สัมภาษณ์​ ผอ.สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ว่าด้วย 'เศรษฐกิจดิจิทัล'

สืบเนื่องจากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแนวคิดที่จะขับเคลื่อน “เศรษฐกิจดิจิทัล” เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงชวนมารับฟังความคิดเห็นจากบุคคลในภาคธุรกิจ นายประวิตร ฉัตตะละดา กรรมการและผู้อำนวยการสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา)


ประวิตร ฉัตตะละดา

ถาม: อะไรคือแนวคิดของเศรษฐกิจดิจิทัล และ ATCI เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
เราใช้เวลาเยอะไปกับการถกเถียงถึงนิยามของเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ผมคิดว่ามันเสียเวลา ไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไร พื้นหลังมันคือคุณใช้ข้อมูลมาทำประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน

ทุกคนจะพูดถึงเทคโนโลยี ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของข้อมูล เราสืบความคิดกลับไปที่ตัวข้อมูล เราจะเห็นพัฒนาการของการใช้ข้อมูล ตั้งแต่ยุคหิน มาถึงยุคข้อมูลข่าวสาร จำนวนข้อมูลมันเติบโตมากขึ้น มันระเบิดออกมา เมื่อมันเกิดสิ่งนี้ เราถึงฉลาด เราจึงคิดเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ฮาร์ดแวร์ ทำให้เราทำอะไรได้ดีขึ้น เรียนรู้ได้มากขึ้น

ถ้ารัฐบาลจะให้เราใช้เทคโนโลยีอันนี้มากๆ จะตั้งชื่อว่าอะไรก็ได้ แต่ให้มันหมายความถึงการใช้ข้อมูลได้อย่างฉลาดขึ้น นี่คือมุมมองของผม ถ้าไม่มีข้อมูล เทคโนโลยีก็ไม่มีความหมาย เทคโนโลยีอย่าง Big Data นั้นช่วยให้เราจัดการกับข้อมูล แต่คนเราทำให้มีข้อมูลขึ้นมา

ผมมองว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นการเอาข้อมูลมาใช้ให้สังคมเราโต ทำให้ชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจในที่นี้คือ การกินอยู่ของเรา ชีวิตของเรา

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (Association of Thai ICT Industry – ATCI) (เดิมชื่อ “สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย”) เป็นสมาคมทางด้านธุรกิจไอทีสมาคมแรกของประเทศไทย เพิ่งครบ 25 ปีไป ใกล้ชิดกับพัฒนาการด้านไอที มันเป็นธุรกิจของ ATCI อยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อมีแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามา ทาง ATCI จึงพยายามนำเสนอความคิดให้กับรัฐบาล เป็นจังหวะที่ดีที่เราจะเร่งให้ประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น

เราต้องมาดูว่าปัญหาที่ทำให้การเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นไปได้ช้าคืออะไร คำตอบก็คือ เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัด รัฐบาลเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีกฎระเบียบต่างๆ มากมาย ไม่มีรัฐบาลที่ไหนดำเนินงานได้เร็ว ปัญหาที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลไทยคือความช้า คือการจัดการที่ไม่ดี และการใช้เทคโนโลยีไม่ถูกทาง

ถาม: ตอนนี้กำลังจะมีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงไอซีที เห็นว่าโครงสร้างของหน่วยงานเหล่านี้ไม่ดีหรืออย่างไรถึงทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้าง มองว่าโครงสร้างปัจจุบันของหน่วยงานเหล่านี้เป็นอย่างไร

โครงสร้างมีความสำคัญ ทุกองค์กรต้องมีโครงสร้าง แต่โครงสร้างเป็นเพียงมิติเดียว คุณจะจัดโครงสร้างแบบไหนก็ได้ สิ่งที่สำคัญกว่าคือความสามารถในการบริหารจัดการ คุณสามารถมีโครงสร้างที่ดีที่สุด แต่ล้มเหลว

ในที่สุด มันอยู่ที่ว่าคุณบริหารจัดการมันได้แค่ไหน คุณรับมือกับมันได้ไหม คุณมีข้อมูลเยอะกว่าคนอื่นหรือเปล่า คุณขยับได้ดีกว่าคนอื่นหรือเปล่า ปัญหาที่ทำให้คุณคิดปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จริงๆ เป็นเพราะว่าคุณบริหารจัดการไม่เก่งหรือเปล่า

อย่างที่บอก ปัญหาของทางราชการไทยอยู่ที่ “ความเร็ว” เราไม่ได้แพ้คนอื่นทุกอย่าง ภาษาอังกฤษที่คนว่าเราไม่ดี คุณไปดูจีนหรือไต้หวันภาษาผมว่าภาษาเขาแย่กว่าเรา ทุกอย่างที่เราไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะเราช้า เราเสียโอกาส

ที่ช้าเป็นเพราะเรามีการจัดการที่ไม่ดีและใช้เทคโนโลยีในทางที่ไม่ถูก เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เราก็ยังกลับไปทำงานโดยใช้วิธีแบบเดิมๆ เพียงแค่ทำได้มากขึ้น เราไม่ได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ได้ใช้วิธีใหม่ที่เทคโนโลยีทำมาให้ใช้ มันไม่คุ้มค่า

คุณต้องใช้มันในรูปแบบใหม่ เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานใหม่ ต้องหาสิ่งที่เป็น “transformative use”

สำหรับประเทศไทย เวลานั้นไม่มีขีดจำกัด เราถึงไม่มีความเร็ว สำหรับเรา “time is nothing” (เวลานั้นไม่มีความหมาย)

ถาม: จากข่าว ในการดำเนินยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัล เห็นว่าควรจะต้องมีแผนพัฒนาคล้ายๆ สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) หรือไม่ เพื่อวางกรอบการทำงานในระยะยาว ทำให้ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องเดินตามกรอบนั้นอย่างต่อเนื่อง แต่อีกฝ่ายจะมองว่าถ้ามันไม่ได้อยู่กับรัฐบาลมาก กลไกการมีส่วนร่วมจะทำยังไง เพราะถ้าอยู่กับรัฐบาล กลไกก็จะมีการผ่านสภา

จริงว่าการเมืองจะทำให้เราสะดุด แต่เรื่องเหล่านี้มันสามารถเคลื่อนไปได้ด้วยตัวของมันเอง พวกนี้ไม่น่าเป็นห่วง โลกมันหมุน มันมีโมเมนตัมของมัน เวลาคุณทำโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลโครงสร้างพวกนี้จะไม่เปลี่ยน

soft infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานด้านกำกับดูแล-เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม) ของพวกโทรคมนาคม ไม่ได้ต้องการการลงทุนที่มากเท่ากับ hard infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ) อย่างรถไฟ มันต้องมา ที่สำคัญอยู่ที่ว่าเราจะเริ่มเมื่อไร เริ่มได้เร็วแค่ไหน ในประเทศอย่างเกาหลีใต้ เวลาเขาวางโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ เขาคิดพร้อมกันไปเลยทีเดียว

โครงสร้างพื้นฐานที่ว่านี้ไม่ใช่สำหรับเฉพาะเศรษฐกิจ มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่รัฐบาลตอนนี้จะชูเศรษฐกิจ เพราะมันเป็นเรื่องจำเป็น แต่พรุ่งนี้คุณจะหยิบเรื่องความมั่นคงก็ได้ โครงสร้างพื้นฐานนี้ก็ต้องตอบโจทย์ แล้วแต่ว่าสถานการณ์ตอนนั้นโจทย์ไหนสำคัญ

ฟังก์ชันของไอทีได้ย้ายจากคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ๆ ที่อยู่ในห้องขององค์กรใหญ่ ไปอยู่ที่พีซี ตอนนี้พีซีก็กำลังจะหายไปแล้ว มาอยู่ในอุปกรณ์พกพา ไปอยู่ที่บ้านคุณ วิธีคิดของไอทีเปลี่ยนไปแล้ว รัฐบาลก็ต้องเปลี่ยน คุณจะยังทำวิธีเก่าด้วยเครื่องมือใหม่ไม่ได้ ต้องมีวิธีใหม่ด้วย

ถาม: โครงสร้างพื้นฐานส่วนไหนบ้างที่รัฐควรจะเป็นผู้ลงทุน

ผมคิดว่าในที่สุดตลาดโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นตลาดเปิด ในอีกไม่ช้าพวกองค์กรอย่างทีโอที แคท เทเลคอม จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทอย่างเอไอเอสหรือทรูได้ ตลาดมันจะเปิดขึ้นเรื่อยๆ

ถาม: ผู้ให้บริการสามเจ้าใหญ่ ทรู เอไอเอส ดีแทค สองในสามนี่เป็นเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติไปแล้ว มันจะมีความมั่นคงหรือ

นี่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปปัญหานี้จะค่อยๆ แก้ไขตัวมันเอง มีหลายเรื่องที่บางครั้งเราไม่ชอบ เพียงเพราะเราไม่ชิน พอเราชินมันก็ไม่เป็นปัญหา อย่างเรื่องความเป็นเจ้าของในกิจการต่างๆ เมื่อก่อนก็จำกัดสัดส่วนต่างชาติ เดี๋ยวนี้ก็เปิด

นิสัยนั้นเปลี่ยนช้า แต่มันเปลี่ยน ทุกอย่างในโลกนั้นเกิดเร็วมาก และพอมันเกิดจะตามมาด้วยสิ่งที่ไม่คาดคิด ทีนี้มันอยู่กับวิธีมองโลกของคุณ

ถาม: ATCI เคยมีความคิดที่จะจัดตั้งสภาไอซีที อยากให้เล่าถึงความเป็นมาของความคิดนี้

ความคิดนี้เริ่มมาตั้งแต่ห้าปีที่แล้ว เหตุผลหลักก็คือเนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แต่คนที่ควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นบริษัทเอกชนอย่างไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ เอชพี บริษัทเหล่านี้เป็นคนคอยกำกับทิศทาง หรือตอนนี้เป็นกูเกิล เฟซบุ๊ก เปลี่ยนผู้เล่น แต่ก็ยังเป็นบริษัทเหล่านั้น

ถ้าอยากให้รัฐบาลทันกับความเปลี่ยนแปลง ก็ควรจะต้องมีใครคนหนึ่ง [ที่รู้ทิศทางเทคโนโลยี] ซึ่งในที่นี้ก็คือสมาคมต่างๆ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของกระแสความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และเรียนให้รัฐบาลได้ทราบ เพื่อที่รัฐบาลจะได้มีข้อมูลในการบริหาร เป็นเหมือนที่ปรึกษาให้กับรัฐบาล รัฐบาลจะเลือกทำอะไรก็แล้วแต่เขา

นี่คือความคิดแรกเริ่ม แต่พอทำไปทำมากลายเป็นสมาคมวิชาชีพ เป็นเรื่องการออกใบรับรอง เมื่อทุกคนมองอย่างนั้นก็ไม่ตรงกับเป้าหมายของเรา ถ้าเราไปผลักดันก็ไม่ได้อย่างที่เคยคิด ก็ไปว่าใครไม่ได้ แต่ตอนนี้สภาอุตสาหกรรม ซึ่งเขามีฝ่ายอุตสาหกรรมไอที ก็รับเรื่องนี้ไป ซึ่งถ้าเขาจะทำก็ต้องมีฝ่ายวิจัย ถ้าผมช่วยอะไรได้ผมก็ยินดี

ถาม: ขอถามเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่กำลังเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีฉบับไหนบ้างที่เห็นว่าน่าเป็นห่วงหรือน่าสนับสนุน โดยเฉพาะที่น่าจะเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย, ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และการปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ บางมาตรา

ถ้าคุณถอยไป จริงๆ แล้วกฎหมายคอมพิวเตอร์ที่ว่าต่างๆ นี้ทางเนคเทคได้ทำมานานแล้ว เช่น อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ที่ออกมาแล้วและจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม ส่วนกฎหมายที่เหลือว่ามานั้นสำคัญและเร่งด่วนหมด แต่คิดว่าไม่ยาก เพราะมีคดีมีปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไปศึกษาเอา

แต่ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัล กฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่ที่เกี่ยวกับไอทีเท่านั้น ยังมีกฎหมายอื่นๆ อย่างกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน เกี่ยวกับการเข้าเมือง เกี่ยวกับการลงทุน ความเป็นเจ้าของธุรกิจ ฯลฯ

ทุกวันนี้คุณหลอกเขาทั้งนั้นเรื่องวีซ่าทำงาน ต้องบินเข้าบินออก เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่บั่นทอนการทำธุรกิจ ถ้าจะมีการแก้ไขกฎหมาย ต้องแก้เรื่องพวกนี้ด้วย แต่ผมไม่ได้ยินเขาพูดถึงเลย

เอกชนประสบปัญหามาก เอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) มีปัญหาเรื่องเปลี่ยนสกุลเงิน เรื่องเข้าถึงแหล่งเงิน ทุกวันนี้ต่างชาติต้องการมาในประเทศไทย เข้ามาทำเอสเอ็มอี เข้ามาเป็นสตาร์ตอัป (ธุรกิจตั้งใหม่) ต้องการเข้ามาเป็นวีซี (venture capital ธุรกิจเงินร่วมลงทุน) ไม่รู้จะทำอย่างไร

ถาม: เมื่อพูดถึง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีภาคบริการส่วนหนึ่งคิดว่ากฎหมายนี้จะเป็นภาระกับการดำเนินธุรกิจของเขา ไม่ทราบว่าคุณประวิตรเห็นอย่างไร

ผมคิดว่าภาคไอทียังดันกันอยู่

ผมจะยกเล่าตัวอย่างหนึ่งให้ฟัง ตอนที่มีการจัดอันดับ Network Readiness Index (NRI) ซึ่งเป็นการจัดอันดับความพร้อมของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (โดยองค์กร World Economic Forum) ในปี 2012 สิงคโปร์อยู่ลำดับที่สอง IDA (Infocomm Development Authority เป็นหน่วยงานดูแลนโยบายสารสนเทศของรัฐบาลสิงคโปร์) เลยวิ่งไปถามคณะผู้จัดทำ ว่าทำไมสิงคโปร์ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง

เขามาพบกันทีหลังว่า เป็นเพราะประเทศสิงคโปร์ในตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้บริหารของ Internet Society ซึ่งตอนนั้นเป็นที่ปรึกษาให้ IDA ก็เอาเรื่องนี้มาถกเถียง คุณจะเห็นความเร็วหรือ​ “​ความร้อนใจ” (urgency) ในการทำงานของเขา

 

เอกสารเพิ่มเติม

ดาวน์โหลด ข้อเสนอแนะ “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยนายประวิตร ฉัตตะละดา เสนอต่อสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ครอบคลุมหลายประเด็น รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data)

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้ เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ต 9 ธ.ค.2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท