CSOs รุ่นใหม่ ต้องมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขัดแย้ง

เวทีโชว์ผลงาน น.ศ.วิทยาลัยประชาชน ย้ำ CSOs รุ่นใหม่ ต้องมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสังคมแก้ปัญหาความขัดแย้ง ชี้CSOs ไม่ใช่รัฐ-ไม่ถือปืน ต้องทำงานความรู้ การสื่อสารและงานประชาสังคม ระบุคนหนุ่มสาวมีพลังสามารถความเปลี่ยนแปลง ต้องไฝ่เรียนรู้ ค้นหาจุดเด่นของตัวเอง

เมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม 2557 วิทยาลัยประชาชนจัดเวทีเสวนาสาธารณะและนำเสนอผลงานนักศึกษาหลักสูตรโรงเรียนประชาธิปไตยและการจัดการองค์กรสาธารณะประโยชน์ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

การนำเสนอผลงานดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 จุดตามกลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยตัวแทนกลุ่มได้นำผู้เข้าร่วมเดินชมนิทรรศการแสดงผลงานและสอบถามพูดคุยแลกเปลี่ยนไปด้วย

จากนั้นนายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถารการณ์ภาคใต้ และที่ปรึกษาวิทยาลัยประชาชนปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความหวังกับ CSOs (องค์กรภาคประชาสังคม) รุ่นใหม่” โดยนายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ถึงตายและยืดเยื้อเรื้อรัง ซึ่งจากประสบการณ์ทั่วโลกพบว่า คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยกำลังทางทหารได้ คำถามก็คือ CSOs คือใคร 

CSOs คือ “ไม่ใช่รัฐและไม่ถือปืน”

“สำหรับผมแล้ว CSOs คือ ไม่ใช่รัฐและไม่ถือปืน” นายมูฮำหมัดอายุบกล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า แล้ว CSOs รุ่นใหม่จะวัดกันตรงไหน

ประเด็นแรก นายมูฮำหมัดอายุบกล่าวถึงอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการสันติวิธีว่าเป็นคนที่ตนเรียนรู้เรื่องการทำงานตั้งแต่การทำฐานข้อมูล เครื่องมือในการทำงานโดยเฉพาะการทำงานกับชุมชน ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมที่ดี สามารถประเมินและทำวิจัย คำถามคือ CSOs รุ่นใหม่จะเชื่อมกับชุมชนอย่างไร?

ประเด็นที่ 2 นายมูฮำหมัดอายุบกล่าวถึงการเติบโตของ CSOs ในพื้นที่แต่จะมีอำนาจต่อรองหรือไม่เป็นอีกประเด็น โจทย์คือมีคนมาศึกษา CSOs รวมถึงพลวัตรของ CSOs ยังน้อย แต่การที่วิทยาลัยประชาชนสามารถทำเรื่องอย่างวันนี้ได้ซึ่งเป็นการให้ความรู้ ถือก้าวหน้ามาก

ขับเคลื่อนสังคมต้องมียุทธศาสตร์

ประเด็นที่ 3 นายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวถึงความชอบธรรมของ CSOs ซึ่งถือว่ามีมาก เพราะฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมักจะอ้างถึง CSOs แต่โจทย์คือเราจะพูดอะไร? เราจะพูดแบบไหน?

ประเด็นที่ 4 นายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวว่า “เรามาร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อหาความรู้ เพราะถึงเราจะทำงานสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ทุกอย่างก็คือความรู้ เรามาช่วยกันเติมเต็มและทำฐานข้อมูล จากนั้นถึงจะเป็นยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทำโครงการโดยไม่มียุทธศาสตร์”

CSOs รุ่นใหม่ต้องทำงานความรู้ การสื่อสารและประชาสังคม

นายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวว่า ความคาดหวังต่อ CSOs รุ่นใหม่ที่อยากเห็นก็คือ งานความรู้ งานสื่อสาร งานภาคประชาสังคม ซึ่งงานวันนี้ถือว่าดีมาก แต่ยังไม่พอ จะต้องทำต่อไปโดยที่ CSOs รุ่นใหม่จะต้องมีก็คือ

1.มีความมุ่งมั่นที่จะยุติความรุนแรงและเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งดังกล่าวอย่างจริงจัง

2.ต้องสะท้อนเสียงของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งให้ได้

3.ต้องมีเครือข่ายการทำงานที่สามารถขยายผลการทำงานต่อไปได้

4.ต้องเป็นคนที่มีจิตใจเปิดกว้างที่พร้อมจะทำงานกับคนที่เห็นต่างหรือมีภูมิหลังที่ต่างกันได้

5.ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ

6.ต้องกล้าหาญ กล้าที่จะคิดแตกต่าง กล้าที่จะแสวงหาทางเลือก กล้าที่จะอยู่ข้างหลัง และที่สำคัญกล้าที่จะไม่ใช้กำลัง

นายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวทิ้งท้ายว่า CSOs รุ่นใหม่จะต้องเป็นตัวเชื่อม และเกาะเกี่ยวระหว่างประชาชนกับคู่ขัแย้งทั้งสองฝ่าย และสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อหนุนเสริมการพูดคุย นอกจากนั้นแล้ว CSOs รุ่นใหม่จะต้องกระตุ้น ผลักดัน เชิญชวน เพื่อเป็นส่วนของการยืนยันให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไป

พลังคนหนุ่มสาวขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง

จากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ “พลังของคนหนุ่มสาวกับการขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ความขัดแย้ง” ดำเนินรายการโดยนางสาววาสนา สาเม๊าะ

นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า ทำงานในพื้นที่ขัดแย้งมาหลายปีทำให้รู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ในอิสลามความขัดแย้งคือฮิกมะฮฺหรือวิทยปัญญา ฮิกมะฮฺของความขัดแย้งคือการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่เรียนในระบบ แต่มาจากการพิจารณาหรือจากสถารการณ์บางอย่าง โดยเราต้องทำความรู้จักตัวเราเอง คนอื่น สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“ผมเรียนจบนิติศาสตร์ จบเนติบัณฑิต แต่เพิ่งมาเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนจริงๆ ก็ตอนมาทำงานศูนย์ทนายความมุสลิม”

ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากคนรุ่นใหม่

นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวต่อไปว่า การทำงานสังคมจะต้องมียุทธศาสตร์ จะเสร็จใน 1 หรือ 2 ปีเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว พวกเราทำงานในศูนย์ทนายความมุสลิมมา 10 ปีถ้าไม่สร้างคนใหม่ๆ ต่อไปก็จะไม่มีคนมาทำงานแทน

“ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในคนรุ่นหลัง ซึ่งหากอยากให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องมี 2 อย่าง คือ ความบริสุทธิ์ใจ และต้องมีความรู้ เราใช้อีมาน(ความศรัทธา)ในการขับเคลื่อนก็ต้องมีทักษะในการทำงานด้วย”

“เราต้องสร้างพื้นที่กลางให้คนเรียนทางศาสนากับคนที่เรียนด้านสามัญให้สามารถมาทำงานร่วมกันให้ได้ เพราะอิสลามไม่ได้แยกกิจกรรมทางสังคมออกจากศาสนา” นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว

นายอับดุลกอฮาร์ ตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ความรู้ของเราเข้าไปสู่ร้านน้ำชา ไม่ใช่พอกลับไปยังชุมชนความรู้ก็หายไปหมด และผู้ใหญ่เองก็ควรที่จะทำงานกับคนวัยหนุ่มสาวให้ได้ ไม่ใช่คิดว่าพอเป็นผู่ใหญ่แล้วจะทำอะไรถูกไปหมด

คนหนุ่มสาวมีพลัง ต้องไฝ่เรียนรู้

นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานเครือข่ายนูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า การทำงานทางสังคมหรือช่วยเหลือสังคมนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่ที่เน้นคนหนุ่มสาว เพราะในช่วงวัยหนุ่มสาวมีพละกำลังเยอะและยังมีภาระน้อยอยู่ถ้าเทียบกับคนมีครอบครัวแล้ว นั่นคือในภาวะสังคมปกติ แต่ในภาวะที่สังคมอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งที่เราจะต้องทำงานช่วยเหลือสังคม

นายมูฮำหมัดอาลาดี กล่าวต่อไปว่า แต่ก่อนที่เราจะทำงานเพื่อสังคม เราจะต้องเรียนรู้สังคมก่อน เพราะหนุ่มสาวบางครั้งไฟแรงจนเลยเถิดไปถึงการสั่งสอนชาวบ้าน นอกจากนั้นตนมองว่าวัยหนุ่มสาวมีปัญหาจริงๆ โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ทำงานอย่างมียุทธศาสตร์และมีคุณภาพ

นายมูฮำหมัดอาลาดี สะท้อนว่า จากประสบการณ์ในอดีตทำให้รู้ว่าความรู้ส่วนใหญ่เกิดนอกห้องเรียน ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการให้เรียนอยู่ในระบบเท่านั้น บางสถาบันจัดการเรียนการสอนจนไม่มีเวลาให้ไปเรียนรู้นอกห้อง ดังนั้นเราต้องอ่าน ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่อ่านทุกอย่าง เช่น อ่านสถานการณ์ เป็นต้น

พลังหนุ่มสาว ตัวชี้วัดสังคมพัฒนาหรือไม่

นางสาวบาดารีย๊ะ หรืออิลฮัม บุยะลา เลขานุการสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ กล่าวว่า จะดูว่าชุมชนไหนพัฒนาหรือไม่ให้ดูที่เยาวชนว่ามีความเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน ชุมชนไหนที่มีเยาวชนติดยาเสพติดมาก แสดงว่าคนในชุมชนนั้นยังไม่ตระหนักหรือไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหา และอาจมองได้ว่าไม่พัฒนา

อิลฮัม กล่าวต่อไปว่า เมื่อวิเคราะห์ดูว่าช่วงวัยไหนที่คนมีความคิดและพละกำลังมากที่สุด พบว่าเป็นวัยหนุ่มสาว ดังนั้นวัยหนุ่มสาวจึงสำคัญ หนุ่มสาวบางคนมีใจที่อยากช่วยเหลือสังคม แต่เท่านั้นยังไม่พอ จะต้องมีทักษะมีความรู้ด้วย มีความรู้ก็เพื่อที่จะสามารถต่อรองหรือกำหนดทิศทางการทำงานได้

ต้องหาจุดเด่นของตัวเองว่าช่วยสังคมได้อย่างไร

อิลฮัม สะท้อนว่า คนหนุ่มสาวจะต้องหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ เช่น เก่งด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือไอที ก็ต้องมาคิดว่าจะพัฒนาหรือเพิ่มความรู้และนำไปขับเคลื่อนเพื่อเป็นแรงหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างไร

“เราสามารถเรียนตั้งแต่เกิดจนตาย อยู่ที่ว่าเราอยากเรียนรู้หรือเปล่า ที่สำคัญเราควรมาคุยกันว่าจะแก้ปัญหาและเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเราย่ำอยู่กับที่”

อิลฮัม ฝากถึงผู้หญิงทุกคนว่า ในสถาการณ์ปกติผู้หญิงอาจจะทำงานแค่ในบ้าน แต่วันนี้ผู้หญิงต้องออกมาช่วยกันแก้ปัญหาของสังคม และผู้หญิงกับผู้ชายต้องร่วมมือกันหาแนวทางเพื่อค้นหาทางออกให้กับสังคมเพื่อไม่ให้ย่ำอยู่กับที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท