Skip to main content
sharethis

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์สัมภาษณ์นายกฯ ญี่ปุ่น หลังประกาศเลือกตั้งใหม่กระทันหัน ในขณะที่ประเทศยังเต็มไปด้วยประเด็นรายล้อม ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กรณีหมู่เกาะเซนกากุ และกรณีอื้อฉาวเรื่อง 'หญิงบำเรอ' ในสงครามโลกครั้งที่ 2

 
ภาพโดย CSIS: Center for Strategic & International Studies
Some rights reserved

9 ธ.ค. 2557 โดมินิก ซีเกลอร์ บรรณาธิการฝ่ายเอเชียและทัมซิน บูธ หัวหน้าสาขาโตเกียวของนิตยสารดิอีโคโนมิสต์สัมภาษณ์ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น หลังจากที่เขาสั่งให้มีการเลือกตั้งแบบกระทันหันโดยยังไม่ครบวาระในวันที่ 14 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ ท่ามกลางคำถามต่อประเด็นต่างๆ รายล้อม ตั้งแต่ประเด็นข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะเซนกากุ ข้อตกลงทางการค้าทรานส์แปซิฟิก การปฏิรูปตลาดแรงงาน รวมถึงเรื่องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้

ดิอีโคโนมิสต์สงสัยว่าในขณะที่อาเบะมีประเด็นความวุ่นวายต่างๆ มากมาย เหตุใดเขายังรีบยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ อาเบะตอบว่าเขาไม่มีเวลามากนัก โลกหมุนไปเร็วในแง่เศรษฐกิจ จีนกำลังเติบโตในขณะที่ประเทศต่างๆ ก็พยายามพัฒนาเพื่อการแข่งขัน แต่ญี่ปุ่นกำลังจะตกจากเวทีโลก ด้วยปัญหาประชากรเรื่องอัตราการเกิดต่ำลง มีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น ญี่ปุ่นยังมีหนี้สินของชาติจำนวนมาก ทำให้เขาต้องทำอะไรอย่างรวดเร็วเพื่อตามโลกให้ทัน

อาเบะบอกว่าเขาอยากให้ญี่ปุ่นกลับมามีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันอีกครั้ง อาเบะกล่าวว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพและหลักนิติธรรม นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่รักสันติจึงต้องการ "ทำอะไรบางอย่างให้กับภูมิภาคและกับโลกนี้บ้าง" ทำให้เขาต้องรีบยุบสภาล่างของญี่ปุ่นเพื่อทำให้มีความแข็งแกร่งในการยึดกุมเสียงข้างมาก

เมื่อพูดถึงเรื่องความแข็งแกร่ง ดิอีโคโนมิสต์ถามว่าสำหรับญี่ปุ่นความเข้มแข็งภายในประเทศตัวเองกับความเข้มแข็งในเวทีโลกเป็นเรื่องที่มาพร้อมกันหรือไม่ อาเบะตอบว่าในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่จนถึงช่วงอายุขึ้นเลข 30 ญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและมีการเติบโตอย่างมาก ด้วยปูมหลังเช่นนี้ทำให้ญี่ปุ่นเองแข็งแกร่งในเวทีโลกและมีบทบาทสำคัญกับโลกด้วย แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของญี่ปุ่นชะลอตัวลง ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นใหม่ในเวทีโลกมากขึ้น ในแง่นี้เองทำให้เขาแยกเรื่องความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจจากภายในประเทศและความเข้มแข็งด้านการต่างประเทศออกจากกันไม่ได้ และถ้าหากญี่ปุ่นมีอิทธิพลที่เข้มแข็งในประชาคมโลกกระบวนการต่างๆ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการดำเนินโครงการให้เสร็จสิ้นก็จะง่ายขึ้น

ดิอีโคโนมิสต์ถามว่าจากประสบการณ์ในการเป็นนายกฯ สมัยแรก เขามองเห็นญี่ปุ่นในเวทีโลกอย่างไรบ้าง และการขัดผลประโยชน์กับจีนส่งผลกระทบอะไรไหม อาเบะตอบว่าในช่วงปลายปี 2555 จีนตามทันญี่ปุ่นในแง่จีดีพี แต่ญี่ปุ่นก็แก้ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้และไม่คิดว่าจีนจะตามทันในแง่เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม อาเบะบอกว่าจีนยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเติบโตทางเศรษฐกิจ พวกเขาอาจจะตามญี่ปุ่นได้ทันในแง่จีดีพี

แต่อาเบะก็บอกว่าการเติบโตของจีนก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับญี่ปุ่นเสมอไป ในแง่ที่ญี่ปุ่นเน้นการท่องเที่ยว การที่คนจีนร่ำรวยขึ้นหมายความว่าพวกเขาจะได้รับกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาจากจีนได้ด้วย

ดิอีโคโนมิสต์ย้อนถามถึงประวัติของอาเบะจากที่เขามีพื้นเพมาจากจังหวัดยะมะงุชิ โดยสงสัยว่าเขาเป็นพวกแนวทางการปฏิวัติของแคว้นโจชูหรือไม่ (แคว้นโจชูเป็นแคว้นศักดินาโบราณของญี่ปุ่นในยุคเอโดะ เคยร่วมมือกับแคว้นซะสึมะ ในการโค่นล้มรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ ในปัจจุบันนี้แคว้นโจชูคือจังหวัดยะมะงุชิ) นอกจากนี้อาเบะยังมีคุณตาคือโนบุสุเกะ คิฉิ ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงที่มีการเซ็นสัญญาตกลงกับสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางประท้วงต่อต้านสหรัฐฯ อย่างหนัก อาเบะยังเคยเป็นเลขาธิการส่วนตัวของพ่อเขาในช่วงที่พ่อเขาดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นภารกิจที่อาเบะเองต้องสืบทอดต่อหรือไม่

อาเบะตอบว่าเขาภูมิใจที่เป็นชาวแคว้นโจชูเนื่องจากคนจากแคว้นนี้เป็นคนมองโลกกว้างออกไปภายนอกประเทศ อาเบะอ้างว่าในเหตุการณ์ปฏิวัตินั้นเป็นเพราะชาติตะวันตกพยายามยึดอาณานิคมญี่ปุ่นทำให้พวกเขาต้องโค่นล้มโชกุนโทะกุงะวะ แต่อาเบะก็ยังกล่าวว่าแม้พวกเขาจะพยายามขัดขวางไม่ให้คนต่างชาติรุกล้ำแต่ก็มีความพยายามทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

อาเบะกล่าวถึงกรณีตาของตนเองว่า "สิ่งที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมาก" โดยอ้างว่าโนบุสุเกะเดินหน้าทำสัญญากับสหรัฐฯ ต่อไปท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนักเนื่องจากเชื่อว่าการทำสัญญากับสหรัฐฯ จะทำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพอันนำมาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ อาเบะบอกอีกว่ามีการลงนามร่วมกับสหรัฐฯ มีการต่อต้านทั้งจากกลุ่มนักศึกษาและจากสื่อมวลชนแต่สุดท้ายแล้วในตอนนี้ผู้คนส่วนมากก็เคารพในสิ่งที่ตาของเขาทำไว้ โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจของอาเบะเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ถูกต่อต้านอย่างหนักเช่นกัน

นโยบายเศรษฐกิจที่ชื่อว่า "อาเบะโนมิกส์" เป็นสิ่งที่อาเบะนำมาใช้ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อช่วง ธ.ค. 2555 มีหลัก 3 อย่างคือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการคลัง มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพื่อนำเงินเข้าระบบ และการปฏิรูปโครงสร้าง ซึ่งดิอีโคโนมิสต์เคยวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นการพยายามเพิ่มอัตราการหมุนเวียนเงินในประเทศผสมผสานกับการใช้จ่ายของรัฐบาลและเพิ่มอัตราการเติบโตหลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะงักมานานกว่า 20 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามมีชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งเริ่มกังขากับนโยบายนี้

ดิอีโคโนมิสต์ถามอาเบะว่าในช่วงที่นโยบายเศรษฐกิจของเขากำลังถูกวิจารณ์ การที่เขาเองประกาศเลือกตั้งใหม่ในช่วงนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากคิดว่าตัวอาเบะต้องการแค่คงอำนาจตัวเองไว้เท่านั้น ในเรื่องนี้อาเบะจะทำอย่างไรต่อไปถ้าหากได้อำนาจมาแล้ว อาเบะตอบเรื่องนี้โดยยังคงเน้นย้ำถึงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปหลายๆ ด้าน เช่นด้านตลาดพลังงานไฟฟ้า ภาคการเกษตร ประกันสุขภาพ และด้านตลาดแรงงานจากผลกระทบเรื่องการลดลงของประชากร

ดิอีโคโนมิสต์ขอให้อธิบายเรื่องการปฏิรูปตลาดแรงงาน ซึ่งอาเบะอธิบายว่าเขาต้องการเพิ่มผู้หญิงในตลาดแรงงานมากขึ้นเนื่องจากผู้หญิงมีศักยภาพแต่ไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ เขายอมรับว่าญี่ปุ่นขาดความยืดหยุ่นด้านตลาดแรงงาน จึงต้องทำให้ยืดหยุ่นมากขึ้นรวมถึงทำให้เวลาทำงานสำหรับผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยและทำให้รูปแบบการทำงานมีความหลากหลาย

ในแง่แผนการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งจะกระทบกับชีวิตผู้คนทั้งคนหนุ่มสาวและคนสูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องกองทุนบำนาญเพื่อการลงทุนของรัฐบาล (Government Pension Investment Fund) ดิอีโคโนมิสต์ถามว่าชาวญี่ปุ่นจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

อาเบะตอบในประเด็นดังกล่าวว่าเขาต้องการให้ผู้ได้รับบำเหน็จเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงๆ และเขาคิดว่าในระบบประกันสุขภาพมีการใช้จ่ายสูญเปล่ามากเกินไปต้องกำจัดตรงนั้นออกโดยการใช้ระบบดูแลการออกค่าประกันสุขภาพใหม่ อาเบะบอกว่าต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อลดการใช้จ่ายสูญเปล่าลงและเพิ่มคุณภาพของระบบสุขภาพ

ทางด้านประเด็นของหุ้นส่วนเศรษฐกิจทรานส์แปซิฟิก (TPP) ซึ่งมีสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วยและโอกาสที่รัฐบาลโอบามาจะได้รับการเห็นชอบตามกฎอำนาจพิเศษส่งเสริมการค้า (TPA) ก็มีมากขึ้น ดิอีโคโนมิสต์จึงหันมาถามว่าญี่ปุ่นจะร่วมด้วยหรือไม่ อาเบะตอบว่าเขาเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมเจรจา TPP และการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ก็อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เหลือแค่เรื่องที่แต่ละประเทศจะแสดงความยืดหยุ่นต่อกัน

ดิอีโคโนมิสต์หันมาถามประเด็นเรื่องจีน ผู้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตว่าในตอนที่อาเบะพบปะกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนที่การประชุมเอเปคในกรุงปักกิ่ง ผู้นำจีนแสดงสีหน้าเหมือนไม่ชอบใจเป็นพิเศษในเรื่องนี้อาเบะคิดอย่างไร ซึ่งอาเบะตอบว่าเขาเข้าใจว่าทำไมสีจิ้นผิงถึงมีสีหน้าเช่นนั้นแต่ไม่ได้เปิดเผยว่าเพราะอะไร แต่อาเบะก็อ้างว่าในการพบกันครั้งที่ 2 พวกเขามีไมตรีต่อกันมากขึ้น

เมื่อดิอีโคโนมิสต์ถามเจาะเรื่องกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุกับจีน อาเบะพูดถึงเรื่องนี้ว่าการที่จีนนำกองเรือเข้าไปที่น่านน้ำของหมู่เกาะเซนกากุยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการสื่อสารทางทะเลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อยู่เหนือความคาดหมาย อาเบะบอกอีกว่าจีนคงไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองง่ายๆ ในแง่ความขัดแย้งพื้นที่ทางทะเลกับหลายประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือประชาคมนานาชาติจะต้องร่วมมือกับจีนในการวางกฎเกณฑ์ร่วมกัน โดยมีการเจรจาซึ่งวางอยู่ในหลักเกณฑ์ของกฎหมายนานาชาติโดยไม่ใช้วิธีการข่มขู่คุกคาม ซึ่งจีนต้องมีบทบาทร่วมด้วย

ดิอีโคโนมิสต์หันมาแตะประเด็นเรื่อง "หญิงบำเรอ" หรือ "comfort women" ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเรื่องการนำผู้หญิงจากประเทศต่างๆ ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเคยยึดครองเป็นทาสบำเรอกาม โดยเมื่อไม่นานมานี้หนังสือพิมพ์ซังเคอิชิมบุนเปิดเผยว่าเรื่องเล่าหญิงบำเรอจากปากคำของอดีตทหารชื่อโยชิดะไม่เป็นความจริง และอาเบะก็เคยกล่าวไว้ว่าคำให้การเท็จของโยชิดะทำให้ภาพลักษณ์ญี่ปุ่นเสื่อมเสีย ญี่ปุ่นจะแก้ไขภาพลักษณ์นี้อย่างไร ขณะเดียวกันก็มีคำให้การของ "หญิงบำเรอ" และนักประวัติศาสตร์หลายคนยืนยันว่ามีหญิงบำเรอจริง หรือว่าการปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่มีอยู่จริงโดยนายกรัฐมนตรีจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ญี่ปุ่นเสื่อมเสียหรือไม่

อาเบะตอบในประเด็นหญิงบำเรอว่าเขารู้สึกเจ็บปวดเมื่อคิดได้ว่าผู้คนเหล่านี้ต้องผ่านช่วงเวลาเลวร้าย แต่การที่ญี่ปุ่นถูกทำให้เสื่อมเสียในข้อมูลเท็จก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งและญี่ปุ่นต้องพยายามกู้ชื่อเสียให้ตัวเอง อีกประการหนึ่งอาเบะกล่าวว่าในช่วงศตวรรษที่ 20 สิทธิสตรีถูกบั่นทอนอย่างมากจากสงคราม แต่ในช่วงศตวรรษที่ 21 ควรจะไม่มีเรื่องการกระทำเลวร้ายต่อสตรีแบบนั้นอีก อาเบะบอกอีกว่าเขาเคยพูดที่สหประชาชาติว่าญี่ปุ่นจะช่วยปกป้องสิทธิสตรีรวมถึงให้ความเกื้อหนุนด้านการเงินด้วย

แต่ดิอีโคโนมิสต์มองว่าคำตอบของอาเบะตีตัวออกห่างจากประเด็นหญิงบำเรอ ทำให้มีการถามเจาะว่าเขายอมรับได้หรือถ้าหากมีผู้หญิงถูกบังคับข่มขู่ในค่ายทหาร อาเบะตอบแบบยืนกรานว่ารัฐบาลของเขาตัดสินว่าไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงเรื่องการลักพาตัวหรือบีบบังคับผู้หญิงในประเด็นหญิงบำเรอ แต่ก็บอกว่ามันไม่ใช่จุดยืนของตัวเขาเอง ซึ่งส่วนตัวเขาเองมองว่ามีการกระทำผิดจากทหารญี่ปุ่นบางส่วนเกิดขึ้นจริง

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ อาเบะกล่าวว่าเขาไม่ชอบเวลาที่พอคนพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้จะต้องยกเรื่อง "หญิงบำเรอ" ขึ้นมาพูดถึง เพราะเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันเรื่องอื่นมากกว่านั้นในระดับการแลกเปลี่ยนกันของประชาชน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและด้านความมั่นคงก็แน่นแฟ้น

อาเบะเปิดเผยอีกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นส่งจดหมายขอโทษเป็นการแก้ไขปัญหาประเด็นหญิงบำเรอ มีการตั้งกองทุนผู้หญิงเอเชียเพื่อเป็นค่าการรักษาพยาบาลให้ผู้หญิงรายละ 5 ล้านเยน อีกทั้งยังมีการเซ็นสนธิสัญญาพื้นฐานเมื่อปี 2508 ทำให้ประเด็นก่อนหน้าปีนั้นถือว่าได้คลี่คลายแล้ว

คำถามสุดท้ายในบทสัมภาษณ์ของดิอีโคโนมิสต์เกี่ยวข้องกับอาคารที่พวกเขาใช้นัดสัมภาษณ์อาเบะคืออาคารคันเทอิในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นทำเนียบรัฐบาลที่เคยมีประวัติศาสตร์เลวร้ายจากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารรายหนึ่งบุกยิง สึโยชิ อินุไค นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2475 ทำให้สิ้นสุดการเมืองแบบพลเรือนเข้าสู่ยุคทหารเรืองอำนาจจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงยุคมืดของญี่ปุ่น

ดิอีโคโนมิสต์ถามว่า "ผี" จากช่วงยุคมืดนั้นยังคงตามหลอกหลอนคนในภูมิภาคนี้ และอาจจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในปีหน้า อาเบะในฐานะนายกรัฐมนตรีจะรับมือหรือขจัด "ผี" เหล่านั้นอย่างไรที่จะทำให้ประเทศและชาวญี่ปุ่นยังคงเป็นที่เชิดหน้าชูตาอยู่ได้

อาเบะตอบว่าผีไม่มีจริงมันเป็นแค่จินตนาการและนั่นแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นมาไกลจาก 70 ปีที่แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นประเทศที่ให้คุณค่าต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยรวมถึงกฎหมายนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นประเทศรักสันติ อาเบะกล่าวอีกว่าจุดยืนของญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากประเทศส่วนมากในเอเชียและมีการเน้นเรื่องความร่วมมือนานาชาติกับการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ปีหน้าอาเบะต้องการทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แสดงออกมากขึ้นในระดับภูมิภาค

 

เรียบเรียงจาก

Shinzo Abe talks to The Economist, The Economist, 05-12-2014
http://www.economist.com/news/asia/21635693-interview-japans-prime-minister-shinzo-abe-talks-economist


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Nobusuke_Kishi
http://en.wikipedia.org/wiki/Abenomics
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%AD
http://en.wikipedia.org/wiki/Inukai_Tsuyoshi

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net