Skip to main content
sharethis

1 ม.ค. 2558 สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกรายงานสถานการณ์สื่อประจำปี 2557 สรุป 5 สถานการณ์สื่อ วอนทุกฝ่ายร่วมกันตระหนักว่าสื่อสารมวลชนเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญมากในสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น ในการปฏิรูปสื่อครั้งนี้พื้นที่สาธารณะในสื่อมวลชนต้องได้รับการปกป้อง มีความเข็มแข็งอย่างเพียงพอและต้องไม่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบงำ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่ มีเสรีภาพให้การแสดงความคิดเห็นและการถกเถียงกันบนหลักของเหตุผล นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวฯ ระบุถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนด้วยว่า ขอให้ทำหน้าที่ภายใต้หลัก "เสรีภาพบนความรับผิดชอบ" มีเป้าหมายร่วมกันในการทำหน้าที่สื่อที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

รายละเอียดมีดังนี้

 

รายงานสถานการณ์สื่อประจำปี 2557
"ก้าวสู่ปีการปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ"

ตลอดปี 2557 สื่อมวลชนต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยจนเกิดการชุมนุมประท้วงของประชาชนกลุ่มต่างๆ และการชุมนุมอย่างต่อเนื่องของ กปปส. ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ซึ่งในระหว่างการชุมนุมมีการก่อเหตุร้ายรายวันจนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงนักข่าว ช่างภาพที่เข้าไปทำหน้าที่ก็รับบาดเจ็บไปจำนวนมากโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้เลย

การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมีสถานการณ์สื่อที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
 

บาดเจ็บ ถูกปิดล้อม กดดันและคำวิจารณ์สื่อ

1. มีนักข่าวและช่างภาพของสื่อแขนงต่างๆ ที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมเพื่อนำข้อมูลข้อเท็จจริงและภาพข่าวเสนอต่อประชาชน ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 9 คน

2. สื่อมวลชนและองค์กรสื่อถูกกดดันทางการเมืองอย่างหนัก สถานีโทรทัศน์หลายสถานีก็ถูกมวลชนของกลุ่มการเมืองต่างๆ ปิดล้อมเพื่อกดดันให้สื่อรายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มตน ซึ่งการปิดล้อมและการกดดันดังกล่าว ได้นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิและคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลกระทบกับหลักการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ที่ต้องอยู่บนพื้นฐานความรอบด้าน เป็นธรรม เปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถสะท้อนแนวคิดได้อย่างเสรี บนหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

3. ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่สามารถทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ ในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารตรงไปตรงมา อย่างรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมของวิชาชีพ ตรงกันข้ามสื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เป็นผู้ที่เติมเชื้อไฟลงไปในสถานการณ์ที่มีความเปราะบาง

นอกจากนี้ ยังเกิดความโกลาหลในแวดวงสื่อ เนื่องจากมีคนและกลุ่มคนเข้ามาใช้สื่อเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองและเพื่อประโยชน์อื่นมีอยู่จำนวนมากอยู่เช่นเดิม และไม่ได้ทำหน้าที่ตามหลักการวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่ควรจะเป็น รวมทั้งมีการใช้สื่อผลิตซ้ำวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อกันของคนที่มีความเห็นต่างในสังคมและใช้สื่อไปละเมิดสิทธิความเป็นส่วนบุคคล ในแง่มุมต่างๆ ทั้งการรายงานข่าวและแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่ กสทช. มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงก็ไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อไม่สามารถกำกับดูแลด้านจริยธรรมได้


การทำหน้าที่สื่อภายใต้คำสั่ง คสช.

4. สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามบานปลาย โดยวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 กองทัพนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกได้ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อควบคุมสถานการณ์ของประเทศ ถัดมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ เข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีประกาศและคำสั่งหลายฉบับของ คสช. ที่ออกตามกฎอัยการศึก ปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ ทุกประเภทและทุกระบบ รวมฟรีทีวี วิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่น ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี รวมทั้งทีวีดิจิตอลและไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นทีวีสาธารณะเพื่อควบคุมเนื้อหาการรายงานข้อมูลข่าวสาร แม้ว่าภายหลัง คสช. ได้เปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุที่ถูกปิดไปแต่ก็ยังมีประกาศฉบับที่ 97 และ 103 ที่ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อทุกประเภท รวมทั้งตัวแทน คสช. กองทัพและรัฐบาลยังเชิญบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว เจ้าของสื่อไปพบอยู่เป็นระยะๆ ส่งผลให้เสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมีข้อจำกัดอย่างยิ่ง ทำให้เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและการแลกเปลี่ยนความเห็นบนพื้นที่สาธารณะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ปฏิรูปสื่อสู่การปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ

5. การปฏิรูปสื่อสารมวลชนเป็น 1 ใน 11 ด้าน ที่ระบุไว้ในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2557 (ฉบับชั่วคราว )

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมมองเห็นปัญหาหลายระดับของสื่อมวลชน และสื่อประเภทต่างๆ จึงถูกจัดให้เป็นประเด็นที่ต้องปฏิรูปเช่นเดียวกับปัญหาอื่นของประเทศ ซึ่งคนในวงการวิชาชีพสื่อมวลชนต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายและทิศทางการปฏิรูปสื่อที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามไม่ว่าสื่อมวลชนจะถูกมองว่ามีปัญหาในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา ในวาระ 60 ปีของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 5 มีนาคม 2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อที่ต่อสู้ ปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชนมาอย่างยาวนานและเตรียมจัดงานภายใต้แนวคิด "ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ" เห็นว่าหลักการพื้นฐานในการปฏิรูปสื่อมวลชนครั้งนี้ที่ควรมี ได้แก่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งเสรีภาพของสื่อมวลชนและสื่ออื่นต้องได้รับการประกันโดยรัฐธรรมนูญและต้องไม่มีกฎหมายที่แทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน บทบัญญัติเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องมีการนำไปปฏิบัติ ประชาชนและนักสื่อสารมวลชนสามารถใช้สิทธิได้โดยไม่หวาดกลัว

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารธารณะของประชาชาชน สามารถทำได้โดยง่ายและเป็นสิทธิที่ได้รับการประกันตามกฎหมายสำหรับพลเมืองไทยทุกคน ที่สำคัญต้องไม่ตั้งเป้าหมายที่จะปิดกั้นหรือกรองเนื้อหาของอินเตอร์เน็ต เสรีภาพของการแสดงออกของประชาชนผ่านสื่อต่างๆ ต้องไม่ถูกปิดกั้น

สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมวิชาชีพ มาตรฐานของการรายงานข่าวต้องเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของการรายงานข่าวในเรื่องความถูกต้อง รอบด้านและแม่นยำในข้อเท็จจริง มีความสมดุลในเนื้อหา ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ครอบคลุมเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ ท้องถิ่น อย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ที่สำคัญ ความอิสระของกองบรรณาธิการสื่อต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ อำนาจทุนหรืออิทธิพลใดๆ เจ้าของสื่อต้องไม่ก้าวก่ายความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ  และควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสื่อรวมตัวกันเพื่อมีข้อตกลงในการให้หลักประกันเรื่องความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ และรัฐบาลต้องไม่ใช้อำนาจในการซื้อสื่อโฆษณา/ประชาสัมพันธ์มาเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงเนื้อหาและทำลายความเป็นอิสระของสื่อ

เช่นเดียวกันในยุคการถือครองสิทธิข้ามสื่อควรมีกฎหมาย หรือการกำกับดูแลเกี่ยวกับการแข่งขันอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการกระจุกตัวและผูกขาดของกลุ่มธุรกิจสื่อ และต้องมีมาตรการป้องกันมิให้มีการผูกขาด และครอบงำข่าวสาร ซึ่งจะมีผลต่อการขัดขวางสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

นอกจากนี้ เงินเดือน สวัสดิการของนักข่าวและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทุกประเภทต้องมีความเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีและสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมต่างๆ ที่เป็นหลักสูตรอย่างเป็นทางการ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาเพิ่มพูนทักษะอยู่ตลอดเวลา

สำหรับสื่อภาคพลเมือง และสื่อชุมชนก็ต้องมีแนวปฏิบัติในการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ และแนวปฏิบัติตามหลักจริยธรรม มีการรวมกลุ่ม มีองค์กรเพื่อกำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรม ทั้งนี้ ต้องมีความเป็นอิสระและไม่ถูกแทรกแซง หรือคุกคามจากรัฐและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่นกัน

ในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันตระหนักว่าสื่อสารมวลชนเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญมากในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพื้นที่ของบุคคลสาธารณะ เป็นเรื่องราวสาธารณะ แต่สื่อมวลชนเป็นทั้งองค์กรทางธุรกิจและสถาบันเพื่อให้การบริการสาธารณะ ดังนั้นในการปฏิรูปสื่อครั้งนี้พื้นที่สาธารณะในสื่อมวลชนต้องได้รับการปกป้อง มีความเข็มแข็งอย่างเพียงพอและต้องไม่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบงำ เพื่อให้เป็นพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่  มีเสรีภาพให้การแสดงความคิดเห็นและการถกเถียงกันบนหลักของเหตุผล

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตระหนักถึงภาระหน้าที่ภายใต้หลักการ "เสรีภาพบนความรับผิดชอบ" มีเป้าหมายร่วมกันในการทำหน้าที่สื่อที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ การวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่เป็นไปโดยสุจริต มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนต้องไม่ถูกแทรกแซงหรือกดดันจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
1 มกราคม 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net