Skip to main content
sharethis

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ชี้มาตรการบังคับจดทะเบียนซิมต้องไม่ลงโทษผู้บริโภค ย้ำควรเน้นทำก่อนเปิดใช้งาน ไม่ใช่อนุญาตผู้ให้บริการ 'ปิดซิม'

21 ม.ค. 2558 ต่อกรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ แถลงในวันนี้ว่าจะออกประกาศบังคับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงทะเบียนซิมเพื่อแสดงตน โดยกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ก.ค. ศกนี้ พร้อมทั้งอนุญาตให้ผู้ให้บริการสามารถระงับบริการหรือปิดซิมของผู้ที่ไม่ดำเนินการได้

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า เรื่องการลงทะเบียนซิมของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือ prepaid นั้น เป็นข้อกำหนดตามประกาศของ กสทช. ที่มีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของ กทช. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมอยู่แล้ว โดยหลักการคือต้องการให้มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการก่อนการเปิดใช้บริการ เพื่อทราบตัวตนของผู้ใช้เลขหมายนั้นๆ อันจะส่งผลดีทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากจะทำให้สามารถติดตามตัวผู้รับผิดชอบกรณีมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทางที่ก่อปัญหา ขณะเดียวกันก็ส่งผลดีในด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการด้วย กรณีประสบปัญหาจากการใช้บริการก็สามารถใช้สิทธิร้องเรียน หรือแสดงตนเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย หรือ “การย้ายค่ายคงเบอร์เดิม” ก็มีข้อบังคับว่า ผู้ใช้พรีเพดจะต้องจดทะเบียนซิมก่อน

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ กทช. และ กสทช. ต้องการบังคับต่อผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการเป็นหลัก กล่าวคือ ผู้ให้บริการเป็นผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการขอให้ผู้มาซื้อซิมหรือเปิดใช้บริการแสดงตน เช่นเดียวกับกรณีของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจ่ายรายเดือน หรือ postpaid โดยผู้ไม่ยินยอมแสดงตัวตนย่อมไม่สามารถเข้าใช้บริการได้
               
“ปัญหาคือผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยพากันละเลยหน้าที่ดังกล่าวมาโดยตลอด ยอมเปิดซิมโดยไม่ต้องมีการลงทะเบียน จนเกิดสภาพการณ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือผู้ใช้บริการ prepaid ทั้งหมดเกือบ 90 ล้านเลขหมายล้วนไม่มีการลงทะเบียน”

ประวิทย์ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการปล่อยปละละเลยทั้งของผู้ให้บริการและสำนักงาน กสทช. เนื่องจากเป็นอำนาจของเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ที่จะออกคำสั่งบังคับต่อผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดบริการใหม่ระบบ 3G นั้น ในส่วนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เคยมีนโยบายชัดว่าจะต้องเริ่มต้นทำเรื่องการลงทะเบียนซิมอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดินพอกหางหมูซ้ำรอยเดิม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองทั้งจากผู้ให้บริการและสำนักงาน กสทช.

สำหรับกรณีที่สำนักงาน กสทช. ประกาศเอาจริงครั้งนี้ นายประวิทย์ยอมรับว่า ด้านหนึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่โดยส่วนตัวมีความเป็นห่วงเรื่องมาตรการบังคับที่เน้นไปที่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค แทนที่จะเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งกลายเป็นว่า เรื่องนี้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายที่จะถูกลงโทษ และโดยส่วนตัวได้ทำความเห็นไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยในชั้นที่สำนักงานเสนอเรื่องมาให้กลั่นกรอง

“คือตามที่สำนักงาน กสทช. ประกาศกำหนดเส้นตายวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 นั้น มีเงื่อนไขด้วยว่าหากผู้ใดไม่มาแสดงตนลงทะเบียนภายในเวลา ก็อนุญาตให้ผู้ให้บริการระงับบริการหรือ “ปิดซิม” ได้ ทั้งบริการเสียงและบริการข้อมูล โดยการปิดซิมจะดำเนินการไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ใช้บริการจะมาลงทะเบียน ผมคิดว่าข้อกำหนดนี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและขัดต่อหลักกฎหมาย

"คำถามที่สำคัญก็คือ อำนาจระงับบริการนั้นจะทำบนฐานกฎหมายใด นอกจากนี้ต้องเข้าใจว่า การที่คนเขาใช้บริการอยู่แล้วถูกตัดไปเป็นเรื่องที่ละเมิดสิทธิและส่งผลกระทบมากกว่าการกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ดำเนินการก่อนเข้าสู่บริการ ดังนั้นผมยืนยันว่าควรหามาตรการบังคับที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ เช่น ตั้งเงื่อนไขว่าจะเติมเงินไม่ได้หากไม่ลงทะเบียน เป็นต้น ซึ่งในที่สุดถ้าเงินหรือเวลาหมดก็จะทำให้บริการสิ้นสุดเอง” ประวิทย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net