ไม่จำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คำที่ผมคิดว่าหลายคนคงคุ้นกันเป็นอย่างดี คือ คำว่ายุติธรรมที่แปลว่า ยุติโดยธรรมหรือใช้ธรรมเป็นเครื่องยุติปัญหา  ซึ่งน่าสนใจว่าธรรมดังกล่าวคืออะไร? โดยที่คำว่ายุติธรรมเองก็มักถูกโยงถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมที่บรรดานักสันติภาพหรือผู้สนใจสันติศึกษาในเมืองไทยส่วนหนึ่งบอกว่า เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้งไปให้พ้นนั่นเอง

นักสันติภาพเหล่านี้ก็มีธรรมเนียมการพูดว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้เพราะขันติอหิงสา ความอดทน ให้อภัยซึ่งกันและกัน วิธีการแก้ไขปัญหาแบบนี้ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด พูดอีกก็ถูกอีก ทั้งการพูดแบบนี้ดูเหมือนการมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลก่อนอื่น คือ เชื่อว่าความขัดแย้งสามารถแก้ไขได้ โดยต้องมาจากการเปลี่ยนทัศนคติและปรับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลเสียก่อน ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปัญหาของสังคม

พูดอีกก็ถูกอีกว่าปัญหาต้องแก้ไขที่ตัวของแต่ละบุคคลก่อน แต่ส่วนใหญ่การมองภาพรวมของปัญหาความขัดแย้งให้ออกหรือการมองว่าสังคมมีลักษณะเป็นอย่างไร ต้องการอะไร ไม่ค่อยได้รับกล่าวถึง ดังนั้นสูตรการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง “แบบนามธรรม” ด้วยการประดิษฐ์ข้อความสวยหรูจึงเกิดขึ้นมากมาย เช่น การนำเอาวาทกรรมของบุคคลสำคัญของโลกที่เกี่ยวข้องกับสันติศึกษาและสันติภาพ อย่างคำพูดของมหาตมะ คานธี  มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เนลสัน แมนเดลา อองซานซูจี ฯลฯ ใครต่อใครในทำนองนี้มาอ้างประกอบเหตุผลที่จะต้องยุติความขัดแย้ง ทั้งดูเหมือนจะเป็นประเพณีหรือธรรมเนียมของพวกมีอาชีพทางด้านสันติศึกษาและสันติภาพในเมืองไทยไปเสียแล้ว 

ในช่วงของความขัดแย้งของคนไทยหลายปีที่ผ่านมากลุ่มผู้มี “อาชีพเสนอแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง”เหล่านี้ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และจนถึงตอนนี้ข้อเสนอของพวกเขาก็ยังคงออกมาเรื่อยๆ จนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเครื่องยืนยันสถานะของนักสันติศึกษาและนักสันติภาพให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นมากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการผลิตซ้ำวาทกรรมและการกระทำของพวกเขาก็ช่วยยืนยันความเป็น “อาชีพ” ของนักสันติศึกษาและนักสันติภาพเหล่านี้ ทั้งๆ ที่หากว่ากันถึงชื่อของบุคคลสำคัญของโลกที่พวกเขายกมาอ้างแล้ว การเกิดขึ้นของบุคคลสำคัญของโลกดังกล่าวอยู่กันคนละบริบทกับวิธีการสันติที่พวกนักสันติศึกษาและนักสันติวิธีพูดถึง เพราะสำหรับบุคคลสำคัญของโลกที่พวกเขาเอ่ยถึงแล้ว การเกิดขึ้นของบุคคลสำคัญเหล่านี้เป็นไปในทำนองสถานการณ์สร้างวีรบุรุษมากกว่าการปั้นบุรุษสตรีให้เป็นเทวดาหรือเทวีแห่งสันติภาพ

ชื่อของมหาตมะ คานธี นั้นเกิดในช่วงปลายๆ ยุคอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คิงเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องผิวสีในอเมริกา แมนเดลาแห่งแอฟริกาใต้ก็เช่นกัน ขณะที่อองซาน ซูจีเกิดจากเผด็จการรัฐบาลทหารในพม่า แต่แล้วนักสันติศึกษาและนักสันติภาพก็ได้ยกเอาบางบริบท โดยเฉพาะวาทกรรมของบุคคลสำคัญของโลกเหล่านี้มาใช้ในการโฆษณาถึงข้อดีของการที่คนในสังคมอยู่กันโดยปราศจากความขัดแย้ง

นอกจากนี้ผู้มีอาชีพด้านสันติศึกษาและสันติภาพยังมีการนำเอาศาสนธรรมมาใช้อีกด้วย เช่น การอ้างถึงหลักขันติธรรม ซึ่งพูดอีกก็ถูกอีกเช่นกัน เพราะไม่ว่าการปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาใดก็ตามล้วนเป็นไปในแง่ดีต่อสังคมทั้งสิ้น แต่รูปแบบการอ้างหลักธรรมของศาสนาของนักสันติศึกษาและนักสันติภาพส่วนใหญ่กลับใช้ศีลธรรมหรือหลักธรรมมาอ้างใน “บริบทเดี่ยว” มากกว่าการเชื่อมโยงหลักศีลธรรมหรือหลักธรรมกับบริบทปัญหาอื่นของสังคม ทำให้โจทย์ความขัดแย้งถูกมองโดยมุมเดียวไม่สัมพันธ์กับบริบทปัญหาอื่นๆ

คำถามคือ จะเป็นการมองอย่างครอบคลุมมากขึ้นหรือไม่ หากมีการนำหลักศาสนธรรมเชื่อมโยงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคมหรือเข้าใจความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ ไม่ละเลยความประสงค์ของคนส่วนน้อย (แน่นอนว่าทุกคนในสังคมจะได้ตามที่ตนเองประสงค์ย่อมเป็นไปไม่ได้)  ตระหนักว่าความขัดแย้งของคนในสังคมเป็นเรื่องธรรมชาติ? (เพราะอย่าว่าแต่อื่นไกลคนในครอบครัวเดียวกันยังมีความเห็นไม่ตรงกันเลย นับประสาอะไรกับคนในสังคมที่มีขนาดใหญ่มากกว่า)

เพราะการเห็นความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติของสังคม จะเปลี่ยนทัศนคติ “การก้าวข้ามความขัดแย้ง” ไปสู่ทัศนคติที่ว่า “ทุกคนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความเห็นต่าง” มากกว่าการมุ่งให้คนในสังคมต้องคิดเห็นเหมือนกัน หรือมากกว่าการไม่ยอมพูดถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น เพื่อไม่ให้คนในสังคมเกิดความสะเทือนใจกับประเด็นความขัดแย้ง หรือเพื่อให้ทุกคนลืมความขัดแย้งนั้นเสีย หาที่สุดแล้วกลับจะหมักหมมปัญหานั้นไว้ต่อไป สุดท้ายปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข

ผมค่อนข้างแปลกใจกับการใช้คำว่า สามัคคี (ที่นำมาใช้กันมาก) ในบริบทเชิงความคิดเห็น การพูดและการปฏิบัติที่สอดคล้องต้องกันของคนในสังคมทั้งหมด มากกว่าบริบทความหมายของสามัคคีในแง่จิตสำนึกร่วมการเคารพค่าของความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน รวมทั้งความปรารถนาเสรีภาพที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์

การสามัคคีกันคิดเห็นเหมือนกันนั้นเป็นการนำความหมายของสามัคคีมาใช้ในลักษณะของชาตินิยมมากกว่า การหวงแหนเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยเป็นเรื่องปกติและธรรมชาติแต่การใส่ความคิดเห็นลงไป โดยพยายามให้ความคิดเห็นนั้นเป็น “ความเห็นกลาง” ที่ทุกคนต้องสามัคคีกันเห็นด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องมากนัก เป็นการนำความหมายของความสามัคคีมาใช้แบบผู้ร้ายแปลงสาส์นเสียมากกว่า อีกทั้งการใช้คำว่า สามัคคี ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของการมีจิตสำนึกร่วมกันของคนในสังคม

ตัวอย่างเช่น คนอเมริกัน ใช้คำขวัญว่า “รวมกันเราอยู่” (united we stand)  ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001  เพื่อสะท้อนถึงจิตสำนึกของคนในชาติเรื่องความปลอดภัย รวมถึงในแง่ของการรวมพลังเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยจากการก่อการร้าย  ไม่ใช่การส่งเสริมความสามัคคีในลักษณะของความเป็นอเมริกันนิยม แน่นอนว่าอาจมีอเมริกันประเภทชาตินิยม แต่จำนวนของอเมริกันประเภทนี้มีน้อยเมื่อเทียบกับความหลากหลายของชุมชนอเมริกัน รวมถึงการมีความคิดต่างกันออกไปในทุกๆ ด้าน  ดูได้จากการแสดงความเห็นของมวลชนอเมริกันเหล่านี้ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและกระแสรอง

ที่สำคัญคือ ความสามัคคีในแบบฉบับอเมริกันไม่ถูกนำมาใช้เพื่อให้อำนาจของรัฐบาลดำรงอยู่ ความสามัคคีเป็นคนละเรื่องกับความมั่นคงของรัฐบาล อำนาจรัฐบาลนั้นหมายถึงอำนาจที่ประชาชนมอบให้ การอ้างความสามัคคีเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลที่หมายถึงการต้องเห็นด้วยกับรัฐบาลจึงออกจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับอเมริกันชน รวมถึงการอ้างความสามัคคีเพื่อการดำรงอยู่ของชาติก็เช่นกัน ปัญหาก็คือ คำว่า “ชาติ” นั้นหมายถึงอะไร

หากดูความหมายของความสามัคคีโดยทั่วไปแบบไทยๆ ก็จะเห็นได้ว่า ความสามัคคีมีความหมายตรงกันข้ามกับความขัดแย้ง ที่ใดมีความขัดแย้งที่นั่นย่อมไร้ความสามัคคี หากแต่ในความหมายหรือสำนึกแบบอเมริกัน เมื่อพูดถึงความสามัคคี จะมีความหมายต่างจากความสามัคคีและความหมายของความขัดแย้งแบบไทยๆ ความสามัคคีในแบบอเมริกัน ทุกคนไม่จำเป็นต้องคิดเห็นเหมือนกัน

เช่นเดียวกับความขัดแย้งแบบอเมริกันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด เพราะความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นเรื่องปกติ ผมกับคุณควรรู้จักเคารพและรับฟังคนอื่น หากความเห็นไม่ลงกันก็อาศัยประชามติ นอกจากนี้หากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวกับความคิดเห็น เช่น ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ของคนหรือของประชาคม เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ ก็ไม่ใช่ขันติธรรม สันติธรรม อหิงสธรรม หรือเครื่องมือศีลธรรมใดๆ หากแต่เป็นเครื่องมือสากล คือ  “ความยุติธรรม”

ด้วยสำเหนียกว่า ความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ของบุคคล กลุ่มคน หรือคนในสังคมจะยุติลงได้ เพราะคนในสังคมได้รับความเป็นธรรม เช่น การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม การให้สิทธิกับประชาชนอย่างเสมอภาคปราศจากอภิสิทธิ์ ฯลฯ ซึ่งหากคนในประเทศได้รับความเป็นธรรม และได้รับการตอบสนองเชิงการแก้ไขปัญหาอย่างเท่าเทียม ปัญหาแต่ละเรื่องก็จะยุติไปเอง เป็นการยุติโดยธรรม หรือ ยุติธรรม ซึ่งต่างจากการนำวาทกรรมทางด้านศีลธรรมมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ที่น่าสังเกตก็คือ คนอเมริกันมีความหลากหลายทั้งในเรื่องสีผิว ชาติพันธุ์ และกลุ่มประโยชน์จำนวนมาก ว่าไปแล้วก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งได้มาก ประเด็นความยุติธรรมจึงกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยที่ลักษณะของความยุติธรรมส่วนหนึ่งถูกโยงถึงการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมของฝ่ายอำนาจรัฐต่อประชาชนชนทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว ทุกการงานอาชีพ ขณะที่ฝ่ายอำนาจรัฐนั้นก็มาจากอำนาจที่ประชาชนมอบให้ไป

ดังนี้แล้ว หากมองกันถึงสีสันของระบบอุปถัมภ์ และของรัฐบาลเผด็จการที่คุ้นชินกันในบางประเทศ การจัดการแก้ไขความกับขัดแย้งด้วยการปล่อยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่และโดยอาศัยความยุติธรรมแบบอเมริกันก็มีส่วนทำให้วิถีชีวิตจืดชืดลงไปมาก สู้วิถีชีวิตที่มีสีสันแบบนาย-บ่าวไม่ได้เอาเสียเลย.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท