นิธิ เอียวศรีวงศ์: ชนบทนิยมในการเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

แม้มีบทชมนกชมไม้ในวรรณคดีไทย แต่ผมออกจะสงสัยอย่างยิ่งว่า คนไทยโบราณไม่ได้ชื่นชม "ธรรมชาติ" ตามความหมายแบบจีน, กรีก, โรมัน, ฝรั่งสมัยโรแมนติก ฯลฯ เลย

มีความแตกต่างระหว่าง "เมือง" และ "บ้าน" ไปจนถึง "ป่า" อย่างมากในความคิดคนไทยโบราณ เมืองคือพื้นที่ซึ่งมีระเบียบ อันแสดงออกด้วยมารยาท, อาชญาสิทธิ์, ภาษา, การแต่งกาย และศาสนา ชีวิตของคนในเมืองจึงมีความมั่นคงปลอดภัยสมกับเป็นชีวิตมนุษย์ ในขณะที่ "บ้าน" และ/หรือ "ป่า" คือพื้นที่ซึ่งขาดระเบียบ ถูกครอบงำด้วยผีนานาชนิด ในทางสังคมก็แทบจะหาระเบียบอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมารยาท ภาษา การแต่งกาย หรือประเพณีที่กำกับชีวิตก็ง่ายเสียจนไม่ได้กำกับธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งก็คือกิเลสตัณหา

ฉากที่เล่าในพระราชพงศาวดารรุ่นหลังที่ว่าเมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติญาติโกโหติกาจากชนบทเมืองสุพรรณพากันหิ้วปลาแห้งและผลหมากรากไม้มาเยี่ยมถึงพระบรมมหาราชวัง ขึ้นกูขึ้นมึงกันอย่างไม่มีธรรมเนียมเพราะเป็นชาวป่าชาวดอย เป็นที่ตลกขบขันของขุนนาง ฉากนี้คงไม่น่าจะจริง แต่ที่สำคัญกว่าจริงหรือไม่ก็คือ สะท้อนให้เห็นว่า คนแต่ก่อนคิดถึงคนในเมืองกับคนในชนบทว่าต่างกันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารเขียนและอ่านกันในหมู่คนชั้นสูง ก็คงสะท้อนทัศนะของคนชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับความคิดของคนไทยทั่วไปซึ่งมีเกี่ยวกับเมืองที่ตรงกันข้ามกับบ้าน/ป่าก็ได้ อย่างน้อยการหนีรัฐจากเมืองเข้าสู่บ้าน/ป่า ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ราษฎรไทยทำกันเป็นปรกติ ส่วนหนึ่งของ "ระเบียบ" ที่มีในเมืองในทัศนะของคนไทยอีกมาก คือการขูดรีดแรงงาน

แต่นั่นก็เป็นเพียงการหนีอำนาจรัฐในคราวจำเป็นเท่านั้น ไม่ได้มีคติที่ยึดถือแพร่หลายเกี่ยวกับชีวิตอันประเสริฐในชนบทแต่อย่างไร ดังนั้น ผมจึงไม่น่าผิดหากจะสรุปว่า วัฒนธรรมไทยไม่มีความคิดลึกซึ้งที่นิยมชมชอบ หรือยกย่องเชิดชูชนบท หรือแม้แต่การเกษตรกรรมที่ทำกันเป็นหลักในชนบท

 

อย่างที่ผมกล่าวข้างต้นแหละครับคือโดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมจีนและฝรั่งตั้งแต่กรีกลงมา ความคิดเกี่ยวกับชนบทนิยมหรือเกษตรนิยม (agrarianism) ในวัฒนธรรมเหล่านั้นฝังรากลึกมายาวนาน แม้ไม่ใช่ปรัชญาหลักในสังคมหรือการเมืองของเขา แต่ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมามีอิทธิพลเป็นครั้งคราวตลอด เช่น พวกฟีสิโอแครตในฝรั่งเศส, เจฟเฟอร์โซเนียนในสหรัฐ, แนวคิดโรแมนติก, บางส่วนของลัทธิเหมา, ขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ฯลฯ เป็นต้น

ดังนั้น หากผมสรุปอีกทีก็ไม่น่าจะผิดว่า วรรณกรรมและศิลปะที่แสดงความนิยมชมชื่นกับชนบทและเกษตรนิยมที่ปรากฏในเมืองไทยหลังรัชกาลที่ 5 ลงมานั้น เป็นอิทธิพลจากภายนอก อาจจะมาจากจีนหรือฝรั่ง แต่ผมออกจะสงสัยลัทธิโรแมนติกของฝรั่งมากกว่า (แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะนิยายจีนถูกแปลในธุรกิจสิ่งพิมพ์รุ่นแรกๆ ของไทยอยู่ไม่น้อย)

เนื้อหาของชนบทนิยมและเกษตรนิยมของไทยเป็นอย่างไรผมขออนุญาตบรรยายจากความจำเท่าที่ได้อ่านอะไรต่อมิอะไรมาโดยไม่ได้กลับไปนั่งค้นคว้าอีกทีหนึ่งดังนี้

1. ชีวิตชนบทเป็นชีวิตที่สงบ (มีความหมายเหลื่อมๆ กับศีลธรรมทางศาสนาด้วย) เพราะชีวิตถูกกำหนดด้วย "ระเบียบ" ของธรรมชาติซึ่งเรียบง่าย (ความคิดว่าธรรมชาติมี "ระเบียบ" ซึ่งมนุษย์อาจปฏิบัติตามได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจทางโลกย์มาทำให้หรือกะเกณฑ์บังคับบัญชา ก็น่าจะเป็นความคิดใหม่ในวัฒนธรรมไทยอีกเหมือนกัน) ดังนั้น จึงเป็นชีวิตที่ "บริสุทธิ์" จากกิเลสมากกว่าชีวิตในเมือง และ "งดงาม" กว่า

ผมคิดว่าภาพของชนบทในลักษณะนี้ แม้แต่ชนชั้นนำเองก็เสนอให้เห็นด้วย เช่นในเรื่องราวเกี่ยวกับการประพาสต้น และในเพลงเขมรไทรโยก แต่สะท้อนออกมาอย่างบรรเจิดแจ่มกว่าในงานของกระฎุมพีใหม่ที่เกิดจากการปฏิรูปของ ร.5 ทั้งในนวนิยายและในภาพเขียน (จนถึง ส.ค.ส. รูปกระท่อมชาวนาใต้แสงจันทร์เหลืองอ๋อย)

2. เนื้อหาด้านชีวิตทางสังคมของชนบท เป็นผลงานของท่านเจ้าคุณอนุมานราชธน ส่วนนี้คือการให้ความหมายแก่ "ระเบียบ" ทางสังคมของชนบทว่ามันเอื้อต่อศีลธรรมทางศาสนาอย่างไร นับตั้งแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ความสามัคคี, ความอุดมสมบูรณ์, หรือแม้แต่นัยยะของความเสมอภาค (แต่ก็ถูกถ่วงดุลด้วยความเคร่งครัดต่อสถานภาพทางช่วงชั้น) เนื้อหาเหล่านี้ถูกเสนอในรูปงาน "วิชาการ" จึงมีน้ำหนักมาก และมีอายุยืนนาน

3. แต่ภาพของชนบทและเกษตรกรรมชนบทซึ่งดูหยุดนิ่ง และมีแบบแผนตายตัวนี้ ถูกนักเขียนนวนิยายตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้นทำลายลง ด้วยการทำให้ตัวละครซึ่งเป็นคนชนบท กลายเป็นปัจเจกบุคคลเหมือนคนชั้นกลางในเมือง บางคนก็ดีเหมือนพระเอก และบางคนก็ชั่วเหมือนผู้ร้าย มีนายทุนเงินกู้ซึ่งขูดรีดชาวนา ความเสมอภาคถูกทำลายลงด้วยเหตุของความพยายามจะสะสมทุนของบางคน ฯลฯ ดังเช่นที่ปรากฏในนวนิยายของ ไม้ เมืองเดิม พลวัตของความเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยมเช่นนี้กลายเป็นท้องเรื่องหลักของอาชญนิยายลูกทุ่ง เมื่อพระเอกซึ่งมักเป็นคนกรุงและเป็นตำรวจ ถูกส่งเข้าไปทำลายแก๊งนอกกฎหมายในชนบท ซึ่งมักมีกำนันเป็นหัวหน้า แต่ลูกสาวกำนันก็ผ่าสวยบาดใจพระเอก จนเกิดรักกัน

แต่นวนิยายสองรุ่นนี้ต่างกันตรงที่ นวนิยายของ ไม้ เมืองเดิม จบลงที่โศกนาฏกรรมของตัวละคร อันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่ชนบท ในขณะที่นวนิยายของนักเขียนรุ่นหลังจบลงที่ผู้ร้ายถูกปราบปรามสงบลง และ "บ้าน" ก็กลับมาสงบเหมือนกับที่มันไม่เคยเผชิญความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ดูเหมือนรัฐซึ่งอยู่ในเมืองเป็นผู้รับประกันความสงบตามอุดมคติของบ้านให้ดำรงอยู่สืบไปชั่วกัลปาวสาน

4.ในวัฒนธรรมจีนและฝรั่งซึ่งเกษตรนิยมและชนบทนิยมมีรากที่ฝังลึกมานานก่อให้เกิดอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมชนิดต่างๆ ขึ้นเสมอมา หมายความว่าจากความคิดเหล่านี้ มีคนอื่นมาคิดต่อให้กลายเป็นการจัดระเบียบสังคมการเมืองแบบใหม่ต่างๆ นานาขึ้นอีกมากมาย กลายเป็นระบอบปกครองในบางแห่งอยู่ช่วงหนึ่ง หรือกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดกบฏชาวนาขนาดใหญ่ (เช่นในไอร์แลนด์)

แต่ผมเข้าใจว่า เกษตรนิยมและชนบทนิยมไม่ก่อให้เกิดผลทางการเมืองที่ชัดเจนอย่างนั้นในเมืองไทย แต่ไม่ถึงขนาดที่ไม่กระทบการเมืองและสังคมเสียเลย

 

หลัง2475ดูเหมือนมีสำนึกใหม่ในวงการเมืองซึ่งแพร่ลงมาสู่ประชาชนผ่านแบบเรียนและสื่อ นั่นคือชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ถูกทอดทิ้งตลอดมา ทว่า สำนึกนี้ไม่ได้ทำให้เกิดนโยบายที่มั่นคงแข็งแรงในการเบนทรัพยากรของชาติไปสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและชนบทแต่อย่างไรมีแต่การยกย่องเทิดทูนชาวนาว่าเป็น"กระดูกสันหลัง" ของชาติ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้กระดูกสันหลังแข็งแรงขึ้น จึงดูคล้ายกับพวกเขาคือผู้เสียสละจนคนที่ไม่ใช่ชาวนาต้อง "สำนึกบุญคุณ" ของเขา พระคุณของแม่โพสพซึ่งเป็นความเชื่อมาแต่โบราณถูกเปลี่ยนให้เป็นพระคุณของชาวนาในบทกลอนอันลือลั่นของ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา นโยบายช่วยชาวนา มากน้อย ได้ผลไม่ได้ผล เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เสียคะแนนเสียงจากคนในเมืองซึ่งไม่ใช่ชาวนา จนมาถึงรับจำนำข้าวทุกเม็ดด้วยราคาสูงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นี่แหละ แม้แต่รัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง (เช่น รัฐบาลเปรม ก็ตาม, รสช. ก็ตาม, คมช. ก็ตาม คสช. ก็ตาม) ก็ยังต้องมีนโยบายช่วยชาวนาด้วย

ช่วยชาวนากับบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นหน้าเค้กที่ทุกรัฐบาลต้องแต่ง แม้ไม่ได้ผลเหมือนๆกัน ก็ยังต้องแต่ง

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2510 ลงมา ชนบทนิยมในเมืองไทยเริ่มกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง (ความคิดที่เป็นฐานให้แก่ปฏิบัติการทางการเมือง) อย่างชัดเจนมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การ "ออกค่าย" ของนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งแม้ทำมาก่อน แต่แพร่หลายไปทั่วทุกสถาบันหลังทศวรรษนี้เป็นต้นมา แต่ในระยะนั้น ยังคิดถึงการพัฒนาชนบทให้ "เจริญ" เท่ากับเมือง ไม่ได้คิดว่าชนบทโดยตัวของมันเองเป็นพลังที่งอกงามได้

จนมาถึง "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ซึ่งเริ่มเห็นว่าหมู่บ้านไม่ได้ด้อยพัฒนา แต่ถูกทำให้เสื่อมโทรมจนไร้พลังที่จะพัฒนาไปตามวิถีทางของตน หมู่บ้านจึงเป็นคำตอบที่แท้จริงให้แก่ "ความทันสมัยที่ไม่พัฒนา" ของไทย

น่าสังเกตด้วยว่า ชื่อโครงการชนบทของท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือ "บูรณะชนบท" หมายความว่าเดิมมันดีอยู่แล้ว เราเพียงแต่ไปฟื้นฟูให้มันกลับมาดีเหมือนเดิม

ผมไม่ได้หมายความว่านักชนบทนิยมในรุ่นนั้นมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในชนบทไทยซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วในทุกทาง แต่ผมเข้าใจว่าพวกเขาพยายามฟื้นฟูสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพลังที่มีอยู่เดิมในชนบทให้กลับมาเข้มแข็งพอจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างไม่เสียเปรียบเช่นการแปรรูปผลิตผลการเกษตรเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาด ร่วมมือกันจัดหรือฟื้นฟูชลประทานชุมชนเพื่อเพิ่มผลผลิต มีความโน้มเอียงไปในการกระตุ้นพลังเก่าที่มีอยู่เดิมให้เข้ามาทำงานด้านเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่

ด้วยเหตุดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องมองมิติทางด้านสังคมด้วยเพราะพลังเก่าที่นักชนบทนิยมรุ่นนั้นคิดถึงคือพลังทางสังคมและวัฒนธรรมตามอุดมการณ์ของการ "บูรณะ" พวกเขาไม่คิดจะไปต่อต้านหรือเปลี่ยนแปลงส่วนนี้ของชนบท ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์, ช่วงชั้นทางสังคม, หรือชีวทรรศน์ตามอุดมคติ เช่น ความพอเพียง, ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, การรักษาสาธารณสมบัติร่วมกัน ฯลฯ (ซึ่งจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ) น่าสังเกตด้วยว่าโครงการในชนบทรุ่นนั้นจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้นำ เช่น สมภารวัด หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน และที่เรียกกันว่า "ผู้นำตามธรรมชาติ" แม้แต่การจัดองค์กรแบบใหม่บางอย่าง เช่น สหกรณ์, เครดิตยูเนี่ยน, กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ ก็มักมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้นำ "ตามประเพณี" (และ "ตามธรรมชาติ" ซึ่งบางทีอาจต้องสร้างขึ้นมา)

ดูเหมือนนักชนบทนิยมในรุ่นนั้นตั้งใจจะไม่เผชิญหน้ากับอำนาจรัฐโดยตรงพูดอีกอย่างหนึ่งคือหลีกเลี่ยงที่จะทำให้การบูรณะชนบทกลายเป็นประเด็นทางการเมืองพูดให้ตื่นเต้นกว่านั้นก็คือโครงการบูรณะชนบทจะไม่นำไปสู่กบฏชาวนา

แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่าการบูรณะชนบทเป็น"การเมือง" อย่างแน่นอน โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลทหารซึ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเมือง โดยดึงทรัพยากรจากชนบทมาหนุน และส่วนหนึ่งของเสน่ห์ชนบทนิยมในช่วงนั้น คือการต่อต้านเผด็จการทหารโดยนัยยะนั่นเอง

ตรงกันข้ามกับชนบทนิยมที่แทรกอยู่ในความเคลื่อนไหวของนักศึกษาในระหว่าง14ตุลา-6 ตุลา นักศึกษามองเห็นความอ่อนแอของชนบทมาแต่โบราณ ถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากศักดินาและบริวารตลอดมา ทุนนิยมเพิ่มคนเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น ฉะนั้น การต่อสู้ของชนบทคือการลุกขึ้นเผชิญหน้ากับกลุ่มชนชั้นนำทั้งในท้องถิ่น และในระดับชาติ ผลักดันกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เช่านา ผลักดันการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง ตลอดจนถึงผลักดันให้รัฐเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจโดยตรง หรืออย่างน้อยก็แทรกลงมาในความสัมพันธ์ระหว่างทุนและเกษตรกร

การเคลื่อนไหวในแนวชนบทนิยมจึงสัมพันธ์กับการเมืองอย่างแยกไม่ออก

 

ผมคิดว่าชนบทนิยมทั้งสองกระแสนี้มีอิทธิพลสืบมาอย่างมากในขบวนการเอ็นจีโอและนักคิดทางการเมืองและสังคมไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ในสายตาของชนชั้นนำที่ผูกขาดอำนาจมาอย่างต่อเนื่อง "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ในแนวแรก ไม่ค่อยมีอันตรายนัก และอาจปรับตัวได้ไม่ยาก ดังจะเห็นว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา รัฐบาลกรุงเทพฯ ได้เบนงบประมาณไปสู่การ "พัฒนา" ชนบทอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในชนบทไทย

แต่ "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ในแนวหลัง กลับอันตรายอย่างยิ่งต่อโครงสร้างอำนาจในรัฐไทย มีความพยายามจะปรับตัวอยู่เหมือนกัน แต่ก็มีขีดจำกัด เช่น การแทรกแซงราคาข้าว การตั้ง อปท. ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งนับวันก็ทำให้ อปท. เป็นอิสระจากส่วนกลางมากขึ้น เช่นเดียวกับรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นเชื่อมโยงกับอำนาจส่วนกลางได้ง่ายขึ้น ก็มีข้อจำกัดเพราะไปกระทบต่ออำนาจนำของชนชั้นนำมากขึ้นทุกที

ยิ่งไปกว่านี้ ชนบทนิยมกระแสที่เชื่อมโยงกับการเมืองและการปรับโครงสร้างอำนาจ ยังมีบทบาทค่อนข้างสูงตลอดปลายทศวรรษ 2520 และตลอดทศวรรษ 2530 แม้ว่า พคท. ประสบความปราชัยย่อยยับไปแล้วก็ตาม ขบวนการประชาชนหลายขบวนการด้วยกัน ใช้วิธีปริ่มกฎหมายในการกดดันให้ได้ตามข้อเรียกร้อง ประท้วงหน้าทำเนียบ 99 วันบ้าง, ยึดที่ดินทำกินซึ่งตนเคยใช้ประโยชน์ แต่กรมป่าไม้กลับอ้างว่าเป็นเขตป่าสงวนฯ และยกให้นายทุนเช่า, ปิดถนนเข้าสู่โครงการเอกชน หรือแม้แต่ปิดถนนหลวงเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน, ยึดสวนปาล์มที่หมดสัมปทานแล้ว, ตลอดจนยึดที่รกร้างว่างเปล่าของเอกชนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน 2540

ผมรู้สึกโดยไม่ได้ประเมินอย่างจริงจังด้วยว่า ในช่วงนี้ชนบทนิยมกระแสนี้ "แรง" กว่ากระแส "บูรณะ" ชนบทเป็นอย่างมาก และยิ่งทำให้ชนชั้นนำปรับตัวเพื่อรับชนบทนิยมกระแสนี้ยากขึ้น จนไม่อาจทำได้สำเร็จด้วยการปรับแก้นโยบายสาธารณะเพียงบางอย่าง เพื่อคงโครงสร้างเดิมไว้สืบไป

ในขณะเดียวกันนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่2530 เป็นต้นมา มีกระแสความคิดของปัญญาชนบางกลุ่ม ที่เข้ามาช่วยตอบปัญหาของชนชั้นนำให้ (อาจจะโดยไม่ตั้งใจ) นั่นคือการปรับโครงสร้างอำนาจโดยเพิ่มพื้นที่ให้แก่ "คนดีมีปัญญา" เพื่อให้สถาบันที่เกิดใหม่จากคนประเภทนี้ เข้ามาถ่วงดุลนโยบายสาธารณะต่างๆ ซึ่งนักการเมืองหรือนักรัฐประหารสร้างขึ้น ปัญญาชนกลุ่มนี้ใช้ชนบทนิยมเป็นฐานข้อเสนอของตน นั่นคือทำให้ชนบทไทยมีความเข้มแข็งและอยู่ดีมีสุข ในขณะที่ทุนนิยมไทยก็เติบโตก้าวหน้าไปพร้อมกันได้ รัฐกลายเป็นรัฐที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ต่างเกื้อกูลกันและกัน กลายเป็นพลังสามเหลี่ยมที่สามารถเขยื้อนภูเขาได้

แต่สิ่งที่ขาดไปในทฤษฎีนี้ก็คือ สามมุมของสามเหลี่ยมนี้จะสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งสามมุมต่างก็มีผลประโยชน์และเป้าหมายที่แตกต่างกัน พลังของสามเหลี่ยมที่จะเขยื้อนภูเขาจะมาจากไหนหากทั้งสามมุมต่างดึงกันไปคนละทาง จำเป็นต้องมีพลังอิสระอีกอันหนึ่งมาเชื่อมมุมทั้งสามให้ออกแรงไปในทางเดียวกัน พลังอิสระที่ขาดไม่ได้นี้คืออะไรไม่ค่อยชัดนัก คนที่เชื่อประชาธิปไตยก็อาจคิดว่าคือประชาธิปไตย คนที่เชื่อในบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็อาจคิดว่าเป็นสถาบัน คนที่เชื่อในอำนาจเผด็จการของกองทัพก็อาจเชื่อว่าเป็นกองทัพ และคนที่เชื่อว่าเป็นอำนาจตามธรรมชาติของคนดีมีปัญญา ก็เชื่อว่าต้องเป็นคนดี

ชนบทนิยมก็ยังอยู่ แต่เป็นชนบทนิยมที่ถูกทำให้ไม่การเมือง (depoliticized) เช่นเดียวกับตัวทฤษฎีซึ่งเป็นการสร้างพลังสังคมโดยไม่การเมืองเหมือนกัน ดังนั้น จึงไม่มีส่วนไหนของชนบทนิยมที่อาจคุกคามโครงสร้างอำนาจซึ่งเป็นอยู่ในสังคมไทยได้ ในขณะที่ชนบทก็จะสามารถปรับตัวเองโดยอาศัยพลังตามประเพณีที่เคยมีมาในชนบท (ตามอุดมคติ) ได้ด้วย แน่นอนว่าแนวคิดนี้ย่อมเอียงไปทางชนบทนิยมกระแส "บูรณะ" มากกว่ากระแสรื้อโครงสร้างอำนาจ เพราะชนบทนิยมกระแส "บูรณะ" ก็เป็นความพยายามที่ไม่การเมือง หรืออย่างน้อย ก็ซ่อนความเป็นการเมืองไว้ไม่ให้เห็นได้ชัด

ปัญญาชนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำให้แนวคิดของตนกลายเป็นสถาบันเชิงรูปธรรมมีองค์กรที่รัฐถูกกำหนดให้อุดหนุนเป็นเงินแน่นอนตามสัดส่วนของภาษีบางประเภทตั้งขึ้นหลายองค์กร (ทั้งก่อนและหลังรัฐธรรมนูญ 2540) กลายเป็นแหล่งรวบรวม "คนดีมีปัญญา" ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของตน เข้าไปบริหารจัดการ และถ่วงดุลทั้งด้านนโยบายและการใช้งบประมาณของรัฐได้จริง ทั้งยังสามารถขยายเครือข่ายของตนออกไปในวงกว้างกว่านั้นได้อีกมาก เพราะพลังทางการเงินที่มีอยู่สามารถสนับสนุนกลุ่มชนบทนิยมให้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายได้กว้างขวาง

แต่ประสบความล้มเหลวในเรื่องของความไม่การเมือง (depoliticization) เพราะทั้งตนเองและเครือข่ายเข้าไปสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยอย่างเต็มที่และออกหน้า ผมไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเลือกเส้นทางนี้ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้ทำให้คำตอบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านอีกต่อไปแล้ว ชนบทนิยมเสื่อมถอยไปจากแนวคิดของปัญญาชนกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก

ชนบทไทยและเกษตรไทยซึ่งได้เปลี่ยนไปอย่างมโหฬารแล้วชนบทนิยมที่ไม่การเมืองจึงไม่สามารถให้คำตอบทั้งแก่คนและการเกษตรในชนบทได้ พวกเขาต้องการรัฐไม่น้อยไปกว่าธุรกิจเอกชน ด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องการเข้าถึงรัฐเหมือนกัน แต่ไม่มีกำลังจะเข้าถึงได้นอกจากผ่านการเลือกตั้ง การแย่งชิงรัฐกันอย่างเอาเป็นเอาตายในทศวรรษสุดท้ายนี้ ระหว่างธุรกิจเอกชนบวกกับกระฎุมพีในเมือง และชาวชนบทที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว ทำให้รัฐไทยแตกสลายลง แตกไปถึงระดับกลไกรัฐ ทั้งในแนวนอน คือกรมกองต่างๆ ให้ความภักดีต่อแนวทางการเมืองต่างกัน และแตกในแนวตั้ง คือคนภายในกรมกองเดียวกันให้ความภักดีต่อแนวทางการเมืองคนละขั้ว

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อกองทัพซึ่งเป็นกลไกรัฐที่แข็งแกร่งที่สุดยึดอำนาจได้ก็ต้องปรับย้ายข้าราชการขนานใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการรัฐประหารมาในประเทศไทย

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือผมสังเกตเห็น(ซึ่งอาจผิด) ว่า หลังรัฐประหาร ชนบทนิยมกระแส "บูรณะ" ดูเหมือนจะเสื่อมบทบาทลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ชนบทนิยมกระแสรื้อโครงสร้างกลับค่อยๆ มีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหมืองแร่, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, ท่าเทียบเรือน้ำลึก, การยึดคืนที่ดินที่อ้างว่าเป็นป่าสงวน, กรณีปากมูล และพีมูฟ ฯลฯ แต่กฎอัยการศึกทำให้การเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังไม่มีแรงส่งได้สูงนัก

อีกอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตด้วยก็คือตัวชนบทนิยมนั้นเองไม่ว่าในกระแสใดก็ตาม ดูเหมือนไม่มีการพัฒนาในแง่ความคิดหรือยุทธวิธีมานานแล้ว อย่างน้อยก็นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา (หลังฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ)

แม้ว่าชนบทไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และต้องการมุมมองต่อชนบทใหม่ อันจะทำให้เกิดชนบทนิยมกระแสใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า ชนบทที่เปลี่ยนไปแล้วนี่แหละได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของไทยในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนสังคมไทยไม่อาจหาคำตอบจากหมู่บ้านแบบเดิมได้อีกแล้ว

คำขวัญของปัจจุบันจึงน่าจะเป็น "คำถามอยู่ที่หมู่บ้าน"

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน  มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม; 5-11 ธันวาคม 2557

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท