นิธิ เอียวศรีวงศ์กับปัญหาปาตานี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ปัญหาปาตานี/ชายแดนใต้ในรอบ 1ทศวรรษที่ผ่านมา ปัญญาชนสาธารณะอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เข้ามาเริ่มอธิบายปัญหาปาตานี/ชายแดนใต้ ตั้งแต่ความรุนแรงเริ่มเมื่อปี 2547 ผมจำได้ว่าเจออาจารย์นิธิ ครั้งแรกที่ตึกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นการพูดคุยวงเสวนาเล็กๆ เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรง เช่น กรณีการถูกอุ้มหายของชาวบ้าน และการถล่มมัสยิดกรือเซะของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการไปเก็บคำสัมภาษณ์ของญาติผู้ที่ถูกอุ้มหายและที่เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ ระหว่างการพูดคุยแลกเปลี่ยน อาจารย์นิธิก็เดินออกไปนอกห้องการเสวนา สักพักกลับมาวงเสวนาอีกครั้ง แกบอกว่า ทนฟังไม่ได้ รู้สึกสะเทือนใจและไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้อีกในสังคมไทย ที่ร้ายกว่านั้นเป็นการกระทำจากคนที่มีอำนาจรัฐ ทั้งๆที่เราผ่านเหตุการณ์และมีบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา นิธิ ได้เสนอ “ทฤษฎีกบฏชาวนา” ต่อการอธิบายเรื่องปัญหาความรุนแรงปาตานี ต่อมานิธิและได้กล่าวในงานเสนาเปิดตัวหนังสือ “มลายูศึกษา” ว่าทฤษฎีกบฎชาวนาของแกเอง คงใช้อธิบายเรื่องปาตานีไม่ได้ ฉะนั้นเลิกสนใจได้แล้ว !  นี้ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักวิชาการรุ่นหลัง ความรุนแรงผ่านมา 10 ปี มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ผลิตผลงาน หนังสือ บทความ ฯลฯ ให้ความเห็นต่อสาธารณะ โดยมีความผิดพลาดเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ชาวบ้านในพื้นที่ และไม่เคยมีใครออกมายอมรับและบอกว่าตัวเองพลาดและเข้าใจผิด  หากเราพิจารณาหนังสือที่เกี่ยวกับปาตานีในช่วง10 ปีของเหตุการณ์ จะพบว่านักวิชาการหลายคนได้อธิบาย/เขียน แม้กระทั่งชื่อ สถานที่ พศ. และชื่อผู้นำที่สำคัญๆยังผิดพลาด 

ผลงานที่สำคัญสำหรับการอธิบายการเมืองวัฒนธรรมของนิธิต่อปัญหาปาตานี ก็คือ หนังสือรวบรวมบทความจากนักวิชาการ 4 คน ชื่อว่า มลายูศึกษา :ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้ (ความรู้เที่ยงคืน ชุดที่ 4) ซึ่งนิธิ ได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ หนังสือเล่มนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้สามัญชนทั่วไปในสังคมไทยได้เข้าใจสามัญชนมลายูมากขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทางด้านภาษา วัฒนธรรมและการเคลื่อนไหวของสามัญชนมลายูที่อดีตที่ผ่านมา พร้อมกันนั้น อาจารย์นิธิ ได้จัด  "หลักสูตรเรียนรู้มลายูศึกษาเพื่อความสมานฉันท์" ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ เป็นการเคลื่อนไหวทางวิชาการที่ข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรม ภาษา เพื่อให้คนทางเชียงใหม่ได้รับรู้ปัญหาปาตานี

ตลอดที่ผ่านมา เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นที่ปาตานี อาจารย์นิธิเขียนและแสดงความคิดเห็นผ่านบทความในคอลัมน์มติชนรายวันและสุดสัปดาห์อย่างต่อนื่อง ไม่ว่าภายใต้รัฐบาลไหนก็ตาม ตั้งแต่คุณทักษิณถึงคุณประยุทธ์ ที่กุมอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของการเมืองไทย  พร้อมกันนี้ได้เสนอทางออกบางประการเสมอ โดยเฉพาะการเมืองแบบไม่รุนแรง จำได้ว่าอาจารย์นิธิได้เสนอความคิดเรื่อง พรรคมลายูเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งของการต่อสู้ในพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนในพื้นที่

การใช่แต่เพียงผลงานวิชาการเท่านั้น แต่อาจาร์นิธิได้เข้ามามีส่วนรวมในการเคลื่อนไหวเวทีเสวนาวิชาการบ่อยครั้งในพื้นที่ครั้งล่าสุดจำได้ว่า อาจารย์นิธิ  ปาฐกถาเรื่อง "ทำไมจึงต้องมีประชาธิปไตย"ในเวที “อนาคตปาตานีหลังเลือกตั้ง” โครงการเวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต" (สปต.) ก่อนที่จะมีวันเลือกตั้งและรัฐประหาร สำหรับเวทีข้างต้น อาจารย์นิธิได้ตอบรับและเดินทางมาร่วมเวที ทั้งๆที่สถานการณ์ในขณะนั้นการจัดเวทีวิชาการในภาคใต้ก็เป็นเรื่องที่กระทำยากยิ่ง เพราะห้วงเวลานั้นเรากำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของมวลมหาประชาชน ที่สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเสียงนกหวีดกลางเวทีเสวนา  แต่ทว่าอาจารย์นิธิก็ตอบตกลงมาและให้ข้อคิดที่สำคัญก็คือ “เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ จะพบว่าปัญญาชนที่สืบทอดมาจากผู้ปกครองและสามัญชนกระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯมาก ชนชั้นนำอยากเข้าไปมีส่วนร่วมเพราะคิดว่าคือวิธีการแก้ปัญหา แต่ก็ถูกครอบงำโดยฝ่ายทหาร มุสลิมในพื้นที่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เปิดเวทีให้เข้ามากำหนดชะตาชีวิตของเขาได้จริง แม้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ประเทศก็ไม่ได้พัฒนาความเป็นชาติแท้จริงได้ เพราะความลักลั่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีมาจนทุกวันนี้”

ทั้งนี้สำหรับงานวิจัยและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับปาตานี/ชายแดนใต้ ที่ผลิตขึ้นโดยนักวิจัย อาจารย์นิธิ ก็ได้ให้ความสนใจและเอาจริงเอาจังกับการติดตามให้ความเห็น อาทิเช่น งานเสวนาวิชาการประจำปี "หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยากับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา อาจารย์นิธิก็ได้เข้ามาร่วมให้ความเห็นและคอยรับฟังผลการศึกษาของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ มาโดยตลอด

ผลงานที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมและปาตานี ชิ้นล่าสุดของอาจารย์นิธิ ก็คือ บทความ “อิสลามกับโลกสมัยใหม่” ในหนังสือ “คนหนุ่มสาวมุสลิมกับโลกสมัยใหม่” ที่อาจารย์นิธิ ได้เป็นริ่เริ่มโครงการและให้คำปรึกษาต่อการจัดทำหนังสือเล่มนี้ 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท