ใบตองแห้งออนไลน์: ปฏิรูปศาลไหม ?

 

สปช.กมธ.มีใครคิดปฏิรูปศาลไหม ยังไม่มี เห็นมีแต่แนวคิดเอาศาลออกไปจากการสรรหาองค์กรอิสระ แต่ก็จะเพิ่มอำนาจออกใบเหลืองใบแดง

ศาลถูกวิจารณ์อึงมี่ตั้งแต่รัฐประหารปี"49 เมื่อผู้พิพากษากระโดดข้ามรั้วมาใช้อำนาจ "กวาดล้างคนชั่ว" ยุบพรรค ตัดสิทธิ เป็น คตส. เป็น ส.ส.ร. เป็น สนช. เป็นรัฐมนตรี เป็นอธิบดี โห ก็มีปัญหาสิครับ สังคมจะเชื่อมั่นเมื่อกรรมการเป็นกลาง แต่นี่ออกมาเตะบอลเองทั้งที่ยังเป่าปี๊ดๆ

ศาลก็รู้ดูรัฐประหารครั้งนี้ก็ได้ ศาลสรุปบทเรียนไม่เกี่ยวข้อง รองประธานศาลฎีกายังต้องถอนตัวจากกรรมการคดีพิเศษ

แต่ปัญหาที่เกิดมา 8 ปี เริ่มมีคำถามเรื่องที่มาของอำนาจ ว่าควรยึดโยงประชาชนไหม เรื่องการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ทำได้ไหม

ศาลไทยไม่เคยยึดโยงอำนาจเลือกตั้งทั้งก่อนและหลัง 2475 จนรัฐธรรมนูญ 2540 จึงมีคณะกรรมการตุลาการ 2 ใน 15 คนเลือกโดยวุฒิสภา ต่างจากอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ ที่ผู้พิพากษาศาลสูงมาจากการเสนอชื่อและรับรองโดยอำนาจเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 ยืมมาใช้กับศาลปกครองแบบครึ่งๆ กลางๆ คือ ก.ศป.เสนอชื่อตุลาการศาลปกครองสูงสุดให้วุฒิสภารับรอง

ประธานศาลฎีกามาจากไหน รู้ไหมครับ น้อยคนที่รู้ว่าประธานศาลฎีกามาจากคนสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ที่ 1 ตอนอายุ 25 ปี ผ่านไป 40 กว่าปีถ้าไม่อายุสั้นถ้าไม่ทำตัวเสื่อมเสีย พอใกล้ 70 ก็จะได้เป็นประธานศาลฎีกา เพราะนับอาวุโสตามลำดับที่สอบได้

ศาลยึดการเลื่อนขั้นตามอาวุโสเคร่งครัด ผู้ใหญ่ของสถาบันตุลาการท่านหนึ่งตำหนิว่าไม่ยึดหลักค่าของคนอยู่ที่ผลงาน แต่บางท่านก็อธิบายว่าศาลไม่ต้องการให้แข่งขัน เงินเดือนผู้พิพากษาจึงมีแค่ 5 ชั้น ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชั้น 3 ประธานศาลฎีกาชั้น 5 รวมเงินประจำตำแหน่งก็แสนกว่าไล่ๆ กัน ต่างกันแค่หมื่นกว่าบาท ศาลต้องการให้ผู้พิพากษามีอิสระ ไม่ต้องเอาใจนาย เพราะยังไงก็ขึ้นเงินเดือนไม่กี่พัน

ถ้าว่าตามหลัก ประธานหรืออธิบดีศาลไม่มีอำนาจสั่ง ผู้พิพากษานะครับ ผู้พิพากษามีอิสระ ไม่มี "นาย" เหมือนระบบราชการอื่น ประธานหรืออธิบดีแค่มีหน้าที่บริหาร เมื่อเป็นองค์คณะก็มีหนึ่งเสียงเท่ากัน แต่ว่าตามจริง ประธานหรืออธิบดีมีอำนาจแจกสำนวน ซ้ำหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ยังแก้กฎหมายให้อธิบดีศาลชั้นต้นตรวจสำนวนแก้คำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้ง ได้

ประชาชนจะตรวจสอบศาลได้อย่างไร ต้องย้อนดูว่าทำไมเราเชื่อถือศาล เราไม่ได้เชื่อเพราะผู้พิพากษาเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่เราเชื่อกระบวนการ เชื่อการพิจารณาโดยเปิดเผย พิสูจน์พยานหลักฐานระหว่างโจทก์จำเลย แล้ว ผู้พิพากษาเขียนคำตัดสิน ให้เหตุผลประกอบข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย เผยแพร่ต่อสาธารณะ ประชาชนจึงต้องวิจารณ์ได้ นั่นคือการตรวจสอบเบื้องต้น

ในเชิงองค์กร จะตรวจสอบศาลอย่างไร มีตัวอย่างน่าสนใจคืออังกฤษซึ่งปฏิรูปในปี 2548 ที่จริงอังกฤษไม่เหมือนเราตั้งแต่แรก ศาลไทยรับผู้ช่วยผู้พิพากษาอายุ 25 โดยศาลจัดสอบเอง เหมือนราชการทั่วไป ผู้สอบต้องจบเนฯ ซึ่งประธานศาลฎีกาก็เป็นนายกเนติบัณฑิตยสภา ผู้พิพากษาใหม่เข้ามาก็จะอบรมให้คิดในจารีตเดียวกัน

อังกฤษแต่เดิมให้ประธานสภาขุนนางตั้งผู้พิพากษาตามคำแนะนำของเนติบัณฑิตยสภาซึ่งมี 4 แห่ง แต่ปัจจุบันให้อำนาจคณะกรรมการอิสระ 15 คน เรียกว่า JAC คัดเลือกทนายเก่ง ชื่อเสียงดี เสนอประธานสภาขุนนาง เขาไม่ให้ศาลคัดผู้พิพากษาเอง และคนใหม่ก็มาพร้อมทัศนะของตัวเองทำให้ศาลเปิดกว้าง

อังกฤษยังตั้งสำนักงานร้องทุกข์ศาลยุติธรรม OJC เป็นองค์กรอิสระรับเรื่องร้องเรียนผู้พิพากษา ไม่ใช่แค่นั้น เขายังตั้งผู้ตรวจการ JACO มาตรวจสอบซ้อนตรวจสอบ รับเรื่องร้องเรียน JAC และ OJC อีกทีหนึ่ง

ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยนะครับ แค่ยกเป็นตุ๊กตาว่าศาลก็ตรวจสอบได้ ไม่ใช่ผมรู้มากหรอก แค่ได้อ่านบทความ "การปรับปรุงศาลยุติธรรม" ของ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ท่านเขียนไว้เมื่อปี 2551 ตีพิมพ์ในวารสารจุลนิติของสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ปี 2556 ใครสนใจหาอ่านดู 

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท