รายงานชุดพิเศษ กงล้อการไม่ต้องรับผิด: บทเรียนจากฟิลิปปินส์ ตอน 1

ตอนที่ 1: การคุ้มครองพยาน กุญแจสำคัญในการต่อสู้การไม่ต้องรับผิด

มะนิลา - ในเดือนมิถุยายน 2553 บรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตที่เมืองดิกอส ซิตี้ บ้านเกิดของเขาทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งการฆาตกรรมนั้นเกี่ยวพันกับนักการเมืองท้องถิ่น เขาเป็นหนึ่งในนักข่าวสามคนที่ถูกฆ่าภายในเดือนนั้นเดือนเดียว

ในเดือนสิงหาคมปีนี้ พยานหลักในการฆาตกรรมเมืองดิกอสก็ถูกฆ่าตายเช่นเดียวกัน โดยผู้ร้ายลึกลับ

“ฉันไม่ทราบจริงๆว่า ตอนนี้คดีนี้จะเป็นไปอย่างไรต่อไป หลังจากพยานปากสำคัญเสียชีวิต” ภรรยาของนายเนสเตอร์ เบโดลิโด นักข่าวที่ถูกฆ่าตายกล่าวกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ในเมืองดาเวาในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับคดีฆาตกรรมสื่ออีกหลายต่อหลายคดี คดีฆาตกรรมที่ยังไขไม่ได้ของนายเบโดลิโด ผู้ซึ่งเคยทำงานให้กับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์คาสติกาดอร์ และคดีฆาตกรรมล่าสุดของประจักษ์พยานนายริชชี่ มานาปอล แสดงตัวอย่างของวงจรความรุนแรง และการไม่ต้องรับผิด ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของระบบยุติกรรมของประเทศนี้เสียแล้ว
นายมานาปอลถูกปิดปากด้วยลูกกระสุน ซึ่งมาดหมายที่จะหยุดเขาในการให้การในคดีต่อต้านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด และนักการเมืองท้องถิ่นคนอื่นๆ การตายของเขาเกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่เขาถูกปลดจากโปรแกรมคุ้มครองพยาน (WPP) ของรัฐบาล

เพียงไม่กี่วันก่อนวันครบรอบ 5 ปีของการสังหารหมู่ที่มากินดาเนา พยานโจทก์ปากสำคัญในการไต่สวนที่กำลังดำเนินถูกฆาตกรรมจากการซุ่มโจมตี ขณะที่อีกคนบาดเจ็บจากการโจมตีในเมืองหลวงของจังหวัดชาริฟ อากวก

ชายทั้งสองกำลังเดินทางไปพบทนาย ขณะที่พวกเขาถูกสาดด้วยกระสุน ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมากินดาเนา นายเอสมาเอ็ล “โตโต้” มังกุดาดาตูกล่าว

“พวกเขาเป็นพยานเพิ่มเติมที่สำคัญของพวกเราต่อการสังหารหมู่ แต่น่าเสียดายพวกเขาโดนสังหาร” เขาบอกผู้สื่อข่าว “ผมไม่เห็นเหตุผลอื่นว่าทำไมพวกเขาจึงถูกฆ่า หากไม่ใช่เพราะพวกเขาต้องการเป็นพยานให้รัฐ”

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 คน 58 คนซึ่งเดินทางในรถคุ้มกันสำหรับการเลือกตั้งถูกหยุดและถูกลักพาตัวโดยชายติดอาวุธจำนวนประมาณ 100 คนนอกชานเมืองอัมปาตวน ในจังหวัดมากินดาเนา ชายและหญิง รวมทั้งนักข่าวและคนทำงานสื่อ 32 คน ถูกต้อนไป และถูกสังหารภายหลัง และเอาไปฝังกลบในสุสานสาธารณะบนเนินเขาหญ้า ไม่กี่กิโลเมตรจากที่ที่พวกเขาถูกพาตัวไป

ยานพาหนะ ซึ่งบรรจุภรรยาและน้องสาวสองคนของนายมังกุดาดาตู รองนายกเทศมนตรีของเมืองบูลวนในสมัยนั้น กำลังเดินทางไปยังเมืองหลวง เพื่อยื่นเอกสารใบสมัครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดมากินดาเนาให้กับนายมังกูดาดาตุ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาชนะหลังจากนั้น

พยานการสังหารหมู่ประมาณครึ่งโหลรวมทั้งญาติของพวกเขาถูกฆ่าตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งในสถานที่ต่างๆกันในจังหวัดมากินดาเนา ซึ่งเป็นการตักเตือนที่ชัดเจน จากผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมอำมหิตซึ่งไม่มีความสำนักผิด ในการที่จะกำจัดใครก็ตามที่เข้ามาพัวพันกับพวกเขา

พยานสำคัญปากหนึ่ง ซึ่งได้บอกว่า เขาเป็นคนขับรถพามือปืนไปยังสถานที่สังหารถูกพบเป็นชิ้นส่วนในเมืองหนึ่งในจังหวัดมากินดาเนาในปี 2012 ร่างกายที่ถูกตัดเป็นท่อนๆของเขาถูกใส่ไว้ในกระสอบ

ในระบบยุติธรรมที่ต้องพึ่งพาคำให้การของพยานเป็นหลักนั้น การฆาตกรรมพยานได้กลายเป็นทางออกที่ง่ายสำหรับผู้ต้องสงสัย ผู้ถูกกล่าวหา และผู้อยู่เบื้องหลัง นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนกล่าว

“คนที่ตายทุกคนล้วนเป็นพยานปากสำคัญในคดีสังการหมู่ทั้งสิ้น และการฆาตกรรมแสดงให้เห็นว่าผู้อยู่เบื้องหลัง - ตระกูลอัมปาตวน - ยังมีอำนาจในการทำสิ่งที่เขาต้องการ” พริมา กินซายาส ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ Freedom Fund for Filipino Journalists ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรสื่อท้องถิ่นหกองค์กร และถูกตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนด้านการเงินและกฎหมายแก่ครอบครัวของนักข่าวที่ถูกฆ่า

พริมา กินซายาส ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ Freedom Fund for Filipino Journalists

ตระกูลอัมปาตวนอันทรงพลังมีอำนาจครอบงำการเมืองในจังหวัดมากินดาเนา จังหวัดยากจนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา มานานหลายต่อหลายปี พวกเขามีเงินมหาศาล และเป็นที่รู้กันว่าเขามีการใช้กองกำลังของตนเอง และยังมีการใช้อิทธิพลแม้แต่ขณะถูกควบคุมตัว

ผู้เฒ่าอันดาล อัมปาตวน ซีเนียร์ ลูกชายของเขา นายอัลดาล จูเนียร์ และซาลดี้ เป็นผู้ต้องสงสัยหลักในการนองเลือดห้าปีที่แล้ว ซึ่งก่อให้เกิดการประณามทั้งในและนอกประเทศ ปัจจุบัน พวกเขาถูกกักขังอยู่ในคุกในเมืองหลวง และต้องเผชิญกับข้อหาฆ่าคนตายหลายกระทง ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาอีกหลายคน

กินซายาสได้กล่าวกับกลุ่มนักข่าวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาเยี่ยมว่า พยานจะถูกให้สินบนหรือฆ่า เพื่อหยุดพวกเขาไม่ให้ปรากฎตัวในศาล

“การหาความยุติธรรมที่นี่เป็นอะไรที่มีราคาแพงมาก คุณอาจจะต้องเสี่ยงชีวิตหากคุณไม่รับสินบน (จากผู้อยู่เบื้องหลัง) และคุณต้องการเห็นความยุติธรรมสมบูรณ์เกิดขึ้นในอาชญากรรมที่คุณได้เห็น”

หากปราศจากคำให้การของพยานที่สำคัญแล้ว คดีจะมีอันตรายเนื่องจากกระบวนการสืบสวนทางกฎหมายที่ไม่มีคุณภาพในประเทศนี้ เช่นที่คดีมากินดาเนาได้แสดงให้เห็น

“คุณไม่อาจจะจินตนาการได้ว่าการค้นหาหลักฐานและพยานนั้นอ่อนแอเพียงใด ดูสิ ตำรวจให้รถแบ็คโฮในการขุดร่างของคนตายขึ้นมาจากสถานที่สังหาร” กินซายาสกล่าว เขายังเป็นโจทก์เอกชนให้กับหลายครอบครัวของเหยื่อ

ที่เมืองเจเนอรัลซานโตสซิตี้ ในมินดาเนา ในละแวกที่เป็นที่ัตั้งของสำนักงานใหญ่ตำรวจประจำเขต มียานพาหนะจำนวนหนึ่งอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าจะถูกใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้

ยานพาหนะเหล่านี้ถูกล้อมโดยรั่วเหล็กเท่านั้น ซึ่งต้องสัมผัสสภาพอากาศต่างๆตลอดเวลา ชิ้นส่วนหลักฐานประกอบด้วยรถตู้ที่มีรอยบุบทั่วคัน ซึ่งถูกใช้ในการขนเหยื่อที่ถูกสังหารและกลบที่สุสานขนาดใหญ่ รวมถึงยานพาหนะแบบกองทัำพ ซึ่งถูกใช้ในการขนชายติดอาวุธที่หยุดรถและฆ่าเหยื่อเหล่านั้น

ฆาตกรรมที่เป็นปริศนากองทับถมขึ้นเรื่อยๆ

การฆาตกรรมหมู่ของคน 58 คนในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่นองเลือดที่สุดในฟิลิปปินส์ และการโจมตีเดี่ยวสื่อที่รุนแรงที่สุดในโลก ตอกย้ำชื่อเสียงของประเทศในฐานะหนึ่งในประเทศที่อัตรายที่สุดสำหรับนักข่าวตามที่ Committee to Protect Journalists กลุ่มเฝ้าระวังด้านสื่อนานาชาติกล่าว

คดีของการที่เจ้าหน้าที่ทำงานสื่อถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายในการสังหารหมู่ที่มาิกินดาเนานั้นยังไมได้รับการแก้ไข แม้ว่าจะมีการกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ

แต่ก็ไม่ต่างจากคดีการฆาตกรรมนักข่าวคดีอื่นๆก่อนเหตุการณ์เสื่อมเสียเมื่อห้าปีที่แล้ว จากข้อมูลของศูนย์สำหรับเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อ (Center for Media Freedom and Responsibility (CMFR)) ซึ่งติดตามการฆาตกรรมสื่อในประเทศนักข่าวชาวฟิลิปปินส์ทั่วประเทศกว่า 200 คนได้ถูกสังหารตั้งแต่ปี 2529 เมื่อระบอบประชาธิปไตยถูกรื้อฟื้น ส่วนใหญ่ถูกฆ่าตายขณะทำงาน

จากตัวเลขเหล่านี้  มีเพียง 14 คดีที่มีการพิพากษาลงโทษ ทางศูนย์ฯ ระบุ และเพิ่มเติมว่า เพียงมือปืนเท่านั้นที่ได้รับการลงโทษ ขณะที่ผู้อยู่เบื้องหลังไม่เคยถูกทำโทษเลย

สถิติของ CMFRยังแสดงให้เห็นว่ามีนักข่าว 24 คนที่ถูกฆ่าตั้งแต่ปี 2553เมื่อเบนิกโน อากิโนขึ้นเป็นประธานาธิบดี
นักปกป้องสิทธิได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบยุติธรรมที่ล่าช้าในประเทศซึ่งเมื่อกอปรกับการสืบสวนสอบสวนทางอาญาที่ไม่มีประสิทธิภาพและการค้นหาและการคุ้มครองพยานที่แย่ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด

ผลจากกระบวนการสืบสวนทางอาญาที่อ่อนแอ บางครั้งตำรวจก็นำเสนอประจักษ์พยานปลอม โดยเฉพาะในคดีที่ข้องเกี่ยวกับนักการเมืองที่มีำอำนาจ หรือผู้มีอิทธิพลอื่นๆ ตามที่ผู้แทน Human Rights Watch ในฟิลิปปินส์กล่าว

“คุณนับคดีเช่นนี้ไม่หมดหรอก แต่แน่นอนว่ามันจะมีพยานปลอมอย่างน้อยหนึ่งปาก หากมีคนใหญ่คนโตข้องเกี่ยวกับคดีดังกล่าว” นายคาร์ลอส คอนเด จาก Human Rigths Watch กล่าว

เราไม่สามารถเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคุ้มครองพยานได้ แต่การที่จะทำให้คดีก้าวหน้า อีกทั้งท่ามกลางคดีฆาตกรรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นนี้ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความปลอดภัยแก่พยาน

รัฐบาลมีโปรแกรมคุ้มครองพยาน แต่เหล่าทนายบอกว่ามันมีช่องโหว่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้มันเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการการไม่ต้องรับผิด

ในประเทศฟิลิปปินส์ คดีอาญาใช้เวลาหลายปี หรือแม้แต่เป็นทศวรรษในการตัดสินเนื่องจากคดีที่ค้างคาจำนวนมาก, การขาดทนายฝ่ายโจทก์, ผู้พิพากษาและพยาน

“ในการฆ่าตัดตอนส่วนใหญ่ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดพยานเสมอ หรือขาดพยานที่เต็มใจและพร้อม” เลขาธิการกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์,ไลลา เด ลิมายอมรับ “ในคดีส่วนใหญ่ มีพยานอยู่ แต่บางคนก็กลัวเกินกว่าจะให้ความร่วมมือ”

ไลลา เด ลิมา, เลขาธิการกระทรวงยุติธรรมแห่งฟิลิปปินส์

 

ทนายโฆเซ่ เอ็ม ดิอ็อคโน คณะบดีของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดลาซาล เห็นด้วย กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าทำให้คนลังเลที่จะเสนอตนเป็นพยานต่ออาชญากรรม

“บางคดีใช้เวลาเป็นสิบปี บางที 20 หรือ 25 ปีในการตัดสิน” เขากล่าวในการสัมภาษณ์

เขาอธิบายว่า ยิ่งคดีลากออกไปนานเท่าใดพยานก็ต้องใช้เวลาในคุก “เสมือน” นานเท่านั้น เนื่องจากเขาสูญเสียอิสรภาพ โดยเฉพาะหากพวกเขาอยู่ภายใต้โปรแกรมคุ้มครองพยานของรัฐบาบ (WPP)

เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครอง พยานที่อยู่ภายใต้โปรแกรมนี้ต้องยอมรับกฏเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงการอาศัยอยู่ในสถานที่หลบภัยชั่วคราว (TS) หรือที่ซ่อนตัวภายใต้การดูแลของตำรวจ โดยเฉพาะหากมีภัยคุกคามต่อชีวิต

ติดอยู่ในที่ซ่อนตัว หรือถูกฆ่าข้างนอก?

“ผมอยากจะบอกทุกสิ่งที่ผมรู้กับศาล และยังสามารถอยู่แบบคนปกติได้” นายลักมุดิน ซาเลียวประกาศ เขาเป็นพยานสำคัญในการพิจารณาคดีอัมปาตวนและได้สมัครเข้าโปรแกรม WPP ของกระทรวงยุติธรรม แต่ตอนนี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ว่ามังกูดาดาตุ ในมากินดาเนา

เขาเข้ามาอยู่ในโปรแกรมคุ้มครองพยานของรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม 2553 หรือแปดเดือนหลังจากการสังหารหมู่ และเป็นพยานให้กับรัฐในคดีที่ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด

“ผมอยากออกจากโปรแกรม แต่ผมกลัวถูกฆ่าข้างนอก” อดีตผู้ช่วยนายอัลดาล ซีเนียร์อายุ 36 ปีกล่าว เขาได้เติบโตมาเหมือนเป็นลูกบุญธรรมของตระกูลอัมปาตวน

“ผมรู้สึกว่าพวกเขาจะฆ่าผม เพราะผมรู้ว่าเราวางแผนอะไร และได้ทำอะไร” เขาเล่าให้ผู้สื่อข่าวข่าวฟังขณะที่เข้าไปเยี่ยมอาคารคอนกรีตสามชั้นที่ได้รับการป้องกันอย่างหนาแน่นในชาริฟ อากวก อัลดาล ซีเนียร์ถูกตำรวจพาไปที่นั่นสำหรับการสัมภาษณ์จากสถานที่ซ่อนตัว ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับครอบครัวของเขา

“ผมได้เห็นและได้ยินดาตุ อัลดาล อัมปาตวน จูเนียร์ และดาตุ อันไซ (พ่อของเขา) และผู้ติดตามของเขา เขามีการประชุมในวันที่ 17, 18 และ 22 พฤศจิกายน เกี่ยวกับแผนในการหยุดรถและฆ่าคน” เขากล่าว

ซาเลียวได้ให้ข้อมูลเดียวกันในคำให้การของเขาในช่วงเิริ่มต้นของการพิจารณาคดีการสังหารหมู่ในมะนิลาในเดือนกันยายน 2553

เขาให้สัมภาษณ์ว่า ครอบครัวนั้นโกรธมังกูดาดาตุ เพราะพันธมิตรเก่าของพวกเขาท้าทายอันดาล อัมปาตวน จูเนียร์ในการชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นจึงมีการวางแผนที่จะหยุดเขาไม่ให้ไปยื่นใบสมัครในทุกวิถีทาง

ซาเลียวบอกว่า เขาได้รับเสนอสินบนถึง 10 ล้านเปโซโดยอัมปาตวน จูเนียร์ ไม่กี่วันหลังจากเขาตอบรับเป็นพยานรัฐ แต่เขาปฏิเสธสินบนนั้น มีบางครั้งที่เขารู้สึกว่า การตัดสินใจเป็นพยานของเขานั้นไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย เขายอมรับกับนักข่าว เขาน่าจะรับสินบนไปเสีย เขากล่าว

“ผมได้รับแค่เดือนละ 8,000 เปโซต่อเดือนจากกระทรวงยุติธรรมปีที่แล้ว และตอนนี้ 11,000 เปโซต่อเดือน ผมจะเลี้ยงครอบครัวผมอย่างไร ผมทำงานไม่ได้ ซาเลียวบ่น และเพิ่มเติมว่า ความช่วยเหลือด้านการเงินมันเพียงพอต่ออาหารเท่านั้น แต่ไม่เพียงพอต่อค่าเล่าเรียนของลูกๆเขา

“ตอนนี้ผมไม่มีทางออก”เขากล่าว

สถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของซาเลียวสะท้อนถึงทุกคนที่ชีวิตเปลี่ยนหลังจากพวกเขามาเป็นพยาน และเน้นย้ำถึงความท้าทายที่ WPP ต้องเผชิญ

เลาขานุการ เด ลิมา อดีตทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ตระหนักดีถึงความยากลำบากนี้

“การคุ้มครองพยานไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ และมันจำเป็นต้องใช้การยอมรับภาระอย่างเต็มใจ” เธอกล่าวต่อกลุ่มนักข่าวที่มาเยี่ยม ในการให้สัมภาษณ์ที่ที่ทำงานของเธอในมะนิลา

“และมันต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ คุณไม่สามารถบังคับพยานให้มาอยู่ภายใต้ WPP ได้ คุณไม่สามารถอยู่ดีๆเอาพยานไปซ่อนในที่ซ่อนตัว เพราะว่ามันไม่ง่ายอย่างนั้น มันหมายถึงต้องแยกจากครอบครัว และชุมชนของคุณ”

มันเคยมีกรณีที่พยานออกจากโปรแกรม และถูกฆ่าภายหลัง เช่นกรณีของริชชี่ มานาปอล ซึ่งถูกกล่าวว่าเขาปฏิเสธที่จะอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว จึงถูกให้ปลดออกจาก WPP

นอกจากนั้นยังมีกรณีการเสียชีวิตระหว่างที่อยู่ภายใต้โปรแกรม จากที่เด ลิมากล่าว “เรามีพยานปากหรือสองปากที่ถูกฆ่า นี่เป็นเพราะพยานฝ่าฝืนกฎที่กำหนด พวกเขาออกจาก(ที่ซ่อนตัว)โดยไม่ได้รับอนุญาต”

ปฏิรูป WPP

ทนายดิอ็อคโนได้แบ่งปันความเห็นเขาต่อประเด็นนี้ เขากล่าวว่า “ปัญหาของกฎหมาย WPP ก็คือมันไม่มีผลให้คำให้การมีอายุถาวร” กล่าวคือพยานไม่ได้รับอนุญาตให้ให้การก่อนการพิจารณาคดีและหลักฐานดังกล่าวมีผลภายหลัง

กฎหมายการคุ้มครองพยานควรอนุญาตให้คำให้การมีผลต่อเนื่อง เขาเสริม เพื่อที่พยานจะสามารอยู่ในที่ซ่อนตัวในระยะเวลาจำกัด แม้ว่าคดีจะกินเวลานานก็ตาม

“งบที่ใช้ในการช่วยเหลือพยานด้านการเงินก็จะลดลง และภัยคุกคามก็เช่นเดียวกัน หากพวกเขาได้รับอนุญาตให้ให้การต่อศาลล่วงหน้าก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่ม” เรากล่าว

“ในฟิลิปปินส์ คดีอาญากินเวลานานกว่าจะเสร็จสิ้น พยานต้องรอจนกว่าการพิจารณคดีจะสิ้นสุด เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทนายฝ่ายจำเลยยื้อคดี พวกเขาสามารถยื้อคดีเป็นเวลาหลายปี หลังจากการยื้อหลายปี พยานก็ไม่สามารถมีชีวิตปกติได้อีกต่อไป” ดิอ็อคโนอธิบาย

“ดังนั้น หลายคนจึงเลือกที่จะลาออกจากโปรแกรม และท้ายสุดก็ไม่ได้ให้การใดๆเลย”

เขาเสริมว่า “พวกเขาหลายคนตระหนักว่า เนื่องจากคดีใช้เวลานานมาก พวกเขาจะต้องอยู่(ในที่พักชั่วคราว)เป็นเวลานานมาก”

“ขณะเดียวกัน คนที่ถูกกล่าวหากลับได้อยู่ข้างนอก พวกเขาได้รับการประกันตัว บางครั้งพวกเขาไม่ถูกตั้งข้อหาด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าพยานเป็นฝ่ายที่ต้องอยู่ในคุก แต่ผู้ต้องหาเป็นอิสระ” ดิอ็อคโนกล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูป WPP โดยทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สำหรับผม กฎหมายการคุ้มครองพยานจะไม่มีทางมีประสิทธิภาพได้เลย หากปราศจากกลไกที่ช่วยให้พยานให้การได้ก่อนการพิจารณาคดี” เขากล่าว

ทนายมาร์ติน เมเนซ อธิบดี WPP เห็นด้วยว่าการปฏิรูปจะช่วยให้โปรแกรมเข้มแข็งขึ้น

เมื่อสองปีที่แล้ว จากรายงานข่าว เขาเสนอแนะให้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนอัตลักษณ์และย้ายที่อยู่ของพยาน รายงานข่าวกว่าวว่า เขาได้ยกระดับความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมาย หลังจาก WPP ถูกโทษว่าทำให้เกิดการฆาตกรรมของพยานสำคัญในคดีฆาตกรรมขณะที่อยู่ภายใต้โปรแกรม

เพื่อปกป้องโปรแกรมจากข้อกล่าวหา เขากล่าวว่าพยานที่ถูกฆ่าปฏิเสธที่จะอยู่ในที่ซ่อนตัว และได้เซ็นข้อตกลงสละสิทธิ์จากผลที่อาจเกิดขึ้นแล้ว

“ในช่วงขณะใดๆก็ตาม เรามีพยานมากกว่า 500 ปากภายใต้การดูแลของพวกเรา ซึ่งอยู่ในที่พักชั่วคราว หรือที่ซ่อนตัว” เลขานุการเด ลิมากล่าว

“เมื่อคุณสมัครใจมาอยู่ใต้ WPP คุณต้องยอมทำตามพันธของคุณเอง คุณต้องทำตามกฎเกณฑ์ของโปรแกรม” เธออธิบาย และเสริมว่า หากพวกเขาปฏิเสธที่จะย้ายที่อยู่ไปยังที่ซ่อนตัว “เราจะต้องยุติการคุ้มครอง”

“เราจะคุ้มครองพวกเขาได้อย่างไร เราจะให้ความปลอดภัยพวกเขาได้อย่างไร หากพวกเขาปฏิเสธที่จะมาอยู่ในที่ซ่อนตัว เราไม่อยากถูกกล่าวหา (หากเกิดอะไรขึ้น)”

การทดสอบความเป็นกรดเป็นด่างของกระบวนการยุติธรรม

แม้ว่าจะมีคำวิจารณ์ต่างๆต่อโปรแกรม เมเนซแห่ง WPP ก็ภูมิใจในสิ่งที่มันได้บรรลุ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีอัตราการพิพากษาลงโทษ96 เปอร์เซ็นต์ในปี 2555 สำหรับคดีที่มีพยานขึ้นทะเบียนภายใต้ WPP 87 เปอร์เซ็นในปี 2556 และ 87 เปอร์เซ็นในปีนี้

“หากคุณตัดสินโดยดูที่อัตราการพิพากษาลงโทษในคดีเหล่านั้น ผมว่าคุณจะบอกได้ว่า WPP ของฟิลิปปินส์มีบทบาทที่ยั่งยืนและสำคัญ” เขากล่าว

แม้ว่าจะมีข่าวดีจากเมเนซ แต่สิ่งที่คนหลายคนเรียกร้องอยากเห็นก็คือ การกระทำของรัฐบาลในการพิจารณาคดีการสังหารหมู่ในมากินดาเนา ซึ่งจะแสดงถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาในการยุติการไม่ต้องรับผิด

ผู้ช่วยประธานาธิบดีได้อธิบายว่าคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีเแห่งศตวรรษ ขณะที่เลขานุการเด ลิมา เรียกมันว่าเป็นการทดสอบความเป็นกรดเป็นด่างของระบบยุติธรรมของประเทศ

เธอได้สัญญาที่จะลงโทษผู้ต้องหาหลักอย่างน้อยหนึ่งรายภายในปี 2559 หรือก่อนที่ประธานาธิบดีอากีโนจะลงจากตำแหน่ง “หากเป็นไปได้ เราอยากเห็นการตัดสินเอาผิดก่อนปี 2016” เธอกล่าว และเสริมว่ามันเป็นความปรารถนาของท่านประธานาธิบดี

มีผู้ต้องหาจำนวน 194 ราย 70 รายจากนี้ได้ยื่นประกันตัว การพิจารณาการประกันตัวยังคงดำเนินต่อไป
อากีโนได้ให้สัญญาที่จะยืนความยุติธรรมต่อเหยื่อและครอบครัวของเขา และหวังว่าคดีจะถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่เขาก็ตระหนักดีถึงขนาดของการพิจารณาคดี เนื่องด้วยจำนวนของผู้ถูกกล่าวหาที่มาก ซึ่งเขากล่าวว่าจะได้รับกระบวนการที่เป็นธรรม

เด ลิมายังคงหวังที่จะเห็นการตัดสินลงโทษผู้ที่ทำผิดมากที่สุดภายใน 2016 “ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เราไม่รู้ เพราะว่ามันอยู่เหนือความควบคุมของเรา” เธอประกาศ

 

• บทความนี้ถูกผลิตขึ้นสำหรับ  Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) fellowship programปี 2014 จอ เย ลีนเป็นนักข่าวชาวพม่า ทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการข่าวโต๊ะข่าวสำหรับPopular Myanmar News Journal Burma,และเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนในปี 2014 หัวข้อของปีนี้คือ การสนับสนุนความเข้าใจระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการไม่ต้องรับผิดในการฆาตกรรมนักข่าวในฟิลิปปินส์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท