Skip to main content
sharethis
นายกฯ ตั้ง กก.นโยบายค้ามนุษย์ กำหนดทำให้ได้ 1 ปี 
 
(24 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติไทย - สหรัฐอเมริกา ว่า เรื่องการค้ามนุษย์เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องเร่งแก้ไขดำเนินการตั้งแต่ต้นปี โดยต้องมีการบูรณาการงานทุกอย่างให้ได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เพราะมีผลกระทบทั้งเรื่องการค้าการลงทุน และเรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้คือการจดทะเบียนแรงงาน ซึ่งประเทศเวียดนามได้ขอให้ไทยจดทะเบียนแรงงานประเทศเขาด้วย โดยเขาพร้อมแลกเปลี่ยนกับประเทศไทย โดยแรงงานต่างชาติทั้งหมดเราจะดูแลให้เหมือนดูแลคนไทย เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนรวมถึงการดูแลการใช้แรงงานทั้งบนบกและทะเล การขึ้นทะเบียนเรือประมง ซึ่งต้องดูว่ามีการใช้แรงงานเด็กและสตรีหรือไม่ ซึ่งวันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะการค้าขายของเราขึ้นอยู่กับการยอมรับของต่างประเทศ และพันธสัญญากฎกติกาต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น และเราถูกยกระดับให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางแล้ว ฉะนั้น สิทธิประโยชน์และภาษีต่างๆ จะลดลง เราต้องเสียภาษีมากขึ้นขณะที่ต้นทุนเราสูงและสินค้าของเราต้องมีการรับรองคุณภาพให้มีมาตรฐาน โดยการประชุมในวันนี้ตนได้มีการปรับทั้งหมดให้การทำงานประสานสอดคล้องและให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการทั้งหมด เพราะมีความเกี่ยวพันทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ ความมั่นคง สังคม จิตวิทยา รวมถึงเรื่องกฎหมาย
       
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการค้ามนุษย์และการประมงที่ผิดกฎหมาย ขึ้นมาโดยมีตนเป็นประธาน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีก 5 คณะ แต่ยังไม่มีชื่อเป็นทางการให้ไปตั้งชื่อมา คณะที่ 1 จะทำหน้าที่รับผิดชอบปราบปรามการค้ามนุษย์ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน คณะที่ 2 ทำหน้าที่ดูแลแรงงานเด็ก แรงงานต่างด้าว และแรงงานภาคบังคับโดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงานเป็นประธาน คณะที่ 3 ทำหน้าที่ดูแลสตรี มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน คณะที่ 4 ทำหน้าที่ดูแลประมงและไอยูยู โดยมี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและคณะที่ 5 ทำหน้าที่ดูแลเรื่องกฎหมายและการประชาสัมพันธ์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อติดตามคดีความเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์และประชาสัมพันธ์ให้ต่างประเทศได้เข้าใจต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ทั้งนี้คณะอนุกรรมการดังกล่าวให้มีตัวแทน คสช. มาร่วมด้วย เนื่องจากมีกฎหมายบางเรื่อง ที่กฎหมายปกติทำไม่ได้เพราะอาจจะมีการต่อต้าน และรุนแรงเกินไปจึงต้องให้ คสช. เข้ามาช่วย รวมถึงเรื่องกำลังพลที่ประสานกับ คสช. ด้วยโดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดทั้งระยะ 1 เดือน 3 เดือน และ 1 ปีจะต้องนำมารายงานในวันที่ 7 ม.ค. 58 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดให้ทำให้ได้ภายใน 1 ปี
       
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่าประเทศไทย ถูกลดอันดับให้อยู่เทียสองเมื่อปี 53 - 56 จากประเทศที่ไม่ได้ถูกเฝ้าระวังมาเป็นประเทศที่ถูกเฝ้าระวัง และปี 57 ถูกจัดให้มาอยู่เทีย 3 ซึ่งเขาดูว่า 4 ปีที่ผ่านมาเรามีการแก้ปัญหาอย่างไร ทุกอย่างที่เราทำมามีข้อที่ต้องระมัดระวังในระดับที่ต่ำที่สุด ที่คณะกรรมการดูว่าเราต่ำสุดแค่ไหนและได้ผ่านตรงนั้นหรือไม่ เอาโจทย์ตรงนี้มาดูทั้งหมด ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราต้องเร่งดำเนินการ ทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ ความทันสมัยของกฎหมาย หน่อยงานต่างๆมีการบูรณาการกันหรือไม่ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันก็จะแก้ได้ทั้งระบบ เราต้องแก้สิ่งที่ต่ำสุดของเทียให้ได้ทั้งหมดถ้าแก้ได้เราก็หลุด โดยหลักการหลักๆ เราต้องมีการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย การคุ้มครองผู้ประกอบการและประชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงการลงโทษดำเนินคดี ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นเราจะบูรณาการทุกอย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการที่ตั้งไปนั้นจะรายงานแผนระยะสั้นระยะยาวอย่างไร โดยจะสร้างการรับรู้ทันที
       
เมื่อถามว่าใน 3 เดือนข้างหน้า ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการประเมินอีกครั้งหากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายจะทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องไปถามคนประเมิน เรื่องเทีย เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สหรัฐฯยังไม่เพิ่มมาตรการพิเศษในการกดดันไทยยังไม่ยกเลิกโน่นนี้ก็ถือเป็นความกรุณาแล้ว เราต้องทำให้เขารับรู้สิ่งที่เราทำและขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเขาว่าเราทำได้จริงหรือไม่ ทางด้านไอยูยู ก็จะให้เราชี้แจงเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ทางทะเลว่าเราทำอะไรไปบ้าง ในเดือน ม.ค. นี้ วันนี้ต้องขอบคุณภาคเอกชนที่เดินสายชี้แจงว่าไม่มีการใช้แรงงานเหล่านี้ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่สื่อต่างประเทศไม่เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ ก็เกิดการขัดแย้งไม่ให้เข้าไปในพื้นที่บ้างอาจทำให้เกิดความไม่พอใจ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-12-2557)
 
ผู้นำแรงงานวอนรับอนุสัญญาไอแอลโอ ฉ.87, 98 ยันช่วยหนุนการเจรจา
 
(24 ธ.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเสวนา นายจ้างลูกจ้าง เอื้ออาทร ร่วมแบ่งปัน สร้างสรรค์สังคมไทย ว่า รัฐบาลอยากเห็นสังคมไทย และคนไทย มีความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งนายจ้างลูกจ้างไม่ควรแบ่งฝ่าย เพื่อให้มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในการสร้างความมั่นคงให้กับสถานประกอบการ โดยต้องเริ่มปรับทัศนคติ ให้มองเชิงบวกมากขึ้น เพื่อสร้างจุดแข็ง และโอกาส ให้กับตนเอง รวมถึงการแก้ปัญหา ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการรวมตัวของทั้งนายจ้างและลูกจ้างให้เป็นหนึ่งเดียวในสถานประกอบการ เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน
       
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ลูกจ้างได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย เนื่องจากนายจ้างบางรายไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุด โดยยืนยันความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากลูกจ้างทั้งหมด หากนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย จัดสวัสดิการที่ดี ก็จะได้รับความจริงใจจากลูกจ้างในการทำงานและรักในองค์กร ขณะเดียวกัน นายจ้างบางรายยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับลูกจ้าง เพราะมองลูกจ้างเป็นเพียงคนทำงานเท่านั้น ทั้งนี้ สิทธิการรวมตัว และเจรจาต่อรองเกิดขึ้นได้ยาก เพราะนายจ้างไม่ยอมรับสหภาพแรงงาน จึงขอให้ส่งเสริมการรวมตัวและเจรจาต่อรอง โดยการรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรอง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของลูกจ้าง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-12-2557)
 
องค์การลูกจ้างฯ เรียกร้องนายจ้าง หยุดกีดกันตั้งสหภาพแรงงาน
 
(24 ธ.ค.) นายชิณโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายจ้างและลูกจ้าง ต้องอยู่ร่วมกันโดยนึกถึงอนาคต ในการนำระบบแรงงานสัมพันธ์ และระบบคุณธรรม ไปใช้ในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น มีผลกำไร และผลตอบแทนที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุน มีนักลงทุนมาลงทุนในไทยมากขึ้น แต่หากมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานจนเกิดการชุมนุม จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุน จึงอยากให้นายจ้างเลิกกีดกันการจัดตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ เพราะสหภาพแรงงาน คือ กลไกที่ดีในการผลิตของโรงงาน หากเกิดข้อพิพาท และทั้งสองฝ่ายไม่หาความพอดีร่วมกัน สุดท้ายแล้วลูกจ้างก็จะเป็นผู้แพ้ในการเรียกร้อง เพราะหลายปัจจัย เช่น กฎหมาย และกำลังทรัพย์ในการต่อสู้ นอกจากนี้สภาพปัญหาแท้จริงของลูกจ้างไทยในปัจจุบันมีปัญหามากมาย อนาคตไม่ค่อยมั่นคง โดยเฉพาะการจ้างลูกจ้างซับคอนแทรคที่มีอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เปรียบเสมือนการค้ามนุษย์ เพราะระบบการทำงานที่ไม่ถาวร และขาดความมั่นคง
       
นายสุวรรณ สุขประเสริฐ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของสหภาพแรงงาน เนื่องจากนายจ้างที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ซึ่งนายจ้างลูกจ้างไม่ควรเป็นคู่แข่งกัน เพราะการปฏิบัติงานต้องพึ่งพาอาศัยกัน ยืนยัน สภาองค์การนายจ้างฯพยายามผลักดันให้นำลูกจ้างซับคอนแทร็กมาเป็นลูกจ้างประจำ เพื่อให้มีการคำนวณค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ สะดวกขึ้น นายจ้างต้องช่วยกันหันมาจ้างแรงงานไทยมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ มองว่าการจ่ายเงินโบนัส ควรมีการเปิดใจพูดคุยกันทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้นปี เพื่อป้องกันเกิดปัญหาการยื่นข้อเรียกร้องในช่วงสิ้นปี ส่วนสาเหตุการทำงานล่วงเวลา แต่ไม่มีผลกำไรนั้น เนื่องจากนายจ้างต้องเร่งผลิตสินค้าให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด แนะนำลูกจ้างและคนหางานอย่าเลือกงาน ขณะเดียวกัน เชื่อว่านายจ้างยอมจ่ายค่าจ้างสูงกว่า 300 บาท ให้กับแรงงานไทย เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ มากกว่าการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ต้องใช้เวลาในการสื่อสารและการเรียนรู้งาน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-12-2557)
 
ถามโบนัสจนถูกบีบออก ลูกจ้างรวมตัวร้องรับกลับเข้าทำงาน
 
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่พนักงานบริษัท ฮายาชิ เทเลมปุ (ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เข้าพบเพื่อขอให้ช่วยเจรจากับนายจ้างให้รับกลับเข้าทำงาน ว่า จากการสอบถามข้อมูลลูกจ้างแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา เวลาหลังเลิกงาน ลูกจ้างจำนวนกว่า 300 คน ได้รวมตัวกันด้านหน้าโรงงานเพื่อสอบถามถึงเงินโบนัสประจำปี เนื่องจากยังไม่มีการประกาศว่าจะจ่ายในอัตราเท่าใดและเมื่อไร จากนั้นได้แยกย้ายเดินทางกลับ ถัดมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างจำนวน 74 คนเข้าทำงาน และยื่นเงื่อนไขให้เขียนใบลาออก โดยจะจ่ายค่าจ้าง เงินโบนัส 4 เดือน เงินพิเศษอีก 15,000 บาท หากไม่เขียนจะเลิกจ้างโดยอ้างเหตุกระทำความผิดฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท ซึ่งมีลูกจ้างยอมเขียนใบลาออกจำนวน 70 คน อีก 4 คน ขอใช้สิทธิตามกฎหมาย
       
“ลูกจ้างที่ยอมเขียนใบลาออกส่วนใหญ่กลัวว่าจะถูกเลิกจ้างตามที่นายจ้างแจ้งและไม่ได้ค่าตอบแทน มองว่าต้องมีการพูดคุยรายละเอียดดังกล่าวกับนายจ้างอีกครั้ง เนื่องจากเท่าที่ทางลูกจ้างเล่า การรวมตัวดังกล่าวเป็นการกระทำหลังเลิกงาน และเป็นเวลาที่สถานประกอบการปิดประตูเข้าออกแล้ว จึงไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นการทำให้นายจ้างเกิดความเสียหาย” รองอธิบดี กสร. กล่าว
       
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เข้าไปพบกับนายจ้างแล้ว และวันนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปเจรจาอีกครั้ง เพื่อขอให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน เนื่องจากส่วนใหญ่มีอายุงานกว่า 10 ปี ทั้งนี้ มองว่า การเจรจากับนายจ้างต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่จะพยายามเจรจาหาข้อยุติให้ได้ก่อนเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานเดินทางกลับบ้านอย่างสบายใจ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-12-2557)
 
สภาอุตฯ ร้องรัฐบาล ดูแล จี้ ลดค่าไฟ-ต้นทุนขนส่ง เหตุน้ำมันโลกลด
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากนั้น รัฐบาลควรจะควบคุมดูแลราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าบริการต่างๆ ให้มีความเป็นธรรม โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ควรจะลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (เอฟที) ลงอีกประมาณ 20 สตางค์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้มาก รวมทั้งควรจะปรับลดค่าขนส่งและค่าโดยสารลงอย่างน้อย 15-20% เพื่อให้สอดคล้องกับราคา น้ำมันที่ลดลง 50% เพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายให้กับประชาชน
 
"ตามกระแสข่าวที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังคงาน (กกพ.) จะลดค่าเอฟทีเพียง 5-10 สตางค์ หรือคิดเป็น 3% และค่าโดยสารที่คาดว่าจะลดเพียง 2 สตางค์ต่อกิโลเมตร มองว่าเป็นอัตราที่ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่ลดลงถึง 50% ซึ่งรัฐบาลควรจะเข้าไปดูแลการปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีวามเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" นาย สุพันธุ์กล่าว
 
นายสุพันธุ์กล่าวว่า สำหรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนดำเนินการช้าเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากและไม่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทำให้ต้องชะลอการลงทุนออกไปจนกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีความชัดเจน ซึ่งมองว่าควรจะตั้งให้ได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2558 โดยภาพรวมของการ ส่งออกในปี 2558 มองว่าน่าจะขยายตัว 3.5-4% ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐตั้งไว้ที่ 4% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.5 ในเดือนตุลาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.1 เพิ่มขึ้นจาก 105.6 ในเดือน ตุลาคม
 
(มติชน, 25-12-2557)
 
เจ้าสัวธนินท์ปิ๊งไอเดียกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงินพนักงานช็อปปิ้ง
 
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กล่าวในการร่วมเปิดงานการลดราคาจำหน่ายสินค้าเป็นของขวัญให้ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ “เทใจ คืนสุข สู่ประชาชน” ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้เสนอแนว ความคิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ทุกบริษัทแจกเงินพนักงานแล้วนำยอดวงเงินที่แจกมาหักลดภาษีได้ เพื่อให้พนักงานนำเงินที่ได้รับแจกไปใช้จ่ายซื้อสินค้า โดยบริษัทไม่ต้องไปซื้อของหรือจัดงานให้พนักงาน ทำให้พนักงานมีความคิด มีอิสระในการตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งจะช่วยให้การซื้อขายสินค้ามีความคึกคักกว่านี้อีก
 
“ทุกวันนี้คนไม่กล้าจับจ่าย ถ้าให้เงินคนมีรายได้น้อย รู้ไหมเขาจะหมุนเงินใช้อีก 10 รอบ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เขาจะซื้อของกิน ของใช้ ของที่ผลิตในประเทศ ไม่มีทางซื้อหลุยส์ วิตตอง กระเป๋าแพงๆ หรอก แต่ถ้าเงินไปตกที่คนมีเงินอยู่แล้ว คนที่มีพร้อมทุกอย่างก็เอาเงินเข้าธนาคาร ก็ไม่เกิดการหมุนเงิน เมื่อคนมีรายได้น้อย ต้องทำให้มีรายได้มากขึ้น ซีพีก็ได้ประโยชน์ อย่านึกว่า เขามาจับจ่ายผมก็มีรายได้ เพราะถ้าเขายากจน ซีพีก็อยู่ไม่ได้เหมือนกันนะ อย่าเข้าใจผิดมีคนถามว่า นี่ผมรักเมืองไทยหรือไม่ ผมบอกเลย ผมรักเมืองไทยมากกว่าคนอื่น รักไม่แพ้คนอื่น ถ้าเมืองไทยมีปัญหาผมจะเสียหายหนัก ผมก็ต้องรักเต็มที่ ผมจึงอยากจะให้ยกระดับคนมีรายได้น้อยให้ดีขึ้น ให้ถูกต้อง ไม่ใช่เงินกระจุกอยู่กับคนร่ำรวยจำนวนไม่มาก”
 
สำหรับการจัดงานลดราคาสินค้าครั้งนี้จะมีเงินสะพัด 50,000 ล้านบาท และอาจเพิ่มเป็น 500,000 ล้านบาท หากเงินไปถึงคนมีรายได้น้อยเพราะจะมีรอบการหมุนของเงินถึง 10 รอบ ทำให้โรงงานผลิตของขายได้ด้วย รัฐบาลคือ ผู้ที่ประชาสัมพันธ์กระจายสินค้าไประดับล่าง แม้สุดท้ายเอกชนอาจจะเสียบ้าง แต่เสียเพียงชั่วคราว ระยะยาวจะเป็นประโยชน์ในระดับกว้าง ดังนั้น ต่อไปต้องมาวางแผนกันให้คนข้างล่างยั่งยืนขึ้น
 
นายธนินท์ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจโลกขณะนี้ด้วยว่า เศรษฐกิจเอเชียสะเทือนเพียงเล็กน้อย อย่างไทยก็ขายของในประเทศเอเชียด้วยกันกว่า 50% สมัยก่อนไทยต้องพึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรปเกินกว่า 50% แต่วันนี้เราพึ่งอเมริกา ยุโรปไม่เกิน 20% อีก 30% ขายให้ทั้งรัสเซีย ประเทศตะวันตก ตะวันออก ดังนั้น จึงต้องวางแผนสู่ตลาดเอเชียสำหรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของรัฐบาลนั้น ทางซีพีต้องการไปลงทุนอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และที่ อ.แม่สอด จ.ตาก
 
ขณะที่นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้นำเครื่องดื่มโออิชิทุกประเภท และเครื่องดื่มเอส ขนาด 1 ลิตร และ 1.6 ลิตร มาร่วมโครงการกับรัฐบาล โดยราคาลดลง 30-50% จัดจำหน่ายผ่านทางห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่ละแห่งไม่เท่ากัน จำนวนกว่า 100,000 ลัง ซึ่งเพียงพอที่จะจำหน่ายในช่วง 7 วันอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดโครงการลดราคาจำหน่ายสินค้าครั้งนี้ของรัฐบาล จะช่วยสร้างบรรยากาศให้ประชาชนกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเป็นผลทางด้านจิตใจ ซึ่งบริษัทไม่ได้คาดหวังว่ายอดขายจะเติบโตมหาศาล ขณะเดียวกัน บริษัทจะใช้โอกาสนี้ในการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของบริษัทให้ประชาชนได้ทดลองชิมด้วย ถือเป็นผลทางการตลาดอย่างหนึ่ง
 
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีให้มีความคึกคัก โดยผู้ประกอบการ ได้ร่วมมือกันขายสินค้าในราคาทุนไม่คิดเอากำไร เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ และคาดว่าจะมีการจัดงานลักษณะเดียวกันนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2558
 
(ไทยรัฐ, 25-12-2557)
 
พนักงานผลิตแว่นตาดังชุมนุมปิดถนนสุขุมวิท 3 เลนประท้วงขอโบนัสเพิ่มทหารขู่จับแกนนำ
 
25 ธ.ค. 2557 กลุ่มพนักงานบริษัทผลิตแว่นตาชื่อดัง ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เกือบ 500 คน รวมตัวชุมนุมเรียกร้องเพื่อขอโบนัสเพิ่ม แต่ไม่ได้ตามข้อตกลง จึงออกมาปิดถนนสุขุมวิท3เลน ก่อนที่ทหารจะมาควบคุมไล่กลับเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน
 
ขณะที่แกนนำการชุมนุมขู่ว่า ถ้าไม่ได้ข้อยุติจะเดินขบวนปิดถนนไปถึงอมตะนคร ขณะที่ทหารแจ้งว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนจะจับกุมแกนนำทันที ขณะเดียวกันมีการโพสต์ภาพเหตุการณ์ชุมนุมปิดถนนดังกล่าวผ่านทางสังคมโลกออนไลน์ด้วย
 
(โพสต์ทูเดย์, 25-12-2557)
 
ก.แรงงาน เดินหน้าจัดหางานให้คนไทย ผุดวิธีคัดคนเข้าทำงานสัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอ ชี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง
 
(26 ธ.ค.) นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวภายหลังประชุมกระทรวงแรงงานว่า กระทรวงแรงงานจะเน้นการหางานให้คนไทยโดยได้เปิดดำเนินการศูนย์บริการจัดหางานในภาคใต้ไปแล้วที่จังหวัดสงขลาและจะเปิดศูนย์ฯ ที่กรุงเทพอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มกราคม นี้ โดยศูนย์ดังกล่าวจะเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้กับคนหางานและนายจ้างที่ต้องการคนงาน เช่น การสัมภาษณ์งานผ่านวีดีโอ เช่นโปรแกรมสไกป์ (Skype) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายของนายจ้างและลูกจ้างในการเดินทางมาที่ศูนย์ฯ นอกจากนี้มีการแนะนำการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยเพื่อป้องกันการถูกหลอก ซึ่งเป็นต้นเหตุการค้ามนุษย์ ทั้งนี้เป็นการให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายภายใต้คำขวัญ “บริการด้วยใจเพื่อคนไทยมีงานทำ” และเตรียมขยายศูนย์ในจังหวัดต่างๆ ต่อไป
       
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานในปี 2558 ว่า มีทั้งหมด 8 ข้อ คือ 1.เร่งรัดการจัดหางานให้คนไทย2.รณรงค์สร้างความปลอดภัยในสถานประกอบการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา 3.การนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำประมงที่ถูกกฎหมาย 4.สร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง 5.เร่งพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานไทย รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) 6.ปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนให้โปร่งใส 7.การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 8.ตั้งคณะทำงานในการดำเนินงานเรื่องต่างๆ เป็นการเฉพาะ อาทิ การดูแลการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว ประมง เป็นต้น
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-12-2557)
 
กระทรวงแรงงานจัดทำรายงานคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแก้มนุษย์เรียบร้อยแล้ว ชี้แจงเร่งบังคับใช้กฎหายแก้ปัญหา เตรียมส่งให้สหรัฐฯ ประเมินผลเดือนเมษายน 2558
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการจัดทำรายงานความคืบหน้าการต่อต้านการแก้มนุษย์ในไทยส่งให้ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า กระทรวงแรงงานได้จัดทำรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในส่วนของแรงงานประมงให้กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเรียบร้อยแล้ว
 
โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงเนื้อหา และแปลภาษา เพื่อจัดส่งให้สหรัฐฯ ประเมินถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำ 2557 คาดว่าจะแลวเสร็จภายในเดือนเมษายน ปี 2558 ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวนี้จะประกอบด้วย 5 เรื่องสำคัญ อาทิ เรื่องการป้องกันการค้ามนุษย์ การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดี และการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยทางกระทรวงแรงงานได้ชี้แจงว่า ประเทศไทยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยการบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีอย่างเข้มงวด
 
ขณะ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่กระทรวงนโยบายของกระทรวงแรงงานเท่านั้น แต่อยู่ที่การควบคุมดูแลของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งตอนนี้เน้นการเจรจาทำความเข้าใจกับนายจ้าง
 
(ไอเอ็นเอ็น, 26-12-2557)
 
แรงงานภาคเกษตรเฮ ประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแล้ว
 
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในภาคเกษตรกรรม พ.ศ.2557 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2557 ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่แรงงานในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแรงงานให้มากยิ่งขึ้น
 
รวมทั้งเป็นการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้นายจ้างอาจจ้างลูกจ้างอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ทำงานในช่วงปิดภาคเรียนหรือนอกเวลาเรียนได้ เป็นการกำหนดห้ามไม่ให้นายจ้าง จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีเป็นลูกจ้างไม่ว่ากรณีใด
 
นอกจากนี้กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557 ที่มีการเสนอขอแก้ไขไปนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วและขณะนี้อยู่ระหว่าง รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป สาระสำคัญ ของกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล คือ ห้ามจ้างลูกจ้างอายุต่ำกว่า 18 ปี, ให้ความคุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปในเรือประมงทุกลำ
 
ให้จัดเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง ในระหว่างการทำงาน 24 ชั่วโมง และไม่น้อยกว่า 77 ชั่วโมงต่อสัปดาห์,ให้จัดทำทะเบียนลูกจ้าง เอกสารการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดเป็นภาษาไทย, ให้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือ,ให้ลูกจ้างมีการรายงานตัวต่อพนักงานตรวจแรงงานปีละครั้ง และให้จัดสวัสดิการน้ำดื่ม ห้องส้วม เวชภัณฑ์
 
ทั้งนี้การแก้กฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และมุ่งหวังให้ประเทศสหรัฐอเมริกาพิจารณาปรับไทยพ้นจากกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด (ระดับ Tier 3) 
 
(มติชน, 26-12-2557)
 
แรงงานพม่าแห่กลับ ฉลองยาว นายจ้างหยุดงานปีใหม
 
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า แรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า จำนวนนับ 1,000 คน ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเดินทางผ่านด่านพรมแดนไทย-เมียนม่าร์ บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนม่าร์ บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด ขณะที่บางส่วนได้โดยสารเรือตามท่าเรือต่างๆ บริเวณด้านเหนือ และด้านใต้สะพาน ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ต้องทำงานหนักขึ้น การเดินทางกลับเป็นจำนวนมากของแรงงานเมียนม่าร์ เนื่องจากทางถานประกอบการ และบริษัทต่างๆ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ที่ใช้แรงงานต่างด้าว ได้หยุดงานในช่วงเทศกาลปีใหม่หลายวัน จึงต้องเดินทางกลับ และใช้โอกาสนี้กลับไปฉลองปีใหม่ในประเทศเมียนม่าร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก แจ้งว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ มีแรงานต่างด้าน สัญชาติเมียนม่าร์เริ่มทยอยเดินทางกลับกันจำนวนมาก  
 
(มติชน, 28-12-2557)
 
กพร. ทุ่มงบกว่า 6 ร้อยล้าน พัฒนาทักษะภาษา - ฝีมือแรงงานไทยกว่า 1.2 ล้านคน เปิดโอกาสเอกชนมีส่วนร่วมทำหลักสูตร รับเออีซี เน้นภาคธุรกิจ - อุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็ง 
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ในปี 2558 กพร.มีแผนพัฒนากำลังแรงงานรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพโดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็ง เช่น อาหารเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวและบริการโดยมีงบประมาณรองรับกว่า 693 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาแรงงานไทยทั้งด้านทักษะภาษาต่างประเทศและทักษะฝีมือกว่า 1.2 ล้านคนโดยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งภาคเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมายื่นลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าจากค่าใช้จ่ายจริง ทั้งนี้ กพร. จะจัดทำหลักสูตรอบรมด้านภาษาและทักษะฝีมือแรงงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2558 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เลือกหลักสูตรนำไปใช้ในการฝึกอบรม
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-12-2557)
 
“นพดล” แฉสภาลูกจ้างถลุงงบอบรม ปีละ 50 ล้าน เร่งตรวจสอบพบทำผิดพร้อมสั่งเชือด เตรียมทำผลสำรวจถามผู้ประกันตน 12 ล้านคน เลือกบอร์ดบริหารแบบ 1 คน 1 เสียง 
 
นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินปฏิรูประบบประกันสังคม ว่า ได้มีการเตรียมปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเป็นระบบโดยจะแยกการบริหารกองทุนออกจากการบริหารความเสี่ยงจากเดิมที่รวมไว้ในหน่วยงานเดียว ซึ่งโครงสร้างใหม่จะแยกออกมาเป็นสำนักและจ้างมืออาชีพมาบริหารโดยมีองค์กรตรวจสอบจากภายนอก อาจจะเป็นองค์กรทั้งในและต่างประเทศซึ่งเป็นยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ในส่วนของข้อเสนอที่จะกำหนดให้ผู้ประกันตน 1 คน 1 เสียงสามารถเลือกคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เพื่อให้ได้ตัวแทนอย่างแท้จริงมาบริหารงานกองทุนพบว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเลือกตั้งถึงหลักร้อยล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบถามความเห็นผู้ประกันตนทั้ง 12 ล้านคนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ รวมทั้งจะต้องประเมินผลงานบอร์ดสปส.ทุกปีเพื่อให้ผลงานอยู่ในสายตาประชาชนตลอดเวลา
       
ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า เมื่อได้รูปแบบการปฏิรูปประกันสังคมออกมาเป็น 3 แนวทางคือ รูปแบบเดิมที่อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงแรงงาน บริหารงานแบบอิสระและบริหารแบบกึ่งอิสระ ซึ่งจะต้องนำรูปแบบทั้งสามนี้สอบถามผู้ประกันตนว่าเห็นด้วยกับแนวทางใด หลังจากนั้นจะนำข้อเสนอไปเสนอต่อพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.)
        
นอกจากนี้ ยังได้ให้สปส.และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ไปตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมว่ากรณีที่มีสหภาพแรงงานและสภาองค์การลูกจ้างบางแห่งเสนอโครงการจัดอบรมสัมมนาโดยของบสนับสนุนจาก สปส. แต่ปรากฏว่า ทั้งสหภาพแรงงานและสภาองค์การลูกจ้างเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน  เพียงแต่เปลี่ยนชื่อหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าสภาองค์การลูกจ้างที่มีลักษณะเช่นนี้ อาจจะมีการใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ หากตรวจสอบพบว่าใช้เงินผิดวัตถุประสงค์จริงก็ต้องดำเนินการไปตามระเบียบ ถ้าสภาองค์การลูกจ้างทำผิดระเบียบก็ต้องให้ กสร. ซึ่งเป็นนายทะเบียนของสหภาพแรงงานดำเนินการยุบสภาพแรงงานที่กระทำผิด ทั้งนี้แต่ละปี สปส.สนับสนุนงบโครงการอบรมสัมมนาปีละ 50 ล้านบาท
       
“ขณะนี้มีแนวคิดว่าจะดึงผู้ประกอบการทั้ง 4 แสนรายเข้ามามีส่วนร่วมปฏิรูประบบประกันสังคมโดยให้ส่งตัวแทนมาร่วมกันวางมาตรการในเรื่องของการบล็อกโหวตในบอร์ดชุดต่างๆของกระทรวงแรงงานที่มีคณะกรรมการในรูปแบบไตรภาคี” นายนพดล กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-12-2557)
 
แรงงานเล็งใช้ “ค่าจ้างลอยตัว” กระตุ้นพัฒนาฝีมือ
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.)ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้วางแนวทางแก้ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำในระยะยาวและส่งเสริมการได้รับค่าจ้างตามทักษะฝีมือโดยให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ศึกษาวิจัยเรื่อง ”ค่าจ้างลอยตัว” ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 – มิถุนายน 2558 โดยศึกษาถึงการกำหนดอัตราค่าขั้นต่ำของไทยที่ผ่านมา และรูปแบบระบบค่าจ้างของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาเหนือ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน และระบบค่าจ้างลอยตัวแบ่งตามกลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มบริการและกลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มจังหวัดเศรษฐกิจชายแดนและแนวทางการคุ้มครองแรงงานให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมเป็นธรรม รวมทั้งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อกระทรวงแรงงานต่อไป
 
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวมองว่าหากมีการใช้ค่าจ้างลอยตัวจริงก็ต้องมีกลไกแทรกแซงค่าจ้างลอยตัว ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยตัวไปเลยเพราะปัจจุบันประเทศไทยยังใช้แรงงานแบบเข้มข้น ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำยังจำเป็นต้องมีอยู่แต่เป็นไปในลักษณะค่าจ้างกลาง เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้แรงงานไร้ฝีมือเสียเปรียบ และนายจ้างใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เพราะการมีอำนาจต่อรองของลูกจ้างต่ำ หากไม่มีค่าจ้างกลางเป็นหลักประกัน จะทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ก็ยังกำหนดให้มีค่าจ้างขั้นต่ำ
 
“การใช้ค่าจ้างลอยตัวต้องมีกลไกการต่อรองได้จริงเพื่อไม่ให้กลายเป็นกลไกทางการเมืองหรือประชานิยม โดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและคุ้มครองให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างตามทักษะฝีมือ เช่น การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร การลดภาษีอบรมพัฒนาทักษะฝีมือ รวมทั้งการตรวจและคุ้มครองสิทธิแรงงานให้ได้รับค่าจ้างตามทักษะฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ”
 
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับระบบค่าจ้างลอยตัวโดยเฉพาะหากมีการยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำเพราะจะไม่มีกลไกคุ้มครองแรงงานในเรื่องค่าจ้างและไม่มีบอร์ดค่าจ้างคอยกำกับดูแล ขณะที่อำนาจการต่อรองของลูกจ้างต่ำ สหภาพแรงงานยังจำนวนมีน้อย จะทำให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างได้ตามอำเภอใจ ลูกจ้างจะไม่มีวันลืมตาอ้าปากได้ตลอดไป สร้างความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างทั่วประเทศ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายตัวยิ่งขึ้นซึ่งสวนทางกับนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ประกาศจะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
 
“หากจะปรับระบบค่าจ้างใหม่ควรทำในรูปแบบของโครงสร้างค่าจ้างโดยแบ่งเป็น 2 แบบคือค่าจ้างแรกใช้กับกลุ่มลูกจ้างเข้าใหม่ และค่าจ้างประจำปีใช้กับกลุ่มลูกจ้างเก่าโดยขึ้นเงินเดือนตามอายุงานและประสบการณ์” รองประธานคสรท. กล่าว
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวว่า ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 300 บาทนั้นเหมาะสมแล้วซึ่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แรงงานต่างด้าวไหลเข้ามาไทยจำนวนมาก ส่วนที่เครือข่ายแรงงานเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หลายฝ่ายก็ต้องหารือกันในทางวิชาการกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในประเทศต่างๆให้ความสำคัญกับผลิตภาพแรงงานมากกว่าค่าจ้างหรือจำนวนแรงงาน ดังนั้น ในอนาคตความสามารถในการทำงานของแรงงานจะเป็นข้อกำหนดแรกในเรื่องอัตราค่าจ้าง หลังจากนี้ตามหลักวิชาการใครฝีมือดีก็ต้องได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น
 
(โลกวันนี้, 29-12-2557)
 
ครม. เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย
 
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
 
รง. เสนอว่า เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551 ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่มีอัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น  สมควรปรับปรุงอัตราค่ารักษาพยาบาลให้มีความเหมาะสม เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง
 
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551
2. เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
 
3. ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะ ดังต่อไปนี้
 
(1) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
(2) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
(3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ
(4) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท
(5) ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม
(6) ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ความร้อน ความเย็นสารเคมี รังสี ไฟฟ้า หรือระเบิด จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละ 25 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย
 
(7) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
 
4. ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 และข้อ 3 แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะ ดังต่อไปนี้
 
(1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป
(2) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือ หอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป
 
(3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตั้งแต่ 30 วันติดต่อกัน
 
(4) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามข้อ 3 (7)
(ก) เป็นผลให้อวัยวะสำคัญล้มเหลว
(ข) กรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์
(5) ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาล ตามข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
(6) ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4.5 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 ข้อ 3  ข้อ 4  และข้อ 5 แล้ว ต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท
 
(7) ลักษณะการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาให้ความเห็นว่า นายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามความในข้อ 5 หรือ ข้อ 6 ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
 
(8) การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 หรือข้อ 6 หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้องค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าทีจ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท
 
(9) กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับรวมถึงลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับซึ่งเป็นผู้ป่วยในที่เข้ารักการรักษาพยาบาลเป็นครั้งแรกและยังคงรักษาพยาบาลอยู่จนถึงวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ
 
(มติคณะรัฐมนตรี, 30-12-2557)
 
ครม.ปรับเพิ่มค่าครองชีพ ขรก.บำนาญอีก 4% งบ 3,855 ล้านบาท
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติในเรื่องการปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ หรือ ชคบ. เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 4 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ซึ่งจะใช้งบกลางเพิ่มขึ้นประมาณ 3,855 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้าราชการบำนาญจะได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นกว่า 533,328 คน ซึ่งการปรับขึ้นเงิน ชคบ. ในครั้งนี้นั้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเดือนข้าราชการ และการปรับขึ้นเงินค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการระดับล่าง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติในการให้ความช่วยเหลือประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับผลจากปัญหาอุทกภัย โดยจะจัดส่งข้าวเพื่อช่วยเหลือในอัตราประเทศละ 500 ตัน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 30-12-2557)
 
แรงงานสูงอายุถูกเลิกจ้างชวดเงินชดเชย สั่ง กสร.ตรวจสอบให้ความเป็นธรรม
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานสูงอายุวัย 55 ปีขึ้นไปในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น นครปฐม ถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยนายจ้างสั่งหยุดงานแล้วปิดกิจการหนี เมื่อลูกจ้างไปเรียกร้องเงินชดเชยก็แจ้งว่าให้มารับเงินภายหลังแต่ในที่สุดก็ไม่ยอมจ่าย และไม่มีสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ควรได้รับ
       
“แรงงานสูงอายุหลายคนไม่รู้เรื่องสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำให้เสียเปรียบนายจ้าง รวมทั้งการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายก็ใช้เวลานาน 2-3 เดือน ทำให้แรงงานสูงอายุที่ตกงานต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก บางคนตัวคนเดียวไม่มีลูกหลานดูแล” รองประธานคสรท. กล่าว
       
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า อยากให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในจังหวัดต่างๆโดยเฉพาะในพื้นที่ปริมณฑลว่ามีการเลิกจ้างแรงงานสูงอายุโดยไม่เป็นธรรมและไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่ามีพื้นที่ใดมีปัญหา ขอให้เร่งช่วยเหลือโดยให้แรงงานยื่นคำร้องต่อกสร.และตรวจสอบโดยเร็ว นอกจากนี้ อยากให้นำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมาช่วยเหลือแรงงานสูงอายุที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับเงินชดเชยให้มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันระหว่างที่รอการพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้ได้รับเงินชดเชย รวมทั้งประสานกับกรมการจัดหางาน(กกจ.)เร่งหางานใหม่หรืออาชีพอิสระให้ด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-12-2557)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net