Skip to main content
sharethis
รายงานตอนที่ 2 ‘อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง’ กับ 5 บทบาทเพื่อสันติภาพปาตานีเผยแง่มุมการบันทึกเรื่องเล่าและฉายภาพประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากมุมมองสามัญชน เพื่อเสริมพลังการขับเคลื่อนของชุมชน ทั้งยังผลักดันการยอมรับความเป็นตัวตนของคนมลายูผ่านวิถีชีวิตประจำวันไปจนถึงการเสนอแนะในเชิงนโยบาย
 
 
หลายครั้งที่เห็นอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ปรากฏตัวตามสถานที่สำคัญๆทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ หรือปรากฏเป็นภาพในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีคนต่างชาติอยู่ด้วยก็บ่อยครั้ง
 
ภาพล่าสุดหรืออาจเป็นครั้งสุดท้ายของเขา คือการนำคนต่างชาติหลายประเทศลงพื้นที่ประวัติศาสตร์ทั้งในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2557 หลังการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ ที่ม.อ.ปัตตานี หรืองาน CCPP
 
การลงพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ปาตานี เป็นส่วนหนึ่งของงานที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากนอกจากนั้นเขายังมีงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นออกมาอีกจำนวนมากมายหมายชิ้น เช่นเดียวกับงานด้านอื่นๆ
 
นายจะเด็ด ศิริบุญหลง พนักงานบริหารงานทั่วไป สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี บอกว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์สนใจงานด้านประวัติศาสตร์ปาตานีจริงๆ เกิดขึ้นในช่วงปี 2539 - 2540 ในช่วงที่รศ.ดร.ครองชัย หัตถา จากภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เป็นหัวหน้าสำนักส่งเสริมฯ 
“ช่วงนั้นอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ได้ทำงานด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกับรศ.ดร.ครองชัยหลายเรื่อง เช่น การนำมัคคุเทศก์ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจลงพื้นที่ประวัติศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งช่วงนั้นมีการจัดเวทีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายแห่งและเป็นที่สนใจของคนมาก”
 
 
ทำประวัติศาสตร์ให้มีชีวิต
 
นางรอซีดะห์ ปูซู ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดปัตตานี และประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ อธิบายว่า การลงพื้นที่ประวัติศาสตร์แต่ละครั้งอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์มักจะพูดคุยกับชาวบ้านในบริเวณนั้นด้วยเสมอ จากนั้นก็กลับไปเขียนเป็นหนังสือออกมา
 
แน่นอนว่าเนื้อหาในหนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องมีบทสัมภาษณ์ชาวบ้านด้วย เพื่อให้เรื่องราวมันมีชีวิตชีวาขึ้นมา โดยเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนเข้ากับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว เช่น หนังสือประวัติศาสตร์มัสยิดตาโละอาโห ประวัติมัสยิดตาโละมาเนาะ ประวัติศาสตร์มัสยิดกรือเซะ เป็นต้น
 
งานเขียนด้านประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ถูกนำไปเผยตามช่องทางต่างๆ หรือตีพิมพ์เป็นเล่ม หรือถ้าเป็นผลงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ที่คนอื่นๆ เขียน ก็มักปรากฏชื่ออัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวงอยู่ด้วยเสมอไม่จุดใดก็จุดหนึ่ง
 
นายนาวาวี บัวหลวง ลูกชายคนโต บอกว่า พ่อเห็นว่าประวัติศาสตร์พื้นที่บางอย่างถูกบิดเบือนหรือถูกลดคุณค่าลงไป เพราะนักวิจัยหลายคนไม่ใช่คนในพื้นที่ ทำวิจัยเสร็จก็ออกไปแต่ไม่เคยบอกกับชุมชนว่า คุณค่าทางประวัติศาสตร์ค้นพบนั้นเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ดั่งเดิมเป็นอย่างไร
 
“ถ้ายังเป็นอย่างนี้ คนในพื้นที่จะไม่ทราบประวัติศาสตร์ของพื้นที่จริงๆตามหลักวิชาการเลย เช่น มัสยิดกรือเซะสร้างไม่เสร็จเพราะอะไร เมื่อคนในพื้นที่ไม่ทราบว่าที่จริงเป็นอย่างไร ก็ทำให้มีความเข้าใจที่ผิดมาตลอด”
 
“อาเยาะห์(พ่อ) มาทำเรื่องประวัติศาสตร์เองก็เพราะอยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของพื้นที่ตัวเองเป็นอย่างไร เพื่อให้คนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ของตัวเองมากที่สุด ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับพื้นที่อื่นโดยไม่รู้รากเหง้าของตัวเอง”
 
 
ชุมชนบ้านดาโต๊ะและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
 
นายมะรอนิง สาและ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานี หรือเจ๊ะฆูรอนิง เล่าว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เริ่มมีบทบาทในพื้นที่อ่าวปัตตานีตั้งแต่ปี 2534 ครั้งแรกคือการไปเที่ยวหาดตะโละกาโปร์ ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และซื้อหินอ่อนก่อสร้างบริจาคให้มัสยิดตามที่ชาวบ้านร้องขอ
 
จากนั้นได้ช่วยประสานงานให้โรงเรียนตาดีกาบ้านดาโต๊ะ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่งได้เปิดสอนตามปกติอีกครั้งหลังจากมีปัญหา ซึ่งอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์แนะนำให้เชิญครูจากโรงเรียนดารุลบารอกะฮ์ บ้านสุไหงปาแน ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานีของอาจารย์วศิน สาเม๊าะ มาสอน
 
อีกทั้งยังประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอขยายพื้นที่และสร้างอาคารใหม่ของโรงเรียนตาดีกา เนื่องจากปัญหาติดที่ดินสาธารณะกูโบร์ (สุสาน) ชุมชนดาโต๊ะ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวมาจากการที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์นำเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนดาโต๊ะที่เชื่อมโยงระหว่างมัสยิดซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่กับกูโบร์ไว้ด้วยกัน
 
หลังจากนั้นอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ได้ดึงนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ (NUS) ที่มีซุกรี หะยีสาแม มาทำกิจกรรมที่โรงเรียนตาดีกาด้วย แต่มาได้แค่ 2 ปีเท่านั้นเพราะหลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ไม่อนุญาตให้นักศึกษาเข้าพื้นที่อีก เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะเมื่อปี 2547
 
นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ประเทศมาเลเซีย และช่างภาพสำนักข่าว AFP ประจำจังหวัดปัตตานีเป็นคนหนึ่งที่เคยทำงานร่วมกับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บอกว่า ชาวบ้านชุมชนดาโต๊ะผูกพันกับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์มาก เพราะไปช่วยพัฒนาชุมชนนี้หลายเรื่อง
 
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี เล่าว่า ในช่วงที่เป็นนักศึกษาตนได้ติดตามอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ตลอดเวลาลงพื้นที่ได้เรียนรู้หลายอย่างจากอาจารย์
อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ยังเป็นผู้เขียนบทความประวัติศาสตร์ให้กับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในงานวิจัยศึกษาสถานภาพภาษามลายูและประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆงานที่เขาทำในช่วงท้ายๆของชีวิตด้วย
 
หลายครั้งอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์พยายามอธิบายให้เชื่อมโยงกันระหว่างประวัติศาสตร์กับชีวิตผู้คน วัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา โครงสร้างสังคม แม้แต่ลวดลายทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น เพราะทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้เห็นภาพของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิมปาตานีที่มันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน
 
“หลายครั้งที่อาเยาะห์เดินทางไปก็เพื่อทำหน้าที่อธิบายเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพื้นที่ เรื่องราวความรุ่งเรืองในอดีตควบคู่กับความพยายามในการรักษาอัตลักษณ์ต่างๆไว้ สุดท้ายก็คือความพยายามบอกกับสังคมให้รู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตและตัวตนคนมลายูปาตานี” นายนาวาวี กล่าว
 
 
ฟื้นฟูอัตลักษณ์มลายู
 
นอกจากงานเขียนเรื่องเล่าในทางประวัติศาสตร์แล้ว บทบาทในด้านการฟื้นฟูอัตลักษณ์มลายูมุสลิมปาตานีของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ถือว่าโดดเด่นไม่น้อย ไม่ว่าจะผ่านทางวิถีการดำเนินชีวิตของตัวเขาเองเช่น การแต่งกายและการใช้ภาษา เป็นต้น
 
นายนาวาวีบอกว่า พ่อไม่ชอบให้ลูกหลานพูดภาษาไทยที่บ้านมากนัก เพราะกลัวจะพูดภาษามลายูไม่ชัด อีกอย่างหากพูดภาษามลายูได้ ลูกหลานของเราก็สามารถออกเสียงในภาษาอะไรก็ได้
“ที่ผ่านมาภาษามลายูไม่ถูกยอมรับจากสังคมไทย ครูในโรงเรียนเคยห้ามพูดมลายู ทั้งที่เป็นภาษาดั่งเดิมของคนที่นี่ อาเยาะห์พยายามผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย อาเยาะห์พยายามสร้างค่านิยมว่าภาษามลายูไม่ได้ไปด้อยกว่าภาษาอื่นๆ สามารถพูดภาษามลายูได้ไม่อายใคร เพราะเป็นภาษาของเรา”นายนาวาวี กล่าว
รูปธรรมหนึ่งของความพยายามผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย ก็คือการระบุในข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส.ที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เป็นกรรมการด้วย
 
แต่กลับปรากฏว่า ข้อเสนอนี้ผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่สนใจและไม่ยอมรับ เช่นเดียวกับข้อเสนอข้ออื่นๆอีกหลายข้อ แต่ทว่าเมื่อสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้นในปัจจุบัน การฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางด้านภาษาหรือด้านอื่นๆด้วย ก็ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ด้วยว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไร
 
จนบางครั้งเขาเองก็มักจะท้าทายคนมลายูด้วยกันเองว่า จะรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองได้อย่างไรด้วย ท่ามกลางสายธารทางวัฒนธรรมกระแสหลักที่รุกหนักอยู่ทุกวัน
 
เช่นเดียวกับการสื่อสารเรื่องประวัติศาสตร์ อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์พยายามอธิบายเรื่องอัตลักษณ์มลายูให้เชื่อมโยงกันระหว่างประวัติศาสตร์ชีวิตผู้คน วัฒนธรรม ความเชื่อ ไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งในการบรรยายหรือในการเขียนบทความ
 
ตัวอย่างเช่น พยายามเขียนอธิบายว่า เหตุใดชื่อของคนมลายูปาตานีส่วนหนึ่งจะมีคำว่า โต๊ะ นิ กู โต๊ะกู แว วัน ต่วน ฯลฯ คำเหล่านนี้มีที่มาอย่างไร บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์หรือโครงสร้างสังคมอย่างไร เป็นต้น
 
อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เชื่อว่า ความเข้าใจในความแตกต่างของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ต่อสังคมมลายูมุสลิมปาตานียังมีไม่มากนัก จำเป็นที่จะต้องสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไปให้มาก ยิ่งในช่วงที่เกิดเหตุไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีหลายเรื่องที่จำเป็นต้องสื่อสารออกมา ดังจะได้เห็นบทบาทด้านงานสื่อสารของอาจารย์อัฮหมัดตั้งแต่ในอดีตจนถึงวาระสุดท้าย โปรดติดตามในตอนหน้า
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net