Skip to main content
sharethis

สัมมนาไทย-พม่าศึกษา ที่ ม.นเรศวร "นินนาท ไชยธีรภิญโญ" พาสำรวจเส้นทางเชื่อมอันดามัน-ทะเลจีนใต้ จุดแข็งไทยต้องมีถนนลาดยาง 4 เลนเชื่อมพม่าไปเวียดนาม หากอำนวยความสะดวกจุดผ่านแดนให้ดี จะเพิ่มมูลค่าการค้ามหาศาล พร้อมเสนอให้รวมจุดแข็งไทย+ประเทศ CLMV สร้างตลาดภายในขนาดใหญ่และเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งร่วมกัน

คลิปการนำเสนอของ นินนาท ไชยธีรภิญโญ สำรวจเส้นทางเชื่อมอันดามัน-ทะเลจีนใต้ ในการอภิปรายหัวข้อ  "ASEAN East-West, North-South Economics Corridors ไฮเวย์จากมะละแหม่ง ผ่านพิษณุโลก ถึงดานัง ทางรถไฟความเร็วสูง จากคุณหมิง ผ่านเวียงจันทน์/กทม. ถึงสิงคโปร์" โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" ที่ ม.นเรศวร วันที่ 18 ธ.ค. 2557

ลงทะเบียนเพื่อติดตามชมวิดีโอจากประชาไทได้ที่

 

 

นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

18 ธ.ค. 2557 - ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจัดเป็นวันแรกที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ในช่วงเช้ามีการอภิปรายหัวข้อ "ASEAN East-West, North-South Economics Corridors ไฮเวย์จากมะละแหม่ง ผ่านพิษณุโลก ถึงดานัง ทางรถไฟความเร็วสูง จากคุณหมิง ผ่านเวียงจันทน์/กทม. ถึงสิงคโปร์"

โดย นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ฯ หนึ่งในผู้อภิปราย กล่าวถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV หรือกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม โดยก่อนเริ่มว่าน่าจะเริ่มต้นศึกษาเพื่อนบ้านเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้ทัศนคติของเพื่อนบ้านไม่ได้เกลียดคนไทย แต่อาจไม่แฮปปี้กับรัฐบาลบางยุค เช่น ครั้งหนึ่งได้คุยกับชาวเวียดนามเกี่ยวกับความเห็นเรื่องสงครามเวียดนาม เขาไม่ได้เกลียดคนไทย แต่เกลียดรัฐบาลไทยสมัยนั้นที่ให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพ หรืออย่างนักกีฬาไทย อย่าง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่ปัจจุบันเป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ก็ได้รับความชื่นชมจากชาวเวียดนาม

ที่ผ่านมา ได้ไปดูงานที่เมียวดี โดยเป็นการไปศึกษาตามปรัชญา "เก็นจิเก็บบุตสี" หรือ "Go and See" ต้องไปดูของจริง แล้วเดินทางจากเมียวดี มาด่านมุกดาหาร แล้วข้ามไปสะหวันเขต

สำหรับสิ่งที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ 1. น้ำมันสำเร็จรูป 2. รถยนต์และอุปกรณ์ ชิ้นส่วน 3. ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โดยทั้งสามประเภทนี้ คิดเป็นร้อยละ 51 ของมูลค่าส่งออก

ในขณะเดียวกัน 3 รายการแรกที่ไทยนำเข้ามาจาก CLMV คือ 1.ก๊าซธรรมชาติจากพม่า คิดเป็นร้อยละ 40 2. เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งผมตั้งข้อสงสัยว่านำเข้ามาจากจีนอีกทีหรือเปล่า 3. สินแร่และโลหะ โดยเมื่อรวม 3 รายการนี้คิดเป็นร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด

ในเรื่องความคาดหวัง คนเวียดนามคาดหวัง AEC ว่า จะทำให้สามารถซื้อสินค้าไทยได้ในราคาถูกลง เพราะปลายปี 2557 ภาษีสินค้านำเข้าจากไทยจะเป็น 0% แต่เวียดนามมีโรงงานผลิตรถยนต์ จึงกันภาษีไว้อยู่ โดยตั้งภาษีนำเข้าไว้ที่ 40%

เมื่อดูจำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV มาเที่ยวประเทศไทยต่อปี 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มาจากลาว 1.1 ล้านคน และเวียดนาม 7.8 แสนคน

สำหรับจุดแข็งของประเทศไทย แบ่งเป็น 1. เป็นศูนย์กลางของอาเซียน 2. มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี 3. แรงงานมีทักษะ จากนี้ไปต้องใช้ทักษะของแรงงานไทยผลิตต่อยอดผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ที่ผลิตมาจากประเทศเเพื่อนบ้าน แล้วสร้างคุณค่าให้มากขึ้นแล้ว Re-export ออกไป 4. ความเข้มแข็งของภาคเอกชน 5. มีแฟชั่นและอุตสหกรรมบันเทิง เวลาไปเที่ยวกลุ่มประเทศ CLMV ค่ำๆ จะเห็นครัวเรือนเปิดทีวีดูละครไทย ประชาชนในภูมิภาคชื่นชอบนักแสดงไทย

6. มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย 7. มีขนาดตลาดใหญ่ และถ้ารวมประชากรไทย รวมประชากรกลุ่มประเทศ CLMV ก็จะทำให้มีประชากร 250 ล้านคน ก็เทียบได้กับประชากรประเทศอินโดนีเซีย เวลานักลงทุนต่างชาติจะดูว่าลงทุนประเทศไหน เขาจะดูที่จำนวนประชากร 8. ประชากรกลุ่ม CLMV เห็นว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าระดับพรีเมียม นิยมมากกว่าสินค้าจีน 9. ความสะดวกสบาย มีโรงเรียนนานาชาติ มีโรงพยาบาลเยอะ 10. การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์

ส่วนจุดแข็งของประเทศ CLMV 1. ทรัพยากรธรรมชาติมาก ไม่ว่าจะเป็นก๊าซ ไม้แปรรูป แร่ธาตุ 2. มีกำลังแรงงานมาก ประเภทแรงงานไร้ฝีมือ 3. ที่ชายแดนของประเทศ CLMV มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม 4. กลุ่มประเทศ CLMV ยังได้รับสิทธิพิเศษ GSP เหลืออยู่ เพราะโรงงาน CLMV เวลาผลิตสินค้ายังไม่ได้มาตรฐานที่ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกากำหนด เพราะฉะนั้นไทยน่าเข้าไปลงทุนและใช้สิทธิพิเศษนี้ในการส่งออก 5. ที่สำคัญยังมีค่าแรงยังต่ำ

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะจับคู่จุดแข็งของไทย กับจุดแข็งของกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีของไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ CLMV

นินนาท ได้เล่าถึงการสำรวจพม่าว่า ได้ไปเมืองเมียวดี ชายแดนไทย-พม่า จะเห็นว่าพม่านิยมนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภคจากไทย โดยเฉพาะยารักษาโรค ทั้งนี้พม่ามีรถยนต์เก่าจากญี่ปุ่นมาจอดเต็มเลย เพื่อ Re-condition แล้วส่งออกข้ามแม่น้ำเมย นอกจากนี้ยังมีจักรยานใช้แล้วจากญี่ปุ่น ผมลองถามดู จักรยานโครงคาร์บอนไฟเบอร์ราคาสองแสน ราคาเหลือสี่หมื่น ถ้าเป็นโครงอะลูมิเนียมราคาเหลือหมื่นห้า

ขณะเดียวกันนโยบายรัฐบาลพม่าอนุญาตให้นำรถใหม่เข้าไปขาย ก็ได้ไปสอบถามการท่าเรือแห่งประเทศไทย พบว่าปี 2546-2549 มีหน้าที่พัฒนาท่าเรือภูมิภาค พบว่าที่ท่าเรือระนอง ซึ่งมีการลงนาม MOU แล้ว ต่อไปจะสามารถเดินเรือไปย่างกุ้งได้ภายใน 4-5 วัน ขณะที่เทียบกับท่าเรือแหลมฉบับ ที่ต้องมีการอ้อมแหลมมลายู ไปถ่ายลำที่ปีนัง ก่อนไปย่างกุ้ง ก็ใช้เวลา 15-20 วัน ก็จะมีการส่งเสริมให้ใช้ท่าเรือระนองตั้งแต่ปีหน้า

ส่วนหอการค้าบอกว่าด่านขนส่งสินค้าที่มีศักยภาพตอนนี้คือแม่สอด รองมาคือระนอง และขณะนี้จะมีด่านสิงขร ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในส่วนของทรัพยากรส่งออกของพม่าที่ไทยต้องการคือ อาหารทะเล ไม้ แร่ธาตุโดยเฉพาะหยก ที่สำคัญพม่ามีกำลังแรงงานจำนวนมาก

ในเรื่องการค้าชายแดน ประธานหอการค้าชายแดนไทย-พม่า อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการผ่อนคลายการควบคุมเงินตราต่างประเทศ เช่น เขาส่งออกได้เงินจ๊าดมา เขาอยากเอาเงินจ๊าตซื้อสินค้านำเข้าที่ระนอง แล้วทำ "Kyat Netting" (นำรายรับรายจ่ายจากคู่ค้ามาหักกลบลบหนี้) ด้วยตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากส่วนต่างของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (FOREX)

ในเรื่องของด่านชายแดน จากการสำรวจ นินนาทกล่าวว่า ที่ด่านแม่สอดมีสะพานข้ามแม่น้ำเมย รับน้ำหนักรถบรรทุกได้ 25 ตัน ดังนั้นวัสดุก่อสร้างที่มีน้ำหนักมากจะข้ามไม่ได้ จึงมีข้อเสนอให้สร้างสะพานแห่งที่ 2 แต่ผมว่าถ้าจะก่อสร้างเสร็จก็คงต้องใช้เวลามาก จึงเสนอว่า ขณะนี้ถ้าย้ายสิ่งก่อสร้างกลางสะพานออก น่าจะทำให้การขนส่งสะดวกขึ้น

ส่วนด่านพรมแดนมุกดาหาร ยังไม่มีระบบ One-stop-service ทำให้ยังมีความวุ่นวายในการข้ามแดน

ทั้งนี้เส้นทาง East-West Corridor ฝั่งไทยจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ถึง อ.เมือง จ.มุกดาหาร มีระยะทาง 830 กม. ในจำนวนนี้ร้อยละ 58 เป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร ที่เหลือร้อยละ 42 เป็นแบบ 2 ช่องจราจร โดย 2 ช่องจราจรอยู่ระหว่าง จ.กาฬสินธุ์ มาที จ.มุกดาหาร โดยช่วงวังทอง-ชุมแพ กำลังมีการขยายเป็น 4 ช่องจราจร ทั้งนี้ถือว่าทางหลวงของไทยในช่วงนี้มีสภาพดี ปลอดภัย ได้มาตรฐานโลก

โดยสรุปมีความเห็น 7 ข้อ 1. ทางหลวงบ้านเราดี ปลอดภัย อีกสักปี สองปี ร้อยละ 70 ของทางหลวงในประเทศจะเป็นถนนสี่เลน 2.หากไทยทำ One Stop Service" และจัดการจราจรหน้าด่านให้ดี จะได้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว 3. พม่ามุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นโอกาสที่ดี ที่ไทยจะส่งออกวัสดุก่อสร้างทั้งปูนซิเมนต์ เหล็ก น้ำมันปิโตรเลียม 4. น่าจะใช้การท่องเที่ยวนำ เพื่อนำไปสู่การพูดคุยเรื่องสังคม วัฒนธรรม สุดท้ายถ้ามีการท่องเที่ยวกัน ทำเป็นแพ็กเกจจะ วิน-วิน ทุกประเทศ มีการผลิตสินค้า OTOP ของแต่ละประเทศ ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยตัวเอง

5. ในกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยในฐานะที่พัฒนามากที่สุดในกลุ่มประเทศต้องเข้าไปช่วยเขา ถ้าเขามีใจกับเรา สุดท้ายเขาจะอุดหนุนสินค้าไทย 6. ต้องร่วมกลุ่มประเทศ CLMV + T ให้ได้ 250 ล้านคน เพื่อสร้างตลาดภายในให้ใหญ่เพื่อให้มี "Economic of scale" แล้วจะแข่งขันตลาดโลกได้ เหมือนกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เดิมผลิตรถยนต์ขายเฉพาะประเทศไทย แต่พอสร้างขนาดการผลิตให้ได้ถึง 500,000 คัน ต้นทุนการผลิตก็ต่ำลง สามารถส่งออกได้ 7. ประเทศในภูมิภาคนิยมใช้เงินบาท เราจะใช้สกุลเงินบาทอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 5 ประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net