Skip to main content
sharethis

นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพโคลอมเบีย นพ.วิกเตอร์ เดอ เคอรีอา-ลูโก แนะประชาชนลงมือสร้างสันติภาพด้วยมือของตัวเอง เพราะไม่อาจการันตีได้ว่ากระบวนการสันติภาพจะนำไปสู่สันติภาพได้ เพราะมัวแต่พูดเรื่องของรัฐกับรัฐโดยไม่สนใจประชาชน ชี้การวิเคราะห์ความขัดแย้งต้องมองทุกปัจจัยที่ก่อสงคราม ย้ำบทบาทนักข่าวสำคัญมาก แต่ต้องกล้าเสนอความจริง

ระหว่างวันที่ 11-15 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา International Institute of Peace and Development Studies (IIPDS) ร่วมกับ Co-hosted by Asian Resource Foundation (ARF) และ Asian Muslim Action Network (AMAN) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนเพื่อสันติภาพ Youth For Peace Workshop 2014 ณ สถาบันสันติภาพและการพัฒนาศึกษานานาชาติ มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร มีเยาวชนจากหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วม

นพ.ดร.วิกเตอร์ เดอ เคอรีอา-ลูโก ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Pontificia Universidad Javeriana ประเทศโคลอมเบีย ได้บรรยายเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพในช่วงหนึ่งของการอบรม มีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

ทำไมพื้นที่มุสลิมจึงมีสงคราม
“ความขัดแย้งหรือสงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมักจะเกิดในประเทศหรือพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ ซึ่งชาวมุสลิมจะต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับวิธีคิดของตัวเอง นอกจากนั้นโลกยังสร้างปรากฏการณ์ความกลัวอิสลาม (Islamophobia) ขึ้นมาด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากชาวมุสลิมมีความขัดแย้งและก่อสงครามกันเอง”

นพ.ดร.วิกเตอร์ กล่าวว่า บางครั้งแม้กระทั่งเรื่องอาหารก็ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองได้ หรือการไม่ให้ความสำคัญต่อชนกลุ่มน้อย การแบ่งแยกความเป็นชาติหรือชาติพันธุ์ รวมไปถึงปัญหาทางการเมืองในระดับนานาชาติ ก็สามารถส่งผลต่อความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ได้เช่นกัน สุดท้ายทำให้เกิดอาชญากรสงคราม เด็กถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร มีการสร้างกลุ่มติดอาวุธขึ้นมา เป็นต้น หรือการไม่ให้ความยุติธรรมต่อผู้คิดต่างก็อาจก่อให้เกิดการต่อสู้ได้ด้วย

ต้องมองทุกปัจจัยที่ก่อสงคราม
นพ.วิกเตอร์ อธิบายต่อไปว่า สิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ความขัดแย้งก็คือ อย่าลืมมองความขัดแย้งในระดับนานาชาติด้วย และเส้นทางการเงินก็มักจะส่งผลต่อความขัดแย้งในการเมืองโลกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งในประเทศซูดานที่มีเรื่องการเมืองของประเทศจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เฉพาะแค่การเมืองของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มาเกี่ยวข้อง เป็นต้น

“ดังนั้นการจะวิพากษ์ความขัดแย้งจะต้องนำประเด็นต่างๆ มาวิเคราะห์ด้วย และบางครั้งก็ส่งผลให้ข้อมูลต่างๆ หลุดออกมา อย่างเช่นเรื่องที่ CIA (สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา) ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้คนจำนวนมาก”

นพ.วิกเตอร์ อธิบายว่า เส้นทางการเงินมักจะไปเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ สหรัฐอเมริกาไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มมุจาฮิดีนในประเทศต่างๆ อย่างไรบ้าง ดังนั้น เวลาเราวิเคราะห์ต้องไม่ลืมประเด็นเหล่านี้ด้วย หรือบางครั้งมีการโพสต์รูปภาพทหารอเมริกันทรมานนักโทษหลุดออกมา ซึ่งการโพสต์รูปเหล่านั้นถือว่าเป็นการเมืองเช่นกัน คำถามก็คือใครเป็นโพสต์

บทบาทนักข่าวในพื้นที่สงคราม
นพ.วิกเตอร์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในพื้นที่ความขัดแย้งก็คือสื่อหรือนักข่าว อย่างในตะวันออกกลาง บางครั้งทหารอเมริกันทำลายมัสยิด หรือกลุ่มติดอาวุธทำลายโรงเรียน หรือมีการฆ่าเด็ก/ผู้หญิง ทำลายบ้านเรือน ดังนั้นนักข่าวจึงสำคัญมากในการรายงานความเป็นจริงออกมา

“การนำเสนอข่าวที่กล้าหาญจึงเป็นเรื่องสำคัญในประเทศหรือพื้นที่ที่มีสงคราม แต่ประเด็นก็คือเราจะทำอย่างไรให้นักข่าวกล้าที่จะนำเสนอความจริง เพราะข่าวที่ออกมามักจะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงเสมอ”

สร้างสันติภาพ ต้องเปิดใจรับความจริง
นพ.ดร.วิกเตอร์ กล่าวถึงประเด็นการสร้างสันติภาพว่า หนทางในการสร้างสันติภาพแม้แต่ในยุโรปก็มีปัญหา หรือแม้แต่การปกครองรูปแบบประชาธิปไตยที่อเมริกาพยายามจะนำเสนอก็มีปัญหาเช่นกัน มันเป็นเสมือนตลาดการเมือง เพราะฉะนั้นจะต้องเปิดใจรับฟังความจริง ไม่ใช่ซ่อนแอบแล้วไปเอาเปรียบคนอื่น

นพ.ดร.วิกเตอร์ ตั้งคำถามว่า “ทำไมรัฐถึงชอบพูดว่าจะสร้างสันติภาพอย่างไร? ทำไมถึงไม่พูดประเด็นการเมืองหรือความรุนแรงของตัวเองที่ส่งผลต่อประชาชน ทำไมไม่พูดประเด็นการต่อต้านและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนโดยรัฐ? ทำไมนับความรุนแรงเฉพาะที่ฝ่ายก่อการทำ แล้วความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยฝ่ายทหารเคยนับหรือไม่?”

สร้างสันติภาพ ต้องสนใจประชาชน
นพ.ดร.วิกเตอร์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพ คือ เราจะต้องตั้งคำถามว่าเราจะไปอยู่ในกระบวนการสร้างสันติภาพได้อย่างไร เพราะสำหรับรัฐแล้ว กระบวนการสร้างสันติภาพมักจะพูดถึงเรื่องของรัฐกับรัฐโดยไม่สนใจประชาชน หรือแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศอย่าง UN (สหประชาชาติ) ก็ไม่ทำอะไรเลยในบางประเด็น เพราะเอาเข้าจริง การเมืองระหว่างประเทศสนับสนุน UN อยู่

สร้างสันติภาพ ประชาชนต้องลงมือเอง
“เราจึงไม่สามารถการันตีได้ว่า กระบวนการสร้างสันติภาพจะสามารถนำไปสู่สันติภาพได้ นอกเสียจากประชาชนจะต้องลงมือสร้างสันติภาพในชุมชนด้วยสองมือของตนเอง” นพ.วิกเตอร์ กล่าว

นพ.วิกเตอร์ ยกตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ที่ประชาชนปาเลสไตน์ถูกอิสราเอลละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการทรมานและอาจนับได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศไม่ทำอะไรเลย

“ผมสนับสนุนปาเลสไตน์ให้ได้รับอิสรภาพ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง”


ภูมิหลังผู้บรรยาย (ที่มา)

นายแพทย์ ดร.วิกเตอร์ เดอ เคอรีอา-ลูโก เป็นนายแพทย์ นักวิชาการ อาจารย์ และนักเคลื่อนไหวชาวโคลอมเบีย เขามีบทบาทอย่างมากในฐานะตัวเชื่อมต่อคนสำคัญในกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลโคลอมเบียกับกลุ่มเคลื่อนไหวติดอาวุธแบบกองโจร 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่ม FARC (Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia หรือ กองกำลังปฏิวัติติดอาวุธโคลอมเบีย) และกลุ่ม ELN (Ejército de Liberación Nacional หรือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ) เดอ เคอรีอา-ลูโก ยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสเปนและสวีเดน ในขณะเดียวกัน ก็ทำงานในองค์กรนอกภาครัฐหลายแห่ง อาทิ ผู้ประสานงานโครงการคุ้มครองภารกิจทางการแพทย์ของสภากาชาดสากล (ICRC) ผู้ประสานงานภาคสนามของสมาคมเพื่อความร่วมมือกับโลกใต้ (ACSUR) ที่ปรึกษาองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนและองค์การนิรโทษกรรมสากล เป็นต้น

ในฐานะนักวิชาการและนักปฏิบัติการ เดอ เคอรีอา-ลูโก ยังเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ตลอดจนบทบาทของงานสุขภาวะในพื้นที่ความขัดแย้งหลายเล่ม อาทิ Poder y Guerrillas En America Latina: Una Mirada a la Historia del Guerrillero de a Pie (อำนาจและขบวนการกองโจรในละตินอเมริกา: การพิจารณาประวัติศาสตร์ผ่านย่างก้าวของของกองโจร” Palestina, entre la trampa del muro y el fracaso del derecho (ปาเลสไตน์, ระหว่างกับดักของกำแพงและความล้มเหลวของกฎหมาย), Derecho Internacional Humanitario y sector salud: el caso colombiano (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและงานด้านสุขภาวะ: กรณีศึกษาโคลอมเบีย) วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาในหัวข้อ “สุขภาวะในฐานะที่เป็นสิทธิมนุษย์ชนในกรณีโคลอมเบีย” ก็ได้รับได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือด้วยเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net