Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

       
การคว้าแชมป์ฟุตบอลเอเอฟเอฟซูซูกิคัพ (ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่าซูซูกิคัพ)ของทีมชาติไทยเมื่อหลายวันก่อนได้ทำให้คนไทยจำนวนมากดีใจสุดพรรณนา จนกระแสฟีเวอร์ได้เข้ากระหน่ำสังคมไทย อาจด้วยทีมของตนนั้นถูกประณามว่าต่ำชั้นมานานและซ้ำยังไม่สามารถคว้าแชมป์ของทัวร์นาเมนต์นี้ได้กว่า 12 ขวบปีแล้ว อันเป็นเหตุให้เกิดความใฝ่ฝันว่าวงการฟุตบอลไทยจะมีการพัฒนาหลังจากซบเซามาแสนนาน           

ที่สำคัญยังมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าความยิ่งใหญ่ของทีมชาติไทยจะทำให้ประชาชนรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันจนประเทศสามารถก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งที่มีระหว่างกันในหลายปีที่ผ่านมาซึ่งก็ยังไม่สร่างซาดีแม้ว่าจะเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม (หรือมองอีกแง่มุมหนึ่งรัฐประหารเป็นเพียงการกดทับให้ความขัดแย้งจมอยู่ในน้ำซึ่งรอวันจะพุ่งขึ้นมาหากพลังในการกดหายไปเสียมากกว่า)

     
เป็นเรื่องที่ไม่ผิดอะไรที่จะมีความสุขกับชัยชนะของทีมชาติของตนและการวาดฝันว่าพวกเขาจะก้าวไปสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในอีกไม่เกินทศวรรษหน้าก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะเป็นแรงกดดันให้ทางสมาคมฟุตบอลที่เต็มไปด้วยปัญหามีการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น แต่การโยงฟุตบอลหรือกีฬาเข้ากับความสามัคคีของคนในชาติเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกมาก  ด้วยประเด็นอันละเอียดอ่อนเช่นนี้ยังทำให้ผู้เขียนโยงไปยังคำถามที่ว่าการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าทัวร์นาเมนต์นี้หรืออื่นๆ จะสามารถตอบสนองความสามัคคีหรือความต้องการเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนซึ่งโหมโฆษณาเป็นบ้าเป็นหลังอย่างในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร โดยใช้ผู้เขียนจะใช้เกณฑ์ในการวิเคราะห์อยู่ 2 มิติคือระดับการเมืองระดับประเทศและระดับการเมืองระหว่างประเทศ

     
หากเรามองในมิติการเมืองระดับประเทศ  กีฬาทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล โรงเรียนชุมชน หรือระดับชาติไม่ใช่เรื่องเขตปลอดการเมืองแม้แต่น้อย ด้วยกีฬาไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดำรงอยู่ด้วยตัวเองเพราะต้องมีการลงทุนทั้งเวลา อุปกรณ์และการฝึกฝนบุคลากรและหากอยู่ในขั้นที่สูงขึ้นไปก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเป็นสำคัญ  กีฬาจึงไม่ได้เป็นกิจกรรมใสบริสุทธิ์ที่เน้นการมีสปิริตและการฝึกฝนร่างกายดังเพลงกราวกีฬาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กเพียงอย่างเดียว เพราะกีฬานั้นเป็นหนึ่งในบรรดาพิธีกรรม (Rite) ของลัทธิชาตินิยมในการตอกย้ำความภักดีของพลเมืองต่อรัฐมาช้านาน รัฐคาดหวังว่าให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนเล่นกีฬาก็เพื่อฝึกฝนร่างกาย ห่างไกลยาเสพติด มีสุขภาพแข็งแรงแต่ที่น่าสนใจคือกีฬายังเป็นช่องทางในการปลูกฝังของรัฐต่อประชาชนให้มีเป็นลักษณะอันพึงปรารถนาของรัฐ แม้ว่าการเล่นกีฬาอาจจะอยู่ในระดับส่วนตัวเช่นเพื่อสุขภาพหรือความสนุกก็ตาม เช่นกลายเป็นพลเมืองดี มีความจงรักภักดีต่ออุดมการณ์แห่งชาติ ซึ่งเพลงกราวกีฬาซึ่งมักอ้างว่าเป็นเรื่องของคุณค่าส่วนตัวแต่ก็มีวัตถุประสงค์เช่นนี้ซ่อนเร้นอยู่ด้วย เพราะเพลงนี้ถูกแต่งในปี 2437 ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นการสร้างสำนึกของความเป็นพลเมืองของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชผ่านหลักสูตรการศึกษาแบบใหม่ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลแนวคิดเกี่ยวกับกีฬาจากตะวันตกตั้งแต่ยุคกรีกโรมัน นอกจากนี้หากผู้เล่นกีฬาได้เป็นตัวแทนของชาติไปแข่งขันระหว่างประเทศก็ยิ่งเข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองที่ซับซ้อนขึ้นอีก  ไม่ว่าประเทศไหนจะพัฒนาไประดับใดแม้แต่สหรัฐอเมริกาหรือจีนก็ต้องพัฒนาการกีฬาไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบสิ้นเพราะมีแรงผลักดันคือชาตินิยมภายใต้คำว่าหน้าตาหรือศักดิ์ศรีของความเป็นชาติอันเป็นปัจจัยเล็กๆ ปัจจัยหนึ่งที่สามารถกำหนดจุดยืนของประเทศนั้นในเวทีโลก รวมไปถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเช่นพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกหรือฟุตบอลโลกก็เป็นประเด็นทางการเมืองอย่างสูงมากดังที่จะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

    
หากมองเชิงเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาหรือการส่งเสริมกีฬาของรัฐเป็นการลงทุนที่ไม่แพงนักถ้าเทียบกับการพัฒนาสังคมรูปแบบอื่นซึ่งตัวแปรและผลที่ได้มีความแปรปรวนมากกว่าและได้ผลไม่ชัดเจนเท่าและอาจถูกประชาชนหลายภาคส่วนต่อต้านหรือสร้างความเสี่ยงต่อประเทศในวงกว้างและที่สำคัญรวมถึงเสถียรภาพของตัวรัฐบาลเอง (ตัวอย่างเช่นความพยายามของรัฐบาลชุดก่อนในการกู้เงินมาสร้างรถไฟความเร็วสูง) กีฬายังส่งผลให้เห็นอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรมกว่า เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างอันเกิดจากการนำเสนอของสื่อมวลชนต่อการแข่งขันหรือภาพลักษณ์ของนักกีฬาเหมือนกับโฆษณาหรือภาพยนตร์  (ดังศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ว่า Newstainment  อันเกิดจาก News +Entertainment) ความคลั่งไคล้ดาราฟุตบอลดวงใหม่ๆ ซึ่งหน้าตาดียังมีผลให้การเป็นนักกีฬาและดารามีความไม่แตกต่างกัน นักกีฬาจำนวนผันตัวมาเป็นดาราหรือนักร้อง สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้กีฬามีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมจนเกินความจำเป็นอันแท้จริง   

 
แม้ว่าการพ่ายแพ้ของนักกีฬาอาจนำไปสู่การสะดุดตัวของแนวคิดชาตินิยมเช่นความรู้สึกด้อยกว่าหรือเสียหน้าแต่ผู้รับผิดชอบก็กลายเป็น สมาคม ผู้จัดการ โค้ชหรือนักกีฬาเสียยิ่งกว่าใคร  แต่ในทางกลับกันหากพวกเขาประสบความสำเร็จ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือรัฐซึ่งทวีความยิ่งใหญ่มากขึ้น ส่วนนักการเมืองและนายทุนก็ได้รับผลประโยชน์ไปไม่น้อยดังเช่นกีฬาทำให้คนในประเทศหันมาสนใจมากกว่าความล้มเหลวของการบริหารงานของตนหรือกีฬาทำให้คนให้ความชื่นชอบต่อผู้บริหารประเทศมากกว่าผลงานที่แท้จริง ดังเช่นการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิลในปี 2014 ซึ่งมีเหตุการณ์อื้อฉาวก่อนหน้านั้นคือการประท้วงโดยชาวบราซิลนับล้านคนที่ไม่พอใจว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟได้ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายไปกับการจัดงานฟุตบอลโลกมากกว่าจะนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประชาชน (เรื่องน่าเศร้าว่านางรูสเซฟเคยเป็นสมาชิกของกองโจรฝ่ายซ้ายในอดีตมากก่อน)  กระนั้นแม้ว่าทีมชาติบราซิลจะแพ้อย่างหมดรูป แต่ผู้นำคนเดิมกลับได้รับเลือกอีกครั้ง อันสะท้อนให้เห็นว่าคนบราซิลอีกจำนวนมากโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ไม่สนใจว่าโครงพื้นฐานนั้นสำคัญต่อชาติหรือคนบราซิลผู้ยากไร้มากน้อยเพียงใด พวกเขาได้แต่ละเมอเพ้อพกอยู่กับการเป็นชาติแห่งฟุตบอลไปตลอดกาล

       
กระนั้นรัฐไม่ได้เป็นเพียงฝ่ายรุกในการกำหนดลัทธิชาตินิยมเพียงอย่างเดียว หากยังสังเกตและคาดคะเนถึงความรู้สึกของประชาชนเพื่อจะกำหนดปัจจัยต่างๆ ในการเอื้อต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนผ่านกีฬาเพื่อเสริมสร้างความภักดีต่อชาติมากขึ้นไปเรื่อยๆ  เพราะกีฬาสามารถตอบสนองความไม่รู้หรือความสับสนของประชาชนถึงนิยามของคำว่า "ชาติ" และ “ความรักชาติ” ได้อย่างดี (1) เมื่อรัฐพยายามชักจูงประชาชนโดยมีเงื่อนไขว่าถ้าปฏิบัติตามอุดมการณ์หรือคุณธรรมสารพัดที่ตนมอบให้จึงจะถือได้ว่ามีความรักชาตินั้น ดูเหมือนหลักการเหล่านั้นหลายข้อยังดูคลุมเครืออยู่มากเช่นเดียวกับความยากลำบากในการปฏิบัติ การสนับสนุนหรือมีความสุขกับชัยชนะของกีฬาชาติตนจึงเป็นความรักชาติในเชิงปฏิบัติที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดและลงทุนน้อยที่สุด ดังนั้นพวกเราจำนวนไม่น้อยสามารถแสดงความรักชาติได้โดยยังคงมีพฤติกรรมหลายอย่างที่  (ถ้าจัดตามแบบของพวกหัวอนุรักษ์นิยม) ไม่อยู่ในข่ายของความรักชาติแต่ประการใด เช่น  ชื่นชอบฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ชมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ฟังเพลงเลดี้กาก้า อุดหนุนห้างเทสโกโลตัส  พูดภาษาไทยคำอังกฤษคำ ฯลฯ  เรายังรู้สึกว่าเรารักชาติแม้เราจะนอนตื่นสาย โดดเรียน ไม่สนใจทำงาน แอบโกงเงินบริษัท ฯลฯ หรือมองในมิติทางสังคมที่ลึกไปกว่านั้น เรายังรู้สึกว่าเรารักชาติแม้ว่าไม่สนใจปล่อยให้พี่น้องร่วมชาติอีกมากมายยังท้องว่างด้วยความหิวโหยหรือนอนอยู่บนข้างถนน หรือปล่อยให้กฎอัยการศึกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือปล่อยให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม ฯลฯ

     
นอกจากนี้ในกรณีของซูซูกิคัพนั้น การแสดงความยินดีของคนไทยจำนวนมากได้ทำให้เรารู้สึกว่าคนไทยนั้นก้าวผ่านความขัดแย้งต่อกันในระดับหนึ่งไม่ว่าใครจะมีความคิดแบบเสื้อสีอะไร แต่ก็เกิดคำถามว่าก่อนที่เสื้อแดงเสื้อเหลืองจะทะเลาะกันนั้น กีฬาไทยไม่เคยประสบความสำเร็จในกีฬาทัวร์นาเมนต์ต่างๆ หรือไร  และในช่วงเกือบ 1 ทศวรรษก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม คิดว่าไม่มีกีฬาชนิดใดประสบความสำเร็จเหมือนกับบอลไทยในครั้งนี้เลยหรือ ที่สำคัญในปัจจุบันคนไทยให้ความหมายต่อลัทธิชาตินิยมที่ถูกผูกเข้ากับกีฬาแตกต่างกันมากขึ้นดังจะเห็นได้จากเว็บต่างๆ ว่า  มีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่รู้สึกเมินเฉยหรือไม่ชอบความเห่อจนถึงขั้นเรียกว่า Hysteria หรือกระแสบ้าคลั่งต่อการได้แชมป์ฟุตบอลครั้งนี้แต่ก็ถูกเสียงของอีกฝ่ายกลบทับเสียหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ประการใดสำหรับสังคมที่ต้องมีความหลากหลาย หากมีปรากฏการณ์ที่ผู้ชื่นชอบฟุตบอลหันมาประณามผู้แสดงความเมินเฉยหรือฝ่ายหลังแสดงการดูถูกฝ่ายแรกจนอย่างรุนแรง อันกลายเป็นว่าฟุตบอลก่อให้เกิดความขัดแย้งเสียอีกรูปแบบหนึ่งเสียมากกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือนักข่าวชื่อดังท่านหนึ่งได้เขียนลงไปในเฟสบุ๊คเป็นทำนองไม่ให้คนไทยหลงดีใจกับชัยชนะของตน อันเป็นเหตุให้มีคนจำนวนมากเข้ามาต่อว่าด่าทอเขาอย่างดุเดือด

       
อาจมีข้อโต้แย้งมาว่าไม่ควรเอาเรื่องกีฬามาปนกับเรื่องทางการเมืองและสังคม หากเป็นเช่นนั้นเราไม่ควรจะบอกว่ากีฬาเช่นฟุตบอลในครั้งนี้จะทำให้คนไทยเกิดความสามัคคีกันอย่างแท้จริง เพราะความสามัคคีก็คือประเด็นทางการเมืองเช่นกัน (2)  และไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ  ผ่านคนเพียง 11 คนและลูกฟุตบอลกลมๆ  1  หนึ่ง ผู้เขียนจึงคิดว่าเราควรใช้ดัชนีอะไรสักอย่างในการชี้วัดถึงความสามัคคีของคนในชาติหากไม่ใช้ความสำเร็จของกีฬาซึ่งมักวัดจากความคิดหรือความรู้สึกของเราเองดังเช่น สัมประสิทธิ์จีนี (genie index) หรือตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ในอันดับที่ไม่สูง  (3)  ยิ่งรัฐมีสัมประสิทธิ์จีนีที่ไม่สูง ความสามัคคีก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากเพราะประชาชนย่อมไม่ก่ออาชญากรรมหรือประท้วงก่อจลาจลเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อความยากจนหรือการที่รัฐปฏิบัติต่อพวกเขาไม่เท่าเทียมกับนายทุน แน่นอนว่าดัชนีจีนีย่อมสามารถเชื่อมโยงไปยังดัชนีความล้มเหลวของรัฐ (Failed state index) ซึ่งเป็นตัววัดความเข้มแข็งของรัฐต่างๆ ในโลก (4)

     
จากดัชนีความล้มเหลวของรัฐ ประเทศที่อยู่ในขั้นยั่งยืนอย่างมาก (very sustainable)  คือฟินแลนด์ ไม่ได้มีสถิติหรือชื่อเสียงด้านกีฬาอะไรที่โดดเด่นมากนักเช่นเดียวกับประเทศที่จัดได้ว่ายั่งยืน (sustainable) ไม่ว่าสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ แม้ว่าในกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2012  (5) ประเทศเหล่านั้นจะอยู่ในอันดับสูงแต่จำนวนเหรียญทองไม่มากนักถ้าเทียบกับประเทศที่มีชื่อเสียงและสถิติทางกีฬาในขั้นดีเลิศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ ฯลฯ ซึ่งถูกจัดว่ามีเสถียรภาพอย่างมาก (very stable) แต่ก็เป็นระดับขั้นที่ถือว่าด้อยกว่าภาวะยั่งยืน ซึ่งน่าสนใจว่า 3 ประเทศหลังนี้มีลัทธิชาตินิยมที่สูงและผูกติดกีฬากับการเสริมสร้างลัทธิชาตินิยม  แต่เพราะมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องอย่างเช่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วในเกือบทุกด้านโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม

     
อย่างไรก็ตามก็มีประเทศเจ้าปัญหาที่เราต้องมาถกเถียงกันในที่นี้เช่นจีนที่มักได้เหรียญทองโอลิมปิกอันดับสูงๆ เช่นได้อันดับ 2 เมื่อปี 2012 และยังเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2008 ที่อลังการและยิ่งใหญ่กว่าอังกฤษเมื่อปี 2012 (แต่ได้เข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2002)  จีนนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีมวลผลิตภัณฑ์รวมที่มากกว่าสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ กระนั้นดัชนีของความล้มเหลวของรัฐอยู่ในอันดับที่ 68 ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับสูง คืออยู่ในระดับการเตือนขั้นสูง และสัมประสิทธิ์จีนีอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนักคืออันดับที่ 91 มีความแตกต่างระหว่างชนชั้นอย่างสูง แม้ว่าจีนจะหยิบฉวยกีฬามาเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิชาตินิยมจากสถิติอันสวยหรูดังกล่าว นอกจากนี้นักกีฬาจีนที่ไปทำชื่อเสียงให้กับประเทศในต่างแดนมากมายดังเช่นเหยา หมิง หลี่ นา ไมเคิล ชาง ฯลฯ ก็ได้ถูกรัฐบาลนำเอาเอามาช่วยโฆษณาตัวเองอยู่บ่อยครั้ง กระนั้นรัฐบาลจีนก็ยังพบกับความเปราะบางของความถูกต้องชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์อันทำให้สี จิ้นผิงต้องกวาดล้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ฉ้อราษฎรบังหลวงในปัจจุบันเช่นเดียวกับการรับมือกับการประท้วงและการก่อความวุ่นวายโดยชาวจีนเป็นจำนวนแสนๆ ครั้งต่อปี  ความขัดแย้งระหว่างชนชาติก็มีส่วนสำคัญต่อเรื่องความสามัคคีของจีนอีกเช่นกันดังเช่นชาวอูยกูร์และชาวทิเบตซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านั้นย่อมไม่ได้รู้สึกภูมิใจหรืออยากจะอยู่กับจีนยิ่งขึ้น แม้ว่าจีนจะคว้าเหรียญทองได้มากที่สุดในกีฬาโอลิมปิกหรือได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก เพราะจีนที่มีศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงปักกิ่งคือตัวแทนของชาวฮั่น

          
นอกจากนี้ผู้เขียนยังขอยกตัวอย่างถึงประเทศที่มีความสับสนในตัวเองได้แก่ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่ามีแสนยานุภาพทางกีฬา ผูกขาดเหรียญทองโอลิมปิกเกือบทุกครั้ง ฟุตบอลโลกแม้จะไม่เก่งเท่าบราซิลหรือเยอรมันก็แต่ก็สามารถเข้ารอบสุดท้ายได้บ่อยครั้ง นอกจากนี้คนอเมริกันยังสามารถโยงกีฬาเข้ากับลัทธิชาตินิยมอันดูเหมือนทำให้คนอเมริกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่นก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะทำสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 นั้นในการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล ผู้ชมมีการแขวนธงชาติและร้องเพลงชาติพร้อมกับตะโกนว่ายูเอสเอพร้อมกันอย่างบ้าคลั่ง  คนอเมริกันมีความภูมิใจในอเมริกันฟุตบอลและบาสเกตบอลว่าเป็นมรดกที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก   แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีดัชนีต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วอยู่ในเกณฑ์สูงแต่สหรัฐฯ ก็ประสบปัญหาในด้านความสามัคคีไม่น้อยแม้แต่ระดับการเมืองซึ่งส่งผลต่อความเห็นที่ขัดแย้งระหว่างพลเมืองอเมริกันเป็นระลอกๆ เช่นนโยบายประกันสุขภาพของบารัก โอบามา รวมไปถึงความขัดแย้งหรืออคติทางเชื้อชาติซึ่งปรากฏตัวออกมาในปัจจุบันอย่างเช่นการประท้วงต่อการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนผิวดำหลายรายซึ่งผู้ประท้วงเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจอันเกินกว่าเหตุเพราะอคติที่มีต่อคนผิวดำ แม้นักกีฬาผิวดำก็ได้ช่วยให้ทีมชาติสหรัฐฯ คว้าเหรียญจำนวนมากในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาก็ตาม

      
สำหรับไทยนั้นถูกจัดในดัชนีการเป็นประเทศล้มเหลวในอันดับที่ 80 หรืออยู่ในช่วงการเตือนขั้นสูง ไทยยังมีสัมประสิทธิ์จีนีอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนักคืออันดับที่ 89  ซึ่งก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าการได้แชมป์ซูซูกิแล้วจะทำให้ดัชนีเหล่านั้นของไทยดีขึ้นไม่ว่าในระยะสั้นหรือระยะยาวหากรัฐบาลยังคงวางนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่มีความแตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนนัก (6) บรรยากาศทางการเมืองที่เต็มไปด้วยกระแสอนุรักษ์นิยมและการกดขี่เสรีภาพการแสดงออกซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากรู้สึกแปลกแยกและเกลียดชังทุกอย่างที่รัฐยกย่องดังเช่นฟุตบอลซึ่งหลายคนอาจมองในแง่ร้ายว่าเป็นแผนของรัฐบาลและผู้ฝักใฝ่รัฐบาลในการนำเอาฟุตบอลมาผูกกับลัทธิชาตินิยมเพื่อหลอกให้ตนต้องสยบยอม ทั้งที่ใครหลายคนอาจจะแสดงการชื่นชอบและสนับสนุนฟุตบอลอย่างจริงใจ

     
นอกจากนี้แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปซึ่งอาจจะไม่ได้เดือดร้อนกับการทำรัฐประหารตั้งแต่ต้น ดังเช่นผู้อาศัยอยู่ในป่าที่กำลังจะถูกขับไล่จากรัฐบาลอาจจะมีความสุขจากการเชียร์ทีมชาติไทย แต่ไม่นานพวกเขาก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นจริงที่ว่าบ้านของพวกเขากำลังจะถูกรื้อ หรือการได้แชมป์ถ้วยซูซูกิก็ไม่ได้ทำให้แม่น้ำที่ชุมชนหลายแห่งพึ่งพิงปลอดจากของเสียหรือสารพิษที่โรงงานปล่อยลงไปในพลัน  ดังนั้นต่อให้ไทยได้แชมป์ฟุตบอลโลกก็คงจะช่วยให้เกิดความสามัคคีแบบเสมือนจริง (Virtual solidarity) คือเกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราวและฉาบฉวย ไปดังตัวอย่างเช่นบราซิลซึ่งยังคงความขัดแย้งในเรื่องชนชั้นและสีผิวอย่างมากจนมาถึงปัจจุบัน  

     
ดังนั้นเราจึงบอกได้ว่ากีฬาไม่ได้เป็นตัวแปรหลักของความสามัคคีและไม่ได้เป็นกุญแจนำไปสู่ความสามัคคีที่แท้จริง ความสามัคคีเกิดจากปัจจัยอื่นๆ  เช่นความเข้มแข็งของประเทศ การไม่เหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยังควรรวมถึงดัชนีอื่นๆ เช่นดัชนีการพัฒนามนุษย์ ความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐและที่สำคัญคือความรู้สึกเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างของผู้อื่นและความเท่าเทียมกันทางสังคมและเชื้อชาติซึ่งเป็นคุณสมบัติของประชาธิปไตยเสรีนิยม

      
หากเรามองในมิติการเมืองระหว่างประเทศ ธรรมชาติของกีฬานั้นมีความขัดแย้งในตัวเองโดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศต่างๆ ในโลกดังเช่นฟุตบอลโลกหรือกีฬาโอลิมปิกเป็นภาพสะท้อนของความต้องการของความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวโลกดังความคิดความฝันของคนก่อตั้งและการโฆษณาขององค์กรที่รับผิดชอบ ไปในขณะเดียวกันก็ตอกย้ำความรู้สึกเป็นชาติตนไปเรื่อยๆ ให้กับประชาชนเหมือนกับการทำสงครามที่มีผลให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็น "พวกเรา" และ "พวกเขา" เช่นเดียวกับสงคราม   ความขัดแย้งหรือการแข่งขันระหว่างรัฐประเภทอื่นๆ แต่กีฬาดีกว่าสงครามในอดีตเพราะไม่ต้องสูญเสียอะไรนัก แต่ความรู้สึกที่ได้เหมือนกับสงคราม ราวกับเป็น Virtual war หรือสงครามจำลองที่สามารถผลิตซ้ำความรู้สึกว่าตนนั้นเป็นชาติพิเศษ (Exceptionalism) ไปพร้อมๆ กับความรู้สึกว่าประเทศอื่นนั้นด้อยกว่าคืออย่างน้อยที่สุดก็คือกีฬาชนิดนั้นที่แพ้ต่อตน   ตัวอย่างที่โดดเด่นได้แก่การที่      ฮิตเลอร์ได้จัดงานโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินในปี 1936 เพื่อโฆษณาชวนเชื่อความยิ่งใหญ่ของเยอรมันและชนเผ่าอารยัน  การจัดกีฬาโอลิมปิกในปี 1980 ของสหภาพโซเวียตเพื่อแสดงแสนยานุภาพของมหาอำนาจค่ายคอมมิวนิสต์ (แต่ก็น่าสนใจว่าอีก1 ทศวรรษต่อมาสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคมที่สะสมกันมาในทศวรรษที่ 80) เช่นเดียวกับการครองเหรียญทองมากที่สุดของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวตอกย้ำว่าสหรัฐฯ เป็นเจ้าโลกอยู่เสมอในยุคที่สหรัฐฯ กำลังเสื่อมอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจแต่อย่างน้อยที่สุดก็ในโลกกีฬา

       
ดังนั้นกีฬาจึงเป็นพิธีกรรมของลัทธิชาตินิยมที่ทรงพลังได้ไม่แพ้สื่ออื่นๆ ไม่ว่าเพลง ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ  และอาจจะเหนือกว่าในแง่ที่ว่าสามารถทำให้ประชาชนเกิดความตื่นเต้นจากการลุ้นผลของกีฬาเหมือนกับผลของสงคราม และที่สำคัญประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกีฬาได้โดยการเป็นผู้ชมและกีฬาอย่างเช่นฟุตบอลได้เปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่จนสามารถมีอิทธิพลต่อการแข่งขันกีฬา เช่นร้องเพลงปลุกใจทีมตัวเองในขณะเดียวกันก็ทำลายขวัญหรือกำลังใจของคู่แข่งรวมไปถึงกรรมการจนราวกับว่าเป็นผู้เล่นคนที่ 12 เสียเอง แน่นอนว่าผู้ชมต้องมีการละเล่นหรือประกอบพิธีกรรมในการแสดงความภักดีต่อชาติตัวเองอันส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักเตะและทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศไม่มากก็น้อย  อาจจะอยู่ในภาวะที่พอรับกันได้ในกรณีที่ทั้ง 2 ประเทศไม่ขัดแย้งกันมาก่อนจนไปถึงการเพิ่มความปรปักษ์ของทั้งคู่ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากกรณีความขัดแย้งอื่น

   
ในขณะเดียวกันการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักกีฬาระหว่าง 2 ทีมก็ไม่ได้มีอะไรนอกจากการแข่งขันกันเช่นการกอดกันหรือจับมือกันในช่วงก่อนหรือหลังเล่นกีฬา ยกเว้นว่าพวกเขาจะเคยเล่นกีฬาด้วยกันอย่างเช่น นักฟุตบอลต่างชาติที่ไปเล่นทีมเดียวกันในพรีเมียร์ลีกหรือกัลโชซีรีย์อา  แต่รายการข่าวในโทรทัศน์ย่อมนำภาพเหล่านั้นมาตัดต่อเพื่อเน้นย้ำมิตรภาพและความเป็นมิตรระหว่างสองคน สองทีมและสองชาติ ซึ่งก็ไม่ได้บอกความเป็นจริงอะไรได้นักนอกจากภาพฝันๆ  ของการเป็นมิตรระหว่าง 2 ชาติ แต่แท้ที่จริงอิงอยู่กับลัทธิชาตินิยมที่พร้อมสร้างปัญหาหากปัจจัยเอื้ออำนวยในอนาคต   ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ทีมของ 2 ชาติที่ไม่ถูกกันมาแข่งขันอย่างเช่นอาเซอร์ไบจันและอาร์เมเนีย ทั้งผู้ชมและนักฟุตบอลต่างก็มีส่วนที่ทำให้การแข่งขันล่มกลางคันจนเป็นเรื่องปวดหัวของผู้จัดการแข่งขันอย่างยิ่ง

      
บางคนคิดว่ากีฬานั้นจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขึ้นมาได้ เพราะเข้าใจว่านอกจากจะทำให้ประเทศต่างๆ เป็นมิตรกันแล้วกีฬาเป็นการระเหิด (Sublimation) ของสงครามที่ว่ารัฐจะสามารถแปรงสันดานดิบคือความก้าวร้าวจากการรุกรานและการสู้รับกับรัฐอื่นมาเป็นกีฬา ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ปฏิเสธอาจจะมีส่วนอยู่บ้าง แต่ด้วยอิทธิพลอันล้นพ้นของลัทธิชาตินิยมก็ส่งผลให้กีฬาสามารถกลายเป็นเครื่องประดับหรือช่วยเร่งเร้าประชาชนให้สนับสนุนการทำสงครามและความขัดแย้งอย่างเช่นตัวอย่างข้างบนว่าอีกไม่กี่ปีต่อมาฮิตเลอร์ก็สั่งกองทัพบุกโปแลนด์อันเป็นการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2  สหภาพโซเวียตจัดงานโอลิมปิก 1 ปีให้หลังการบุกเข้ายึดอัฟกานิสถาน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นพิธีกรรมที่ช่วยให้ประชาชนเกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันอันจะเอื้อต่อนโยบายสงครามของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ไปในตัว แต่โซเวียตกลับถูกการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและโลกเสรีอันเป็นการนำไปสู่ความตึงเครียดอีกระลอกระหว่างสองมหาอำนาจ ในยุคของโรนัลด์ เรแกน หรือสหรัฐอเมริกาเองในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ทำสงครามหรือเข้าไปแทรกแซงประเทศอยู่ไม่ขาด อันสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯนั้นต้องการครอบงำโลกทั้งอำนาจด้านทหาร (Hard power) และอำนาจด้านศักดิ์ศรีอย่างเช่นกีฬา (Soft power)

     
กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า กีฬาสามารถเป็นทูตสันถวไมตรีได้ในระดับหนึ่ง หากรัฐตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้นดังเช่นกีฬาปิงปองการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในปี 1971 อันเป็นการปูทางไปสู่การเชื่อมความสัมพันธ์ของสองประเทศในเวลาต่อมา แต่โดยมากกีฬาก็ไม่ได้ช่วยให้คนของรัฐเข้าใจรัฐอื่นได้มากเท่าไรนักนอกจากข้อมูลแบบฉาบฉวยและภาพสวยๆ หรือแหล่งท่องเที่ยวของประเทศเจ้าภาพที่จัดกีฬา ดังนั้นความคิดของใครหลายคนที่ว่ากีฬาอาเซียนจะมีส่วนทำให้คนอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นเป็นเรื่องน่าตลก อยู่ลืมว่ากีฬาอาเซียนนั้นมีมาไม่รู้กี่ทศวรรษ แต่ต้องรอให้มีการโหมโฆษณาความเป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาคอาเซียนด้วยมีวัตถุประสงค์หลักคือการเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจเดียวกัน เราจึงเริ่มรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านเรามากขึ้นและลึกขึ้น

    
การที่ทีมฟุตบอลไทยที่ได้แชมป์ซูซูกิกลายเป็นเรื่องโด่งดังเป็นพิเศษในปัจจุบันนั้น ก็เพราะคนไทยรู้สึกว่าประเทศตนมีปัญหาเพราะความขัดแย้งภายในประเทศอันนำไปสู่ความทดถอยของการพัฒนาพร้อมกับตัวเลขของมวลผลิตภัณฑ์รวมที่ลดลงทุกปี ข่าวเกี่ยวกับความตกต่ำของความเป็นเจ้าของไทยในอาเซียนในด้านต่างๆ เริ่มทำให้เรา รู้สึกไม่แน่ใจว่าประเทศที่เราเคยมองว่าต่ำต้อยกว่าเช่นเวียดนาม  มาเลเซีย พม่าหรือแม้แต่ลาวจะสามารถแซงหน้าเราได้เหมือนกับที่นักวิชาการออกมาเตือนอยู่เป็นประจำหรือไม่ การเป็นแชมป์ก็คือการค้นพบคำตอบที่เราต้องการ แม้ว่าจะเป็นแบบประเด็นเล็ก ๆ และผิวเผินก็ตาม อันสะท้อนให้เห็นถึงอคติลึกๆ ที่เรายังคงมีต่อเพื่อนบ้านแม้ว่าเราจะไม่เคยคิดทำสงครามกับเพื่อนบ้านนอกจากกัมพูชาก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องประหลาด หากเราพิจารณาถึงแบบเรียนหรือภาพยนตร์หรือละครที่แอบสอดแทรกอคติทางเชื้อชาติและการเมืองเข้าไปซึ่งอาจจะดูแนบเนียนหน่อยในยุคที่อคติทางเชื้อชาติถูกยกขึ้นมาเป็นปัญหาสำคัญ ตัวอย่างมีมากมายนับตั้งแต่การเรียกตัวเองว่า “พี่ไทยน้องลาว”  หรือการมองชาวอินโดนีเซียว่าเป็น “มุสลิมหัวรุนแรง” หรือที่ทันสมัยและแนบเนียนกว่านั้นได้แก่ การเผยแพร่คลิปการแสดงอารมณ์ของผู้สื่อข่าวมาเลเซียต่อการแข่งขันฟุตบอลซูซูกิคัฟนัดชิงด้วยอารมณ์ขันสำหรับคนไทยแต่ไม่ใช่สำหรับคนมาเลเซีย (7)

      
นอกจากนี้ผู้เขียนยังคิดว่าประเทศต่างๆ ไม่ว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่อื่นในโลก ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อกันในมิติที่ซับซ้อน  กีฬาระหว่างชาติไม่ว่าระดับใดเป็นพิธีกรรมอันเป็นหนึ่งของกลยุทธ์ของรัฐในการคุมขังพลเมืองของตนให้อยู่ในตัวรัฐ เพื่อตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของรัฐอย่างน้อยที่สุดก็ในเชิงสัญลักษณ์ ท่ามกลางกระแสอันไหลเฉี่ยวของโลกาภิวัฒน์ที่กัดกร่อนความเป็นรัฐชาติ ในขณะเดียวกันกีฬาก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ประเทศนั้นลดคุณค่าประเทศรอบข้างให้มีความด้อยกว่าและยังช่วยตอกย้ำความเป็นคนละพวกกันอันแตกต่างจากที่ผู้จัดการแข่งขันกีฬาหรือแม้แต่ตัวรัฐเองมักโฆษณาชวนเชื่อมาก่อน

   
ทั้งที่ความจริงแล้วความเป็นคนในอุษาคเนย์นั้นอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของรัฐชาติยุคใหม่เสมอไปดังเช่นความสัมพันธ์ระหว่างคนอีสานใต้กับคนกัมพูชาหรือคน 3 จังหวัดภาคใต้กับคนมาเลเซียซึ่งมีความรู้สึกเป็นพี่น้องกันเสียยิ่งกว่าคนเหล่านั้นรู้สึกกับกับคนเหนือหรือคนกรุงเทพฯ  ดังนั้นจึงน่าจะมีคนไม่พอใจหากสมมติว่ามีคนใน 3 จังหวัดภาคใต้ (หรืออาจจะเป็นคนไทยภาคไหนก็ได้) หันมาส่งใจเชียร์ทีมมาเลเซียไม่ใช่ทีมไทย (8)  หรือแม้แต่การที่ชอบมีคนพูดบอกว่าภายในเดือนธันวาคมปีหน้านี้ เราชาวอาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็ทำให้เกิดคำถามว่า หากมีการสร้างทีมฟุตบอลตัวแทนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแข่งขันกับประเทศหรือทวีปอื่น คนไทยจะร่วมใจกันเชียร์เหมือนกับทีมชาติไทยและดีใจเป็นล้นพ้นเหมือนกับยาสารพัดประโยชน์อย่างเช่นการได้ถ้วยฟุตบอลที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทข้ามชาติสัญชาติญี่ปุ่นได้หรือไม่

      
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเราไม่รู้ว่านิยามของชาติหรือความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนเป็นอย่างไรกันแน่ แต่กีฬาเหมือนกับเป็นหนึ่งในโปรแกรมค้นหาทางอินเทอร์เน็ตที่เราสามารถหาคำตอบได้ทันทีเพียงแต่พิมพ์คำว่า "ชาติ" และคลิกลงไป  การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิชาตินิยมที่รัฐมีความปรารถนาอย่างยิ่งในการสับขาหลอกประชาชน

 

 

หมายเหตุ

(1)  สำหรับในวงวิชาการเองก็ยังมีการนำเสนอบทความหรือวิจัยเกี่ยวกับชาติอย่างมากมาย นิยามของชาติจึงมีอยู่อย่างหลากหลาย สำหรับนิยามที่เป็นที่นิยมกันมากได้แก่ ชาติ (Nation) หมายถึงการดำรงอยู่รวมกันในพื้นที่หนึ่งของคนจำนวนหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันไม่ว่ารูปร่างหน้าตา ภาษาพูด วัฒนธรรม แนวคิดทางการเมือง ฯลฯ เหมือนกัน แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันต่อได้มากมายเช่นนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้กล่าวในงานซึ่งล่มเสียกลางคันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าชาติหมายถึงการอยู่ร่วมกันของคนที่มีสำนึกถึงความเท่าเทียมกัน    กระนั้นนิยามของคำว่าชาติก็คงไม่ซับซ้อนเท่ากับคำว่ารักชาติและคำถามที่ว่า “เราจะแสดงความรักชาติอย่างไร” และยังโยงไปยังคำถามซึ่งเป็นคุณค่าทางการเมืองเช่น “ความสามัคคีคืออะไร” “ความยุติธรรมคืออะไร” “ความถูกต้องชอบธรรมคืออะไร”  อันกลายเป็นปัจจัยที่เป็นทั้งการนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ส่วนความพยายามแก้ไขปัญหาโดยใช้ทฤษฎีหรือตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวของนักวิชาการก็ไม่ประสบความสำเร็จอันเป็นเหตุให้นักวิชาการมักถูกสังคมตำหนิอยู่เป็นประจำ

(2) น่าประหลาดที่มีคนคิดว่าไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็น “เรื่องเพื่อบ้านเมือง” ซึ่งคสช.รวมไปถึงกลุ่มอำมาตย์ใช้กันจนกลายเป็นคำโหล (cliché) อันสะท้อนให้เห็นถึงความจงใจในการบิดเบือนความหมายของคำว่าการเมืองหรือ Politics โดยสื่อที่ส่วนมากที่ฝักใฝ่ต่อกลุ่มอำนาจในปัจจุบันมักจะพยายามยัดเหยียดว่าเป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องการแย่งอำนาจโดยกลุ่มทุนสามานย์ของอย่างเช่นทักษิณ  นอกจากนี้“นักการเมือง” หมายถึงลูกน้องของทักษิณที่ซื้อเสียงมาเพื่อคดโกงบ้านเมือง  ทั้งที่ความจริงแล้วกลุ่มอำนาจที่อยู่ตรงข้ามกับทักษิณก็มีพฤติกรรมที่เรียกว่า “การเมือง” หรือเป็น “นักการเมือง” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่ใช้กระสุนปืนเป็นใบเบิกทางมาสู่อำนาจแทนตัวเงินหรือคำสัญญาของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง สำหรับในบทความนี้ก็คือเรื่องของ “ความสามัคคี” อันหมายถึงการเป็นมิตรหรือการอยู่ร่วมกันด้วยไมตรีจิตแต่ไม่ว่าอย่างไรแล้วก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตกอยู่ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองชนิดใดชนิดหนึ่ง

(3) http://hdr.undp.org/en/content/income-gini-coefficient        

(4)  http://ffp.statesindex.org/rankings-2014

(5) http://en.wikipedia.org/wiki/2012_Summer_Olympics_medal_table

(6) แม้ว่าอันดับการ (ไม่) ฉ้อราษฎรบังหลวงของไทยดีขึ้นคืออันดับ 85 จาก 102 เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตการจำนำข้าวแต่ก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกความสามัคคีในชาติเพราะยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่าการเปิดโปรงและความพยายามในการดำเนินคดีรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นการกลั่นแกล้งและการเล่นงานทางการเมือง ด้วยสาเหตุสำคัญเพราะคสช.นั้นไม่เคยทำตัวโปร่งใสมาแต่ไหนแต่ไร

(7)  https://www.youtube.com/watch?v=YLmSjjiSf_Q

(8)  เป็นเรื่องน่าสนใจว่าคนไทยเคยพบกับบททดสอบหรือความขัดแย้งระหว่างของความชอบส่วนบุคคลกับความเป็นชาตินิยมมาแล้วเมื่อทีมฟุตบอลที่คนไทยชื่นชอบอย่างมากเช่นทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมลิเวอร์พูลหรือทีมชาติบราซิลเดินทางมาแข่งขันกับทีมชาติไทย ด้วยความห่างไกลเรื่องฝีมือย่อมสร้างความอิหลักอิเหลื่อให้กับกองเชียร์ชาวไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะทุกครั้งที่ทีมต่างชาติสามารถทำประตูทีมชาติไทยได้ การส่งเสียงดีใจจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ขัดแย้งกันเองคือความสุขกับความรู้สึกผิดบาปจากสำนึกความเป็นพลเมืองที่ถูกรัฐชาติปลูกฝังมาตลอดชีวิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net