Skip to main content
sharethis
สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานีและเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี (พีบีวอทช์ดอทเน็ต) ประเมินน้ำท่วมหลังจากเขื่อนบางลางปล่อยน้ำ อาจส่งผลกระทบรุนแรงเพราะมีคอขวด 3 จุด ทำให้การระบายลำบาก นำไหลแรงอาจกัดเซาะตลิ่ง ประกอบกับคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง ยะลา นราฯ ยังเสี่ยงดินถล่ม 

สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จากเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ ลุ่มน้ำปัตตานี (พีบีวอทช์ดอทเน็ต) http://www.pbwatch.net/ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา หลังจากเขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งกั้นแม่น้ำปัตตานีได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2557 โดยอาจส่งผลกระทบรุนแรงเพราะมีจุดที่เป็นคอขวด 3 จุด ทำให้การระบายน้ำได้ลำบาก ประกอบกับคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง

สมพร ได้เผยแพร่ผลการประเมินประเมินสถานการณ์ฝนและพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ช่วง 26-31 ธ.ค.2557 ในเฟสบุ๊กของตัวเองเมื่อเวลา 00:49 น. วันที่ 27 ธันวาคม 2014

โดยระบุว่า แนวโน้มพื้นที่ฝนตกในพื้นที่ 3  จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ยังจะมีฝนตกตั้งแต่วันที่ 27-29 ธ.ค. 2557 ในขณะที่พื้นที่ประสบปัญหาดังนี้

1.มีพื้นที่น้ำท่วมขังในพื้นที่เดิมอยู่แล้วก่อนหน้านี้ ทั้งใน 3 จังหวัด

2.เขื่อนบางลาง จ.ยะลา มีปริมาณน้ำเกือบเต็มเขื่อนประมาณ 99.5% ของความจุของเขื่อนประมาณ 1450 ล้านลูกบาศก์เมตร

3.ยังมีฝนตกลงมาเพิ่มเติมในช่วง 26-29 ธ.ค. 2557

4.น้ำฝนและน้ำจากต้นน้ำไหลลงเขื่อนในอัตราปริมาณ 30-40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

5.คลื่นลมทะเลในอ่าวไทยคลื่นสูงในช่วง 26-29 ธ.ค. ประมาณ 2-3 เมตร ยังจะส่งผลให้การระบายน้ำท่วมขังเดิมเป็นไปได้ลำบาก

ทางออกของเขื่อนคือ การปล่อยน้ำออกในอัตราที่น้ำไหลเข้าเขื่อน นั่นหมายถึงเป็นไปตามปัจจัยที่ฝนตกลงไปและปัจจัยจากปริมาณน้ำเดิมที่ตกไว้ก่อนหน้าแล้วในพื้นที่เหนือเขื่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดังนี้

1.พื้นที่ท่วมขังเดิมอยู่แล้วในพื้นที่จังหวัดยะลาและปัตตานีจะได้รับน้ำเพิ่มเติมมากขึ้น จากการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางประมาณ 37 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะระบายจนกว่าฝนจะหยุดตก จนกว่าน้ำในเขื่อนจะลดลงอยู่ในภาวะปกติ (ทั้งนี้ขึ้นกับทางเขื่อนบางลาง)

2.พื้นที่ลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำปัตตานี จะได้รับน้ำเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำท่วมเดิมอีก 37 ล้านลูกบาศก์เมตร

3.น้ำที่ไหลแรงขึ้นจะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำ และน้ำล้นตลิ่งตามแต่บริบทของตลิ่งตลอดเส้นทางตั้งแต่ใต้เขื่อนจนถึงแม่น้ำปัตตานีและอ่าวปัตตานี ซึ่งจะมีพื้นที่คอขวดอยู่อย่างน้อย 3 จุด ได้แก่ พื้นที่รับน้ำบริเวณอำเภอยะลา  พื้นที่รับน้ำบริเวณอำเภอเมืองปัตตานี และพื้นที่อ่าวปัตตานีที่มีน้ำทะเลหนุนเนื่องจากคลื่นลมทะเลสูง 2-3 เมตร

4.ในพื้นที่มีความเสี่ยงในการเกิดดินโคลนถล่มได้ ตามพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส และยะลา

 
 
พื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานีและเขื่อนบางลาง
 
 
จากเขื่อนบางลางเมื่อปล่อยน้ำ ระยะเวลาที่น้ำจะไหลถึงเมืองยะลาและเมืองปัตตานี
 
 
จุดคอขวดในการระบายน้ำกรณีน้ำล้นเขื่อนบางลางหรือกรณีน้ำท่วม มีอย่างน้อย 3 จุดคอขวดดังภาพ
 
 
ถนนสายเอเชียเป็นเสมือนคันเขื่อนในการโอบล้อมน้ำไว้ก่อนน้ำจะระบายลงสู่ทะเล ทำให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมขังยาวนาน
 
 
ตัวอย่างพื้นที่ฝนตกที่ตกลงในพื้นที่เหนือเขื่อนเพิ่มเติมในขณะที่เขื่อนเต็มไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้เพิ่มเติม
 
 
ตัวอย่างพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มในกรณีฝนตกหนักในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม เช่นพื้นที่ยะลาและนราธิวาส
 
 
 
ตัวอย่างพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม ฝนตกหนักและพื้นที่รับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานี และเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติ
 
 
โปรดติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รู้เท่าทันในการตั้งรับและปรับตัวเชิงรุก ยังมีแนวโน้มว่าคลื่นลมทะเลจะแรงในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ และมีฝนตกหนักอีกในวันที่ 28-29 ธ.ค. นี้ และอาจจะมีแนวโน้มฝนตกได้อีกเพิ่มเติมในช่วงปีใหม่ ทั้งนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้หลังวันที่ 30 ธ.ค.2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net