Skip to main content
sharethis

ศาลยกฟ้อง ‘สุเทพและพวก’ คดีฝ่าฝืนพ.ร.บ.เลือกตั้ง แจกผ้าขนหนูงานสงกรานต์ ระบุผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ฯ ไม่ได้อยู่ในงาน จำเลยจึงไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะจูงใจให้เลือก และประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว แม้จำเลยไม่ได้ลงพื้นที่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

 

30 ธ.ค.2557 พระสุเทพ ปะภากโร หรือสุเทพ เทือกสุบรรณ และประพนธ์ นิลวัชรมณี อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จากสวนโมกข์ จำนวน 2 รูป และผู้ติดตาม ได้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลจังหวัดเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาฟังคำพิพากษาตัดสินที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 ชุมพล กาญจนะ จำเลยที่ 2 และประพนธ์ นิลวัชรมณี จำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา4, 5, 57, 118 ริบผ้าขนหนูของกลาง และสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งจำเลยทั้ง 3 เป็นระยะเวลา 10 ปี

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2551 ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายก.อบจ.สุราษฎร์ธานีและสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี รวม 30 เขตเลือกตั้ง ซึ่งอำเภอเกาะสมุยเป็นเขตเลือกตั้ง 1ใน 30 เขตเลือกตั้ง โดยกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 มี มนตรี เพชรขุ้ม  ลงสมัครนายก.อบจ. หมายเลข 1 ธานี เทือกสุบรรณ ลงสมัครนายก.อบจ.หมายเลข 2 และ สุวพัฒน์ สมหวัง ลงสมัครสมาชิกอบจ.หมายเลข 1 สุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิกอบจ.หมายเลข 2 ในเขตอำเภอเกาะสมุย

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2551 ทางเทศบาลตำบลเกาะสมุยจัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้น ในงานดังกล่าวทางจำเลยทั้ง 3 ที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาร่วมงาน และเฉพาะจำเลยที่ 1 ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรประชาธิปัตย์และพี่ชายของธานี โดยมีสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงาน โดยจำเลยทั้ง 3 นำผ้าขนหนูที่ปักอักษรว่า พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.ชุมพล กาญจนะ ส.ส.ประพนธ์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุเทพ เทือกสุบรรณ มามอบให้แก่ผู้สูงอายุที่มาร่วมงานประเพณีรดนำดำหัว

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 มนตรี เพชรขุ้ม ผู้สมัครนายก.อบจ. และสุวพัฒน์ สมหวัง ผู้สมัครสมาชิกอบจ.เขตเกาะสมุย ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 ว่าการที่จำเลยทั้ง 3 และสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์และมอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้น ถือว่าเป็นการให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน อันอาจคำนวนเป็นเงินให้กับผู้สูงอายุ เพื่อจูงใจให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้กับนายธานี และสุริญญา ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นพี่ชายของธานีอีกด้วย

ต่อมาทางกกต.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามพรบ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2545 ต่อมาศาลอุทรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้เพิ่งถอนสิทธิ์การเลือกตั้งสุริญญา ยืนนาน เป็นเวลา 5 ปี และให้มีการเลือกตั้งนายก.อบจ.และสมาชิกอบจ.เขตเกาะสมุยใหม่ ซึ่งคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่เฉพาะส่วนที่จำเลยทั้ง3 มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยทั้ง 3 มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้สูงอายุนั้นน่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับสุริญญา ส่วนการที่จำเลยทั้ง3มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุที่มีการปักข้อความว่าพรรคประชาธิปัตย์และจำเลยที่ 1 สวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตน์ที่อาจจะสื่อความหมายในทำนองว่าให้สนับสนุนสุริญญาผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์นั้นทางอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต.สุราษฎร์ธานี เบิกความตอบโจทก์ว่าการที่สุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิกอบจ.สุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุยนั้น นายสุริญญา ไม่มีหนังสือรับรองจากพรรคประชาธิปัตย์ และทางปลัดอบจ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้รับแจ้งว่านายสุริญญา ก็ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองเป็นเวลา 30 ปี จำเลยที่ 1 ก็สวมเสื้อที่มีข้อความ หรือสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

และตามที่บุคคลทั้งสามได้มาร่วมงานประเพณีวันสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุยในขณะนั้น ศาลจังหวัดเกาะสมุย เห็นควรให้ยกฟ้อง เนื่องจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ประพนธ์ นิลวัชรมณี และชุมพล กาญจนะ ได้เข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุย จากการเชิญเข้าร่วมงานรดน้ำ และได้มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้นพบว่า ธานี เทือกสุบรรณ ที่ลงสมัครในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสุริญญา ยืนนาน ผู้ลงสมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย ไม่ได้อยู่ในพิธีในขณะนั้น เนื่องจากได้เดินทางไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่บ้านใต้ ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย ทำให้การเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ของทั้ง 3 คน ไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะเป็นการจูงใจให้ผู้สูงอายุเลือก สุริญญา ยืนนาน และธานี เทือกสุบรรณ บุคคลทั้งสองแต่อย่างใด เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสมาชิกองค์บริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลการเลือกตั้งประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้สุเทพ เทือกสุบรรณ ประพนธ์ นิลวัชรมณี และชุมพล กาญจนะ ถึงแม้บุคคลทั้ง 3 ไม่ได้ลงพื้นที่ก็ตาม คะแนนการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังนำคู่แข่งในทุกเขตเลือกตั้ง จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้ง 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/2 ส่วนผ้าขนหนูของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินของกลางที่จำเลยได้ใช้กระทำความผิด จึงมีคำสั่งให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ศาลจังหวัดเกาะสมุย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน

 

เรียบเรียงจาก : ASTVผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net