Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จริง ๆ แล้วบทความดังกล่าวนี้ต้องการที่จะเกาะกระแสช่วงที่สัญลักษณ์สามนิ้วและภาพยนตร์ The Hunger Games ภาคใหม่กำลังเข้าฉายและกำลังคึกคักอยู่ในแวดวงข่าวและสังคม แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายรัฐบาล ผู้เขียนจึงรอดูท่าทีของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรกับสัญลักษณ์ทางการเมืองอันใหม่นี้ แต่เวลาก็ได้ผ่านมาพอสมควรแล้ว และผู้เขียนคิดว่าคงไม่มีท่าทีที่จะดูสร้างสรรค์อะไรจากทางฝั่งรัฐบาล จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องรออีกต่อไป

กล่าวได้ว่าจากข่าวคราวความวุ่นวายที่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย ณ ตอนนี้ นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา ความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือเรื่องเปลี่ยนสามีภรรยาของใครก็ตามแต่ ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยนั้นต่างทราบกันดีก็คือกระแสการลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารของเหล่านิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่ได้แพร่กระจายออกเป็นวงกว้างในสังคมไทยและต่างประเทศ เหล่าบรรดาผู้ต่อต้านการรัฐประหารได้นำสัญลักษณ์การโชว์สามนิ้วมาเป็นสัญญะในการต่อต้านอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ

สัญลักษณ์ดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่กำลังได้รับความนิยม โดยภาพยนตร์ดังกล่าวได้นำเสนอภาพของการต่อต้านอำนาจรัฐของทั้ง 13 เขต และตัวละครหลักของเรื่องได้มีการชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์เด่น ๆ ของเรื่อง โดยความหมายของสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้สามารถที่จะแปลความหมายได้ทั้งการขอบคุณ ชื่นชม และอำลา ซึ่งความหมายดังกล่าวได้นำมาสู่สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอำนาจรัฐบาลของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยและฮ่องกง

อย่างไรก็ดีการใช้สัญลักษณ์ทางการเมืองก็ใช่ว่าเพิ่งเคยเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย เพราะก่อนหน้านั้นได้เกิดสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างมากมาย อาทิเช่น การใช้สีเหลือง สีแดง สีชมพู หลากสี เป็นต้น หรือการใช้อุปกรณ์เช่นมือตบ ตีนตบ หรือนกหวีด เป็นต้น แต่ความแตกต่างกันก็คือกลุ่มการเมืองดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองมวลชนอย่างแท้จริง เพราะเนื่องจากถูกนำโดยเหล่าแกนนำที่เป็นกลุ่มกระฎุมพี หรือไม่ก็เป็นพรรคการเมืองที่มวลชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเพียงน้อยนิด แต่กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มการเมืองมวลชน ที่ไม่ได้ถูกครอบงำจากเหล่ากระฎุมพีหรือพรรคการเมืองใด ๆ สัญลักษณ์ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมานี้จึงมีความน่าสนใจแตกต่างกับสัญลักษณ์ที่แล้วมา

ความน่าสนใจของสัญลักษณ์สามนิ้วก็คือการถูกนำมาใช้และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วผ่านสื่อออนไลน์ โดยปราศจากองค์กรใด ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเผยแพร่ หรือแม้แต่แกนนำของการต่อต้านในครั้งนี้ก็ไม่สามารถที่จะระบุตัวตนได้ สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้จึงถือได้ว่าเกิดขึ้นมาได้จากความกล้าหาญของเหล่านิสิตนักศึกษาและประชาชน เพราะเมื่อมีการจับกุมนิสิตนักศึกษาหรือประชาชนที่ได้แสดงสัญลักษณ์สามนิ้วครั้งใด การแพร่ขยายและความนิยมในสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ก็แพร่ขยายตามไปด้วย ดังนั้นจึงถือได้ว่าสัญลักษณ์สามนิ้วเกิดขึ้นและแพร่ขยายไปได้เพราะความกล้าหาญของนิสิตนักศึกษาและประชาชนอย่างแท้จริง

แต่ก็ยังมีความสงสัยในการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้อยู่พอสมควร เพราะเนื่องจากสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้มาจากภาพยนตร์ และในเนื้อเรื่อง สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านแต่อย่างใด แต่เป็นการขอบคุณ ชื่นชม อำลาคนที่รักหรือคนที่เสียสละ ซึ่งสัญลักษณ์สามนิ้วจริงๆ แล้วก็เหมือนและคล้ายๆกับการส่งจูบแล้วโบกมือให้ ซึ่งหากจะพูดว่ากลุ่มมวลชนเข้าใจความหมายของภาพยนตร์ผิดก็ไม่น่าจะใช่ ผู้เขียนจึงมองว่านี่คือ"การช่วงชิงความหมาย" (Contested Meaning) ในสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้

หากยังจำได้เราจะเห็นได้ว่าหลังการรัฐประหารใหม่ ๆ ได้มีประชาชน นิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้ชูสามนิ้วซึ่งมีนัยที่เป็นการต่อต้านอำนาจของทหาร โดยมวลชนกลุ่มนั้นได้ให้ความหมายของสัญลักษณ์สามนิ้วดังกล่าวเอาไว้ซึ่งคล้องจองกับคำขวัญของประเทศฝรั่งเศสว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" ซึ่งคำดังกล่าวนี้มีกลิ่นอายแห่งการปฏิวัติของประเทศฝรั่งเศส สัญลักษณ์สามนิ้วจึงเป็นสิ่งแทนคำขวัญดังกล่าว เพื่อประท้วงเรียกร้องสามสิ่งที่ขาดหายไปในสังคม

ซึ่งหลังจากนั้นสัญลักษณ์สามนิ้วก็ได้แพร่หลายไปในสังคม และกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ได้นำสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ไปใช้โดยให้ความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มหรือบุคคล แต่ความหมายโดยรวมนั้นก็มุ่งเน้นไปที่การต่อต้านการรัฐประหาร เราจะพบเห็นได้ว่าการชูสามนิ้วดังกล่าวนี้ไม่ได้มีแกนนำ หรือผู้ให้ความหมายที่ชัดเจนว่ามันคืออะไรหรือแปลว่าอะไร แต่ที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการให้ความหมายนั้นเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ความหมายโดยรวมนั้นก็ยังเป็นการต่อต้านรัฐประหาร นี่จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงการเป็นสัญลักษณ์ของมวลชน ที่ปราศจากการครอบงำใด ๆ ทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่าสัญลักษณ์สามนิ้วจะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่กล่าวได้ว่าคณะรัฐบาลรัฐประหารก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้อย่างเป็นทางการ เพราะเนื่องมาจาก "กลยุทธ์" ของกลุ่มทหารที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม และยังคงใช้แนวความคิดวิธีแบบทหารในการเข้าปกครองประเทศ ด้วยการเข้าจับกุมบุคคลที่ได้แสดงสัญลักษณ์สามนิ้วและคุกคามด้วยอำนาจต่าง ๆ ต่อผู้ที่แสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว

ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าคณะรัฐประหารเองที่เป็นเสมือนบุคคลที่สร้างความชอบธรรมให้กับสัญลักษณ์สามนิ้ว ให้กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง และใช้กลยุทธ์แบบทหารเข้าจัดการกับสัญลักษณ์ดังกล่าวด้วยการจับกุมหรือใช้วิธีกดดันใด ๆ ก็ตาม ซึ่งผลดังกล่าวก็ได้สะท้อนผลเสียให้กลับมาตกอยู่ที่รัฐบาล เพราะการจับกุมแต่ละครั้งย่อมเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั้งภายในและนอกประเทศยิ่งทำให้สัญลักษณ์ดังกล่าวแพร่ขยายตัวไปเร็วขึ้น และยิ่งการกระทำดังกล่าวได้เป็นการแสดงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลเสียความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลใช้กลยุทธ์ที่ล้าสมัยในการจัดการกับการท้าทาย ผลสุดท้ายฝ่ายที่เสียหายก็คือรัฐบาลเอง

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสัญลักษณ์สามนิ้วถึงแม้ว่าจะไม่ได้แปลถึงการต่อต้านอำนาจรัฐมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถึงกับหลัง ๆ มีผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารและฝ่ายรัฐบาลทหารพยายามจะทำสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ให้เกิดการเสื่อมพลังในตัวเอง และไม่ให้เกิดการชอบธรรมในการใช้สัญลักษณ์ โดยการออกมาชี้แจงผ่านสื่อต่าง ๆ ว่านิสิตนักศึกษาตีความสัญลักษณ์สามนิ้วจากภาพยนตร์ผิด หรือการจะบอกว่าสามนิ้วไม่ใช่ของไทยเป็นของฝรั่ง ดังนั้นสามนิ้วจึงไม่ได้มีความหมายใด ๆ นอกเหนือไปจากสิ่งที่ภาพยนตร์ได้นำเสนอ

อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้อธิบายไว้แล้วว่ากลุ่มมวลชนดังกล่าวได้ช่วงชิงความหมายของสัญลักษณ์สามนิ้วมาเป็นสัญญะในการต่อต้านการรัฐประหารไว้ได้ตั้งแต่แรกแล้ว อีกทั้งความหมายของสามนิ้วก็เป็นไปตามความคิดของแต่ละบุคคลที่จะให้ความหมาย ดังนั้นสัญลักษณ์ที่กลุ่มมวลชนได้ช่วงชิงมาจึงมีความหมายในตัวของมันเองเกินขอบเขตที่ภาพยนตร์ได้ให้ความหมายเอาไว้ ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐบาลพยายามจะช่วงชิงความหมายดังกล่าวให้กลับมาอยู่ในกรอบของภาพยนตร์แต่ก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะทำเช่นนั้นได้ อีกทั้งถึงแม้ทางฝ่ายรัฐบาลทหารเองจะพยายามช่วงชิงความหมาย(ที่พึ่งรู้สึกตัวว่าสายเกินไป) แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลทหารก็กลับไปตอกย้ำความชอบธรรมในสัญลักษณ์ดังกล่าวด้วยการเที่ยวกวาดล้างจับกุมบุคคลที่แสดงสัญลักษณ์ นี่จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพ่ายแพ้ให้กับกลยุทธ์ดังกล่าวของมวลชนและย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ยิ่งชี้ให้เห็นว่าทหารนั้นยึดได้ แต่ปกครองไม่ได้

การปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลทหารไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงทศวรรษ 2510 และการปรับตัวไม่ทันของรัฐบาลในสมัยนั้นก็มีส่วนในการนำมาซึ่งความล่มสลายของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งสวนหนึ่งนั้นก็เป็นผลมาจากการปรับตัวไม่ทันของรัฐบาลหารนั่นเอง[1]

เราทราบกันดีว่าในช่วงยุคสมัยดังกล่าวนั้นเป็นยุคของสงครามเย็น ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา โดยในสมัยนั้นมีการปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อย่างแพร่หลาย ข่าวสารต่าง ๆ ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร และการควบคุมข่าวสารดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็นงานสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งข่าวสารที่รัฐบาลได้ทำการปกปิดนั้นได้แก่การที่รัฐบาลนำพาสังคมไทยไปพัวพันในสงครามอินโดจีน แต่การปฏิบัติการทุกอย่างนั้นได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเข้าไปแทรกแซงกิจการในลาวร่วมกับสหรัฐอเมริกา ต่อมารัฐบาลไทยก็ได้เข้าไปพัวพันและแทรกแซงกิจการในประเทศเวียดนาม เกิดการสร้างฐานทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาขึ้นในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนี้กลับถูกปิดไว้เป็นความลับ[2]

อีกทั้งการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐบาลไทยตลอดในช่วงที่พัวพันในสงครามอินโดจีนนั้น ไม่ได้ถูกทำการตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้ปลอดภัยแก่รัฐบาลจากข้อกล่าวหาในการเข้าไปมีส่วนร่วมในอินโดจีน ดังเช่นการมีอยู่ของฐานทัพอเมริกา ซึ่งสถานะภาพการเป็นเจ้าของฐานทัพไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นของใคร และไม่ได้ระบุว่าแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิอย่างไรในขอบเขตในการใช้ฐานทัพ จึงนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาภาพพจน์ว่ารัฐบาลไทยนั้นมีอำนาจในการคุมฐานทัพดังกล่าวอย่างเป็นทางการ จึงแสดงสัญลักษณ์เช่นธงชาติไทยในฐานทัพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าฐานทัพดังกล่าวเป็นของไทยเพียงแต่อเมริกันได้รับการอำนวยความสะดวกจากการใช้ฐานทัพแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าไม่เคยมีการแถลงอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทยเกี่ยวกับฐานทัพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในสงครามอินโดจีน[3]

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารในยุคนั้นจะสามารถปิดกั้นข่าวสารได้ แต่ก็เป็นแค่เพียงข่าวสารภายในประเทศแต่เพียงเท่านั้น เพราะเนื่องจากในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเผชิญกับข้อมูลข่าวสารที่มาจากต่างประเทศ ทั้งจากฝั่งโลกเสรีและฝั่งคอมมิวนิสต์ ซึ่งมักจะนำเสนอทัศนะที่แตกต่างจากทางรัฐบาลและมีแนวโน้มที่น่าเชื่อถือกว่ารัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลไทยเองก็หวั่นไหวต่อข่าวสารดังกล่าวเป็นอย่างมาก มีการใช้มาตรการทำลายความน่าเชื่อถือของของแหล่งข้อมูล มาตรการในการปฏิเสธซึ่งเป็นการโต้ตอบของรัฐบาล ชี้ให้เห็นถึงการไม่ยอมปรับตัวของรัฐบาลเผด็จการทหารในการควบคุมความคิดของสังคม ซึ่งการโต้ตอบโดยใช้กลยุทธ์เดิม ๆ ดังที่ได้กล่าวมาของรัฐบาลทหารทำให้ข่าวสารดังกล่าวได้กระจายไปสู่สังคม และข่าวสารจากต่างประเทศที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล ก็ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น[4]

ขณะเดียวกันผู้ที่บริโภคข้อมูลข่าวสารดังกล่าวนี้ก็ได้แก่กลุ่มนิสิตนักศึกษาและปัญญาชน ซึ่งได้อาศัยข้อมูลดังกล่าวและนำไปสู่การทำความเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เห็นได้ว่ารัฐบาลทหารได้ปกปิดความลับในการเข้าไปแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังยอมให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศในการตั้งฐานทัพอีกด้วย จึงนำไปสู่การต่อต้านอำนาจและการกระทำของรัฐบาลทหารในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นด้วย

จะเห็นได้ว่าการทำลายความน่าเชื่อถือ การปิดกั้นข่าวสาร การปฏิเสธ ของรัฐบาลทหารในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพราะเนื่องจากรัฐบาลทหารในช่วงนั้นไม่ได้ตระหนักถึงสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอยู่ตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะถูกควบคุมโดยทหาร อีกทั้งรัฐบาลทหารยังมีความคิดที่ใช้เพียงแค่กำลังและอำนาจปิดกั้นข่าวสารเอาไว้ไม่ให้รั่วไหล แต่เมื่อต้องเผชิญกับข่าวสารจากภายนอกที่กำลังและอำนาจของรัฐบาลทหารไม่สามารถแผ่ไปได้ถึง รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะจัดการกับข่าวสารที่รั่วไหลสู่สังคมได้

ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลก็ยิ่งเสื่อมลงไป ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามแต่เนื่องมาจากกลยุทธของรัฐบาลเองที่ไม่ยอมปรับตัวและปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความคล้ายคลึงกับรัฐบาลทหารในยุคปัจจุบัน ถึงแม้ว่ารูปแบบสังคมจะเปลี่ยนไป หรือวิทยาการต่าง ๆ ของสังคมนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่โมเดลของรัฐบาลทหารในยุคนั้นกับยุคนี้แทบที่จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย อีกทั้งยังไม่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม มุ่งแต่จะพาสังคมให้กลับไปสู่อดีตอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทหารทำพลาดกับสัญลักษณ์สามนิ้ว ก็คือการไม่ยอมที่จะเข้าไปช่วงชิงความหมายจากนิสิตนักศึกษา ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบทุกอย่าง ทั้งในเรื่องของการควบคุมหรือการใช้สื่อ แต่กลับเพียงแค่ไปทำให้สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้เกิดการเสื่อมพลังโดยแค่ไปจำกัดให้อยู่ในกรอบของภาพยนตร์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ก็ยังถือว่าสายเกินไปและเสียของ เพราะเนื่องจากมวลชนได้ช่วงชิงความหมายนั้นพ้นมาจากกรอบภาพยนตร์เสียแล้ว รัฐบาลจึงทำได้แค่ต้องยอมรับในสัญลักษณ์สามนิ้วที่ถือว่าตนเองนั้นก็ได้มีส่วนสร้างขึ้น และหากรัฐบาลยังคงใช้กลยุทธ์เดิม ๆ เช่นการจับกุม คุกคามต่อสัญลักษณ์นี้ต่อไป ต่อให้ต้องจับไปปรับทัศนคติอีกกี่คนก็จะไม่มีวันหมดสิ้น

ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้ทราบทัศนคติจากกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่หัวก้าวหน้าบางกลุ่ม โดยพวกเขาเองก็มีความพยายามที่จะช่วงชิงความหมายของสามนิ้วให้มีความหมายว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" แต่เมื่อจั่วหัวซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ไม่ได้มีทีท่าต่อการสนับสนุนการช่วงชิงความหมายดังกล่าว แนวความคิดนี้ก็เป็นอันต้องพับลงไป และก็คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปยืนชูสามนิ้วอันเป็นอีกความหมายล่อทหารที่มุ่งมั่นแต่จะจับประชาชนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ลืมหูลืมตา

จากที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น การมีพลังและอำนาจแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะปกครองและนำพาประเทศได้ จำเป็นที่จะต้องมีสมองและมีความคิดในการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมชาติด้วย เพราะเนื่องจากประเทศไม่ใช่ของคนเพียงคนเดียวและของใครแค่คนหนึ่ง ถึงแม้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจหรือระดับการศึกษาของคนในสังคมไทยวันนี้จะมีความแตกต่างกัน แต่มันก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้สิทธิของคนในสังคมไทยไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นประชาธิปไตยจึงเป็นกลไกเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

 

 

 




เชิงอรรถ

            [1] หากท่านผู้อ่านสนใจนโยบายของรัฐบาลทหารในช่วงยุคสมัยทศวรรษ 2510 และวัฒนธรรมหรือการก่อตัวทางความคิดในยุคสมัยดังกล่าว โปรดดู ประจักษ์ ก้องกีรติ.(2556).  และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. นนทบุรี :ฟ้าเดียวกัน. 

            [2] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ, (นนทบุรี :ฟ้าเดียวกัน, 2556) ,หน้า 138-142

            [3] เรื่องเดียวกัน หน้า 151-153

            [4] เรื่องเดียวกัน หน้า 204-205 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ชนาวุธ บริรักษ์ เป็นนิสิตปริญญาตรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net