Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตั้งแต่ พ.ศ.2497 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้พิจารณาให้ความสำคัญแก่เด็กทั่วโลก โดยเสนอให้มี “วันเด็กก็สากล” ซึ่งกำหนดให้เป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี และเพื่อเป็นการผลักดันให้ประเทศในโลกให้ความสำคัญแก่เด็ก และสนใจในสวัสดิภาพของเด็ก ต่อมา ใน พ.ศ.2501 สหประชาชาติก็ได้ประกาศ “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก”อย่างเป็นทางการ ซึ่งระบุว่าเด็กทุกคนในโลกนี้เกิดมาพร้อมสิทธิต่างๆ ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย การถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์ เป็นต้น จากการดำเนินการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศสมาชิกทั้งหลายเริ่มกำหนดให้มีวันเด็กของประเทศตนเอง

สำหรับในประเทศไทย คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้นำเรื่องวันเด็กเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และในวันที่ 27กรกฎาคม พ.ศ.2498 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ลงมติรับหลักการ ให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการไปตั้งกรรมการดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานนั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาใช้เป็นการเริ่มแรก

ในขณะนั้น ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกเป็นวันเด็กแห่งชาติ ดังนั้น ครั้งแรกที่มีงานฉลองวันเด็กแห่งชาติคือ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 ซึ่งมีการให้ความสำคัญแก่เด็กโดยเปิดสถานที่ราชการสำคัญ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์สถาน ให้เด็กเข้าชมฟรี มีการแต่งเพลงชื่อ”หน้าที่ของเด็ก” ให้เป็นเพลงร้องสำหรับวันเด็ก โดยเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเตือนใจเด็กและเยาวชนเพื่อให้รู้ถึงความสำคัญของตน และหน้าที่ที่มีต่อชาติศาสนา เพลงนี้ประพันธ์เนื้อร้องโดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน คือเพลงที่ขึ้นต้นว่า “เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน” นั่นเอง

จากนั้น ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2507 คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้มีมติเปลี่ยนการวันเวลาที่ใช้จัดงานวันเด็ก เนื่องด้วยเดือนตุลาคมประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝนทำให้เด็กไม่สามารถมาร่วมงานได้อย่างสะดวก อีกทั้งวันจันทร์เป็นวันทำงานปกติจึงก่อให้เกิดการจราจรติดขัด งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ตั้งแต่ พ.ศ.2508 และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ตั้งแต่วันเด็ก พ.ศ.2499 นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็มอบคำขวัญวันเด็กครั้งแรกว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” แต่ใน พ.ศ.2500 ได้เกิดการรัฐประหารโค่นรัฐบาลจอมพล ป.ในเดือนกันยายน จึงไม่มีการมอบคำขวัญวันเด็ก และข้ามมาจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2502 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้ให้กระทรวงศึกษาธิการพิมพ์หนังสือวันเด็กออกแจก และให้คำขวัญวันเด็กตามยุคสมัยว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า”

จากนั้น จะกลายเป็นประเพณีที่นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญแก่เด็กในวันเด็กทุกปี และคำขวัญวันเด็กหลายครั้ง จะสะท้อนยุคสมัยอย่างน่าสนใจ เช่น

สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เน้นเรื่องทำความดี คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2508 จึงเสนอ “เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี”
สมัยนายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นยุคของขบวนการนักศึกษาโค่นล้มเผด็จการ คำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีคือ “สามัคคีคือพลัง”

สมัยหลัง 6 ตุลา พ.ศ.2519 เป็นยุคขวาจัดปราบคอมมิวนิสต์ นายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร มอบคำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2520 ว่า “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย”

สมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ชอบอ้างคุณธรรม คำขวัญวันเด็กจึงมีคำว่า “คุณธรรม”หลายครั้ง โดยเฉพาะ พ.ศ.2529-2531 ใช้คำขวัญซ้ำกัน 3 ปีโดยไม่ต้องคิดใหม่ว่า “นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม”
สมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีไม่ชอบคิดคำใหม่ ใน พ.ศ.2536-2537 จึงใช้คำขวัญเดียวกันว่า “ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม” และ พ.ศ.2538 ก็แก้เพียงเล็กน้อยว่า “สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม” และเมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็ใช้คำขวัญซ้ำกัน 2 ปีใน พ.ศ.2541-2542 ว่า “ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย” และ พ.ศ.2543-2544 คำขวัญซ้ำกัน 2 ปีว่า “มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย”

สมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นสมัยฟื้นฟูคุณธรรม คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2550 จึงเป็นว่า “มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข”

สมัย นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นสมัยที่ไทยจะเข้าสู่ภาคีอาเซียน  คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2456 จึงเป็น “รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน”

สำหรับเพลงวันเด็ก เมื่อ พ.ศ.2529 ในขณะที่วงดนตรีคาราบาวยังคงเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็ได้ออกเพลงวันเด็กอีกชุดหนึ่ง ที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคมและสถาบันครอบครัวไทย ขึ้นต้นว่า “วันเด็ก ให้เด็กเดินตามใคร แม่ตั้งวงไพ่ พ่อตั้งวงเหล้า ชกกันเหมือนมวยตู้วันเสาร์...." เนื้อหาสำคัญของเพลงนี้ คือ เสนอให้แก้ปัญหาที่ผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก


 

เมื่อถึงสมัยรัฐประหารย้อนยุค นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็นำเอาเรื่องคุณธรรมมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ โดยให้คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2558 ว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” แต่เป็นครั้งแรกเช่นกันที่คำขวัญวันเด็กของผู้นำถูกท้าทาย โดย “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาที่เคลื่อนไหวปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมที่เป็นธรรม และได้อธิบายกันว่าคำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ตั้งกันเองโดยไม่เคยสนใจเด็ก กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทจึงเสนอประกวดคำขวัญวันเด็ก โดยมีวัตถุประสงค์คือ “เสนอคำขวัญวันเด็กที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องสักแต่ให้ และไม่เข้าสมัยดังที่รัฐบาลทำ ซึ่งเป็นการดูถูกนักเรียน” และในที่สุด ก็ได้ประกาศคำขวัญวันเด็กเพื่อผู้ใหญ่ไทย พ.ศ.2558 ว่า "เปิดกว้างทางความคิด เคารพสิทธิมนุษยชน เข้าใจคนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตยพัฒนา"
ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจในวันเด็กยุคทหารครองเมือง ก็คือ การที่หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ของอังกฤษ ได้เสนอภาพวันเด็กในประเทศไทย โดยแสดงเรื่องที่น่าตกใจว่า กองทัพไทยนั้นปล่อยให้เด็กตัวเล็กไปเล่นปืนที่เป็นอาวุธสงคราม และได้ตั้งคำถามว่า นี่เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ปรากฏว่าเว็บไซด์ของเดลิเมล์ได้ถูกบล็อกเสียแล้วโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

โดยภาพรวมอาจจะถือได้ว่า วันเด็กปีนี้ ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อนาคตของสังคมไทยอยู่ที่เด็กที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาขึ้น ให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่คิดเป็น และกล้าที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง สังคมไทยจึงจะมีอนาคตต่อไป
 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 498 วันที่ 17 มกราคม 2558

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net