“ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” กวีแก้วแกมปราชญ์ แห่งกระท่อมทุ่งเสี้ยว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ได้อ่านเรื่องสั้นของ  “แพรจารุ  ไชยวงษ์แก้ว”  (เดิมเคยใช้นามปากกาว่า  “แพร  จารุ”)  ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร  “สกุลไทย”  สองฉบับที่ผ่านมา  ชื่อเรื่อง  “เมื่อคนรักฉันจากไป”  แล้วถึงกับต้องหลั่งน้ำตา  สะเทือนอารมณ์อย่างล้ำลึก  แม้ว่ายังมีตอนจบอีกตอนหนึ่งที่ยังไม่ได้วางตลาด

แต่ก็คิดว่า  ความรู้สึกขณะนี้อยากจะเขียนถึง  “ถนอม  ไชยวงษ์แก้ว”  หรืออ้ายหนอม  แทรกเรื่องอื่นก่อนขึ้นมาทันที

เหมือนดั่งดอกหญ้า  ณ  ตอติญ่าแฟลต

ขอย้อนอดีต  ท้าวความกลับไปถึงห้วงเวลาที่ได้รู้จักกับ  “อ้ายหนอม”  หรือ  “ถนอม  ไชยวงษ์แก้ว”  ตัวเป็นๆ  ครั้งแรก  ปีนั้นคือปี  พ.ศ.  2531

นานทีเดียว  แต่ยังจำได้ดี  ว่าเราพบกันที่  “ตอติญ่าแฟลต”  เชิงสะพานหัวช้าง  ใกล้โรงหนังแมคเคนน่า  สมัยที่ยังไม่ถูกรื้อ  อันเป็นนิวาสถานหลักของนักคิด  นักเขียน  กวี   นักดนตรีเมื่อครั้งกระโน้น

ทำไมต้องไป  “ตอติญ่าแฟลต”  ก็เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งสำนักงานนิตยสาร  “กระดังงา”  และ  “สีสัน”  จึงเป็นศูนย์รวมคนหนุ่มคนสาวไฟแรงในยุคนั้น  อาทิ  ณรงค์  พัว  สุจินดา  ขันตยาลงกต  เพ็ญพร  ไพฑูรย์  ทิวา  สาระจูฑะ  ขุนทอง  อสุนีฯ  พิบูลศักดิ์  ละครพล

ผู้แนะนำให้ดิฉันรู้จักกับ  “อ้ายหนอม”  ก็คือ  “พี่ปอน”  -  พิบูลศักดิ์  ละครพล  กวีเนื้อหอม  กำลังโด่งดังเป็นพลุแตก   เป็นกวีแนวกลอนเปล่า   เจ้าของหนังสือ  “สู่ฝัน”  ผู้มีอิทธิพลต่อกวีวัยรุ่นในช่วงนั้นอย่างสูง

พี่ปอน  แนะนำว่า  “อ้ายหนอม”  คือเพื่อนสนิทที่เรียนศิลปะมาด้วยกันตั้งแต่ยังนุ่งขาสั้น  พำนักอยู่ที่เมืองเหนือ  มาจาก  “กระท่อมทุ่งเสี้ยว”  อำเภอสันป่าตอง  จังหวัดเชียงใหม่

จากนั้นอ้ายหนอมก็มอบหนังสือกวีนิพนธ์เรื่อง  “เหมือนดั่งดอกหญ้า”  ให้ดิฉันหนึ่งเล่ม  พร้อมลายเซ็น  ซึ่งดิฉันเคยซื้อหนังสือ  “กับความอาดูรสูญสิ้น”   ผลงานก่อนหน้านั้นมาอ่านแล้วด้วยความชื่นชม

งานของแกช่างเศร้า  สร้อย  โศก  ศัลย์  ซึม  ซึ้ง  เหมือนบุคลิกของแก

ชายหนุ่มผมยาว  นุ่งชุดยีนส์  รูปร่างสูงโปร่ง  สะพายกีตาร์  ผ้าโพกศีรษะ  นัยน์ตาเหม่อเหงา  พูดจาช้าเนิบนาบ

เป็นบุคลิกที่ปรากฏในวัยหนุ่มนานกว่า  3  ทศวรรษ

แต่พอครั้นย่างบั้นปลายชีวิต  กลับดูเหมือนว่าความสด  ใส  สันต์  สุข  สนุก  สนาน  ค่อยๆ  คืบคลานเข้ามาสวมทับแทนที่มากยิ่งขึ้น

“ไพลิน  รุ้งรัตน์”  นักวิจารณ์วรรณกรรมฝีปากกล้า  เคยวิเคราะห์ว่างานของ  “ถนอม  ไชยวงษ์แก้ว”  นั้น  จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ  “ไพวรินทร์  ขาวงาม”  คือกลุ่ม  “หวานลึกรู้สึกนำ”  โดยเธอขยายความว่า  งานของกลุ่มนี้ค่อนข้างรุ่มรวยอารมณ์มากกว่าเหตุผล  ผิดกับอีกกลุ่มที่เน้นโครงสร้างของฉันทลักษณ์ลงตัวกว่า  เธอเรียกกลุ่มนั้นว่า“พราวคำเด่นความ”  ซึ่งไพลินจัดให้มีกวีหัวหอกในกลุ่มนี้หลักๆ  อยู่สองคน  คือ  ประกาย  ปรัชญา  และ  แรคำ  ประโดยคำ

หมายเหตุ  ในยุคนั้น  ยังไม่มีใครได้รับรางวัลซีไรต์  และไพลินก็ไม่ได้สรุปว่ากลุ่มไหนเหนือกว่ากัน

หลังจากการที่ได้พบกันครั้งแรก  โดยการแนะนำของพี่ปอน  และยิ่งได้อ่านงานวิจารณ์ของไพลิน  รุ้งรัตน์  ดิฉันก็เฝ้าติดตามงานกวีนิพนธ์ของคนชื่อ  “ถนอม  ไชยวงษ์แก้ว”  เรื่อยมา  ตามหน้านิตยสารต่างๆ  อ่านอย่างมีรสชาติและจินตนาการมากขึ้นกว่าเก่า  ด้วยได้รู้จักกับตัวผู้เขียนแล้ว

ไม่ถึงกับปลาบปลื้มคลั่งไคล้  ในฐานะแฟนคลับ  แต่ยอมรับว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธา  ชื่นชม  ดิฉันมองว่ากวีเมืองเหนือผู้นี้  ช่างมีอารมณ์เศร้าร้าวลึก  เกือบๆ  naive  มีกลิ่นอายของความรุนแรงแต่ไร้เดียงสา  พอๆ  กับ  “วินเซนต์  แวนโกะห์”  เลยทีเดียว

ทุกบทที่ร่ายรจนา  ทุกเนื้อหาที่นำเสนอ  บอกได้คำเดียวว่า  ผู้ชายคนนี้  “เป็นกวีบริสุทธิ์”

“อ้ายหนอม”  กวีแก้วแกมปราชญ์

ดิฉันย้ายชีวิตมาปักหลักเมืองเหนือ  ตั้งแต่ปีพ.ศ.  2543  เป็นต้นมา  ก็ได้มีโอกาสพบปะกับอ้ายหนอมบ่อยมากขึ้น

เมื่อได้พบ  ได้รู้จัก  ได้มักคุ้น  ก็ยิ่งทำให้รู้ว่า  อ้ายหนอมไม่ได้เป็นแค่เพียงกวีอารมณ์โรแมนติกเท่านั้น  หากทว่ายังเป็น  “ปราชญ์”  และ  “นักคิด”  คนสำคัญแห่งยุคสมัยอีกด้วย

ความคิดของอ้ายหนอม  ก่อนที่จะปรากฏอยู่ในบล็อกประชาไท  ในช่วง  2-3  ปีหลัง  ยุคการเมือง  “เหลือง-แดง”  นั้น

อ้ายหนอมเคยส่อแววของ  “ปราชญ์ชาวบ้าน”  ที่สนใจเรื่อง  “ล้านนาศึกษา”  อย่างลุ่มลึกมาก่อน  เป็นปราชญ์ที่ไม่มีทฤษฎีอะไรทั้งสิ้นมารองรับ  เป็นนักคิดที่ไม่มีการอ้างอิงหลักฐาน  ประเภทเชิงอรรถ  บรรณานุกรมใดๆ

เขาไม่กล้าอวดอ้างตัวเองว่าเป็นนักวิชาการ  ทุกครั้งที่มีเวทีเสวนา  เขามักจะสงบเสงี่ยมเจียมตัว  มาร่วมงานในนามของ  “ศิลปิน”  มาคอยอ่านบทกวี  ขับกล่อมผู้คนด้วยเสียงเพลง  แทบไม่เคยคว้าไมค์แสดงความเห็น

ในนามของนักร้อง  น้ำเสียง  ลีลา  จังหวะการร้องของเขา  บางครั้งผิดคีย์  ประหนึ่งจงใจเอื้อนเสียงพิเศษ  บางคราแปลงเนื้อเพลงใหม่ให้เป็นภาษากวีมากยิ่งขึ้น  ฟังแล้วอาจจะแปร่งหู

เขาไม่ใช่นักร้องมืออาชีพ  แม้หลายช่วงชีวิต  เขาจำเป็นต้องดำรงชีพด้วยการเป็นนักร้องก็ตามที

ในช่วงที่ดิฉันเป็นแม่งาน  จัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ  ไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียว  ที่จะให้เขาขึ้นเวทีในฐานะ  “นักคิด”  หรือวิทยากรหลัก  มีแต่ในฐานะ  “กวี”

ผิดกับกวีบางคน  ที่มีภาพลักษณ์ซ้อนสองอย่างในตัวคนเดียวอย่างชัดเจน  คือเป็นทั้ง  “ปราชญ์”  (หรือจะเรียกว่า  “นักวิชาการ”)  และ  “กวี”  เฉกเดียวกับภาพลักษณ์ของดิฉัน  อาทิเช่น  ไพฑูรย์  พรหมวิจิตร  วิลักษณ์  ศรีป่าซาง  ทองแถม  นาถจำนง  เป็นต้น

แต่ครั้นได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกับ  “อ้ายหนอม”  ข้างล่างเวที  ไม่ว่าประเด็นใดๆ  ก็ตาม  กลับพบว่า  บุรุษผู้นี้เป็นปราชญ์โดยเนื้อแท้

เขาเป็นคนมีสมาธิยาว  ประเภท  “กัดไม่ปล่อย”  หาใช่คนเอื่อยเฉื่อยแบะแฉะ  เรื่อยๆ  รินเหล้าไปวันๆ  ไม่

เขาสนใจที่จะถกเถียงพูดคุย ในเรื่องประเด็นชาติพันธุ์ของ  อาข่า  มิดะ  การอพยพของคนยองในยุคพระญากาวิละ  ปมปัญหาที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกต้องอธิกรณ์  ทำไมชาวเขาบางเผ่าต้องกินเนื้อสุนัข  เขาสนใจเรื่องการลดบทบาทของเจ้านายฝ่ายเหนือ

ในทุกเรื่องที่เขาเสวนา  เขามักมีการตั้งคำถามด้วยดวงตาที่มุ่งมั่น  จริงจัง  เขาใส่ใจที่จะอ้างเรื่องราวย้อนอดีต  และโยนปริศนามาถึงเหตุการณ์ร่วมสมัย   ในเชิงเปรียบเทียบ

พร้อมๆ  กับงานกวีนิพนธ์ในยุคหลังๆ  ก็เริ่มซา  น้อยลงตามลำดับ  แต่มีงานเขียนเชิงวิพากษ์สังคมเพิ่มมากขึ้น

ขอบคุณ  “ประชาไท”  ที่กล้าเปิดพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสร่ำระบายความในใจ  ประเด็นเรื่องการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  ประวัติศาสตร์  และศาสนาในช่วงบั้นปลายชีวิต

บางครั้งดิฉันยังรู้สึกผิดอยู่ลึกๆ  ที่ไม่เคยเชิญเขาขึ้นเวทีเวทีในฐานะ  “ปราชญ์”  หรือนักวิพากษ์สังคมเลยแม้แต่ครั้งเดียว  ด้วยไปยึดติดภาพลักษณ์ว่าเขา  (ต้อง)  เป็น  “กวี”  (เท่านั้น)

ถนอม  ไชยวงษ์แก้ว  ในอ้อมรักของ  “แพร  จารุ”

ถนอม  ไชยวงษ์แก้ว  ลาลับจาก  “กระท่อมทุ่งเสี้ยว”  ไปเมื่อกลางดึก  กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา   ด้วยอาการระบบเลือดหมุนเวียนไม่ดี  ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรมาก่อน

งานศพจัดขึ้นแบบเรียบง่าย  โดยที่ดิฉันไม่ทราบข่าวคราวจากใครทั้งสิ้น  เพราะเป็นช่วงที่เดินสายเก็บข้อมูลทำงานวิจัยอย่างหนักหน่วง  แทบไม่ได้เปิดเฟซบุ๊คอ่านความเคลื่อนไหวใดๆ  ไม่ว่าวงการไหนก็ตาม

เพิ่งมาทราบ  หลังจากเสร็จสิ้นงานศพแล้วราวสองวัน  จึงได้รีบเคาะกล่องข้อความไปแสดงความเสียใจต่อศรีภริยาของเขา

“แพร  จารุ”  นักเขียนหญิงชาวนครศรีธรรมราช  คู่ชีวิตที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานานกว่า  16  ปี  ซึ่งดิฉันเรียกเธอว่า  “พี่ยาย”

พี่ยายส่งหนังสือ  “คว่ำแก้วแล้วลาจากจรดล”รวมกวีนิพนธ์เของเพื่อนนักเขียนที่มีต่อเขา  มาให้ดิฉันอ่าน  และบอกว่า  หากว่างจะมีพิธีทำบุญรำลึกการจากไปของอ้ายหนอมครบรอบ  100วัน  ในวันที่  1  ธันวาคมที่ผ่านมา  ณ  กระท่อมทุ่งเสี้ยว

สัญญากับพี่ยายมาหลายหนแล้วว่า  ดิฉันจะเขียนความรู้สึกที่มีต่ออ้ายหนอม  โดยไม่พึ่งพาข้อมูลจากสื่อ  ข่าวสาร  หรือจากบทสัมภาษณ์ของใครทั้งสิ้น

แต่ก็ยังไม่มีจังหวะเหมาะสักที

กระทั่งได้มาอ่านงานเรื่องสั้นของพี่ยาย  ภายใต้นามปากกาใหม่ว่า  “แพรจารุ  ไชยวงษ์แก้ว”  (ไม่ใช่  “แพร  จารุ”  เฉยๆ  ดังฉายาเดิม)  ชื่อเรื่องช่างเรียบง่ายว่า  “เมื่อคนรักของฉันจากไป”  กลั่นออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ  ในนิตยสาร “สกุลไทย”  ต่อเนื่องกันสามฉบับ  (อยู่ในระหว่างการวางตลาด)

ทำให้นึกขึ้นได้ว่า  ถึงเวลาแล้วที่ดิฉันจะต้องเขียนถึงพี่ชายใจดีนาม  “อ้ายหนอม”  คนนี้เสียที

ไม่ใช่เขียนพอเป็นพิธีตามมารยาทสังคม  เพราะหากจะทำเช่นนั้นก็ควรจะรีบเขียนตั้งแต่แกเสียชีวิตใหม่ๆ  แล้ว  ด้วยกำลังอยู่ในกระแสที่คนในวงวรรณกรรมกล่าวขวัญถึง

แต่เขียนเพราะอยากจะบอกให้โลกรู้ว่า  “ถนอม  ไชยวงษ์แก้ว”

นอกจากจะเป็น  “กวีบริสุทธิ์” ( เห็นด้วยกับ  ไพลิน  รุ้งรัตน์  ที่จัดเขาให้เป็นกวีอยู่ในกลุ่มประเภท  “หวานลึกรู้สึกนำ”)  แล้ว

เหนือสิ่งอื่นใด  เขายังเป็น  “นักคิด”  “นักวิพากษ์สังคม”  เป็น  “ปราชญ์ชาวบ้าน”

อ้ายหนอมไปแล้ว  ไปสู่สัมปรายภพ  ตามมรคาที่เคยบ่มสร้าง

แต่วันนี้  ขอส่งกำลังใจให้คนรักของเขา  ที่ยังต้องทนสู้โลกอย่างเดียวดาย  อยากให้ญาติน้ำหมึกได้อ่านเรื่องสั้นของ  “แพรจารุ  ไชยวงษ์แก้ว”  ในสกุลไทยชิ้นนั้น

เป็นความรักความผูกพันของคู่ชีวิตเล็กๆ  ที่ยิ่งใหญ่  ลมหายใจของเธอ  วิญญาณของเขา  จักเป็น“ คู่รักอมตะ”  อีกคู่ที่บรรณพิภพต้องจารจำ

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน  คอลัมน์  "ปริศนาโบราณคดีตอนที่  214"  มติชนสุดสัปดาห์  ฉบับวันปีใหม่  2558

ที่มา: เฟซบุ๊ก Pensupa Sukkata

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท