Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

         

"...ความปลื้มใจ ความภูมิใจ ช่อดอกไม้ คำยินดี ชุดครุยและใบปริญญา..." สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือได้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เตรียมพร้อมที่จะก้าวออกไปสู่โลกภายนอก สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นกำลังคิดว่านี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในชีวิต จากการได้เข้าหรือผ่านหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งการเรียนและกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานศึกษาขั้นสูงสุดของประเทศ โดยตามสายตาใครต่อใครก็มองว่านี่คือใบเบิกทางไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่พวกเขาเหล่านั้นกำลังฝันถึงหรือเดินไปถึงนั้น คือความสำเร็จที่ถูกลัทธิอุตสาหกรรมของเหล่ากระฎุมพี[1]หรือนายทุนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกุมบังเหียนเศรษฐกิจของประเทศเป็นผู้นิยาม ดังนั้นความสำเร็จของพวกเขาเหล่านี้ก็คือบันไดที่จะนำพวกเขาไปสู่การเป็น "แรงงาน" หรือ "เครื่องจักร" อีกชนิดหนึ่งที่ป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม อีกทั้งด้วยการทำงานของระบบอุตสาหกรรมจะเป็นการทำงานแบบแบ่งออกเป็นด้าน ๆ ก็ได้ส่งผลต่อระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่แบ่งการเรียนรู้ออกเป็นด้าน ๆ ตามสาขาวิชาด้วยเช่นกัน กระบวนการดังกล่าวนี้เป็นกระบวนการลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์(Dehumanization) โดยแต่ละสาขาวิชานั้นแทบจะไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันเลย อีกทั้งนิสิตนักศึกษาเองก็แทบจะมีชีวิตที่ไม่สัมพันธ์กับโลกภายนอกเลยอีกด้วย

การแบ่งการเรียนการสอนออกเป็นเฉพาะด้านของมหาวิทยาลัยนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายว่าเพราะเนื่องจากการครอบงำของระบบอุตสาหกรรม ได้เร่งให้เกิดการแบ่ง "ความชำนาญเฉพาะด้าน" มากยิ่งขึ้น เพราะเนื่องจากการแบ่งแยกย่อยดังกล่าวได้ทำให้กระบวนการผลิตของระบบอุตสาหกรรมนั้นยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น[2]ดังนั้นมหาวิทยาลัยไทยที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายตัวของลัทธิอุตสาหกรรม จึงต้องแบ่งซอยแยกย่อยความรู้ต่าง ๆ ออกเป็นส่วน ๆ ให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม

ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่จะผลิตนิสิตนักศึกษาหรือเครื่องจักรแรงงานมนุษย์ เพื่อป้อนให้กับตลาดอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีเราก็จะเห็นได้ว่าครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยหรือนิสิตนักศึกษากลายเป็นชนชั้นนำทางสังคมในการลุกขึ้นสู้เรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นพื้นที่ทางวิชาการและแหล่งผลิตปัญญาชนอย่างแท้จริง(ไม่ใช่จอมปลอมอย่างในปัจจุบัน) แต่สิ่งดังกล่าวเหล่านั้นกลับถูกช่วงชิงความหมายไป มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งผลิตแรงงานขนาดใหญ่ คำถามก็คือว่าอะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัยนั้นถูกช่วงชิงความหมายแห่งการเป็นแหล่งปัญญาของสังคมไปได้ โดยบทความนี้ต้องการนำเสนอภาพของกระบวนการผลิตและส่งออกนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยในยุคแห่งการครอบงำของลัทธิอุตสาหกรรมภายใต้ระบบกระฎุมพี ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาต่าง ๆ ของสังคมไทยและระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน

 

มหาวิทยาลัยกับการถูกช่วงชิงความหมาย

หากจะกล่าวว่ามหาวิทยาลัยไทยนั้นถูกช่วงชิงความหมายโดยลัทธิอุตสาหกรรมให้กลายเป็นเพียงแค่แหล่งผลิตแรงงานนั้น เห็นทีก็อาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเนื่องจากมหาวิทยาลัยของไทยนั้นเกิดขึ้นมาก็เนื่องมาจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่เพื่อที่จะเป็นแหล่งผลิตแรงงานเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวอยู่ " ดังนั้นมหาวิทยาลัยไทยจึงถูกออกแบบมาให้รองรับระบบอุตสาหกรรมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยของไทยจึงกลายเป็นแหล่งผลิตแรงงานมากเสียกว่าแหล่งผลิตนักวิชาการหรือปัญญาชนอย่างที่ได้เข้าใจกัน"

อย่างไรก็ตามเราก็เห็นได้ว่าช่วงหนึ่งนิสิตนักศึกษาและพื้นที่มหาวิทยาลัยนั้นก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำในการเคลื่อนไหวทางการเมือง นิสิตนักศึกษาในช่วงสมัยดังกล่าวไม่ได้คิดแต่เพียงว่าพวกเขาคือเครื่องจักรหรือแรงงานที่จะไปสู่ระบบอุตสาหกรรมหรือระบบราชการ พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำทางสังคมในการเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ต่อระบบที่ไม่เป็นธรรม ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปจนถึง 6 ตุลาคม 2519

คำถามต่อมาก็คือทำไมนิสิตนักศึกษาเหล่านั้นถึงมีความคิดและความรับผิดชอบว่าพวกตนนั้นมีความเป็นชนชั้นนำทางสังคมหรือเป็นปัญญาของสังคมได้ ซึ่งคำตอบก็คือในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยคือการศึกษาระดับสูงที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะฝึกคนให้เตรียมตัวเข้าทำงานในวงการราชการ[3]

โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้อธิบายสภาพดังกล่าวเอาไว้ว่า อันเนื่องมาจากด้วยจำนวนนิสิตนักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมีน้อยมากเมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาเหล่านี้รู้สึกตัวว่าพวกเขาเป็นอภิสิทธิ์ชน กล่าวคือพวกเขานั้นหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากคนทั่วไป พวกเขานั้นหวังและถูกหวังว่าพวกเขาคือ "ผู้นำ" ทางสังคม กลุ่มนิสิตนักศึกษารู้สึกว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อที่จะตอบแทนอภิสิทธิ์ที่สังคมนั้นได้มอบให้[4]

หากจะอธิบายการก้าวขึ้นมาช่วงชิง "อำนาจนำ" (Hegemony) ในด้านการเมืองและสังคมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาหรือการขึ้นมาเป็นชนชั้นนำในช่วงเวลาดังกล่าวให้ลึกและละเอียด งานเรื่องและแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา ของประจักษ์ ก้องกีรติ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยงานชิ้นดังกล่าวได้แสดงภาพนิสิตนักศึกษาในช่วงเวลาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เอาไว้ว่าเนื่องจากช่วงเวลาทศวรรษ 2500 เป็นช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจ มีการเริ่มจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในปี 2504 จึงทำให้เกิดการขยายตัวของมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้นและออกไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยเปิดอีกด้วย การขยายตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่กระแสความเคลื่อนไหวของประชาชนที่แสดงความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่สูงขึ้น ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแรงงานมารองรับการขยายตัวในระบบราชการและอุตสาหกรรม[5]

อีกทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในยุครัฐบาลเผด็จการได้ทำให้กลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลายเป็นกลุ่มสังคมใหม่ที่ต้องการจะไต่เต้าขึ้นมาในสังคมและกลุ่มคนดังกล่าวนี้ก็พอมีปัญญาที่จะส่งเสียลูกหลานให้ได้รับการศึกษาสูง ๆ และพวกเขาตระหนักดีว่าหนทางในการเขยิบฐานะนั้นก็คือ "การศึกษาในมหาวิทยาลัย" เพื่อที่จะทำให้ครอบครัวของกลุ่มตนนั้นมีฐานะมั่นคง อีกทั้งการศึกษายังกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงหรือกลายเป็นหนทางไปสู่การเป็นชนชั้นสูงและการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าวยังได้กลายเป็นช่องทางของการเลื่อนชั้นทางสังคมที่สำคัญของกลุ่มคนที่ไม่มีตำแหน่งหรือเส้นสายในสังคม[6]

ดังนั้นการคาดหวังว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยจะเป็นช่องทางในการเลื่อนชั้นทางสังคมนั้นยังเป็นเรื่องที่ยังมีความเป็นจริงอยู่ เพราะเนื่องจากระบบราชการก็ยังคงรองรับกับนิสิตนักศึกษาที่จบใหม่ ประกอบกับธุรกิจภาคเอกชนก็ยังคงเปิดกว้างสำหรับนิสิตนักศึกษา เหตุดังกล่าวนี้ได้ทำให้นิสิตนักศึกษาสมัยดังกล่าวกลายเป็นกลุ่มคนที่จะก้าวไปสู่การเลื่อนฐานะทางสังคมเมื่อหลังจบการศึกษา โอกาสที่รออยู่เมื่อหลังจบการศึกษาเป็นสิ่งที่พวกเขาตระหนักดีถึงฐานะของตนที่กำลังจะเลื่อนไปเป็นชนชั้นนำทางสังคม ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ทศวรรษ 2500-2510 นิสิตนักศึกษาจะมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มนิสิตนักศึกษาดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงกลุ่มคนส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งประเทศ แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่รัฐเองนั้นให้การรับรองและให้อภิสิทธิ์ต่าง ๆ[7]

ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมนิสิตนักศึกษาจึงกลายเป็นชนชั้นนำของสังคมสมัยนั้น โดยประจักษ์ ก้องกีรติ ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่านิสิตนักศึกษาในสมัยนั้นว่ามีนัยความหมายเกือบเท่าชนชั้นนำทางสังคม และสถานะของนักศึกษาในสมัยนั้นก็ดูสูงส่ง จนนิสิตนักศึกษาเกือบจะเป็นเทวดาลอยอยู่เหนือประชากรร่วมชาติ[8]

อย่างไรก็ตามการก้าวเลื่อนชนชั้นของกลุ่มนิสิตนักศึกษานี้ก็ไม่ใช่การเลื่อนชนชั้นไปสู่ชนชั้นสูงและก็ไม่ได้เป็นชนชั้นล่าง แต่การก้าวเลื่อนขั้นทางชนชั้นดังกล่าวนี้เป็นการเลื่อนชนชั้นไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของ "ระบบกระฎุมพี"

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากลุ่มกระฎุมพีคือกลุ่มคนที่มีความสำคัญและมีพลังในกลไกเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ และกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยก็เป็นผลพวงมาจากกลุ่มกระฎุมพีที่ต้องการแรงงานในการป้อนสู่ระบบอุตสาหกรรมและขยายชนชั้นกระฎุมพีของตนเองด้วยไปในตัว ดังนั้น "นิสิตนักศึกษาจึงเปรียบเสมือนหน่ออ่อนของการเป็นกระฎุมพี หรือเตรียมเข้าไปมีส่วนร่วมกับระบบกระฎุมพี อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็เปรียบเสมือนกับโรงบ่มเพาะการเป็นกระฎุมพี และยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบกระฎุมพี" อีกทั้งในระบบการศึกษาไทยนั้นก็มีกลไกที่จะเลือกสรรคนเข้าสู่การศึกษาระดับสูงที่มีความลำเอียงไปเข้าข้างกระฎุมพีอย่างชัดเจนอีกด้วย[9]

เมื่อกล่าวถึงระบบกระฎุมพี การที่จะก้าวไปเป็นชนชั้นกระฎุมพีหรือเข้าไปสู่ระบบของกระฎุมพีได้นั้นไม่เพียงแต่ต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ของชนชั้นตนอีกด้วย เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างชนชั้นกระฎุมพีกับชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง เพราะเนื่องจากโครงสร้างในอดีตของกระฎุมพีไทยที่ต้องพึ่งพิงชนชั้นปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงส่งผลให้กระฎุมพีเองไม่มีวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมของตนเอง ดังนั้นเมื่อกระฎุมพีสามารถที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นผลสำเร็จแล้ว กระฎุมพีจำเป็นต้องสร้างสถานะของตนเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปและแข็งแกร่งขึ้น

การสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มกระฎุมพีต้องอาศัยมิติทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม โดยจำเป็นที่จะต้องแยกตัวออกห่างจากชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง จนนำไปสู่การสร้าง "ธรรมเนียม" ของตนเอง ซึ่งธรรมเนียมแรก ๆ ของกลุ่มกระฎุมพีนั้นจะได้แก่การแต่งกาย หรือการปฏิบัติตนที่ไม่ปะปนกับคนทั่วไปอย่างเช่นการนั่งรถรางเฉพาะที่เป็นรถรางชั้นหนึ่ง[10] อีกทั้งยังมีงานสังสรรค์ภายในกลุ่มกระฎุมพีที่เป็นกระบวนการในการจัดความสัมพันธ์ภายในกลุ่มกระฎุมพีเองและเป็นการกีดกันกลุ่มคนที่ไม่ใช่กระฎุมพีออกไปและเป็นการสร้างมาตรฐานให้สำหรับคนทั่วไปให้เกิดการดิ้นรนให้เข้ามาสู่กลุ่มกระฎุมพีไปในตัว[11]

งานสังสรรค์ดังกล่าวนี้ยังคงเป็นมาตรฐานที่กลุ่มกระฎุมพีนั้นใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะเห็นได้จากงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ หรืองานสังสรรค์ของมหาวิทยาลัยที่มีการจัดอย่างใหญ่โต เช่นงานบอล งานลีลาศ งานอำลารุ่นพี่ (Good bye senior) ซึ่งการไปงานดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้ทุนค่อนข้างสูง เมื่อเรียนจบก็มีการจัดฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้คู่ควรกับใบปริญญา ด้วยแบบแผนของกระฎุมพีดังกล่าวนี้ได้ทำให้หน่ออ่อนของกระฎุมพีซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษามีแบบแผนความประพฤติหรือวัฒนธรรมที่เหินห่างจากประชาชนธรรมดาออกไปเรื่อย ๆ แม้กระทั่งครอบครัวของพวกเขาเอง[12]

แม้กระทั่งชุดนิสิตนักศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยนั้นบังคับให้ต้องแต่งกายให้ถูกระเบียบ ก็ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อแยกสถานะและสถานภาพของนิสิตนักศึกษาให้เด่นชัดและแยกออกจากคนทั่วไป ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะผลิตนิสิตนักศึกษาให้มีความพร้อมในการก้าวออกไปเป็นกระฎุมพีหรือเป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรม และด้วยกฎระเบียบหรือมาตรการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยก็เพื่อให้เป็นที่มั่นใจให้แก่ชนชั้นกระฎุมพีได้ว่าพวกนิสิตนักศึกษาเหล่านี้จะไม่ผ่าเหล่าผ่ากอจนสามารถไปทำลายความสัมพันธ์ภายในและภายนอกชนชั้นของระบบกระฎุมพีหรือทำให้ผลประโยชน์ของระบบกระฎุมพีเสียหาย

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการขึ้นมาเป็นชนชั้นนำของสังคมของเหล่านิสิตนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 2500-2510 เป็นการที่นิสิตนักศึกษานั้นมีสำนึกว่าตนเป็นชนชั้นนำของสังคมก็จริงอยู่ แต่การเป็นชนชั้นนำของนิสิตนักศึกษานั้นยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกระฎุมพี ดังนั้นเมื่อระบอบเผด็จการทหารเสื่อมอำนาจลงและไม่อาจที่จะตอบสนองผลประโยชน์ต่อฝ่ายกระฎุมพีได้ กลุ่มกระฎุมพีซึ่งเป็นนายทุนหรือฝ่ายธุรกิจเอกชน ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างสถานการณ์ทำให้การหมดอำนาจของเผด็จการทหารมีความเป็นไปได้[13]ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ "เครือข่าย" ต่าง ๆ ของกลุ่มกระฎุมพีและชนชั้นสูงเข้ามาช่วงชิงอำนาจนำโดยการสนับสนุนนิสิตนักศึกษาจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา[14]

เมื่อนิสิตนักศึกษาก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองที่มากขึ้น มีการตั้งคำถามต่าง ๆ ต่อสังคม การเมือง และวัฒนธรรม จนทำให้อำนาจของกลุ่มกระฎุมพีนั้นเริ่มเสียสมดุล กลุ่มกระฎุมพีเริ่มที่จะเสียบทบาททางการเมืองให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษา และกลุ่มนักศึกษาเองก็มีแนวโน้มที่จะหลุดออกจากการครอบงำของกลุ่มกระฎุมพีไปเรื่อย ๆ โดยการแย่งชิงของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เหตุนี้เองจึงทำให้กลุ่มกระฎุมพีจำเป็นที่จะต้องดึงนิสิตนักศึกษาและอำนาจนำทางการเมืองให้เข้ากลับมาสู่กลุ่มตนอีกครั้งหนึ่ง จึงตามมาด้วยการสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาใจกลางกรุงเทพฯ ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้นิสิตนักศึกษาและมหาวิทยาลัยกลับคืนมาสู่ระบบกระฎุมพี

อีกทั้งเนื่องจากย้อนไปในช่วงปี 2515 การรับคนเข้าทำงานในราชการลดลง ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้ก้าวเข้าไปสู่อาชีพที่หลากหลายในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวขึ้นทุกขณะ[15]จึงทำให้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกนึกคิดของนิสิตนักศึกษาและพื้นที่มหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน และนี่เองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการนำนิสิตนักศึกษาก้าวออกจากการเป็นชนชั้นนำทางสังคมไปสู่การเป็นเครื่องจักรในลัทธิอุตสาหกรรมซึ่งได้ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายสภาพเป้าหมายอาชีพของนิสิตนักศึกษาและมหาวิทยาลัยในปัจจุบันไว้ว่าส่วนใหญ่แล้วตลาดงานของกลุ่มบัณฑิตไทยก็คือธุรกิจภาคเอกชน ซึ่งไม่ใช่มุ่งไปสู่ระบบราชการเหมือนอย่างสมัยก่อน อีกทั้งในโลกของภาคเอกชนนั้น หนทางก้าวหน้าในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันมาก จึงทำให้โลกของชีวิตนิสิตนักศึกษาไทยคือการแข่งขันกันในตลาดงานข้างหน้า โดยชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันจริงข้างหน้าเท่านั้น[16]

เราจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยนั้นเปรียบได้กับ "พื้นที่แห่งความหมาย" ซึ่งถึงแม้จะถูกออกแบบมาให้รองรับกับลัทธิอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีความพยายามในการช่วงชิงความหมายของบรรดาเหล่านิสิตนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 2510 อย่างไรก็ตามพลังของนิสิตนักศึกษาในช่วงนั้นที่ได้ชื่อว่าเป็นพลังแห่งความสะอาด ก็ต้องถูกปราบปรามลงอย่างน่าสังเวชใจด้วยความกลัวของเหล่ากระฎุมพี

อีกทั้งด้วยมิติทางเศรษฐกิจเองที่ระบบอุตสาหกรรมนั้นขยายตัวไปเรื่อย ๆ แต่อัตราการเข้ารับราชการนั้นลดต่ำลง นี่เองก็ทำให้เหล่านิสิตนักศึกษาถูกตัดขาดออกจากการรับรู้เรื่องราวของบ้านเมือง มุ่งแต่จะสร้างตนให้มีความพร้อมที่จะเป็นเครื่องจักรให้กับลัทธิอุตสาหกรรมแต่เพียงเท่านั้น จนในปัจจุบันนิสิตนักศึกษาเองไม่มีทักษะในการเป็นชนชั้นนำที่จะทำอะไรเพื่อมวลชนอีกต่อไปแล้ว ทำได้อย่างมากคือการรีบเรียนรีบจบเพื่อแยกย้ายไปสู่สายงานต่าง ๆ ของลัทธิอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงงานขนาดใหญ่สำหรับผลิตเครื่องจักรเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมท่ามกลางความเงียบงันของการลุกขึ้นมาช่วงชิงความหมาย


กระบวนการผลิต

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามหาวิทยาลัยไทยภายใต้การครอบงำของลัทธิอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนโรงงานขนาดใหญ่เพื่อผลิตนิสิตนักศึกษาให้กลายเป็นเครื่องจักรเพื่อป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นกระบวนการทุกอย่างภายในมหาวิทยาลัยจึงเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อระบบอุตสาหกรรม กล่าวคือมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างกระบวนการต่าง ๆ เพื่อบ่มเพาะนิสิตนักศึกษาให้มีความพร้อมในการตอบสนองต่อลัทธิอุตสาหกรรมภายใต้ระบบกระฎุมพี

เมื่อผู้สำเร็จการศึกษาในขั้นมัธยมศึกษาได้เข้ามาเป็น "น้องใหม่" ในรั้วมหาวิทยาลัย สิ่งแรก ๆ ที่ต้องเจอนั้นก็คือ "ป้ายชื่อ" ที่ใช้สำหรับคล้องคอนิสิตนักศึกษาใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลที่เข้ามาใหม่นั้นจะได้รู้จักชื่อซึ่งกันละกันและรุ่นพี่จะได้ทำความรู้จักกับรุ่นน้องได้ง่ายยิ่งขึ้น นี่คือความคิดแบบการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละบริษัทหรือโรงงานต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะให้พนักงานของตนมีป้ายชื่อเอาไว้ และจำเป็นที่จะต้องติดมาทำงานด้วยทุกครั้ง โดยบางบริษัทป้ายชื่อสามารถที่จะใช้ตอกบัตรในการเข้าทำงานและหลังเลิกงานได้

นี่จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเครื่องจักรเพื่อให้ออกไปตรงตามความต้องการของลัทธิอุตสาหกรรม ซึ่งถ้านิสิตนักศึกษาคนไหนไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามกระบวนการนี้ได้ เหล่าเจ้านาย (รุ่นพี่) ก็จะลงมากดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมจนบางคนก็ไม่สามารถทนเรียนต่อไปได้ หรือบางคนก็ต้องปฏิบัติตามไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หรือบางคนก็ทนเอาเพราะเนื่องจากเวลาการคล้องป้ายนั้นแค่ไม่เกิน 1 ปีเดี๋ยวก็ได้ปลดป้าย อย่างไรก็ตามเมื่อมีน้องใหม่ที่ปฏิบัติตัวไม่อยู่ในกรอบหรือท้าทายกรอบความคิดก็จะถูกยึดป้าย ซึ่งการยึดป้ายดังกล่าวนี้เป็นการถูกทำให้แบ่งแยกว่าผู้ที่ถูกยึดป้ายนั้นไม่สามารถที่จะคงอยู่ในการจะเตรียมตัวเป็นเครื่องจักรได้ เสมือนกับชีวิตการทำงานในระบบอุตสาหกรรม โดยบุคคลใดไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ก็จะถูกเปลี่ยนออกเหมือนเปลี่ยนเครื่องจักรและนำเครื่องจักรชิ้นใหม่มาใช้แทน

เมื่อจำเป็นต้องคล้องป้ายแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำหรือเป็นเรื่องหลัก ๆ นั่นก็คือการแต่งกายให้ถูกระเบียบ หรือแต่งเครื่องแบบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด นี่ก็เป็นอีกวิธีที่จะฝึกให้นิสิตนักศึกษาสามารถอดทนต่อการแต่งกายในเครื่องแบบ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่จะฝึกให้นิสิตนักศึกษาออกไปทนสภาพของเครื่องแบบต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมได้ อีกทั้งการแต่งชุดนิสิตนักศึกษายังเป็นการแบ่งแยกชนชั้นให้แตกต่างจากบุคคลต่าง ๆ ในสังคม อันเป็นผลจากการสร้างธรรมเนียมและอัตลักษณ์ของระบบกระฎุมพีดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นี่จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของนิสิตนักศึกษาไทยที่อยากจะคงสถานะของตนเอาไว้ ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามวัฒนธรรมของกระฎุมพี อีกทั้งเราจะเห็นได้ว่าแต่ละคณะหรือสาขาวิชาก็จะมีเสื้อฟอร์มของแต่ละวิชาแตกต่างกันไป ซึ่งนี่ก็คืออีกหนึ่งการสร้างอัตลักษณ์ของสายวิชาชีพของตน เพื่อที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกลุ่มสายวิชาชีพของกระฎุมพี เพื่อที่จะได้มีพลังในการต่อรองผลประโยชน์ต่าง ๆ ของกลุ่มตน

เนื่องจากการที่กลุ่มกระฎุมพีนั้นจะต้องมีวัฒนธรรมของตนที่แตกต่างกันออกไปตามสายวิชาชีพ ดังนั้นวัฒนธรรมดังกล่าวนั้นจึงถูกส่งผ่านมาถึงมหาวิทยาลัยผ่านทางพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันไปตามสายวิชา ด้วยเหตุนี้เองจะเห็นได้ว่าพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เห็นภายในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องแต่เพียงเท่านั้น แต่มันยังเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงออกไปสู่ภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะเตรียมตัวของนักศึกษาให้จบออกไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมของกระฎุมพีต่อไป

อีกทั้งการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยก็ได้ถูกครอบงำด้วยกระบวนทัศน์แบบสมัยใหม่อย่างเด่นชัดที่สุด โดยการเรียนการสอนได้ถูกแบ่งด้านออกอย่างชัดเจน มีระบบการเรียนแบบเป็นขั้นเป็นตอนไม่ต่างกับระบบสายพานการผลิตของโรงงานทำเครื่องจักร ซึ่งการเรียนดังกล่าวนี้เป็นการเรียนที่แบ่งเป็นขั้นตอนออกเป็นแต่ละขั้นตอนหรือเป็นระดับ ซึ่งถ้าหากนิสิตนักศึกษาคนไหนไม่สามารถที่จะผ่านแต่ละขั้นตอนไปได้ ก็ต้องย้อนไปลงเรียนใหม่ตามเวลาที่วิชาดังกล่าวนั้นจะเปิดให้ในภาคเรียนหรือปีต่อไป หรือถ้าวิชาดังกล่าวไม่เปิดให้ลงเรียนนิสิตนักศึกษาก็จะกลายเป็นเด็กตกแผน

การแบ่งช่วงเวลาออกเป็นช่วง ๆ หรือเป็นคาบเรียนภายในรั้วมหาวิทยาลัยหรือของการศึกษาไทยโดยรวมให้สอดคล้องกับระบบการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ก็ไม่สามารถที่จะตอบโจทย์การศึกษาได้และทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพเพราะเนื่องจากการอัดแน่นหรือการแบ่งช่วงเวลาของการเรียนการสอนไม่สามารถตอบสนองต่อการสนใจของผู้เรียนได้ และการแบ่งแยกย่อยดังกล่าวก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเบื่อ และไม่เข้าถึงแก่นของรายวิชาต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเป็นระบบที่มีความแข็งทื่อและเทอะทะไม่สามารถที่จะยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม เสมือนกับการผลิตเครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรม ที่เครื่องจักรจะถูกส่งต่อไปตามสายพานการผลิต ถ้าเกิดการผิดพลาดตามขั้นตอนไหนก็ต้องให้ผ่านไปจนครบทุกขั้นตอนจนกว่าจะกลับมาย้อนแก้ไขในขั้นตอนที่ผิดพลาด

จากที่ได้กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างของกระบวนการผลิตนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งแทบจะไม่ต่างกับระบบการผลิตเครื่องจักรภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวนี้เป็นการมุ่งเน้นผลิตแรงงานมากเสียกว่าแหล่งผลิตนักวิชาการหรือปัญญาชนอย่างที่ได้กล่าวเอาไว้แล้ว ดังนั้นนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันจึงเป็นเพียงแค่แรงงานทั้งในทางปฏิบัติและทางด้านจิตใจเพราะเนื่องจากกระบวนการผลิตของระบบการศึกษาดังกล่าวและเนื่องด้วยระบบของกระฎุมพี ทำให้นิสิตนักศึกษาในยุคปัจจุบันรีบเรียนและรีบจบเพื่อที่จะเข้าสู่อาชีพต่าง ๆ ตามสายวิชาของตน โดยไม่มุ่งหวังหรือสนใจอะไรไปมากกว่าการตะเกียกตะกายให้มีงานทำเมื่อจบการศึกษา


กระบวนการส่งออก

เนื่องจากกระบวนการผลิตดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อใกล้จะส่งเครื่องจักรเหล่านี้ออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ทางมหาวิทยาลัยก็มีการจัดอบรมเกี่ยวกับสิ่งที่พึงกระทำและไม่พึงกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเชิญผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน กิริยามารยาท หรือแม้กระทั่งคนจากกระทรวงแรงงานมาทำการบรรยายให้นิสิตนักศึกษาฟัง เพื่อให้นิสิตนักศึกษานั้นสามารถไปใช้ชีวิตในระบบการทำงานของลัทธิอุตสาหกรรมได้

ดังนั้นนี่จึงเป็นภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องย้ำเตือนนิสิตนักศึกษาของตนในช่วงปลายของการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ว่าให้ปฏิบัติตนให้พึงประสงค์ และมักจะย้ำเตือนด้วยเสมอว่าเมื่อก้าวพ้นออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้วนั้น ไม่ได้ออกไปแค่ตัว แต่เอาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนั้นออกไปด้วย วาทกรรมดังกล่าวนี้ถือว่าเป็น"การสลายแนวคิดเชิงปัจเจกชน"ซึ่งถูกใช้มาหลายยุคหลายสมัย ก็เพื่อไม่ให้นิสิตนักศึกษาทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยของตนเอง และเป็นการย้ำความมั่นใจให้กับระบบกระฎุมพีว่านิสิตนักศึกษาดังกล่าวจะไม่ไปทำลายระบบที่ได้ถูกวางเอาไว้

อีกทั้งจำนวนของการเข้าถึงตลาดแรงงานของผู้จบการศึกษาแต่ละแห่ง ยังเป็นตัวรับประกันคุณภาพรสนิยมของสังคมในความนิยมในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอีกด้วย ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการที่จะผลิตบุคลากรให้ตอบสนองต่อลัทธิอุตสาหกรรม มากกว่าที่จะผลิตบุคคลากรให้เข้าใจคนหรือเข้าใจสังคมอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นชุดครุยและใบปริญญามันจึงเป็นเพียงแค่ผ้าคลุมเครื่องจักรและใบประกันสินค้าเพื่อส่งออกขายให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่เพียงเท่านั้น

เมื่อผ่านกระบวนการต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหล่าเครื่องจักรก็มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม เพื่อจะไปเป็นตัวผลักดันในระบบการผลิตหรือการบริการต่าง ๆ จนกว่าจะหมดอายุไขของการทำงานก็จะถูกเปลี่ยนออกแล้วนำเครื่องจักรเครื่องใหม่เข้ามาใช้แทน และนี่ก็จะเป็นวัฎจักรหมุนเวียนอย่างนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น กลายเป็นวิถีของเครื่องจักร ที่มีจุดเริ่มต้นจากกระบวนการผลิต กระบวนการส่งออกจนถึงช่วงเวลาแห่งการปลดเกษียณภายใต้กระบวนการลดทอนคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์


สรุปและข้อเสนอแนะ

จากที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าพื้นที่มหาวิทยาลัยนั้น ถึงแม้ว่าจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายตัวของการผลิตแบบอุตสาหกรรม และมุ่งที่จะผลิตแรงงานมากกว่าจะเป็นแหล่งผลิตนักวิชาการก็ตาม แต่ก็ยังเห็นได้ว่าด้วยบริบททางสังคมในช่วงเวลาหนึ่งได้ก่อให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่ในการที่จะนิยามความหมายของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามด้วยการครอบงำของระบบกระฎุมพีก็ได้ทำให้มหาวิทยาลัยได้กลับไปและกลับกลายไปเป็นแหล่งผลิตเครื่องจักรเพื่อป้อนให้กับระบบอุตสาหกรรมที่ขยับขยายตัวอยู่ในประเทศ

เราจะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนจนถึงวันสำเร็จการศึกษา นิสิตนักศึกษาจะถูกฝึกและอบรมทั้งในด้านร่างกายและความคิดต่าง ๆ ให้มีความพร้อมในการที่จะตอบสนองต่อลัทธิอุตสาหกรรม อีกทั้งด้วยระบบกระฎุมพีที่ได้ปกคลุมทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและการศึกษา และการสร้างอัตลักษณ์ในสายวิชาชีพต่าง ๆ ของกลุ่มกระฎุมพีก็ได้ทำให้เกิดการสร้างธรรมเนียมหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสายวิชาชีพของตนอันจะนำไปสู่พลังในการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มวิชาชีพตน

ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงแทบไม่ต่างอะไรกับโรงงานผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ เพื่อป้อนเครื่องจักรเข้าสู่ระบบของการลดทอนความเป็นมนุษย์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และนิสิตนักศึกษาเองก็ไม่ต่างอะไรกับการเตรียมตัวเข้าไปสู่การเป็นเครื่องจักร อีกทั้งด้วยระบบกระฎุมพีที่ได้ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ก็ได้ทำให้นิสิตนักศึกษาแทบที่จะไม่กล้าคิดเปลี่ยนแปลงเพื่อทำสิ่งใหม่ ๆ  หรือตื่นตัวขึ้นท่ามกลางปัญหาแห่งความเอารัดเอาเปรียบและความไม่เท่าเทียมกันของสังคม หรือกล้าคิดที่จะทำอะไรเพื่อมวลชนโดยแท้จริงและแหกกรอบอันเก่าแก่คร่ำคร่าของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

อย่างไรก็ตามก็ใช่ว่าจะเกิดความเงียบงันและเฉยชาในการลุกขึ้นมาช่วงชิงความหมายของมหาวิทยาลัยเสียทีเดียว  ในปัจจุบันได้เกิดนิสิตนักศึกษากลุ่มต่าง ๆ ที่ตื่นตัวท่ามกลางความหลับใหลของผองเพื่อนที่ถูกมอมเมาด้วยลัทธิอุตสาหกรรมภายใต้ระบบกระฎุมพี ขึ้นมาตั้งคำถามต่อพื้นที่ทางการศึกษาแห่งนี้ว่าควรจะเดินไปแบบใด และตั้งคำถามในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการคิดหรือแสดงออกของตน อย่างเช่น กลุ่มดาวดินแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งวีรกรรมของความกล้าหาญของพวกเขาจะเป็นแสงสว่างส่องประกายให้กับนิสิตนักศึกษาได้ตื่นขึ้นจากความหลับใหล

ส่วนทางออกหรือข้อเสนอแนะ ผู้เขียนได้นำแนวความคิดจากบทความ "กรอบ"ของการศึกษาไทย[17] ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ มาเป็นแนวทางในการหาทางออกดังกล่าวนี้ กล่าวคือ การมุ่งเน้นการศึกษาให้ตอบสนองต่อโจทย์ทางเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักของการศึกษา เพราะเนื่องจากที่เมื่อไหร่ที่เรากำลังพูดถึงระบบการศึกษา เรากำลังพูดถึงการส่งผ่านทักษะความรู้ของสังคมซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับทักษะในการหาเลี้ยงชีพของตนแต่อย่างเดียว แต่เป็นการเลี้ยงชีวิตทางสังคมให้ดำเนินต่อไปได้ต่างหาก[18]เพราะเนื่องจากการที่ระบบการศึกษาไทยที่ได้มุ่งตอบสนองต่อโจทย์ทางเศรษฐกิจและการเลี้ยงชีพนั้น ไม่สามารถทำให้สังคมหรือผู้ศึกษาปรับเปลี่ยนตนเองได้ทัน เพราะเนื่องจากการผลิตบุคคลเข้าสู่ตลาดแรงงานและต้องการตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งโจทย์ดังกล่าวนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและจะทำให้บุคคลดังกล่าวไม่สามารถวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ทัน และจะไม่สามารถทำให้บุคคลเหล่านั้นพึ่งพาตนเองได้

ดังนั้นเราควรที่จะมุ่งเสริมทักษะความรู้ทางสังคมมากกว่าที่จะมุ่งผลิตเครื่องจักรเข้าสู่ลัทธิอุตสาหกรรมดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน นิธิยังได้กล่าวไว้อีกว่าเนื้อหาที่แท้จริงของการศึกษานั้นจะอยู่และเชื่อมโยงกับสามเรื่องนี้เท่านั้น คือความเป็นคน อารยธรรม และธรรมชาติ ดังนั้นการศึกษาจะทำให้ผู้ได้รับการศึกษานั้นมีสองด้าน คือการเป็นคน และการเป็นตนเอง โดยการศึกษาที่แท้จริงจะนำไปสู่คำตอบที่ดีที่สุดของตนเองและแนวทางที่เป็นของตนเอง[19] ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนแบบผลิตสร้างเครื่องจักรในมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันจะมุ่งเน้นให้ผู้ศึกษาก้าวไปสู่คำตอบเพียงคำตอบเดียวหรือเป็นหลายคำตอบที่ไม่ได้เป็นของตัวเราเอง

สุดท้ายการหลุดพ้นจากระบบของกระฎุมพีนั้นในปัจจุบันมวลชนของสังคมไทยเริ่มมีการตื่นตัวแล้วในเรื่องของการเมือง แต่ในเรื่องของการศึกษานั้นเหล่านิสิตนักศึกษาจะต้องตื่นขึ้นจากความหลับใหลและร่วมเป็นขบวนการของมวลชนในการสร้างสังคมและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย นี่อาจจะเป็นทางออกที่ขอไปทีของผู้เขียน แต่เราควรที่จะตระหนักได้แล้วว่าเราคือพลัง พลังที่ยิ่งใหญ่ ที่หลับใหลมาเป็นเวลานาน การช่วงชิงความหมายให้กลับคืนมาสู่พื้นที่นี้อีกครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ในท่ามกลางที่ประชาธิปไตยในสังคมอยู่ในขั้นวิกฤติ

"...ความปลื้มใจ ความภูมิใจ ช่อดอกไม้ คำยินดี ชุดครุยและใบปริญญา..." สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือได้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แต่จะหารู้ไหมว่าเรากลายเป็นเพียงแค่เครื่องจักร ที่ไปหมุนฟันเฟืองของลัทธิอุตสาหกรรมแต่เพียงเท่านั้น

 

         

 

                             




เชิงอรรถ

            [1] คำว่า "กระฎุมพี" ในที่นี้ใช้คำนิยามของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่หมายถึงกลุ่มคนชั้นกลางระดับบนของสังคมไทย หรือเพื่อให้เข้าใจง่ายก็คือ "กลุ่มนายทุน" ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองมวลชนกับกระฎุมพี (1). มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 34 ฉบับที่ 1765 (13-19 มิถุนายน 2557).

            [2] นิธิ เอียวศรีวงศ์,วิพากษ์ทัศนะครอบงำ : การแบ่งชีวิตและความรู้ออกเป็นส่วน ๆ (ตอนที่ 1), http:// www.human.cmu.ac.th/ courseonline/course/huge103/index.html.

            [3] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์,  เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, (เชียงใหม่ :ซิลค์เวอร์ม , 2546) , หน้า 382     

          [4] นิธิ เอียวศรีวงศ์,ขบวนการนักศึกษาไปไหน, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1402318914.

            [5] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ, (กรุงเทพฯ :ฟ้าเดียวกัน, 2556) ,หน้า 34

            [6] เรื่องเดียวกัน หน้า 60

            [7] เรื่องเดียวกัน หน้า 77

            [8] เรื่องเดียวกัน หน้า 78

            [9]  นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองมวลชนกับกระฎุมพี (5), มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 34 ฉบับที่ 1769 (11-17 กรกฎาคม 2557),หน้า 30

            [10] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองมวลชนกับกระฎุมพี (4), มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 34 ฉบับที่ 1768 (4-10 กรกฎาคม 2557),หน้า 30

            [11] เรื่องเดียวกัน หน้า 30

            [12] ประจักษ์ ก้องกีรติ, อ้างแล้ว, หน้า 78

            [13]  ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, อ้างแล้ว, หน้า 383

            [14]  นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองมวลชนกับกระฎุมพี (3), มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 34 ฉบับที่ 1767 (27 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2557),หน้า 30

            [15] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, อ้างแล้ว, หน้า 382

            [16] นิธิ เอียวศรีวงศ์,ขบวนการนักศึกษาไปไหน, อ้างแล้ว.

            [17] นิธิ เอียวศรีวงศ์, "กรอบ"ของการศึกษาไทย,http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1417410576.

            [18] เรื่องเดียวกัน.

            [19] เรื่องเดียวกัน. 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ปัจจุบัน ชนาวุธ บริรักษ์ เป็น นิสิตระดับปริญญาตรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net