Skip to main content
sharethis

วีรบูรณ์ วิสารทสกุล อภิปรายในการเสวนา "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" อภิปรายการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยรอบ 2 ทศวรรษ แม้ผลการเติบโตทางเศรษฐกิจจะทำให้ความยากจนลดลง แต่ช่องว่างทางเศรษฐกิจยิ่งห่างกันมากขึ้น ผลวิจัยพบคนร้อยละ 50 รู้สึกว่าตัวเองยากจน พร้อมข้อเสนอว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตยด้วยการจัดการอำนาจแบบใด

คลิปการอภิปรายของวีรบูรณ์ วิสารทสกุล "หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน"

 

 

14 ม.ค. 2558 – ตามที่มีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2557 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งสมัชชาคนจนปีที่ 19 โดยการประชุมดังกล่าวจัดโดย สมัชชาคนจน ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยตอนหลังการปาฐกถาเปิด มีการเสวนาหัวข้อ “หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน” โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินรายการโดย อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

000

โดยการอภิปรายของวีรบูรณ์ วิสารทสกุล เขากล่าวว่า แม้ไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานร่วมกับสมัชชาคนจน แต่ในฐานะคนที่สนใจติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของคนจน คนด้อยโอกาส และทำงานพัฒนาชนบทมาบ้างก่อนที่จะมาสอนหนังสือ ผมคงพอมีประเด็นแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง ตามสติปัญญาจะอำนวย

"ผมขอเริ่มจากความเชื่อโดยพื้นฐานก่อนคือ ผมเชื่อว่า ความยากจน คนจน ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนกับคนรวยนั้น มีส่วนอย่างมากจากการกำหนดนโยบายของรัฐ ดังนั้นการเข้าไปมีอิทธิพลต่อนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะโดยอ้อมที่ผ่านการเลือกตั้งพรรคการเมืองเข้าไปเป็นรัฐบาล หรือ ผ่านทางตรง เข้าไปใช้กระบวนการเจรจา ต่อรอง กับภาคปฏิบัติของนโยบายรัฐ ผมถือว่าเป็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยทั้งสิ้นและก็เชื่อว่าประชาธิปไตยทั้ง 2 รูปแบบ จะช่วยทำให้คำแถลงของสมัชชาคนจนที่ว่า “เราต้องการประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน” เข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากขึ้นเรื่อยๆ"

ถ้ามองผ่านเรื่องของอำนาจ เราอาจพูดได้ว่า ประชาธิปไตยแบบหนึ่งเป็นแบบที่เราอยากจะสร้างอำนาจนำ ส่งตัวแทนเข้าไปมีอำนาจในรัฐ เพื่อออกกฎหมายและนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มันไม่ชอบธรรมไม่เป็นธรรมขณะที่อีกแบบหนึ่งเป็นแบบที่เราเรียกมันว่า เป็นการต่อรองอำนาจ หรือต่อรองอำนาจรัฐ ไม่ให้มันถูกใช้อย่างไม่เห็นหัวเรา ไม่ให้มันถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม บางพวกเท่านั้น ซึ่งในตอนท้าย ผมคงต้องวกกลับมาเพื่อตั้งคำถามว่าตามที่สมเกียรติ พ้นภัย กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองเปลี่ยน และความอ่อนล้าของสมัชชาคนจน ขบวนคนจน เราจะเลือกใช้อำนาจในรูปแบบใดเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย

วีรบูรณ์ เริ่มต้นอภิปรายจากมุมมองระดับกว้าง โดยระบุว่า เพื่อยืนยันว่า คนจนต่างหากที่มีทัศนะและปฏิบัติการต่อประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ซึ่งเอาเข้าจริงคงมากกว่าที่ผมมีเสียด้วยซ้ำ งานวิจัยนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ Poverty, Participation, and Democracy: A Global Perspective ซึ่งมี อนิรุธกฤษณะ (Anirudh Krishna) เป็น บก. (2008) และเป็นทีมที่ทำงานวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยของคนยากคนจนในประเทศที่ยังมีเศรษฐกิจไม่ดี ครอบคลุมตัวอย่างทั้งหมด 24 ประเทศจาก 3 ทวีป ได้แก่ ทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าคนจนในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ให้คุณค่าแก่ประชาธิปไตยด้อยไปกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าในประเทศเดียวกัน ขณะที่ มีความศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยของคนจนเท่าๆ กับประชาชนกลุ่มอื่นๆ และคนจนยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมเดียวกันมากนัก นักวิจัยยังชี้อีกว่า แม้ว่าอิทธิพลทางการเมืองของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ยังคงไม่หมดไป แต่มันกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยได้ค่อยๆ ปลูกฝังอยู่ในสำนึกและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาดีขึ้นในระยะยาว

"แต่รูปธรรมในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผมเห็นว่าขบวนการสมัชชาคนจนได้สร้างคุณูปการต่อการเปิดพื้นที่ของสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่กินได้ให้กับสังคมไว้แล้ว โดยขบวนการชาวบ้านได้เข้าไปเรียกร้อง ต่อต้าน เดินขบวนเพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม โรงแยกกาซ โรงไฟฟ้า เหมือง ที่ดิน ป่าไม้ การค้าระหว่างประเทศ ยา เรื่องราวเหล่านี้มันได้โผล่ปรากฏบนสื่อทุกชนิด มันช่วยเปิดพื้นที่การรับรู้ของคนหนุ่ม คนสาว คนในเมือง ให้เห็นประชาธิปไตยในทางปฏิบัติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปจะสามารถเข้าไปมีส่วนอย่างแท้จริงในกระบวนการพัฒนาประเทศ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องลำบากแสนสาหัส และมีคนบางส่วนเห็นว่าเป็นการขัดขวางความเจริญของประเทศก็ตาม"

ในช่วงหนึ่งวีรบูรณ์อภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ของสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม และของรุ่นคน และความอ่อนล้าของขบวนคนจนและพี่เลี้ยง โดยการเปลี่ยนแปลงแรกที่ขอพูดถึง คือ สภาพการณ์ของคนจนในวันนี้ มีความแตกต่างจากเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้วอย่างมาก ตัวเลขทางสถิติชี้ให้เห็นว่า สังคมไทย มีคนจน และความยากจน ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการวัดจาก รายได้ตามเส้นความยากจน หรือ จะวัดจากรายจ่ายเพื่อการบริโภค โดยในปี 38 เรามีคนจนประมาณ 9-10 ล้านคน แต่ในปีนี้ คนจนลดลงเหลือไม่ถึง5 ล้านคน แม้ว่าตัวเลขจากแต่ละแหล่งข้อมูลจะไม่ตรงกัน แต่มันมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่ความรุนแรงของความยากจนในกลุ่มประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในปีปัจจุบัน ก็พบความรุนแรงของความยากจน น้อยกว่า ประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความจนในปี 2538 เช่นกัน

หรือ งานศึกษาของ อ.อภิชาติ สถิตนิรามัย อ.ยุกติ ยุกดาวิจิตร และ อ.นิติ ภวัครพันธุ์ ใน ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย ก็ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “ชนชั้นกลางรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงทำให้ความยากจนลดลงไปมาก ส่วนชนชั้นใหม่นี้จะมีประมาณ 40% ของครัวเรือนไทยในปี 2552ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม ชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งเกิดมาในช่วงที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดพื้นที่ทางสังคมอย่างกว้างขวาง

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 2 คือ พละกำลังของขบวนการคนจน กำลังอ่อนล้าลง เมื่อก่อนเราอาจเห็นสมาพันธ์ชาวไร่ชาวนาแห่งประเทศไทยเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เครือข่ายสลัม ที่หากมีการเคลื่อนไหว ก็จะเป็นการเคลื่อนไหวกันทั้งประเทศ ทุกภาคพร้อมที่จะขยับ แต่เดี๋ยวนี้ ภาพการขยับทั้งประเทศแบบนั้นคงหาได้ยาก หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ซึ่งทั้ง อุเชนทร์ เชียงเสน / สุวิทย์ วัดหนูและ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ต่างมีข้อสังเกตไปในทางเดียวกันว่า ความอ่อนแอดังกล่าวเกิดจากปัจจัยภายใน ที่หลายกลุ่มปัญหามุ่งตอบสนองการแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า ที่รัฐบาลทักษิณคอยจัดให้ มากกว่าจะเชื่อมโยงและพัฒนายกระดับการต่อสู้ในประเด็นเฉพาะของตนเองเข้ากับปัญหาเชิงโครงสร้าง

การเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่ 3 คือ การนิยามว่า เราเป็นใคร คนจน ขบวนคนจน ขบวนการภาคประชาชนที่เมื่อก่อน เราอาจพูดหรือนิยามตัวเองชัดและเต็มปากโดยเฉพาะในฐานะคู่ตรงข้ามกับรัฐ และสามารถบอกเล่าได้ว่ามีส่วนในการฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างไร

แต่มาในปัจจุบัน คำเรียกเหล่านี้มันถูกทำให้เบลอ หรือทำให้มีความหมายแตกต่างไปจากเดิมโดยฝ่ายอื่นๆ

ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2548และ มวลมหาประชาชน (กปปส.) ในปี 2556ต่างก็ประกาศว่าตัวเอง เป็นขบวนการประชาชน เป็นการเมืองภาคพลเมือง แต่มันมีคำถามใหญ่ว่า เหตุใดคำว่า“ขบวนการประชาชน” ที่เคยอ้างว่ามีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูประชาธิปไตย จึงกลายมาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเสียเอง

และที่ต้องยอมรับมากกว่านั้น ก็คือ ขบวนการคนจน / พี่เลี้ยง อย่าง NGO หรือนักวิชาการเองบางส่วนก็เข้าร่วมกับพันธมิตร เข้าร่วมกับมวลมหาประชาชน และอาจอยู่ในฐานะแกนนำเสียด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ผมไม่ได้บอกว่าอะไรถูกหรือผิด แต่มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเราต้องทำความเข้าใจกับมันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 4 คือ ความเหลื่อมล้ำ โดยในท่ามกลางตัวเลข คนจน – ความยากจนที่ลดลง ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่ง อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร บอกว่าเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐที่มีลักษณะ ไม่เน้นการกระจายรายได้ ความมั่นคงอย่างทั่วถึง มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ใช้แรงงานราคาถูก ละเลยภาคเกษตร ส่งผลให้ความเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นถูกแบ่งปันไปอย่างลักลั่นความมั่งคั่งกระจุกตัวสูงอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยส่วน อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด” จนเกิดภาวะ หนึ่งรัฐสองสังคม

ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 ได้สำรวจข้อมูลความมั่งคั่งของครัวเรือนไทยเป็นครั้งแรก ครอบคลุมเรื่องการเป็นเป็นเจ้าของที่ดินบ้านรถทรัพย์สินทางการเงินและอื่นๆ พบว่าช่องว่างระหวางกลุ่มคนมั่งมีที่สุดร้อยละ 20 กับกลุ่มคนมีน้อยที่สุดร้อยละ 20 สูงถึง 69 เท่า หรือเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน อันนี้ในเชิงตัวเลข อ.ผาสุกยังชี้ว่า นอกจาก ข้อเท็จจริงเชิงตัวเลขความมั่งคั่งแล้ว ยังมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของความไม่เท่าเทียมตกค้างอยู่ในสังคมด้วย โดยอ้างงานสำรวจของ TDRI ที่สุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนของทั้งประเทศพบว่ากว่า3 ใน 4 ของตัวอย่างที่สอบถามเชื่อว่าช่องว่างด้านรายได้สูงเกินไป/ 1 ใน 3 คิดว่าห่างกันมากจนรับไม่ได้สำหรับกลุ่มรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 สัดส่วนที่บอกว่ารับไม่ได้มีสูงถึงเกือบร้อยละ 50 และอ.ผาสุก ยังอ้างงานของอ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ อ.พรชัยตระกูลวรานนท์ (2553) ซึ่งสุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนของทั้งประเทศเหมือนกันผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 50 บอกว่าตัวเองยากจนทั้งที่ตัวเลขของทางการบอกว่าคนจนมีร้อยละ 8 ทั่วประเทศ

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 5 นอกจากตัวเลขความเหลื่อมล้ำข้างต้นแล้ว อ.เสกสรรค์ ยังชี้ว่า ผลของ “การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด” ทำให้เกิด

- ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตยอันสำคัญในบางด้านบางส่วนไปเพราะถูกตลาดยึดตามกระแสโลกาภิวัตน์

- การใช้อำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ขาดฉันทานุมัติได้แต่เอะอะก็อ้างความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้งสี่ปีครั้งและอ้างชาตินามธรรมลอยๆอย่างลวงตาและกลวงเปล่าเพื่อปัดปฏิเสธและกลบเกลื่อนผลประโยชน์รูปธรรมของชาวบ้านกลุ่มต่างๆท้องถิ่นต่างๆที่ถูกหาว่าเป็น “คนส่วนน้อย” ของชาติเสมอ

เหล่านี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงบางส่วนในด้านเศรษฐกิจสังคม และข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในระบอบรัฐสภาไทย นอกจากนี้เรากำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของสิทธิเหนือทรัพยากรแบบเดิมซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสมัชชา เช่น กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน แรงงานนอกระบบยังขาดหลักประกันรายได้รองรับเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัวที่วัยแรงงานน้อยลงแต่ต้องรับผิดชอบผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งยิ่งสูงอายุก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และไม่มีใครดูแล

“ส่งท้าย จะฟื้นฟูประชาธิปไตยด้วยการจัดการกับอำนาจแบบใด? เมื่อก่อนเรากำหนดตัวเองได้ชัดในฐานะคู่ตรงข้ามของรัฐ แต่ปัจจุบันนิยามแบบนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก ข้อเสนอหนึ่งของ อ.เก่งกิจ และเควินฮิววิสัน (ในงาน “บทวิพากษ์ : การเมืองภาคประชาชนในประเทศไทย ข้อจำกัดของแนววิเคราะห์และยุทธศาสตร์การเมืองแบบ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบ”) ได้เสนอให้ขบวนคนจนกลับมารื้อฟื้นการเมืองของการแบ่งขั้วทางชนชั้น การมีพรรคการเมืองของชนชั้นล่าง แต่จะเป็นไปได้อย่างไรเมื่อแต่ละชนชั้นแตกย่อยมีหลายอุดมการ แบบที่สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) พูดถึง ทั้งนี้ เกษตรกรแม้แต่ในหมู่บ้านเดียวกันอุดมการณ์ก็ไม่เหมือนกัน มีชาวนารวย ชาวนาจน อุดมการณ์ของชาวนาไม่เหมือนกันเลย นี่จึงเป็นความยากว่าจะพัฒนาพรรคการเมืองของคนจนในภาวะการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร

โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อมั่นผ่านกระบวนการต่อรอง ถ้าสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง สามารถพูดคุย มีข้อมูล มีเหตุมีผล จะดึงให้คนที่ไม่ใช่คนจน อย่างทีผมพูดไปมันมีชนชั้นกลางใหม่ 40% มีคนในสังคมไทยอีก 50% ที่ตระหนักว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาและต้องการการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้ผมคิดว่า คือคนที่เป็นกำลังหลักของการเคลื่อนไหวสมัชชาคนจนในอนาคต ผ่านตัวโซเชียลมีเดีย อย่างที่ผมว่า คือทั้งความสัมพันธ์ของคน ความสัมพันธ์ของประเด็น เช่น ประเด็นเรื่องความสมบูรณ์ของระบบนิเวศท้องทะเล ความสมบูรณ์ของผืนป่า ผลกระทบชีวิตและสุขภาพของคนจนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้ถูกผนึกผ่านสิ่งที่ผมเรียกว่าโซเชียลมีเดีย มันผ่านทุกๆ นาที ผมคิดว่ากระบวนการเหล่านี้มันทำให้เรื่องของความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำมันโผล่ปรากฏ และจะมีพลังเอาคนอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการต่อรองอำนาจกับรัฐได้มากขึ้น สิ่งนี้ผมอยากย้ำว่า เป็นสิ่งเดียวกับขบวนการคนจนได้ทำมาก่อนตั้งแต่ปี 2538 คือเอากระบวนการต่อรองบนท้องถนนผ่านไปบนสื่อแบบใหม่ ที่ทุกคนในประเทศนี้ คนทุกภาคการผลิต ทั้งคนขายของออนไลน์ที่บ้าน พนักงานออฟฟิศ หรือนักการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ใช้สื่อพวกนี้ เชื่อว่าสื่อพวกนี้มีพลังถ้าเราใช้กับคนกลุ่มที่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาและต้องการแก้ไข

สำหรับการอภิปรายทั้งหมดของวีรบูรณ์ สามารถติดตามได้ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net