iLaw ตอน3: เสรีภาพการชุมนุม การแสดงออกสาธารณะและการตั้งข้อหาทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ปี 2557 หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ การจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ และการแสดงความคิดเห็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศต่อเนื่องกว่าหกเดือน คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ซึ่งมีคนถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้อย่างน้อย 24 คน และยังมีการนำข้อหา "ปลุกปั่นยั่วยุ" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาใช้กับประชาชนอย่างน้อย 7 คน มีการนำพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาใช้ปรับคนที่แสดงออกในที่สาธารณะอย่างน้อย 3 กรณี

นอกจากนี้ คสช.ยังใช้วิธีการต่างๆ ปิดกั้นการจัดกิจกรรมสาธารณะของประชาชน อย่างน้อย 42 ครั้ง เช่น การใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าปิดกั้นโดยตรง การออกคำสั่งไม่อนุญาต การโทรศัพท์เจรจา การจับกุมผู้เข้าร่วมกิจกรรม ฯลฯ และตั้งข้อหาดำเนินคดีกับคนที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. อย่างน้อย 11 คน

 

คดีการเมืองก่อนการรัฐประหาร

มีคดีเสรีภาพการแสดงออก ที่เกิดขึ้นและพิจารณาคดีกันมาก่อนการรัฐประหาร อย่างน้อย 3 คดี ที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจในปี 2557 ดังนี้

1. วันที่ 25 มีนาคม 2557 ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษายกฟ้อง คดีเสื้อแดงเชียงรายชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อปี 2553 เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ปรากฏว่าเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวาย

2. วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา สมชาย ไพบูลย์ ส.ข.พรรคเพื่อไทย จากการปราศรัยที่แยกผ่านฟ้า ฐานปลุกปั่นยั่วยุให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย มั่วสุดก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 215 และ 216 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

3. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดี “ปีนสภา สนช.” เมื่อปี 2550 เนื่องจากเป็นการคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เมื่อการประชุมยกเลิกผู้ชุมนุมก็ออกจากรัฐสภาโดยดี ไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวาย

ทั้งสองคดีที่ศาลยกฟ้อง เป็นคำพิพากษาที่ขยายขอบเขตของเสรีภาพการชุมนุมให้อยู่เหนือความผิดอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา หากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ศาลก็จะตีความว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา แต่ในคดีของสมชาย ไพบูลย์ การชุมนุมในวันนั้นมีการใช้กำลังทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ศาลจึงพิจารณาว่าอยู่นอกเหนือขอบเขตของเสรีภาพ

 

คดีฝ่าฝืน 7/2557 ชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน

หลังการรัฐประหารไม่กี่ชั่วโมง คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 มีเนื้อหาคือ ห้ามไม่ให้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังการรัฐประหารมีผู้ออกมารวมตัวกันแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการรัฐประหารจำนวนมาก มีผู้ถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอย่างน้อย 134 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามประกาศฉบับที่ 7/2557 อย่างน้อย 48 คน

ในจำนวน 48 คนนั้น เป็นผู้ถูกจับกุมในกรณี “ขอนแก่นโมเดล” 24 คน ซึ่งเป็นการตั้งข้อหาจากการรวมตัวเพื่อพูดคุยกันในสถานที่ปิด ไม่ใช่การแสดงออกในที่สาธารณะ จึงเหลือคนที่ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงออกในที่สาธารณะอย่างน้อย 24 คน แบ่งเป็น 15 คดี

คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วมีอย่างน้อย 12 คดี เรียงตามลำดับวันที่ศาลมีคำพิพากษา ดังนี้

 

วันที่พิพากษา

จำเลย

ศาล

การกระทำ

ผลคดี

3 กรกฎาคม 2557

วีระยุทธ

ศาลแขวงปทุมวัน

ชุมนุมต้านรัฐประหารที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 23 พฤษภาคม 2557

จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

14 สิงหาคม 2557

สราวุทธิ์

ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย

ชูป้ายต้านรัฐประหารหลายจุด

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

25 สิงหาคม 2557

ชาวเชียงรายสามคน

ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย

ร่วมกิจกรรมกินแมคต้านรัฐประหาร

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

26 สิงหาคม 2557

ชาวเชียงรายสี่คน

ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย

ร่วมกิจกรรมกินแมคต้านรัฐประหาร

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

4 กันยายน 2557

สุรสิทธิ์

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่ห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 มิถุนายน 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

8 กันยายน 2557

อนุรักษ์

ศาลทหารกรุงเทพ

โพสต์เฟซบุ๊คชวนคนไปชุมนุมต้านรัฐประหาร

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

18 กันยายน 2557

ภิณโญภาพ

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหน้าแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

18 กันยายน 2557

วรภพ

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหน้าแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

18 กันยายน 2557

ณัฐวุฒิ

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหน้าแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ เมื่อ 31 พฤษภาคม 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

18 กันยายน 2557

สุเมศ

ศาลทหารกรุงเทพ

ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารบริเวณแยกอโศก เมื่อ 1 มิถุนายน 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

27 ตุลาคม 2557

ชัยนรินทร์

ศาลทหารกรุงเทพ

ชูป้ายกระดาษต้านรัฐประหาร ที่ห้างสยามพารากอน เมื่อ 1 มิถุนายน 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

8 ธันวาคม 2557

หนึ่ง

ศาลทหารกรุงเทพ

ร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 28 พฤษภาคม 2557

จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

 

ข้อสังเกตต่อคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วคือ ทุกคดีศาลพิพากษาให้รอลงอาญา จำเลยคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จึงยังไม่มีใครต้องรับโทษจำคุกจริงๆ จำเลยส่วนใหญ่ได้ประกันตัวระหว่างการสอบสวนด้วยหลักทรัพย์ 10,000 - 40,000 บาท มีสุเมศคนเดียวที่ยื่นประกันตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 แต่ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาต จึงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก่อนได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 รวมแล้วถูกคุมขังอยู่ 7 วัน

คำพิพากษาในคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 มีแนวโน้มให้โทษจำคุกได้รอการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลพลเรือนหรือศาลทหาร แต่คดีของวีระยุทธซึ่งพิพากษาโดยศาลพลเรือน ศาลลงโทษน้อยกว่า คือ จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท ขณะที่คดีอื่นๆ ที่ขึ้นศาลทหาร ศาลลงโทษเท่ากันหมดทั้ง 11 คดี คือ จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หากนับโทษหลังลดแล้ว จำเลยทั้ง 16 คน เสียค่าปรับจากการแสดงออกโดยสงบในที่สาธารณะรวมกัน 83,000 บาท

 

คดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา มีดังนี้

1. คดีของอภิชาติ ถูกจับเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 จากการชุมนุมต้านรัฐประหารที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นอัยการ อภิชาติถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และมั่วสุมสิบคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 215 ด้วย

2. คดีของพรรณมณี และสมบัติ ก. ถูกจับจากการชุมนุมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานที่ศาลทหารกรุงเทพ ทั้งสองคนถูกตั้งข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำลายทรัพย์สินราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และ 360 ด้วย

3. คดีของชาวนนทบุรี 4 คน ถูกจับเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 จากการชุมนุมต้านรัฐประหารที่บริเวณท่าน้ำนนท์ฯ ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน

ข้อสังเกตต่อการดำเนินคดีตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จากสถิติคดีทั้งหมดยังไม่พบเกณฑ์การพิจารณาที่แน่ชัดว่า พฤติกรรมการชุมนุมแบบใดจะเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีบ้าง หลายคนที่ถูกตั้งข้อหาไม่ใช่แกนนำจัดการชุมนุมหรือคนที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน หลายคนที่ถูกจับจากพฤติการณ์ที่เป็นคนจัดการชุมนุมก็ไม่ถูกตั้งข้อหานี้ ตัวอย่างเช่น การจับกุมผู้ชุมนุม 7 คนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ทุกคนมีพฤติกรรมเป็นผู้มาร่วมชุมนุมด้วยกัน มีคนถูกตั้งข้อหาเพียงคนเดียวคือ สุรสิทธิ์

เนื่องจากการตั้งข้อหาไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน และศาลก็มีแนวโน้มรอลงอาญา จึงเห็นได้ว่าข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ถูกนำมาใช้แบบเหวี่ยงแหเพื่อการขู่หรือปรามให้ผู้ที่จะออกมาชุมนุมรู้สึกกลัว ไม่ได้เป็นการดำเนินคดีเพื่อมุ่งลงโทษบุคคลที่สร้างความเสียหายแก่สังคม จึงเป็นข้อหาที่ใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองโดยแท้

แม้ยังไม่อาจสรุปได้ทันทีว่าการใช้กฎหมายในลักษณะนี้มีผลให้คนกลัวหรือไม่ และช่วยยับยั้งการชุมนุมต้านรัฐประหารได้มากน้อยเพียงใด แต่ภาพที่ปรากฏคือ กระแสการชุมนุมต้านรัฐประหารเงียบลงภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังการรัฐประหาร สวนทางกับตัวเลขการจับกุมและการดำเนินคดี ก่อนที่การชุมนุมจะก่อตัวขึ้นมาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2557 และเบาลงไปจากการปิดกั้นที่เข้มงวดและจับกุมผู้เกี่ยวข้อง

 

118
Compare activities, arrests and prosecutions statistics

 

 

ความผิดฐาน “ปลุกปั่นยั่วยุ” และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือความผิดฐาน “ปลุกปั่นยั่วยุ” เป็นกฎหมายมาตราหนึ่งที่ถูกนำมาใช้หลังการรัฐประหาร คนที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 มีลักษณะเป็นนักเคลื่อนไหวระดับแกนนำที่รัฐบาลทหารต้องการปรามให้หยุด มีคดีมาตรา 116 หลังการรัฐประหารอย่างน้อย 4 คดี ซึ่งยังไม่มีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว ปัจจุบันจำเลยทุกคนได้ประกันตัว

1. คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง ถูกจับเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ จาตุรนต์ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

2. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ที่บ้านพักในจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ สมบัติถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

3. คดีของชาวเชียงราย 3 คน ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกประเทศ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย

4. คดีของสิทธิทัศน์ และวชิร ถูกจับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 จากการโปรยใบปลิวต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

 

พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นกฎหมายอีกฉบับที่ถูกนำมาใช้ในลักษณะเพื่อปรามการแสดงออกในที่สาธารณะที่ไม่เข้าข่ายข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 หรือกฎหมายอื่น และไม่ได้ต้องการลงโทษให้รุนแรงจนเกินไป มีอย่างน้อย 3 กรณี

1. กรณีญาติผู้เสียชีวิตปี 53 โปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรม บริเวณสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต ถูกตำรวจนำตัวไปเสียค่าปรับ 5,000 บาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557

2. กรณีนักศึกษากลุ่ม ศนปท. แขวนป้ายผ้าบนสะพานลอย ถ.วิภาวดีรังสิต นักศึกษาสามคนถูกเรียกไปเสียค่าปรับคนละ 1,000 บาท เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557

3. กรณีนักศึกษาแขวนป้ายผ้าบนสะพานลอยหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษาสองคนถูกเรียกไปเสียค่าปรับคนละ 1,000 บาท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557

ทั้ง 3 กรณีเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นก็ยังไม่มีรายงานกรณีการปรับด้วยพ.ร.บ.ความสะอาดฯ อีก ทั้งที่มีการควบคุมตัวคนจากการโปรยใบปลิวหรือติดป้ายผ้าอีกหลายครั้ง

การตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีธนพร ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 จากการโพสต์เฟซบุ๊คสาปแช่งนายทหารที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ต่อมาถูกตั้งข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน, หมิ่นประมาทคนตาย และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

คดีฝ่าฝืน 41/2557 ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง

วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกประกาศฉบับที่ 41/2557 มีเนื้อหาคือ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวต่อ คสช. ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน

ตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา คสช. ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัวอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 476 คน และเรียกให้บุคคลมารายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ โดยการโทรศัพท์เรียก การไปหาที่บ้านพัก หรือการส่งหนังสือที่ไม่ได้ลงนามโดยหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 163 คน

มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง อาจเป็นเพราะติดธุระไม่สามารถไปได้ตามกำหนดเวลา หรือตั้งใจไม่ไปเพราะไม่แน่ใจในความปลอดภัย หรือเพราะจงใจปฏิเสธอำนาจของ คสช. หลายคนเดินทางมารายงานตัวเองภายหลัง หลายคนถูกจับ มีผู้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 อย่างน้อย 11 คน

คดีที่รับสารภาพและศาลทหารมีคำพิพากษาแล้วมีอย่างน้อย 5 คดี คือ คดีของเยี่ยมยอดคดีของธานัทคดีของสงวนคดีของสำราญ และคดีของณรงค์ศักดิ์ คำพิพากษาเหมือนกันทั้งห้าคดี คือ ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ โทษจำคุกให้รอการลงโทษ

คดีที่จำเลยปฏิเสธและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี มีอย่างน้อย 6 คดี คือ คดีของจาตุรนต์ ฉายแสงคดีของสมบัติ บุญงามอนงค์,คดีของจิตราคดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์คดีของสิรภพ และคดีของณัฐ ซึ่งมีสองคดีที่พิจารณาในศาลพลเรือนเพราะการฝ่าฝืนเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คือ คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ และคดีของณัฐ อีก 4 คดีพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

ข้อสังเกตต่อการตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 คือ ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนว่าใครจะถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีจากพฤติการณ์ใดบ้าง เพราะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง หรือไปรายงานตัวช้า แต่ก็ไม่ถูกตั้งข้อหาด้วย การตั้งข้อหาดำเนินคดีเช่นนี้จึงไม่ได้มุ่งลงโทษบุคคล แต่มุ่งหวังผลทางการเมืองเช่นเดียวกับข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

 

 

121
Political Charges Statistic

 

การปิดกั้น-แทรกแซง การจัดกิจกรรมสาธารณะ

หลังการรัฐประหาร การจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกระงับด้วยวิธีการต่างๆ อย่างน้อย 24 ครั้ง ขณะที่การรวมตัวกันเรียกร้องหรือแสดงออกในที่สาธารณะถูกห้ามทุกประเด็น บันทึกไว้ได้อย่างน้อย 18 ครั้ง รวมทั้งสิ้นมีการปิดกั้น-แทรกแซงการจัดกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 42 ครั้ง

ตัวอย่างเช่น การจับกุมผู้ชุมนุมกลุ่ม “ขาหุ้นพลังงาน” ที่เดินขบวนเรียกร้องขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูประบบพลังงาน การห้ามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนาในประเด็น “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” การห้ามนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินขบวนคัดค้านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA กรณีเขื่อนแม่วงก์ เป็นต้น

จากข้อมูลการปิดกั้น-แทรกแซงกิจกรรม 42 ครั้ง มีจำนวน 23 ครั้ง ที่ชัดเจนว่าเป็นการปิดกั้นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการรัฐประหาร โดยเป็นการจัดกิจกรรมในประเด็นที่ดินและสิทธิชุมชน 9 ครั้ง ประเด็นการปฏิรูปพลังงาน 4 ครั้ง ประเด็นการศึกษา 3 ครั้ง ประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 2 ครั้ง และประเด็นจังหวัดจัดการตนเอง 2 ครั้ง

เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการหลากหลายในการปิดกั้นและแทรกแซง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งการใช้กำลังทางกายภาพ การข่มขู่ หรือการคุกคาม บางกิจกรรมถูกกดดันด้วยหลายวิธีการ พอจะแบ่งได้ ดังนี้

1. การโทรศัพท์ไปเจรจาขอให้ยกเลิกการจัดกิจกรรม อย่างน้อย 14 ครั้ง

2. การส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ แจ้งว่าไม่อนุญาตให้จัด อย่างน้อย 4 ครั้ง

3. การเดินทางไปเจรจาขอไม่ให้จัดกิจกรรม อย่างน้อย 7 ครั้ง

4. การแจ้งว่าไม่สามารถพิจารณาอนุญาตได้ทันเวลา อย่างน้อย 2 ครั้ง

5. การใช้กำลังเข้าขัดขวางการจัดกิจกรรม อย่างน้อย 8 ครั้ง

6. การกดดันให้เจ้าของสถานที่ยกเลิกการอนุญาตให้ใช้สถานที่ อย่างน้อย 4 ครั้ง

7. การส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเฝ้าดูระหว่างการทำกิจกรรม อย่างน้อย 4 ครั้ง

8. การจับกุมผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม อย่างน้อย 12 ครั้ง

9. การเชิญตัวผู้จัดกิจกรรมไปพูดคุยหรือแจ้งข้อกล่าวหาภายหลัง 4 ครั้ง

หากพิจารณาตามช่วงเวลา จะเห็นว่าช่วงหลังการรัฐประหารใหม่ๆ ยังมีการปิดกั้นกิจกรรมไม่มาก เพราะผู้จัดส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง จึงยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ไปเอง แต่หลังจากนั้นมาการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมก็กลับมาเดินหน้าต่อ และมีความพยายามจัดกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้น-แทรกแซงมากเป็นลำดับ

เดือนมิถุนายน 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 1 ครั้ง

เดือนกรกฎาคม 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 4 ครั้ง

เดือนสิงหาคม 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 6 ครั้ง

เดือนกันยายน 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 8 ครั้ง

เดือนตุลาคม 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 4 ครั้ง

เดือนพฤศจิกายน 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 15 ครั้ง

เดือนธันวาคม 2557 มีการปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 5 ครั้ง

 

119Activities Intervention monthly statistic

ข้อสังเกตคือ คสช. พยายามใช้วิธีการปิดกั้นที่นุ่มนวลเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง เช่น การโทรศัพท์เจรจา แต่หากผู้จัดกิจกรรมไม่ยอมก็อาจยกระดับขึ้นเป็นการข่มขู่ หรือใช้วิธีการทางอ้อม เช่นคุยกับเจ้าของสถานที่จัดกิจกรรม หากต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ก็จะพยายามใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ซึ่งจะให้ภาพลักษณ์ที่ไม่แข็งกร้าว แต่ก็จะวางกำลังเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบปะปนอยู่ด้วย

คสช. อ่อนไหวต่อการจัดกิจกรรมสาธารณะมาก ข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่มักใช้เพื่อการปิดกั้นการแสดงออก คือ การป้องกันไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แสดงให้เห็นว่า คสช. ไม่ต้องการให้ประชาชนจัดกิจกรรมในประเด็นสิทธิเสรีภาพและประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องหรือเดินขบวนบนท้องถนน เพื่อ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ป้องกันไม่ให้การใช้เสรีภาพลุกลามจนเป็นการจัดกิจกรรมต่อต้านอำนาจของ คสช. 

 

สรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว

สรุปสถานการณ์ปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท