Skip to main content
sharethis
ระบุกระบวนการในการจัดตั้งกรมเป็นไปด้วยความเร่งรีบโดยมิได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบกับหน่วยงานที่ดำเนินภารกิจมาเกือบ 120 ปี อย่างการรถไฟ

 
(ที่มาภาพ: สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย)
 
12 ธ.ค. 2557 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย นำโดยนายอำพล ทองรัตน์ ประธานสหภาพฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลทบทวนการจัดตั้ง "กรมขนส่งทางราง" ในกรณีที่กระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีนโยบายในการจัดตั้ง "กรมขนส่งทางราง" โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคือแบ่งแยกบทบาท ภารกิจ โครงสร้างพื้นฐานออกจากการรถไฟฯ และมีความพยายามที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2558 
 
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่ากระบวนการในการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางเป็นไปด้วยความเร่งรีบโดยมิได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบกับหน่วยงานที่ดำเนินภารกิจมาเกือบ 120 ปี อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนในอนาตค อีกทั้งพนักงานการรถไฟฯ รวมถึงประชาชนทั่วไปแทบจะไม่ทราบในรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
 
โดยรายละเอียดของหนังสือคัดค้านที่ยื่นต่อพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง มีดังต่อไปนี้
 
 
 
 
 
อนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานทุกภาคส่วนในการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อรองรับการพัฒนาระบบการขนส่งในอนาคต ว่า ปัจจุบันการขนส่งทางรางโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศรวมระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร และขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะก่อสร้างรถไฟทางคู่รวมระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร รวมทั้งผลักดันการก่อสร้างทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งหน่วยที่รับผิดชอบในการขนส่งทางรางโดยเร็ว.
 
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางเพื่อแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกำกับดูแลออกจากการประกอบการหรือการบริการ จากเดิมที่ ร.ฟ.ท. รับผิดชอบทั้งหมด โดยกรมการขนส่งทางรางจะเข้ามามีบทบาท และอำนาจหน้าที่ในการลงทุน และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งกำกับดูแลด้านความปลอดภัย และกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐาน และกฎระเบียบที่จำเป็น เช่น การจัดให้มีและการใช้โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ด้านการประกอบกิจการ นอกจากนี้ จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและด้านการประกอบกิจการ และกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมได้เป็นอย่างดี และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวกรวดเร็ว และน่าเชื่อถือในส่วน ร.ฟ.ท. จะมีบทบาทในการเป็นผู้ให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า และอาจรับจ้างกรมการขนส่งทางรางดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคาดว่าหากไม่มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานภายในปี 2558 กรมการขนส่งทางรางจะสามารถจัดตั้งได้
 
โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากทุกภาคส่วน สรุปเป็นแนวทางรายละเอียดในการเสนอขอจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. ภายในสิ้นปี 2557 และหลังจาก ก.พ.ร. พิจารณาเห็นชอบแล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาอนุมัติ เพื่อเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
 
สำหรับกรอบลงทุนแผนปฎิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) ในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 10 ปีข้างหน้า ใน 4 เป้าหมาย 5 แผนงาน มีกรอบเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2.006 ล้านล้านบาท 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net