉ้อฉลและอคติต่างๆทั้งจากความปรารถนาความเกลียดชังความไม่รู้และความกลัว

มีผู้กล่าวว่านักบวชก็คือคนบาปที่ฝึกตนให้พ้นจากบาป ดังนั้นเสรีชนก็คือผู้ที่ถูกกดขี่ย่ำยีที่ฝึกฝนตนเองให้แข็งแกร่งเพื่อจะแบกรับภาระความรับผิดชอบและผดุงไว้ซึ่งความเข้มงวดในการที่จะทำให้สังคมเสรีนั้นเกิดขึ้นและมีชีวิตต่อไปอย่างยั่งยืนและท่ามกลางเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะทำให้ผู้คนมีชีวิตอย่างสมบูรณ์"เสรีภาพจากความกลัว"เป็นสิ่งที่โดดเด่นและเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายด้วยเหตุนี้ประชาชนที่สร้างชาติที่มีการลงหลักปักฐานของสถาบันประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งและป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจรัฐในทางที่ไม่ถูกต้องก็จะต้องเรียนรู้เป็นเบื้องแรกถึงการปลดปล่อยจิตใจของตัวเองออกจากความหวาดกลัวและการไม่สนใจทุกข์สุขของผู้อื่นให้ได้

สำหรับอองซานผู้เป็นบิดาแห่งการปลดปล่อยและต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่านั้นได้ทำให้พวกเราเห็นว่าความหาญกล้าไม่ได้เป็นเรื่องทางกายภาพเท่านั้นแต่ต้องหมายถึงความหาญกล้าในการพูดความจริงความหาญกล้าในการรักษาคำพูดความหาญกล้าในการยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ความหาญกล้าในการยอมรับว่าได้พลั้งพลาดไป และได้มีการแก้ไขสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งความหาญกล้าในการเคารพคนที่อยู่ตรงข้ามกับเรา และเจรจากับข้าศึก รวมทั้งการเปิดให้ประชาชนตัดสินว่าเขามีค่าพอจะเป็นผู้นำของประชาชนได้ไหม

ความกล้าหาญทางศีลธรรมเช่นนี้จึงทำให้ออง ซานเป็นที่รักและเคารพในพม่า และไม่ได้เป็นเพียงวีรบุรุษนักรบ แต่เป็นแรงบันดาลใจและมโนสำนึกของชาติ ดังเช่นที่เนห์รูได้สรรเสริญถึงคานธีว่า "หัวใจของคำสอนของท่านก็คือ การไม่กลัวและสัจจะ รวมทั้งการปฏิบัติที่ตรงกับการไม่กลัวและสัจจะ รวมทั้งการคำนึงถึงความเดือดร้อนของมวลชนเป็นหลัก"

แม้ว่าคานธีกับอองซานจะมีความแตกต่างกัน เช่นคานธีเป็นผู้เผยแพร่การต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง และออง ซานเป็นผู้ก่อตั้งกองทัพแห่งชาติของพม่า แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองมหาบุรุษก็คือการต่อกรกับการปกครองโดยเผด็จการ และการที่เนห์รูชี้ว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคานธีก็คือการปลูกฝังความหาญกล้าให้กับชาวอินเดีย และแม้ว่าเนห์รูจะเป็นผู้นำทางการเมืองหัวสมัยใหม่ แต่เมื่อเขาประเมินถึงการต่อสู้เพื่อเอกราชในยุคสมัยใหม่นั้น เขาก็หันไปเชื่อในปรัชญาโบราณของอินเดียที่ว่า "สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดของบุคคลหรือชาติก็คือ การอภัย - abhaya หรือการปราศจากความกลัว ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องทางร่างกาย แต่หมายถึงการปราศจากความกลัวในจิตใจ"

การไม่กลัว (อภัย) อาจจะเป็นของขวัญที่ล้ำค่าแก่มวลมนุษย์ แต่สิ่งที่ล้ำค่ามากกว่านั้นก็คือความหาญกล้าที่เกิดมาจากการฝึกฝนและการทำจนเป็นนิสัยของการไม่ปล่อยให้ความกลัวเข้ามาบังคับการกระทำของเราหรือเราอาจจะมองว่านี่คือการที่เราให้อภัยหรือผ่อนปรนหรือปราศจากความกลัวท่ามกลางแรงกดดันที่โถมกระหน่ำใส่เรา

ภายในระบบที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ความกลัวมักจะเป็นกฎระเบียบของสังคมนั้น ไม่ว่าจะเป็นความกลัวต่อการถูกจองจำ กลัวต่อการถูกทรมาน กลัวต่อการตาย กลัวต่อการสูญเสียมิตร ครอบครัว หรือสิ่งที่ใช้ดำรงชีวิต ความกลัวต่อความยากจน ความกลัวต่อความโดดเดี่ยว ความกลัวต่อความล้มเหลว และสิ่งที่เป็นความกลัวที่ทำลายล้างขั้นสูงสุดคือความกลัวที่แสดงตัวออกมาในฐานะของ "สามัญสำนึก" หรือ "ปัญญา" ที่มองว่าการกระทำที่หาญกล้าแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ช่วยให้ผู้คนสามารถที่จะรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้นั้นถูกมองว่าเป็นสิ่งที่แสนจะโง่เง่าขาดการไตร่ตรองและไม่มีความหมายใดๆมันเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้คนที่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัวในกฎเหล็ก(ที่เชื่อว่าความแข็งแกร่งของผู้ปกครองคือความถูกต้อง)ในการที่พวกเขาจะปลดปล่อยตัวเองออกมาจากการครอบงำด้วยความกลัวที่ทำให้เขาอ่อนล้าและประสาทเสียแต่กระนั้นก็ตามแม้ในสภาวะที่มีการบีบบังคับอย่างสูงสุดความหาญกล้าก็จะเกิดขึ้น เพราะความกลัว ไม่ใช่สภาวะธรรมชาติของผู้คนที่มีอารยธรรม

ต้นธารของความหาญกล้าและความอดกลั้นในอำนาจแห่งการปลดปล่อยนั้นโดยทั่วไปก็คือความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการทางศีลธรรมที่ประสานเข้ากับความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ที่แม้ว่าจะเผชิญอุปสรรคใดๆสภาวะของความเป็นมนุษย์ก็มีเพื่อความก้าวหน้าทางกายภาพและจิตวิญญาณมนุษย์นั้นต่างจากสัตว์ป่าตรงที่สามารถปรับปรุงให้ตนเองดีขึ้นได้และไถ่ถอนความผิดพลาดของตนเองได้ด้วยตัวของเขาเองรากเหง้าของความรับผิดชอบของมนุษย์คือการสร้างความสมบูรณ์แบบและจะต้องทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นให้ได้รวมทั้งการคิดค้นหาหนทางไปสู่ความสมบูรณ์แบบนั้น เจตจำนงที่จะเดินตามหนทางนั้น และอย่างน้อยหากเดินไปไม่ถึงก็จะต้องไปไกลจนถึงขั้นที่จะเหนือไปกว่าข้อจำกัดที่เคยมีและเอาชนะสภาวะแวดล้อมที่จำกัดเอาไว้ให้ได้

วิสัยทัศน์ของมนุษย์ที่มีต่อโลกที่เต็มไปด้วยความมีเหตุมีผลและอารยธรรมของมนุษยชาติจะนำให้มนุษย์กล้าและเผชิญกับความเจ็บช้ำในการสร้างสังคมที่เป็นอิสระจากความต้องการและความกลัวและเราไม่สามารถละทิ้งแนวคิดในเรื่องของสัจจะความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วยการมองว่าเป็นสิ่งที่ซ้ำๆซากๆน่าเบื่อหน่าย เมื่อแนวคิดเหล่านี้มักจะเป็นทำนบสุดท้ายที่ต่อต้านกับอำนาจที่โหดเหี้ยมและไร้ความปรานี

 

เผยแพร่ครั้งแนกใน มติชนรายวันฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557)
ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net