ความไม่เป็นประชาธิปไตย : ว่าด้วยข้อคิดทางประชาธิปไตย และกระบวนการการเรียนรู้ภายหลังรัฐประหาร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

1. บทนำ

ในสังคมการเมืองที่ประกอบผู้มีอำนาจปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง พร้อมกับเงื่อนไขบางอย่างร่วมกันแต่เดิมตามที่จอห์น ล็อคได้เคยกล่าวไว้ว่ามันเป็นสังคมการเมืองที่ประกอบสร้างขึ้นเพื่อที่จะยุติปัญหาต่าง ๆ ที่เกินขอบเขต และอยู่ร่วมกันเป็นสังคม จึงมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเพื่อปกป้องตนเอง รวมทั้งการแก้ไขข้อพิพาท หรือที่เรียกว่า “สัญญาประชาคม” (Social Contract)  และความเป็นสังคมลักษณะเช่นนี้ มนุษย์จึงเป็นสัตว์สังคมการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ข้องเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งโดยเนื้อแท้ของรัฐประกอบไปด้วยระบอบการปกครอง รูปของรัฐ การสถาปนาอำนาจทางการเมือง และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

การปกครองของรัฐในยามปกติเป็นที่เข้าใจว่าคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นรัฐที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) เพราะเป็นการปกครองโดย “ประชา” ที่หมายถึง ประชาชนหรือราษฎร กับ “อธิปไตย” ที่แปลว่า อำนาจสูงสุดในการปกครอง เพราะฉะนั้น การปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงหมายถึง การปกครองโดยประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง หากกล่าวตามแนวคิดของอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) นั่นคือ เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  ซึ่งข้อยุติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ได้มีคำอธิบายหลักการไว้ 4 ประการด้วยกัน คือ

1)  ประชาชนมีความเสมอภาคทางการเมือง มีเจตนารมณ์อิสระ (Free Will) และอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน

2)  ผู้ปกครองเป็นเพียงตัวแทนของประชาชนในการทำหน้าที่บริหารแทนประชาชนเท่านั้น

3)  มีการเลือกตั้งทั่วไปคือ การเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามวาระการดำรงตำแหน่งที่กฎหมายกำหนด

4)  ประชาชนมีทางเลือก (Effective Choice) ในการมีส่วนร่วมเพื่อบริหารประเทศ อาจมีส่วนร่วมโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้

ดังนั้น หากปราศจากเงื่อนไข 4 ประการข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงตรงกันข้ามกับระบอบการปกครองอื่น ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีมาตรการป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจ ก่อความรุนแรง และกำหนดกฎเกณฑ์ แบบแผนขึ้นในลักษณะการผูกขาดความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ของประชาชนที่ถือว่าดีที่สุดในการปกครองเมื่อเปรียบเทียบกับการปกครองในระบอบอื่น อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า การที่รัฐใดรัฐหนึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองของรัฐ

ก็มิได้หมายความว่ารัฐนั้นจะเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เนื่องจากบางรัฐมีการปกครองแบบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญเช่นกัน เช่น อิตาลีสมัยมุสโสลินี หรือไทย สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 แต่หาเป็นประชาธิปไตยไม่

การไม่เป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะในบริบทประเทศไทย เราจะพบว่ามีคำสองคำที่ปรากฏคือ ปฏิวัติ (Revolution)  มีเพียงครั้งเดียวคือ สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กับ รัฐประหาร (Coup d’etat)  ซึ่งหมายถึง การยึดอำนาจรัฐหรือการล้มล้างรัฐบาลอย่างเฉียบพลันโดยผิดกฎหมาย ใช้กำลังบังคับ แต่มิใช่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และยังมีคำว่ากบฏ (Rebellion) ที่หมายถึง การกระทำที่มีวัตถุประสงค์ล้มล้างอำนาจรัฐบาล แต่กระทำการไม่สำเร็จ  การไม่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผลทั้งในแง่กฎหมาย นโยบายการบริหารประเทศ และความชอบธรรมการใช้อำนาจรัฐ เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนนำมาซึ่งความรุนแรงทางการเมืองระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครองทั้งสิ้น

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอสังคมการเมืองว่าด้วยรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (รัฐประหาร) ของไทย พิจารณาถึงข้อคิดบางประการคือ ข้อคิดสังคมการเมืองกับประชาธิปไตย และข้อคิดการกำหนดกระบวนการเรียนรู้ภายหลังรัฐประหาร ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดบางประการ เช่น ความรู้ ประสบการณ์ การนำเสนอข้อมูลจะพิจารณาถึงบางเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญและพอที่จะนำมาอธิบายได้เท่านั้น

2.  บทวิเคราะห์

2.1  สังคมการเมืองว่าด้วยรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (รัฐประหาร) ของไทย กับข้อคิดทางประชาธิปไตย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จวบจนวันนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 83 ปี การเมืองไทยต้องพบกับอุปสรรคขัดขวางความเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด ด้วยการรัฐประหารจำนวนทั้งสิ้น 13 ครั้ง ไม่เฉพาะระบอบการปกครองเท่านั้นที่เป็นปัญหา การบริหารราชการแผ่นดินโดยนโยบายของพรรคการเมืองก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน[1] ทำให้การบริหารประเทศขาดความต่อเนื่องและขาดหลักความเป็นประชาธิปไตย  คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมายังไม่เป็นประชาธิปไตยตามที่พึงประสงค์นัก  กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นเพียงการปกครองระบอบประชาธิปไตยทางรูปแบบเท่านั้น เช่น ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแต่มิได้หมายความว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นต้น

ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้อาจคาดหมายได้ว่าเป็นเพราะทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม มีลักษณะเฉพาะแบบไทย จึงทำให้ผู้ปกครองหรือรัฐบาลทุกยุคสมัยมีความเข้าใจในระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง และมุ่งหวังไปที่การครอบครองอำนาจรัฐเป็นสำคัญ ไม่ประสงค์จะกระจายอำนาจการปกครองไปยังประชาชนอย่างจริงจัง ผู้ปกครองหรือรัฐบาลจึงสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการถูกโค่นล้มหรือรัฐประหาร หากมองในอีกแง่หนึ่งคือ เป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่ปรากฏในงานเขียนของยุกติ มุกดาวิจิตร (2555) เรื่อง มานุษยวิทยาว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่เสนอแนวคิดว่า ประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์สากลที่คนในโลกใฝ่ฝันหาไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ขณะเดียวกันประชาธิปไตยก็ถูกให้ความหมายแตกต่างกันออกไป การหาความหมายของประชาธิปไตยที่นิยามโดยสังคมต่าง ๆ จึงผูกอยู่กับเงื่อนไขของพัฒนาทางการเมืองและวัฒนธรรมของแต่ละสังคมแตกต่างกันออกไป

ความเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนนั้น ถูกท้าทายด้วยคำถามที่ว่า ทำไมอำนาจเป็นของผู้ปกครองมิได้หรือ คำตอบที่พอจะทำเนาคำถามนี้ได้ชัดเจนคือ ถ้าผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม ปกครองโดยเห็นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้งคงจะไม่เกิดปัญหาแต่ประการใด เมื่อถามต่อไปว่าแล้วอะไรจะเป็นหลักประกันได้ดีบ้างที่ผู้ปกครองนั้นจะไม่ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด หรือเราเรียกว่า “หลงอำนาจ” เช่นนี้แล้วคงชัดเจนว่าหลักประกันของประชาชนจะไม่มีโดยสิ้นเชิง เป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า “Absolute Power Corrupts Absolutely”  และแม้ประชาชนจะรวมตัวกันเพื่อโค่นล้มอำนาจ แต่ก็อาจจำต้องสังเวยด้วยชีวิต สิทธิและเสรีภาพเป็นแน่แท้ ฉะนั้นหลักการของระบอบประชาธิปไตย อำนาจต้องเป็นของประชาชน และประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ (โกสินทร์ วงศ์สุรวัฒน์, 2532 : 6) ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครองไม่ได้ตัดขาดจากกัน ผู้ปกครองยังอยู่ในสายตาของประชาชนอย่างใกล้ชิดนั่นเอง

การยึดอำนาจรัฐหรือการล้มล้างรัฐบาลโดยผิดกฎหมาย (รัฐประหาร  (Coup d’etat))  นั้น พอที่จะจำแนกเงื่อนไขสำคัญ ๆ ของการรัฐประหาร (ประชา เทพเกษตรกุล, 2535: 9) ได้ดังนี้

1)  ความล้าหลังทางเศรษฐกิจ ประเทศไม่ได้รับการพัฒนาจากผู้ปกครอง ประชาชนไม่รู้หนังสือ มีอัตราการเกิดและตายสูง เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง รวมทั้งอำนาจการเมืองมักตกอยู่กับกลุ่มผู้มีการศึกษาดีและความเป็นอยู่ที่มั่นคง (ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง) ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง การยึดอำนาจโดยคณะทหารจึงกระทำได้โดยง่ายเพราะไม่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

2)  การรวมศูนย์อำนาจการปกครอง ประเทศที่มีการกระจายอำนาจการปกครองไปยังภูมิภาคและท้องถิ่น การรัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย เพราะการยึดอำนาจนั้นจะมิใช่อำนาจเบ็ดเสร็จหากประชาชนเจ้าของอำนาจไม่ยินยอม ถ้าอำนาจกระจายไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง รัฐประหารก็จะทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปยึดอำนาจจากจุดไหน ประเทศอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เช่น อินเดีย จึงไม่มีรัฐประหาร เพราะทำไม่ได้ (ประเวศ วสี, 2557: 57)

สำหรับการรัฐประหารในประเทศไทยล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนักวิชาการส่วนหนึ่งได้ให้ความเห็นถึงการรัฐประหารว่า สาเหตุของการรัฐประหารเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ในหมู่ประชาชน[2] มีการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและนักการเมือง โดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเห็นไม่ต่างไปจากหลักการแนวคิดที่เป็นเงื่อนไขการรัฐประหารสักเท่าไรนัก คงพอแยกพิจารณาได้ว่า

ประการที่หนึ่ง เป็นปัจจัยด้านการเมือง กล่าวคือ นักการเมืองมีพฤติไม่ดีในการบริหารประเทศในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่เกรงกลัวต่อระบบกฎหมายบ้านเมือง และใช้อำนาจและอภิสิทธิ์โดยมิชอบ

ประการที่สองคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้ต่อเมื่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไม่บีบคั้นให้ประชาชนต้องก่อเหตุความรุนแรงนั่นเอง

ประการที่สาม ปัจจัยทางสังคมวิทยา หากพิจารณาตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ มีความจำเป็นจะต้องขยับปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไปตามยุคสมัย ซึ่งการศึกษา ความยากจน สวัสดิการ สาธารณสุข ล้วนเป็นปัจจัยหนึ่งในความล้มเหลวของประชาธิปไตย และ

ประการที่สี่ ความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยของคนในชาติ

ความดื่มด่ำในประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารในไทยนั้น นับได้ว่าเป็นความล้มเหลวของการปกครองที่ทุกฝ่ายต่างอ้างว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 มาโดยตลอด หากเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องถือว่าเป็นการปกครองที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่เสมอ ประชาธิปไตยของประเทศไทยจึงมีความเป็นไทยตามลายลักษณ์อักษร (รัฐธรรมนูญไทยและกฎหมายอื่น) เท่านั้น ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” พร้อมกับได้กล่าวอ้างถึงการทำให้หลายคนมีโอกาสในการเยียวยาอาการป่วยไข้ที่ต้องเผชิญ (การปฏิรูป) ถึงกระนั้นการเยียวยาดังกล่าวด้วยการวางโครงสร้างรัฐในอุดมคติเกิดจากกลุ่มชนชั้นหนึ่งที่มิได้ตกอยู่กับรัฐบาลที่มีที่มาจากประชาชน ตราบใดที่ยังใช้วิธีไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งสอดรับกับสถาบันต่าง ๆ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมด้วยแล้ว เราจะกล่าวได้อย่างไรว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตผลประโยชน์จะตกแก่ประชาชน การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารจึงถือเป็นการส่งไม้ต่อให้กับความรุนแรงที่จะเกิดตามมาภายหลังได้ง่าย เป็นความรุนแรงทางการเมืองของรัฐ (state violence) ที่มีเป้าหมายที่แน่นอนคือ ประชาชนและระบบกฎหมาย

ในเรื่องของความรุนแรงนั้น ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, 2553: 91) ว่าการศึกษาเรื่องความรุนแรงโดยรัฐ (state violence)  หรือการก่อความสยดสยองโดยรัฐ (state terror) หรือการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrotism) นั้น ปรากฏในงานวิชาการค่อนข้างน้อยหากไม่นับรวมงานวิจัยเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นความรุนแรงโดยรัฐในแบบที่ชัดเจนและรุนแรงอย่างมาก ในเบื้องต้นต้องเริ่มต้นตั้งคำถามว่า ความรุนแรงอย่างไรที่เรียกว่าเป็นความรุนแรงของรัฐ ซึ่งอาจให้ความหมายได้ว่า เป็นการที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรุนแรงนอกขอบเขตของกฎหมายต่อพลเมืองของตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อข่มขู่ กำจัด และควบคุมทางการเมือง (Nagengast 1994; Stohl and Lopez 1984, Rummel 1994) ตามความหมายข้างต้นอาจผู้เขียนเห็นว่า ข้อคำถามอยู่ในเรื่องของขอบเขตของกฎหมาย หากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่นั้นเป็นกฎหมายที่ดี (Good Law) เป็นกฎหมายที่บังคับใช้แล้วไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน  การที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายนั้นก็ย่อมมีความชอบธรรม (legitimacy) ในการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมาย ในทางตรงกันข้ามหากขอบเขตของกฎหมายหมายความรวมถึงกฎหมายที่กระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพประชาชน จะถือได้หรือไม่ว่า รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจภายใต้ขอบเขตของกฎหมายนั้นแล้วจะได้รับความชอบธรรมตามการใช้อำนาจรัฐทางกฎหมายและไม่ถือเป็นความรุนแรงโดยรัฐ ในทัศนะนี้ผู้เขียนเห็นต่อไปอีกว่า การให้ความหมายของความรุนแรงโดยรัฐมีหลักการสำคัญประการหนึ่งคือ รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีปริมณฑลของการใช้อำนาจที่ชัดเจน โดยต้องมีกฎหมายให้อำนาจกระทำการและตรวจสอบการกระทำการ ตามหลักทั่วไปของกฎหมายมหาชน คือ ไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมาย รวมทั้งกฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสภาวการณ์ปกติของรัฐตามระบอบประชาธิปไตย (ระบบรัฐสภา) เท่านั้น

ความรุนแรงของรัฐมักจะเกิดมากที่สุดในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จนกลายเป็นความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งเป็นความเสื่อมถอยของประชาธิปไตย  การเปิดประเด็นคำถามเช่นนี้ผู้เขียนมีความคิดบนพื้นฐานที่ว่า การเมืองแบบประชาธิปไตยจะเป็นหลักประกันให้กับประชาชนได้ดีที่สุด เพราะความเป็นประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) หรืออย่างน้อยที่สุดการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีส่วนเสียหายน้อยกว่าระบอบอื่น ๆ นั่นเอง (สุรชาติ บำรุงสุข, 2551: 15) และยังก่อให้เกิดคุณค่าสำคัญสองประการคือ

1) ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเป็นเจ้าข้องอำนาจอธิปไตยในการถอดถอนและโค่นรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐสภา

2) ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขปัญหาขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งนี้หมายถึง การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักการพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก

เมื่อสังคมการเมืองว่าด้วยรัฐเป็นสิ่งห้อมล้อมไปด้วยอำนาจรัฐ ซึ่งอำนาจรัฐที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรมต่างก็ซ่อนเร้นไปด้วยความรุนแรง และการกำหนดแบบแผน/กระบวนการเรียนรู้ (อัตลักษณ์) ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป หากใช้นวัตกรรมทางความคิดของโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung)ที่สั่นสะเทือนวงการสันติศึกษาโดยผ่านเลนส์ความรุนแรงนั้น หมายถึง ช่องว่างระหว่างความเป็นจริงกับศักยภาพ (ศักยภาพที่จะเป็นจริง) เราสามารถแบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) ความรุนแรงทางโครงสร้าง (Structural Violence)  และความรุนแรงทาวัฒนธรรม  (Cultural Violence)[3] อธิบายได้ว่า

ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence)  เป็นความรุนแรงที่มองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนต่อชีวิตและร่างกาย กล่าวคือ ในแง่พฤติกรรม (behavior) โดยมีทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ โดยผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอาจเป็นได้ทั้งบุคคลเดียวหรือกลุ่มบุคคล ผลที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจนทางกายภาพ  เช่น มีรอยบาดแผล หรือการสูญเสียอวัยวะ รวมทั้งการเสียชีวิตด้วย หรือนับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้ ตลอดจนถึงระบุลักษณะของอาวุธที่ใช้ได้ เช่น อาวุธมีด ปืน ระเบิดชนิดต่าง ๆ เป็นต้น เช่น คณะรัฐประหารใช้กองกำลังทำร้ายประชาชน หรือประชาชนใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

ความรุนแรงทางโครงสร้าง (Structural Violence) กล่าวคือ การบาดเจ็บ เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย จิตใจได้รับผลกระทบนั้น เราอาจอธิบายได้ผ่านทางความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เนื่องจากความรุนแรงทางโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ที่มีการสร้างความถูกผิด หรือสภาพบังคับทางสังคม เช่น คณะรัฐประหารเร่งออกกฎหมายโดยใช้ระยะเวลารวดเร็วผิดปกติ กฎหมายที่บังคับใช้จึงก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายตามมาภายหลัง จึงทำให้บุคคลในสังคมมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง มีความขัดแย้งในทางการเมืองบ่อยครั้ง แบบแผน (Norm) ของสังคมผิดเพี้ยน อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลผลิตของสังคม และยังส่งผลไปถึงระดับครอบครัว การศึกษาอีกด้วย[4] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งความรุนแรงทางโครงสร้างคือความไม่เป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งความไม่เป็นธรรมเช่นว่านี้เป็นชนวนไปสู่ความรุนแรงได้

ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (Culture Violence) เป็นความรุนแรงที่สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าถูกต้อง ชอบธรรม ยอมรับได้ อาจเกิดจากการศึกษาที่มีการกำหนดรายละเอียดในแบบเรียน[5] เพื่อปลูกฝังความเชื่อ ค่านิยมตามที่ผู้ปกครองต้องการ  ท้ายที่สุดจะถูกหล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง [6] ที่จะไปสถาปนาและกำหนดสัมพันธภาพทางอำนาจในอนาคต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ผัวเมียตีกัน สังคมบอกว่าอย่าไปยุ่งกับผัวเมียเขา หรือหัวหน้างานคอร์รัปชั่นร่วมกับลูกจ้าง ลูกจ้างก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเห็นว่าตนเองก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย หรือทหารใช้กำลังทำร้ายผู้ชุมนุม มีการบาดเจ็บ เสียชีวิต สังคมส่วนหนึ่งบอกว่า เห็นด้วยที่ทำเช่นนั้น เพราะคนเหล่านี้สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง เป็นต้น

 คำถามคือ เราจะอธิบายเหตุการณ์ความขัดแย้ง/รุนแรงเหล่านี้ได้อย่างไร?  นี่อาจเป็นคำถามพื้นฐานง่าย ๆ ที่หลายคนอาจมองข้ามได้ว่าเป็นคำถามที่ไม่ประเทืองปัญญา เพราะสิ่งที่กล่าวมาหรือยกตัวอย่างมาข้างต้น ทำให้พอทราบได้แล้วว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และผลเป็นอย่างไร ผู้เขียนจึงขออธิบายโดยการยกคำกล่าวของโยฮัน กัลตุง ที่กล่าวไว้ว่า การเข้าใจความขัดแย้งได้นั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจพื้นฐานญาณวิทยา (Epistemology Basic) และหากจะรู้ญาณวิทยา ก็ให้ลองตั้งคำถามโง่ๆ (ง่าย ๆ ) ก็อาจนำเราไปสู่ความสงสัยใคร่รู้ได้ 

ดังนั้น เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สร้างความเป็นเรา – เขา, เรื่องเล่าที่มีความบิดเบือน ตอกย้ำเรื่องเล่าที่ไม่เป็นจริงให้เป็นจริง  หรือภาษา ศาสนา ความเชื่อที่เป็นผลสืบเนื่องจากอดีต มีความเป็นได้ที่จะเกิดการถักถอเสมือนใยแมงมุม และเดินทางผ่านกาลเวลาถึงปัจจุบันอาจก่อเกิดเป็นความขัดแย้งได้อยู่เสมอนั่นเอง

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงรัฐประหารย่อมปรากฏมโนภาพของทหารที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ทหารกับการเมืองการปกครองนั้นเมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่า การเมืองไทยที่ผ่านมายังคงเป็นวงล้ออยู่กับเรื่องของทหาร (รัฐประหาร) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มพลังทางสังคมหนึ่งที่ร่วมมือกับอามาตยาธิปไตยหลัง 2475 เป็นต้นมา[7] ที่แทรกแซงการเมืองไทยอยู่ตลอดเวลา อันที่จริงผู้เขียนคิดมาเสมอว่าภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คงจะไม่มีการรัฐประหารอีกแล้ว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการตอกย้ำความล้มเหลวทางการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ทั้ง ๆ ที่ทุกฝ่ายต่างก็ตระหนักเป็นอย่างดีกว่าการใช้กำลังกองทัพหรืออำนาจทหารนั้นไม่ใช่คำตอบหรือทางออกสุดท้ายในกระบวนการพัฒนาการเมือง ดังนั้น การหวนคืนกลับมาของรัฐประหารในไทยล่าสุด จึงไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นนอกจากจะเป็นความจริงของการเมืองไทยว่าบทเรียนความล้มเหลวทางการเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยเป็นบทเรียนให้กับคนไทยได้อย่างจริงจัง ทหารและกลุ่มผู้สนับสนุนก็ยังมีความเชื่อเสมอว่า พวกเขาสามารถแทรกแซงการเมืองไทยด้วยวิธีการรัฐประหารได้ตลอดเวลา ในอนาคตก็ไม่มีหลักประกันใด ๆ ให้กับการเมืองไทยได้ว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ความคิดเช่นว่านี้ถือว่าเป็นพิษร้ายของประชาธิปไตยไทย

การสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประการก็เช่นเดียวกัน ปรากฏมาให้เห็นในรูปของคำแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร เช่น ในปี 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ให้เหตุผลของการยึดอำนาจว่า ทหารมีความจำเป็นในการก่อรัฐประหารเพราะการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดินอันส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง  หน่วยงานองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง (กองบรรณาธิการไอ.เอ็น.เอ็น., 2549) หรือในปี 2557 ตามประกาศฉบับแรกระบุถึงสาเหตุหลักว่า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงอันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นไปเพื่อปฏิรูปโครงสร้างประเทศ เพื่อให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

ผู้เขียนเห็นว่า เหตุผลข้างต้นเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้เกิดความชอบธรรมจากการยึดอำนาจ การยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะมีน้ำหนักเพียงพอต่อการโค่นล้มรัฐบาล เพราะขบวนการประชาธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ดำเนินไปโดยประชาชนอยู่แล้ว ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่เจ้าของอำนาจคือประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ (เจษฎา โชติกิตภิวาทย์, 2551) มีแต่วิธีการทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำมาถอดถอนรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะไร้สมรรถภาพหรือทุจริตคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด วิธีการและข้ออ้างทั้งหลายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถือว่าผิดกฎหมายและไม่อาจยอมรับได้ในขบวนการประชาธิปไตย

และจะเห็นได้ว่าเหตุผลของการรัฐประหารจะพุ่งเป้าไปที่นักการเมือง การเลือกตั้ง และประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงที่ถือว่าเป็นเหยื่อทางการเมืองโดยตรง กล่าวคือ เหตุที่ต้องรัฐประหารเพราะนักการเมืองคอร์รัปชั่น เพราะต้องการถอนทุนคืนจากการซื้อเสียงเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนถึงเรื่องจริยธรรม คุณธรรมทางการเมือง การไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อาจเพียงพอที่จะกล่าวได้ว่าเป็นชุดความคิดที่ฝังรากลึกในสังคมการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัย

ไม่ว่าเหตุผลอันจริงแท้เป็นอย่างไรในการก่อรัฐประหาร แต่ภายหลังการรัฐประหารก็มีความพยายามออกแบบระบบการเมืองใหม่ ทว่าสุดท้ายก็เสียของเฉกเช่นในอดีตที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว การเมืองไทยจึงไม่เป็นไปตามที่ “คนดี” ปรารถนา และนำพามาซึ่งวงล้อแห่งการรัฐประหารที่เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ พร้อมกับการปฏิรูปครั้งใหม่ภายใต้การชี้นำของคนดีที่อยู่เหนือประชาชนคนในประเทศอีกเช่นกัน

2.2  ข้อคิดการกำหนดกระบวนการการเรียนรู้ภายหลังรัฐประหาร

ในเรื่องของการกำหนดอัตลักษณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ภายหลังการรัฐประหารเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรค่าแก่การให้ความสนใจ

การกำหนดอัตลักษณ์มีทั้งการกำหนดอัตลักษณ์ให้กับตนเอง (One identifies oneself) การกำหนดอัตลักษณ์ให้ผู้อื่น (One identifies other) และการที่ตัวเราถูกผู้อื่นกำหนดอัตลักษณ์ให้ (One identified by others) โดยอัตลักษณ์แต่ละรูปแบบที่เกิดขึ้นเมื่อมีความแตกต่างกัน กระบวนการเรียนรู้จึงย่อมแตกต่างกัน และความรุนแรงที่พร้อมจะปะทุก็ย่อมมีได้หลากหลายรูปแบบเช่นเดียวกัน ดังที่อามารตยเซน กล่าวไว้ว่า อัตลักษณ์มีมากมายและหลากหลายตามระดับของอัตลักษณ์ แต่ทว่าความขัดแย้งที่อาจจำไปสู่รุนแรงนั้นจะเกิดขึ้นเพราะการสร้างอัตลักษณ์ให้เหมือนกันขึ้นมา ด้วยเหตุนี้การจงใจกำหนดอัตลักษณ์จึงเป็นสภาวะที่อาจทำให้หลงและหลอน รวมทั้งสร้างความเป็นอื่นไปได้

 ภายหลังการรัฐประการทุกครั้ง พื้นฐานหรือกรอบมโนทัศน์ของความคิดการเมืองไทยไม่ต่างจากครั้งสมัยการสร้างรัฐชาติเท่าใดนัก เพราะเป็นคำเรียกองค์กรทางการเมืองสมัยใหม่ที่มีกำเนิดมาไม่น้อยกว่าร้อยปี เพราะสามารถสร้างและส่งเสริมความรู้ว่า คนในชาติเดียวกันเป็นเชื้อสายเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองและความผูกผันต่อกัน รวมทั้งสามารถลบล้าง ขจัด หรือปิดกั้นสำนึกในรูปแบบอื่นที่อาจนำไปสู่ความแตกต่างหลากหลายนั่นเอง โดยมีความพยายามจะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมาใหม่อยู่เสมอจากการผสมกลมกลืนเอาวัฒนธรรม วิถีชีวิต ค่านิยม ความเชื่อของคนไทย ที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์มากที่สุด คือ เรื่องความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนปลูกฝังความความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เหล่านี้ล้วนเป็นอิทธิพลทางความคิดที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคน จึงเป็นธรรมดาวิสัยที่ความคิดทางการเมืองไทยดำเนินไปตามกรอบคิดของสังคมในยามบ้านเมืองอยู่ในสภาวการณ์ปกติด้วย แม้กระทั่งนักวิชาการหรือชนชั้นนำของไทยก็ยังคงให้การยอมรับกับแนวคิดข้างต้น เราอาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งการบริหารประเทศโดยคณะรัฐบาลพลเรือนหรือทหาร

วัฒนธรรมทางการเมือเช่นว่านี้ รวมไปถึงหลักคิดว่าด้วยอำนาจอันชอบธรรมของผู้ปกครอง (political authority) ที่ถูกทำให้เชื่อว่าคำอบรมสั่งสอนของผู้ปกครองคนเดียวเท่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ประเทศขับขันบุคคลผู้นั้นเปรียบเสมือนอัศวินขี่ม้าข้าว

นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยในปี2475 นั้น เริ่มปรากฏให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ทั้งในทางการเมืองการปกครอง การบริหารราชการ รวมไปถึงในด้านสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน เมื่อในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ รัฐนิยม 12 ประการ[8] เปรียบเสมือนแนวนโยบายของรัฐบาลที่เป็น “นโยบายสร้างชาติ”  ดังคำกล่าวปราศรัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ว่า “ความหมายของการสร้างชาตินั้นมีว่า ชาติไทยมีอยู่แล้ว แต่สถานะบางอย่างของชาติยังไม่ขึ้นถึงขั้นระดับสมความต้องการของประชาชาติไทย เราจำเป็นต้องพร้อมใจกัน สร้างเพิ่มเติมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ช่วยกันปรับปรุงไปจนกว่าเราทุกคนจะพอใจ หรืออย่างน้อยก็ได้ระดับเสมออารยะประเทศ”  

ความริเริ่มประการหนึ่งที่ถือว่าเป็นสิ่งอันเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นอย่างแท้จริงก็คือ การประกาศสิ่งที่เรียกว่า “รัฐนิยม” อันเป็นประกาศเกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติที่มีอารยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับให้ใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ รัฐนิยมในหมายความนี้คือ การปฏิบัติให้เป็นประเพณีนิยมที่ดีประจำชาติ เพื่อให้บุตรหลานอนุชนคนไทยเรายึดถือเป็นหลักปฏิบัติ รัฐนิยมนี้มีลักษณะและละม้ายคล้ายคลึงกับจรรยามรรยาทของอารยชนจะพึงประพฤตินั่นเอง ในรัฐนิยมยังมีพฤตติกรรมเพิ่มพิเศษขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ อำนาจมหาชน ซึ่งคำว่าอำนาจมหาชน จอมพล ป. แปลมาจากคำว่ามติมหาชน ซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว หมายความว่า การทำสิ่งใดให้ดำเนินตามความเห็นของส่วนมากของชาติ ความเห็นดีเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่นั้นก่อให้เกิดอำนาจมหาชนขึ้น อำนาจมหาชนนั้น สามารถทำการปรับปรุงหรือปราบปรามกลุ่มชนส่วนน้อยที่ยังว่านอนสอนยาก

ในการรัฐประหารปี 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มีความพยายามกำหนดกระบวนการการเรียนรู้ผ่านค่านิยม 12 ประการ[9] ไว้ในแบบเรียน และวาทกรรมคืนความสุขให้คนในชาติเช่นเดียวกัน

ผู้เขียนเห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวทั้งนโยบายสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อธิบายได้ว่า มีพื้นฐานคิดเดิมจากความต้องการเสริมสร้างจิตสำนึกความรักชาติและความเป็นไทย การเสริมสร้างดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นลอย ๆ หากแต่ต้องอาศัยกลไกหลายอย่าง เช่น การศึกษาในแบบเรียนที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการจดจำ แต่มิได้หมายความว่าจะมีกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความรู้ หรือภาษา นโยบาย กฎหมาย เป็นต้น การกระทำในลักษณะนี้ไม่แตกต่างจากการสร้างรัฐชาติในยามบ้านเมืองปกติที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าการสร้างชาติภายหลังการรัฐประหารแต่ประการใด ประชาชนในประเทศที่เรียกว่าคนกลุ่มน้อยก็จะถูกเกลื่อนกลืนเข้าไปรวมกับคนกลุ่มใหญ่ ความหลากหลายต่าง ๆ จะกลายเป็นหนึ่งเดียวบนความไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรมที่อาจเกิดขึ้นมากกว่าเดิมก็เป็นไปได้

หัวหน้าคณะรัฐประหารกับวาทกรรมคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นไปได้ทั้งความสุขและความทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย อีกทั้งความสุขไม่ได้อยู่ที่การมีชนชั้นในสังคมมามอบให้เพียงคำพูดอันสวยหรู แม้ผู้พูดจะมีเจตนาดีก็ตาม เช่นเดียวกันการรัฐประหารที่ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้นโยบายต่าง ๆ นานาเฉพาะหน้า หากยังเป็นการแสวงหาความสุขลอย ๆ อยู่กับสิ่งที่ไม่ถาวรยั่งยืน (ประชาธิปไตย) ความสุขที่คนในชาติฝันใฝ่จะบังเกิดขึ้นได้อย่างไร

การมีแนวนโยบายปลูกฝังค่านิยมและความเป็นไทยเพื่อสร้างอัตลักษณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันภายหลังการรัฐประหาร จึงเป็นเรื่องที่วนเวียนกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนมนุษย์ที่จมอยู่กับห้วงคิด เป็นการกำหนดอัตลักษณ์ที่ตัดขาดจากโลกความเป็นจริงที่มีความแตกต่างหลากหลายและโดยที่มนุษย์มีอิสรภาพอย่างสิ้นเชิง ตลอดจนเป็นไปตามคำกล่าวของเอมมานูเอล ค้านท์ ที่กล่าวว่า การทำให้มนุษย์สูญเสียศักยภาพที่จะกำหนดทิศทางของตนเอง โดย การใช้มาตรวัดตามมโนธรรมสำนึกจากสิ่งอื่น จึงไม่อาจนำมาวัดเปรียบเทียบกันได้ มิเช่นนั้นจะทำให้อิสรภาพของมนุษย์ถูกทำลาย เขาคนนั้นจำต้องกระทำตามแรงบีบของสังคม ที่มิใช่เสียงจากธรรมชาติ ศักดิ์ศรีและรากฐานทางศีลธรรมก็จะเลือนหายไปด้วย (อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, 2546 : 11)

อย่างไรก็ตาม การโหยหาหรือหวนกลับไปหาอัตลักษณ์ในอดีตก็จะมีผลเป็นการสร้างกรอบที่จำกัดและหยุดนิ่งตายตัวแก่อัตลักษณ์ เพราะการหวนกลับไปอดีตมีนัยแฝงว่าจุดเริ่มหรือจุดกำเนิดในอดีตคือที่มาของอัตลักษณ์เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังเป็นการแฝงด้วยการให้คุณค่าทางศีลธรรมและจริยธรรมกับอดีต รวมทั้งแฝงไปด้วยเส้นกั้นบาง ๆ ระหว่างคนที่ไม่เห็นด้วยอีกด้วย  ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่อาจกลายเป็นปฏิกิริยาและเครื่องมือของความรุนแรงทาการเมืองได้เสมอ(อภิญญา เฟื่องฟูสกุล,.อัตลักษณ์. 2546 : 135)

ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธการสร้างอัตลักษณ์แต่อย่างใด หากแต่การสร้างอัตลักษณ์จะต้องเป็นอัตลักษณ์ที่ดีตามที่วอลเตอร์ นิกกอรสกี ได้กล่าวไว้ในเรื่องวิกฤตจริยธรรมว่า การสร้างอัตลักษณ์ที่ดีจะต้องเสริมอัตลักษณ์ของบุคคลให้เข้มแข็ง สามารถแสดงออกได้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้เขาคนนั้นรับใช้ความเป็นอิสระ และมีศักดิ์ศรีเหมาะสมกับการเป็นเสรีชน  (Thomas Lickona  แปลโดย สวัสดิ์ ประทุมราช,2545: 51) และยิ่งไปกว่านั้น หากการสร้างอัตลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้เบื้องหน้า เพื่อเสริมความเป็นประชาธิปไตยให้คนในชาติด้วยแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างแน่วแน่ยิ่งกว่าสิ่งใด

สุดท้ายแล้วการปกครองระบอบประชาธิปไตยถือเป็นระบอบการปกครองที่ไม่อาจดีที่สุดแต่เป็นระบอบการปกครองที่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในระดับหนึ่ง การใช้อำนาจทั้งในสภาวการณ์บ้านเมืองปกติและไม่ปกติย่อมต้องมีกฎหมายให้อำนาจและใช้อำนาจนั้นโดยสุจริต  อย่างน้อยที่สุดจะช่วยลดทอนความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคม เพราะมีกฎ กติกาการอาศัยอยู่ร่วมกัน การดำเนินการบริหารประเทศด้วยวิธีการใด ๆ จำเป็นต้องเข้าใจสัจธรรมหรือความเป็นจริงของเรื่องนั้น ๆ เพื่อจักได้กำหนดแนวทางและวิธีการแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม (social justice) โดยผ่านการรักษาระเบียบสังคม (social order) ไว้อย่าให้วิบัติเสื่อมคลายจนเกิดวิกฤตทางการเมือง ตลอดจนการหล่อเลี้ยงซึ่งความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ (economic prosperity) อย่าให้ผู้คนอดอยากปากแห้ง และผู้ปกครองต้องไม่เผด็จการ (enlightened despot) คือ บริหารทำหลักวิชา มีคุณธรรม มิใช่ใช้อำนาจโดย
ไร้ขอบเขต (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, 2556: 106) 

3.  บทสรุป

บทความเรื่อง ความไม่เป็นประชาธิปไตย (รัฐประหาร) ว่าด้วยข้อคิดทางประชาธิปไตย และกระบวนการการเรียนรู้ แท้จริงแล้วผู้เขียนมีความพยายามจะชี้ให้เห็นว่า การรัฐประหารโดยการกล่าวอ้างเพื่อความเป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว ในทำนองเดียวกันเวลาพูดถึงประชาธิปไตย เราก็มักจะกระทำเพียงรูปแบบกันมาก เช่น อำนาจอธิปไตยต้องจัดองค์กรผู้ใช้อำนาจเป็น 3 ส่วน คือ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายตุลาการ พ่วงท้ายด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งอยู่เสมอ ทั้งที่ประชาธิปไตยโดยสารัตถะแล้วอยู่ที่เนื้อหาสาระโดยมีรูปแบบเป็นตัวนำไปยังจุดหมายปลายทางของประชาธิปไตย เสมือนกับโอ่งใส่น้ำ เรามีโอ่งใส่น้ำ ไว้เพื่ออะไร ก็เพื่อไว้เก็บน้ำไว้และใช้อุปโภคบริโภค
ได้สะดวกมิใช่หรือ ถ้าไม่มีน้ำ (สารัตถะ) โอ่งใส่น้ำ ก็ไม่มีความหมาย ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน แม้จะคิดค้นกลไกดีอย่างไร ถ้าไม่มีรูปแบบ (ประชาธิปไตย) และสารัตถะแล้ว ประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมาย

ขณะปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารประเทศจากคณะรัฐประหาร แม้ความพยายามจะสร้างความเป็นประชาธิปไตยก็ตามที หากประชาธิปไตยหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน ปัญหาประชาธิปไตยเวลานี้คือ ประชาชนสูญเสียอำนาจและศักยภาพในการตัดสินใจตามเจตจำนงของตนเอง พร้อมกับประชาชนส่วนหนึ่งที่พร้อมสละจิตวิญญาณหันไปหาวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผนวกกับการที่หลายฝ่ายบอกว่าเป็นช่วงแห่งการปฏิรูป ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยได้ชัดเจน เป็นช่วงของการหลงผิดและหลงทาง เพราะประชาชนมิได้เป็นศูนย์กลางหรือมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หากต้องการปฏิรูปเพื่อความสามัคคี ความสงบสุข การปฏิรูปจะต้องเป็นของประชาชนมากกว่ากลุ่มชนชั้นนำทางสังคม

ผู้เขียนมิได้พยายามจะบอกว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด เพราะเชื่อว่าหลายฝ่ายต่างก็ทราบดีถึงปัญหานานัปการที่เกิดขึ้นในยามที่เราเชื่อโดยสนิทใจว่านี่คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยได้ชื่อว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุดในบรรดาการปกครองทั้งหลาย[10] ต่างหาก เพราะนับแต่ระบอบประชาธิปไตยอุบัติขึ้นในโลกก็ด้วยความรักในเสรีภาพ การมีเสรีภาพ การรักความเป็นธรรมของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันมนุษย์ก็เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาที่เป็นตัวการสำคัญทำลายประชาธิปไตยให้ย่อยยับลงไป ถึงที่สุดแล้วนำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ไร้ประสิทธิภาพ เกิดความล้มเหลวของการบริหารราชการแผ่นดิน ประชาชนเอือมระอา ในที่สุดแล้วมีกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนจับอาวุธข้นมาขู่บังคับยึดอำนาจรัฐแล้วตั้งตนเป็นใหญ่ ด้วยเหตุนี้เราจำเป็นจะต้องคิดถึงเรื่องการเป็นประชาธิปไตย/ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมถึงเรื่องการกำหนดกระบวนการเรียนรู้ (อัตลักษณ์)ให้มากขึ้น นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับสังคมการเมืองไทย ณ เวลานี้

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปย่อมเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย คงจะไม่มีสิ่งใดจะให้ข้อคิดได้ดีไปกว่า นักรัฐศาสตร์อย่างนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่ได้เคยกล่าวไว้ในเรื่องอภิวัฒน์ 2475 (2546) ว่า

“ปัญหาที่สำคัญมีอย่างเดียวคือ แล้วเราจะจำมันอย่างไร เราจะตีความมันยังไง ที่สำคัญคือประวัติศาสตร์มันเป็นเรื่องที่มี 2 ภาระหน้าที่

หน้าที่หนึ่งคือเป็นหน้าที่ในเชิงของความรู้เป็นบทเรียนสอนใจ

อีกหน้าที่หนึ่งมันเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทางการเมือง การอบรมกล่อมเกลาทางการเมืองที่ดีมันทำผ่านประวัติศาสตร์ทั้งหมด

ปัญหาของสังคมไทยคือ เราไม่ตระหนักว่าเราอาจจะไปคิดในเรื่องของข้อเท็จจริง เรื่องข้อเท็จจริงเป็นเรื่องใหญ่ แต่คุณต้องอย่าลืมมิติอีกด้านหนึ่ง คือ การเป็นเครื่องมือทางการเมือง แล้วเมื่อประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง คุณจะรู้ว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องความจริงไม่จริง มันเกี่ยวว่าใครเป็นคนพูด ความจริงไม่สำคัญ ถามจริง ๆ มีใครอยากรู้ความจริง แล้วประวัติศาสตร์ในแง่มุมหลังนี่เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนัก มันถูกใช้ประโยชน์จากทุกฝ่าย ฝ่ายซ้ายก็ใช้ ฝ่ายขวาก็ใช้ ทุกคนใช้กันหมด คนละเล็กละน้อย”

พอจะสรุปได้ว่า การเมืองมีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีที่จดจำ เหตุการณ์ทางการเมืองจำต้องมีการศึกษาไว้เป็นบทเรียนเพื่อมีไว้สำหรับแก้ไขปัญหาในอนาคต เพื่อก้าวพ้นหลุดดำแห่งหายนะทางการเมือง เพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบุคคลที่ไม่หวังดี และเพื่อปลอดจากการกำหนดประวัติศาสตร์ทางการเมืองของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งของสังคม

สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดนี้ มีทั้งข้อคิด ทฤษฎีทางวิชาการที่เป็นนามธรรมอยู่บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดความลุ่มลึกทางองค์ความรู้ โดยเฉพาะทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเป็น/ไม่เป็นประชาธิปไตย และกระบวนการการเรียนรู้ของสังคมไทย (อัตลักษณ์) และอาจนำไปสู่ก่อร่างสร้างตัวความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคม บทความฉบับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและรอให้มีการสานหรือตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจรัฐภายหลังการรัฐประหารที่อาจส่งผลต่อความรุนแรงและการกำหนดอัตลักษณ์ที่ซ่อนและแอบอยู่ในสังคมไทยในอีกหลายแง่มุมในอดีตที่ผ่านมาหรือในอนาคตที่รอวันอุบัติขึ้นโดยที่มิได้อยู่ในกรอบงานบทความนี้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจกระบวนการการก่อรูปทางสังคมจากการใช้อำนาจรัฐต่อไป

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอทิ้งถ้อยความปิดท้ายไว้ว่า เมื่อการรัฐประหารเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง การสนับสนุนผู้ก่อการรัฐประหารจึงเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างถึงที่สุด คำตอบสุดท้ายของแนวโน้มการเมืองไทยหลังรัฐประหารเห็นว่า ภายหลังจากนี้ไป (ปี พ.ศ.2558) จุดเริ่มต้นการเมืองไทยเกิดขึ้นด้วยการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และอาจจะมีวิกฤตทางการเมืองที่ซ้ำซาก จำเจ ในรูปแบบเก่าภายในไม่ช้าก็เป็นได้ หากบุคคลในสังคมยังไม่ตระหนักถึงแนวทางและเป้าประสงค์แห่งกฎที่เป็นสากล (Cosmopolian intent) ในวิถีทางประชาธิปไตยร่วมกัน ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ (สันติวิธี) อันจะสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติไปสู่สันติภาพอันสถาพร (Perpetual Peace)[11]

 

 

 

 



[1] การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในสภาวการณ์ปกติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น มีการตราพระราชกำหนดเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ, พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) หรือกรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย หรือการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติการทางกฎหมายที่เป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีประชาชน เป็นต้น

[2] เป็นความขัดแย้งในสังคมระหว่างรัฐกับประชาชน และประชาชนด้วยกันเอง โดยมิอาจหาข้อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามกลไกที่มีอยู่ในระบบประชาธิปไตย รวมทั้งไม่สามารถเยียวยาปัญหาของประชาชนในบางเรื่องได้ ทำให้ทางเลือกของสังคมถูกตีกรอบจำกัดแคบลง แม้ทางออกของความขัดแย้งยังมีความพยายามแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีอยู่บ้าง (เจรจา/ไกลเกลี่ย) แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ความขัดแย้งจึงกลายเป็นความรุนแรงทางการเมือง

[3] สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ชัยวัฒน์ สถาอนันต์.  (2546).  อาวุธมีชีวิตแนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

[4] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)   (2549).  เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

[5] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ รวีวรรณ รักถิ่นกำเนิด เรื่อง สำรวจแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ “ชาติ” เป็นเครื่องมือทางการเมือง ได้ที่ http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5154.php

[6] อัลมอนด์ (Almond, 1965 อ้างถึงใน จิตภู เทพสมบูรณ์, 2475) เป็นผู้เริ่มใช้คำว่า “วัฒนธรรมทางการเมือง” (Political culture) เพื่ออธิบายแบบแผนพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคลในสังคมต่าง ๆ โดย Almond อธิบายว่า วัฒนธรรมทางการเมืองหมายถึงแบบแผนของความเชื่อ, ค่านิยมและทัศนคติของบุคคลที่มีต่อระบบการเมือง และต่อส่วนต่าง ๆ ของการเมือง

[7] สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ จารีตรัฐธรรมนูญกับสันติประชาธรรม, (2550) โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์.

[8] ประกาศรัฐนิยมอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2482-2485 รวมทั้งสิ้นจำนวน 12 ฉบับ ว่าด้วยเรื่องดังต่อไปนี้

รัฐนิยมฉบับที่ 1 เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

รัฐนิยมฉบับที่ 2 เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

รัฐนิยมฉบับที่ 3 เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย

รัฐนิยมฉบับที่ 4 เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

รัฐนิยมฉบับที่ 5 เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

รัฐนิยมฉบับที่ 6 เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

รัฐนิยมฉบับที่ 7 เรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

รัฐนิยมฉบับที่ 8 เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมี

รัฐนิยมฉบับที่ 9 เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี

รัฐนิยมฉบับที่ 10 เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย

รัฐนิยมฉบับที่ 11 เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย

รัฐนิยม ฉบับที่ 12 เรื่อง การช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพ

[9] ค่านิยม 12 ประการ ได้แก่

1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม

3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์

4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม

5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม

6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน

7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่

9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี

11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา

12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

[10] มาจากคำปราศรัยในสภาสามัญของเซอร์ วินสตัน  เชอร์ซิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 (Democracy is the worst form of Government except all those other forms that have been tired from time to time) อ้างถึงใน Antony Jay, ed., The Oxford Dictionary of Political Quotations (Oxford: Oxford University Press, 2001, p. 83.) อ้างถึงใน เกษียณ เตชะพีระ. (2546).ปัญหาของประชาธิปไตย : เอกลักษณ์, เสียงข้างมาก, สิทธิและความยุติธรรม. หน้า.1, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

[11] ยืมถ้อยคำมาจาก  วิเซนต์ มาติเนส กูสมัน (Vicent Martinez Guzman) ในงานเขียนเรื่อง “สันติภาพอันสถาพร” (Perpetual Peace) และ “เป้าประสงค์แห่งกฎที่เป็นสากล” (Cosmopolitan intent)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท