ทุนปิโตรเคมียึดสัมปทานโปแตชอีสาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ตามการรายงานข่าว ‘เช็คชื่อผู้ถือหุ้นบ.เหมืองแร่โปแตชฯ ก่อนครม.จ่ออนุมัติแผนปลายปี 57-บิ๊กธุรกิจเพียบ!’  ของสำนักข่าวอิศราเมื่อวันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2557[1]  ได้เปิดบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน)  เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ  พบชื่อบริษัทน่าสนใจหลายแห่งที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว เช่น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)  บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี)  บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)  บริษัท อาซาฮีกลาส จำกัด (ญี่ปุ่น)  และพี ที พีโทรคีเมีย กรีซิค (เพอซีโร) (อินโดนีเซีย) เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็เพราะบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีทั้งสิ้น  ซึ่งเกี่ยวข้องกับความต้องการเกลืออีสานเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมผลิตโซดาไฟและเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระจก แก้ว เส้นใยผ้า  โต๊ะ เก้าอี้ สี ภาชนะบรรจุสิ่งของหรือของเหลวต่าง ๆ (ถัง ขวด จาน ชาม ฯลฯ) ฯลฯ

 

เริ่มต้นที่ไทยอาซาฮี

นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก (พ.ศ. 2504 – 2509)  การใช้เกลือทะเลเพื่อบริโภคได้ลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการเกลือขาวบริสุทธิ์ของภาคอุตสาหกรรมเคมีที่นำเกลือทะเลไปผ่านกระบวนการฟอกขาวกำจัดแร่ธาตุอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทิ้งไป ให้เหลือเฉพาะเกลือที่มีเพียงองค์ประกอบของสารโซเดียมและคลอรีน (NaCl)  สำหรับอุตสาหกรรมเคมีเท่านั้น ซึ่งปรากฎว่าโซเดียมและคลอรีนที่ได้จากเกลือทะเลมีความเข้มข้นต่ำกว่าน้ำเกลือใต้ดินที่เริ่มสำรวจพบในภาคอีสาน  จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมเคมีเริ่มหันมาให้ความสนใจกับน้ำเกลือใต้ดินในภาคอีสานเพ่ิมมากขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการฟอกขาวเกลือทะเลและการผลิตเกลือในภาคอีสานขึ้นมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเคมีได้ส่งผลกระทบสำคัญต่อทัศนคติการบริโภคเกลือของประชาชนไทยเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากว่าเกลือสำหรับบริโภคและเกลือสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเคมีต่างเคลื่อนไหวอยู่ในตลาดเดียวกัน

บริษัท เกลือพิมาย จำกัด หรือชื่อเดิมคือบริษัท ไทยอาซาฮี จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่และใช้เทคโนโลยีผลิตเกลือทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ทำการผลิตเกลือหินที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ปริมาณ 1.6 ล้านตันต่อปี ผลิตทั้งเกลือใช้ในอุตสาหกรรมเคมีและเกลือบริโภค โดยเฉพาะเกลือบริโภคนั้นบริษัทแห่งนี้ได้ผลิตเกลือขาวบริสุทธิ์เติมไอโอดีน และมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเกลือของคนไทยในระดับนโยบายของรัฐ โดยมีการแยกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกลือบริโภคออกเป็น 2 มาตรฐาน คือ มอก.2085/2544 หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกลือบริโภค  และ มอก.2086/2544 หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกลือบริโภคบริสุทธิ์  เพื่อกำหนดคุณภาพเกลือที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค และครอบคลุมเกลือบริโภคที่มีระดับคุณภาพต่าง ๆ กัน เพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งกำเนิด วัตถุดิบ และกรรมวิธีการผลิต เพื่อให้ความช่วยเหลือภาวะซบเซาของผู้ผลิตเกลือทะเลตามจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทย เช่น สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร  และเพชรบุรี เป็นต้น  ให้กลับฟื้นคืนมา แต่ในความเป็นจริง มาตรฐานดังกล่าวเป็นเพียงแค่การยอมรับว่าเกลือทะเลสามารถบริโภคได้ แต่ไม่ได้เป็นมาตรฐานบังคับให้ประชาชนต้องกินเกลือทะเลแทนเกลือบริโภคผสมไอโอดีนของบริษัทเกลือพิมาย หรือไม่ได้เป็นการบังคับให้บริษัทเกลือพิมายเลิกขายเกลือบริโภค ดังนั้น จึงไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านการบริโภคเกลือทะเลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด มีแต่จะลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ ด้วยทัศนคติที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จากการโฆษณาขายเกลือผสมไอโอดีนและการปลูกฝังความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่ที่ตอกย้ำให้สังคมจดจำ คล้อยตามและฝังลึกว่า ‘เกลือขาวคือเกลือบริสุทธิ์’ 

ต่างจากเกลือทะเลและเกลืออีสานพื้นบ้าน[2]  ที่ถูกสร้างภาพลบว่าเป็นเกลือไม่เหมาะแก่การบริโภคเพราะมีสีขุ่นข้นไม่สวยงามและมีสิ่งเจือปนอื่นที่อาจเป็นโลหะหนักหรือสารเคมีอันตราย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคจากเกลือทะเลและเกลืออีสานพื้นบ้าน รวมทั้งเกลือพื้นบ้านในภูมิภาคอื่น ๆ ไปเป็นเกลือขาวบริสุทธิ์ผสมไอโอดีนของสังคมไทยเช่นนี้ดูไปแล้วก็คล้าย ๆ กับการบริโภคข้าวสารขาว หรือน้ำตาลทรายขาวนั่นเอง ที่กลายเป็นทัศนคติฝังลึกในจิตใจไปแล้ว

 

ทุนปิโตรเคมี

ความต้องการเกลือในภาคอุตสาหกรรมเคมีในยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (2510 - 2514)  ส่งผลให้มีการทำนาเกลือในภาคอีสานหลายจังหวัด เช่น มหาสารคาม  นครราชสีมา  ชัยภูมิ  อุดรธานี  สกลนคร  และหนองคาย  โดยการสูบน้ำเกลือใต่้ดินขึ้นมาต้มและตากบนที่ที่เคยเป็นนาข้าว มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 4 – 5 แสนตันต่อปี มีพื้นที่การผลิตรวมประมาณ 15,000 ไร่ แบ่งเป็นเกลือต้มร้อยละ 30 ใช้เพื่อการบริโภค และเกลือตากร้อยละ 70 ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเคมี นั้น มีความไม่มั่นคงทางการตลาดสูง เนื่องจากว่าเป็นตลาดเกลือที่ถูกวางบทบาทเอาไว้คอยพยุงหรือสำรองความต้องการของอุตสาหกรรมเคมีในยามขาดแคลนเกลือจากบริษัทเกลือพิมาย ที่ผลิตไม่เพียงพอหรือทันกับความต้องการ ผู้ที่ทำอาชีพนี้ถูกประเมินจากหน่วยงานแหล่งเงินกู้ของรัฐและเอกชนว่าเป็นอาชีพไม่แน่นอน ส่วนใหญ๋ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และเป็นกิจการที่จัดอยู่ในประเภทที่ไม่ใช้เงินลงทุนสูง ไม่สามารถให้เงินกู้ทำกิจการได้ เกลือที่ผลิตได้ก็ไม่มีมาตรการประกันราคาเหมือนอย่างพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น  จึงมักพบเห็นความมักง่ายของการผลิตเกลือด้วยกรรมวิธีเช่นนี้ เช่น วิกฤติความเค็มในนาข้าวและน้ำในลุ่มน้ำเสียวตลอดทั้งลุ่มน้ำความยาวกว่า 200 กิโลเมตร  โดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำที่หนองบ่อและนาข้าวรอบหนองบ่อ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม  ที่ผู้ประกอบการจำนวนมากเร่งสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาต้มและตากในปริมาณมหาศาลจนส่งผลให้เกิดความเค็มที่เค็มกว่าน้ำทะเลแพร่กระจายไปหลายบริเวณโดยรอบอย่างกว้างขวาง และกระจายไปตลอดทั้งลุ่มน้ำจนไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ  ส่งผลให้ข้าวยืนต้นตาย  ตลอดจนพืชพันธุ์อื่น ๆ และสัตว์น้ำก็ตายและสูญพันธ์เป็นจำนวนมาก

จากวิกฤติรุนแรงรัฐจึงได้สั่งยกเลิกการสูบน้ำเกลือใต้ดินและการทำนาเกลือในลุ่มน้ำเสียวอย่างเด็ดขาด จึงส่งผลให้จังหวัดอื่น ๆ รับเคราะห์แทน จนกระทั่งปัจจุบันนี้ที่การสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาต้มและตากยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ความเค็มแพร่กระจายลงไปในนาข้าวและแหล่งน้ำ รวมถึงเกิดหลุมยุบขนาดใหญ่และลึกขึ้นหลายแห่ง เช่นที่บริเวณต้นแม่น้ำสงครามที่อำเภอบ้านดุง จ.อุดรธานี  อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย  อ.บ้านม่วง และ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร  รวมทั้งในเขต อ.โนนไทย  อ.โนนสูง  อ.พระทองคำ  และ อ.ขามทะเลสอ  จ.นครราชสีมา ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นเดียวกัน      

ส่วนเกลือจากบริษัทเกลือพิมายที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีขนาดใหญ่  โดยบริษัท วีนิไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในกลุ่มของบริษัท โซลเวย์ จำกัด (ประเทศเบลเยียม) กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)  ได้เข้าถือหุ้นในบริษัทเกลือพิมายร่วมกับบริษัท ไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์ จำกัด  ซึ่งบริษัท ไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์ จำกัด เป็นบริษัทอุตสาหกรรมเคมีในกลุ่มของบริษัท อาซาฮีกล๊าส จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG  ได้เปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตจากที่เคยใช้การสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาตากบนนาเกลือไปเป็นการทำเหมืองละลายเกลือ (Solution Mining) โดยการนำน้ำจืดบนแหล่งน้ำผิวดินอัดลงไปละลายเกลือจากโดมเกลือหินใต้ดิน แล้วนำน้ำจืดที่กลายเป็นน้ำเค็มผ่านท่อขึ้นมาบนดินไปเป่าแห้งด้วยความร้อนให้กลายเป็นเม็ดเกลือขาวบริสุทธิ์ เพื่อให้ได้กำลังการผลิตป้อนภาคอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีมากขึ้น และเป็นเทคโนโลยีที่ได้โซเดียมและคลอรีนความเข้มข้นสูงและบริสุทธิ์ ต่างจากการสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาตากบนนาเกลือที่มีข้อจำกัดต้องใช้พื้นที่นาข้าวจำนวนมากถึงจะผลิตเกลือได้เพียงพอความต้องการ และโซเดียมและคลอรีนที่ได้ก็มีความเข้มข้นและบริสุทธิ์ต่ำกว่าที่ได้จากการเหมืองละลายเกลือมาก  ทั้งนี้ ก็เพื่อหลักประกันความมั่นคงของวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี โดยเฉพาะการผลิตโซดาไฟที่ต้องใช้โซเดียม และเม็ดพลาสติกชนิดต่าง ๆ ที่ต้องใช้คลอรีน จากเกลือ 

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุนปิโตรเคมีถึงเข้ามาถือหุ้นในโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนมากขึ้น ก็เพราะว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนไม่ได้ต้องการเพียงแค่โปตัสเซียมคลอไรด์ (KCl) เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยเคมี N-P-K เท่านั้น  แต่ได้วางแผนสร้างอุตสาหกรรมเคมีครบวงจร (Chemical Complex) ที่ต้องใช้ประโยชน์จากเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) รวมทั้งเกลือในรูปอื่น เช่น แมกนีเซียมคลอไรด์ (MgCl) เอาไว้ด้วย

 

วัตถุดิบที่ถูกกดราคา

เกลืออีสานเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีปริมาณมหาศาลที่ฝังอยู่ใต้ดิน โดยถูกกำหนดให้เป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญรองลงมาจากปิโตรเลียม เพราะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อย ๆ  ต่างจากปริมาณสำรองเกลือในภาคอีสานที่มีปริมาณมหาศาลสามารถใช้งานได้อีกนานหลายร้อยปี จึงถูกทำให้เป็นวัตถุดิบที่มีราคาถูกที่สุดในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี โดยละเลยความสำคัญอีกด้านหนึ่งของเกลือลงไป นั่นคือ การเป็นวัตถุดิบที่มีความเป็นอันตรายสูงมากจากการนำขึ้นมาใช้ บทเรียนที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำเสียวทำให้เห็นศักยภาพของวัตถุดิบชนิดนี้ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความล่มสลายทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่นั่น

ทั้ง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบที่มีความอันตรายมากต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน แต่รัฐและผู้ประกอบการกลับไม่ใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น กลับวางมาตรการ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ในการดูแลเอาใจใส่ต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตประชาชนอย่างไม่เข้มงวดกวดขัน ปล่อยปละละเลย

โดยเฉพาะมาตรการทางด้านราคาซื้อขายที่ถูกกดให้ต่ำมากเสียจนผู้ประกอบการผลิตเกลือรายย่อยที่สูบน้ำเกลือขึ้นมาต้มและตากบนนาเกลือต้องแบกรับภาวะการขาดทุนหรือกำไรอันน้อยนิดอยู่เสมอมา สภาวะเช่นนี้เองได้ทำให้ผู้ประกอบการผลิตเกลือรายย่อยในภาคอีสานไม่รับผิดชอบต่อปัญหาผลกระทบและความเสื่อมโทรมเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น เนื่องจากไม่ยอมลงทุนป้องกันผลกระทบใด ๆ โดยมุ่งแต่จะกอบโกยหาผลประโยชน์ในทางกำไรให้สูงที่สุดด้วยการกดราคาการจ้างงาน และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในการต้มและทำนาเกลือให้ต่ำลงมาเป็นทอด ๆ

จึงเห็นได้ว่าปัญหาความอันตรายจากการผลิตเกลือแบบต้มและตากบนนาเกลือในภาคอีสานถูกผลักภาระให้คนในชุมชนท้องถิ่นกับผู้ประกอบการผลิตเกลือต้องรับผิดชอบกันเอง ทำให้เกิดการเผชิญหน้าขัดแย้งกันมาตลอด

ส่วนผู้เกี่ยวข้องต่อการใช้เกลืออีสานในภาคอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีต่างลอยตัวไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ต่อปัญหาและความเสื่อมโทรมเสียหายที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งผลิตเกลือแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เกลือเป็นวัตถุดิบสำคัญไม่ต่างจากปิโตรเลียมในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยกัน แต่กลับใช้นโยบายกดราคาให้ต่ำเพื่อสนองตอบกำไรสูงสุดของผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่นเรามักจะเห็นรายงานประจำปีของบริษัทขนาดใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ให้ความสำคัญต่อราคาที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลาของปิโตรเลียมที่ต้องจัดหามาเพื่อเป็นวัตถุดิบต้นทางสำหรับผลิตเคมีภัณฑ์ เสมือนว่าเป็นวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้และจะมีผลต่อภาวะขาดทุนกำไรของบริษัทจากการขายเคมีภัณฑ์ที่ผลิตได้ ตัวอย่างเช่น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในรายงานประจำปี พ.ศ.2556 ระบุว่า ..สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาเฉลี่ยของเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนและโพลิโพรไพลีนอยู่ที่ 1,488 และ 1,519 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพ่ิมขึ้นร้อยละ 7 และร้อยละ 4 ตามลำดับ  ในขณะที่ราคาแนฟทา[3]ซึ่งเป็นวััตถุดิบหลักอยู่ที่ 922 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 3 จากปีก่อน ตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลงจากอุปทานในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น..  แต่กลับไม่พบเนื้อหาในรายงานที่ระบุถึงวัตถุดิบเกลือเอาไว้เลยว่าซื้อหามาอย่างไร  สภาวะของราคาเกลือและตลาดเกลือขึ้นอยู่กับตัวแปรอะไรบ้าง เช่น ความเสื่อมโทรมเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตประชาชนในแหล่งผลิต  ราคาวัตถุดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทต้องรับผิดชอบภาระต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของแหล่งผลิตเกลือหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ

 

ต้นเหตุความเค็มบนผืนดินและแหล่งน้ำในอีสาน

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานขนาดใหญ่ผลิตโซดาไฟและคลอรีนจากเกลืออีสานประมาณ 10 กว่าโรง ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเคมีประเภทต่าง ๆ  ส่วนสารคลอรีนนั้น หลังจากเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) ได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกือบทั้งหมด อาจจะกล่าวได้ว่า ความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเกลืออีสานได้ถูกผูกโยงอยู่กับความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย เนื่องจากว่าต้องใช้สารคลอรีนที่ได้จากการย่อยสลายเกลือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเม็ดพลาสติกขั้นกลางของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง เช่น เอธิลีนไดคลอไรด์ (Ethylene Dichloride - EDC) และไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer – VCM)  และต่อจากนั้นจะนำเม็ดพลาสติกขั้นกลางหรือผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางที่ได้ไปเป็นส่วนประกอบผลิตเม็ดพลาสติกและเรซินในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลายต่อไป เช่น โพลีเอธิลีน (Polyethylene 3 PE)  โพลีโพรไพลีน (Polypropylene – PP)  โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride - PVC)  โพลีเอสเทอร์ (Polyester) ฯลฯ  และจะนำไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกต่อไป  ซึ่งแนวโน้มของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากวัสดุจำพวกพลาสติกสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในชีวิตประจำวัน ทดแทนวัสดุธรรมชาติจำพวกไม้ที่อยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมและขาดแคลนได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างเช่นในปี 2549 บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)  ได้เพิ่มกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์ โมโนเมอร์ (VCM) เอธิลีนไดคลอไรด์ (EDC) และคลอรีน  เป็น 4 แสนตัน  3.2 แสนตัน  และ 2.4 แสนตัน ต่อปีตามลำดับ รวมวงเงินลงทุน 4,600 ล้านบาท โดยจะได้โซดาไฟเป็นผลพลอยได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.66 แสนตันต่อปี และจะต้องผลิตเกลือสินเธาว์ที่เหมืองเกลือพิมายเป็นวัตถุดิบเพิ่มอีก 2.5 แสนตันต่อปี 

การเจริญเติบโตดังกล่าว ต้องใช้สารคลอรีนที่ผลิตจากเกลือมากขึ้นไปด้วย ภาวะเช่นนี้จะนำมาซึ่งการเพิ่มผลผลิตเกลือในภาคอีสานยิ่งขึ้นไปอีก และเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยากได้เกลือจากการผลิตแร่โปแตชในภาคอีสานภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

การผลิตเกลือสินเธาว์ในภาคอีสานถูกผลักดันด้วยความจำเป็นทางอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคเคมีและปิโตรเคมีเป็นหลัก ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัทเกลือพิมายที่มีอยู่เริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการใช้เกลือที่เติบโตขึ้นทุกวัน  การผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชหลายแห่งในภาคอีสานจึงเกิดขึ้นเพราะการขุดแร่โปแตชจะได้เกลือเป็นผลพลอยได้มหาศาล ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากแนวนโยบายของรัฐได้มุ่งเน้นที่จะโอบอุ้มการทำเกลือจากเหมืองเกลือพิมายและเกลือที่เป็นผลพลอยได้จากการทำเหมืองโปแตชเป็นสำคัญ โดยจงใจละทิ้งการทำเกลือทะเล การทำเกลือพื้นบ้าน และการทำเกลือตากและต้มของผู้ประกอบการรายย่อยในภาคอีสาน โดยไม่มีมาตรการรองรับและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในท้องถิ่นแต่อย่างใด

โดยไม่สนใจว่าเกลือที่ล้นเกินจากการทำเหมืองแร่โปแตชจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนขุดแร่โปแตช 1.1 ล้านตันต่อปี แต่จะได้เกลือโซเดียมคลอไรด์และเกลือรูปอื่น 2 ล้านตันต่อปี  โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีขุดแร่โปแตช 2 ล้านตันต่อปี แต่จะได้เกลือโซเดียมคลอไรด์ 4 ล้านตันต่อปี  โครงการเหมืองแร่โปแตชสกลนครขุดแร่โปแตช 1 ล้านตันต่อปี แต่จะได้เกลือโซเดียมคลอไรด์และเกลือรูปอื่นประมาณ 1-1.5 ล้านตันต่อปี เป็นต้น  ทั้ง ๆ ที่ความต้องการใช้เกลือภายในประเทศ (รวมตัวเลขทุกภาคส่วนทั้งการบริโภคและภาคอุตสาหกรรม) มากกว่า 2 ล้านตันนิดหน่อย  แต่เกลือที่ได้จากเหมืองแร่โปแตชทั้งสามแห่งนี้จะเกินความต้องการใช้ภายในประเทศไปมาก เราจะจัดการอย่างไร คำถามนี้ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่ผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยังไม่มีคำตอบชัดเจนให้กับสาธารณชน

หรือจะให้ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่รอบ ๆ โครงการเหมืองแร่โปแตชเป็นผู้แบกรับภาระนี้ กล่าวคือ โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนที่บำเหน็จณรงค์จะใช้ลานกองเกลือกลางแจ้งไม่มีหลังคาคุมขนาด 700 ไร่ ความสูงของกองเกลือประมาณ 4 เมตร  โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีจะใช้ลานกองเกลือกลางแจ้งไม่มีหลังคาคุมขนาดประมาณ 300 ไร่ ความสูงกองเกลือประมาณ 30 เมตร  ซึ่งต้องเผชิญกับสภาพอากาศและแรงลมตามฤดูกาลต่าง ๆ ไปตามยถากรรม

แนวทางของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ศึกษาวางแผนยุทธศาสตร์เกลือแห่งชาติในลักษณะการลงทุนที่เกินเลยเพื่อชี้นำการพัฒนาเกลือและโปแตชในภาคอีสาน จะเห็นว่าตั้งแต่นายทุนเกลือจากถิ่นอื่นย่างกรายเข้ามาในภาคอีสาน  นักการเมืองอุตสาหกรรมเกลือ  จนมาถึงนักลงทุนเหมืองโปแตช ได้ทำการผลักดันกฎหมาย นโยบาย  แผนงาน และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่  ที่เร่งการใช้เกลือจากใต้ดิน  เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ความเค็มแพร่กระจายไปทั่วผืนดินอีสาน ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมที่เป็นฐานการดำรงชีวิตที่สำคัญของคนอีสานอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาคนอีสานไม่เคยมีส่วนร่วมกับรัฐและการเมืองในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และโครงการที่เกี่ยวกับเกลือในบ้านของตัวเองเลย ทั้งหมดที่ผ่านมาล้วนชี้นำด้วยรัฐและการเมืองผลประโยชน์ เป็นรัฐและการเมืองที่ทำให้ผืนแผ่นดินอีสานเสื่อมโทรมจากการแพร่กระจายความเค็มตลอดมา.

 

เชิงอรรถ

[1]  เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ที่ http://www.isranews.org/เรื่องเด่น-สำนักข่าวอิศรา/item/34685-ืnews04_34685.html  สืบค้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557

[2]  ผิวดินที่มีเกลือจากใต้ดินระเหยผุดขึ้นมาแทรกอยู่ในเม็ดดิน โดยชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นในที่ลุ่่มของลุ่มน้ำต่าง ๆ ของภาคอีสานจะขูดผิวดินที่มีเกลือเป็นส่วนผสมนำไปคลุกเคล้ากับน้ำจืดเพื่อไปละลายความเค็มออกมาจากดิน แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำที่เค็มได้ที่นำไปต้มเพื่อให้ได้เกลือเก็บไว้บริโภค

[3]  แนฟทา เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ได้่จากการกลั่นน้ำมันดิบ ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น สำหรับผลิตสารตั้งต้น คือ สารโอเลฟินส์ (เอทิลีน และโพรพิลีน) และสารอะ โรเมติกส์ (เบนซีน โทลูอีน และไซลีน) เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลายในการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย เช่น เม็ดพลาสติก  เส้นใยสังเคราะห์​  ยางสังเคราะห์ เป็นต้น ก่อนที่จะนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท